มติคณะรัฐมนตรี เห็นชอบรายงานผลการดำเนินงานของประเทศไทย ตามพันธกรณีภายใต้อนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment-CAT)
เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๕๕ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบรายงานประเทศตามพันธกรณีภายใต้อนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ สาระสำคัญ ดังนี้
๑. อนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ เป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่มีวัตถุประสงค์หลักในการห้ามเจ้าหน้าที่รัฐกระทำทรมานฯ ไม่ว่าทางร่างกาย หรือ จิตใจ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูล ข้อสนเทศ หรือ คำรับสารภาพ ทั้งนี้ ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ โดยการภาคยานุวัติ เมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๕๐ ซึ่งมีผลทำให้อนุสัญญาฯ มีผลใช้บังคับกับประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๐
๒. การเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ ส่งผลให้รัฐบาลไทยต้องปฏิบัติตามพันธกรณีที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาฯ ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ การจัดทำรายงานผลการดำเนินงานของประเทศไทยตามพันธกรณีภายใต้อนุสัญญาฯ เสนอต่อคณะกรรมการสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน (UN Committee against Torture)
๓. กระทรวงยุติธรรมโดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพได้ร่วมกับทุกภาคส่วนในการจัดทำรายงานประเทศฯ ฉบับที่ ๑ ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม โดยการดำเนินการเผยแพร่ เรียนรู้ และสร้างความเข้าใจในหลักการของอนุสัญญาฯ เก็บข้อมูลในระดับพื้นที่ ในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อกำหนดเค้าโครงรายงาน ระดมข้อมูล โดยการสะท้อนปัญหาการดำเนินงาน ให้ข้อคิด ข้อเสนอแนะในการจัดทำรายงานผลการดำเนินงานของประเทศไทยฯ รวมทั้งได้จัดการประชุมเพื่อนำเสนอรายงานผลการดำเนินงานของประเทศไทยฯ ต่อสาธารณชน เพื่อรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะในภาพรวมโดยกว้างจากประชาชนและผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนเพื่อให้ได้รายงานผลการดำเนินงานของประเทศไทยฯ ฉบับสมบูรณ์
๔. การเสนอรายงานผลการดำเนินงานของประเทศไทยฯ จะเป็นการแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าของประเทศไทยในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และแสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ที่ดีของประเทศไทยในการปฏิบัติตามพันธกรณีที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีแก่ประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศ อันจะทำให้ได้รับการยอมรับและความเชื่อมั่นจากนานาประเทศซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ สังคม การค้า การลงทุน ฯลฯ นอกจากนี้ประชาชนจะเกิดความมั่นใจและเชื่อมั่นต่อการดำเนินการของรัฐบาลไทยในการป้องกันการกระทำทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐ และมีหลักประกันสิทธิและเสรีภาพของตนซึ่งทัดเทียมกับมาตรฐานสากล
ภายหลังจากนี้กระทรวงการต่างประเทศจะดำเนินการส่งรายงานดังกล่าวต่อคณะกรรมการสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน ต่อไป