[:th]CrCF Logo[:]

กฎอัยการศึกละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่? โดย พิทักษ์ เกิดหอม

Share

ปุจฉาที่ 1 คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้ยึดอำนาจ และได้ประกาศกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร จนถึงปัจจุบันได้มีข้อเสนอจากองค์กรสิทธิมนุษยชนต่างๆ ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ ให้ยกเลิกกฎอัยการศึกนั้น กฎอัยการศึกละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่?

วิสัชนาที่ 1 ทุกครั้งที่มีการปฏิวัติ รัฐประหารแล้ว จะมีประกาศให้ใช้กฎอัยการศึกทุกครั้ง กฎอัยการศึกจึงเป็นเครื่องมือของทหารที่เข้ามายึดอำนาจ เหตุที่เรียกว่ากฎอัยการศึกเพราะว่ากฎหมายนี้จะประกาศใช้ได้แต่เฉพาะเวลามีสงคราม หรือจลาจล หรือมีความจำเป็นที่จะรักษาความสงบเรียบร้อยให้ปราศจากภัย กฎอัยการศึกจึงถือได้ว่าเป็นกฎหมายในยามศึกสงครามโดยเป็นกฏหมายที่มีไว้ใช้ในยามที่ประเทศอยู่ในภาวะวิกฤต

ก่อนที่คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) จะประกาศกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ได้มีพื้นที่ที่ประกาศกฎอัยการศึกอยู่ในเขตอำเภอพื้นที่ชายแดนรวม 20 จังหวัด ตามประกาศพระบรมราชโองการ ลงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2541

และเมื่อเกิดสถานการณ์ก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แม่ทัพภาค 4 ได้ประกาศกองทัพภาค 4 เรื่อง การใช้กฎอัยการศึกในบางเขตพื้นที่ คือ นราธิวาส เฉพาะ อ.บาเจาะ อ.รือเสาะ อ.ตากใบ อ.สุไหงปาดี อ.ยี่งอ และ อ.สุไหงโก-ลก ปัตตานี เฉพาะ อ.กะพ้อ และ ยะลา เฉพาะ อ.รามัน ลงวันที่ 5 มกราคม 2547 ซึ่งเป็นการเพิ่มเติมตามประกาศพระบรมราชโองการ

เมื่อมีการประกาศใช้กฎอัยการศึกแล้ว จะทำให้มีผลทางกฎหมายหลายประการ อาทิ เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเหนือเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือน คือ เจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนต้องปฏิบัติตามความต้องการของฝ่ายทหาร ใน 3 เรื่อง คือ เรื่องที่เกี่ยวกับการยุทธ เรื่องที่เกี่ยวกับการระงับปราบปราม เรื่องที่เกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อย

เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจในการที่จะตรวจค้น เกณฑ์ ห้าม ยึด เข้าอาศัย ทำลายหรือเปลี่ยนแปลง และขับไล่ ทหารมีอำนาจตรวจค้น เช่น ตรวจข่าวสาร จดหมาย โทรเลข ภาพบทโฆษณา บท คำประพันธ์ ทหารมีอำนาจการห้าม เช่น การห้ามประชาชนมั่วสุม ห้ามออก จำหน่าย จ่ายแจกซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ ภาพ บทหรือคำประพันธ์ ห้ามโฆษณา แสดงมหรสพ รับหรือส่งซึ่งวิทยุ วิทยุกระจายเสียง หรือวิทยุโทรทัศน์ ห้ามใช้ทางสาธารณะเพื่อการจราจร ห้ามมีหรือใช้เครื่องมือสื่อสารหรืออาวุธ ห้ามบุคคลออกนอกเคหสถานภายในเวลาที่กำหนด

และเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจในการกักตัวบุคคลไว้ เมื่อมีเหตุสงสัยว่าบุคคลนั้นเป็นราชศัตรู หรือฝ่าฝืนกฎอัยการศึก หรือคำสั่งของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร เพื่อสอบถามหรือตามความจำเป็น มีระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน ในทางปฏิบัติการกักตัวชนชั้นนำอดีตรัฐมนตรีที่ถูกยึดอำนาจจะได้รับการปฏิบัติอย่างดี

แต่นั่นก็มิได้หมายความว่า ต่อไปนี้ทหารจะไม่ใช้อำนาจในการกักตัวบุคคลใดไว้อีกและจะได้รับการปฏิบัติอย่างดี หากบุคคลนั้นเป็นประชาสามัญชนที่มีความคิดเห็นแตกต่างกับคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ และรัฐบาลของคณะรัฐประหาร

ถึงแม้ว่าระยะเวลาที่ผ่านมาภายหลังการรัฐประหาร ดูเหมือนว่าประชาชนก็ใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่ในด้านหนึ่งย่อมแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยอยู่ในสถานการณ์ไม่ปกติ ต้องจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนไว้ เช่น เสรีภาพในการสื่อสาร เสรีภาพในเคหสถาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการห้ามประชาชนใช้เสรีภาพในการชุมนุม

หากการเข้ามาของคณะปฏิรูปฯ มีความต้องการ หรือจำใจต้องเข้ามาเพื่อจรรโลงประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขอย่างแท้จริง ต้องหนักแน่นที่จะรับฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์ และมองการชุมนุมอย่างเข้าใจว่าเป็นเรื่องปกติในสังคมประชาธิปไตย การเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลได้ นำเสนอข้อคิดเห็นในเรื่องต่างๆ ได้อย่างเต็มที่

รวมทั้งยินดีรับฟังเสียวิจารณ์และการต่อต้านการรัฐประหารอย่างเต็มที่ย่อมดีกว่าการใช้อำนาจปิดกั้นทำให้ประชาชนกลัว สิ่งที่ทำให้ประชาชนกลัวแม้ไม่ได้ใช้มันคือกฎอัยการศึก ข้อวิจารณ์รัฐบาลในอดีตว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างมาก รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารต้องทำให้ดีกว่า นั่นย่อมหมายความว่าต้องคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างเต็มที่โดยไม่มีข้อยกเว้น

ดังนั้นการที่คณะมนตรีความมั่นคง และรัฐบาลคงไว้ซึ่งกฎอัยการศึก จึงเป็นการละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน อันเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน และที่สำคัญยิ่ง เป็นการละเมิดต่อเจตจำนงค์ของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขเองมิใช่หรือ อย่าเอาคลื่นใต้น้ำ และการกลับมาของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เป็นข้ออ้าง เพราะประเทศนี้ มิใช่มีแค่สมาชิกพรรคไทยรักไทยเท่านั้น อย่าระแวงจนลืมทำในสิ่งที่ถูกต้องดีงาม

ปุจฉาที่ 2 หากจะยกเลิกกฎอัยการศึก ใครเป็นผู้มีอำนาจยกเลิก?

วิสัชนาที่ 2 ตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึกนั้น ผู้ที่มีอำนาจประกาศกฎอัยการศึก ได้แก่ 1. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 2. ผู้บัญชาการทหาร และในการยกเลิกใช้กฎอัยการศึกนั้น ตามบทบัญญัติในมาตรา 5 ตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พระพุทธศักราช 2457 นั้น การที่จะยกเลิกใช้กฎอัยการศึก จะทำได้เพียงทางเดียว คือ ต้องมีประกาศกระแสพระบรมราชโองการเท่านั้น

นายพิทักษ์ เกิดหอม
อนุกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน 4
ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

http://www.fpps.or.th/news.php?detail=n1165570100.news

RELATED ARTICLES