[:th]CrCF Logo[:]

ล่ามชุมชน กับการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ของชนเผ่า และชาติพันธุ์ โดย วิวัฒน์ ตามี่

Share

“ล่ามชุมชน กับการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของชนเผ่า และชาติพันธุ์” โดย วิวัฒน์ ตามี่ ศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง (ศปส.)

บทความ เรื่อง “ล่ามชุมชน กับการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของชน และชาติพันธุ์” เขียนขึ้นมาภายใต้เหตุผลความจำเป็น ว่านับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เมื่อชนเผ่ากลายเป็นผู้ต้องหาถูกดำเนินคดี ก็จะไม่มี “ล่าม” ภาษาชนเผ่าช่วยแปลภาษา ทำให้สื่อสารกับเจ้าหน้าที่รัฐ และศาลไม่เข้าใจ เริ่มตั้งแต่ก่อนเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ป่าไม้บุกเข้าตรวจค้นบ้าน ถูกจับกุมดำเนินคดี บันทึกคำให้การกับตำรวจ อัยการส่งฟ้องศาล ไปจนถึงศาลไต่สวน และมีคำพิพากษา

การขาด “ล่าม” ในการช่วยแปลภาษาเพื่อสื่อสารระหว่างสองฝ่ายนั้นส่งผลกระทบ ทำให้ชนเผ่าผู้บริสุทธิ์จำนวนมากถูกดำเนินคดีในข้อหาต่างๆ ทั้งที่ไม่มีความผิด บางกรณีต้องคดีจากคดีลหุโทษกลายเป็นโดนคดีข้อหาหนัก และผู้เขียนเชื่อว่า หากชนเผ่ามี “ล่าม” คอยช่วยเหลือแปลภาษาในกระบวนการยุติธรรม อาจจะช่วยให้ผู้บริสุทธิ์สามารถต่อสู้คดีความได้ อย่างน้อยสุดสามารถต่อสู่ชนะจากคดีหนักเป็นคดีเบาได้ ของชนเผ่าเพื่อพยายามชี้ให้เห็นว่า หนึ่ง ชนเผ่าเมื่อถูกดำเนินคดีและกลายเป็นผู้ต้องหาแล้วขาด”ล่าม”ช่วยแปลภาษา จะประสบชะตากรรมอย่างไร สอง ความจำเป็นของการมีล่ามในกระบวนการยุติธรรม สาม ล่ามตามอุดมคติควรจะ

มีคุณลักษณะอย่างไร และสี่ นำเสนอบทเรียนโครงการตัวอย่าง “ล่ามชุมชนกับการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ” ในกลุ่มชนเผ่าไร้สถานะและสิทธิ” ดำเนินงานโดยเครือข่ายสุขภาพและชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง(คชส.)

สถานการณ์ปัญหาชนเผ่าที่ตกเป็นผู้ต้องหาแล้วขาดล่ามช่วยแปลภาษา

ปัญหาการสื่อสารของชนเผ่ากับเจ้าหน้าที่รัฐ เริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมก็ไม่สามารถพูดจาสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้ บ่อยครั้งที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐบุกตรวจค้นบ้านโดยไม่มีหมายศาล และถูกยัดข้อกล่าวหา ก็ไม่สามารถเจรจาต่อรองเพื่อไม่ให้ตนถูกจับกุมได้ จึงตกเป็นผู้ต้องหาทั้งที่ไม่มีความผิด เมื่อถูกจับกุมและตำรวจบันทึกคำให้การหรือถูกแจ้งข้อกล่าวหาก็ไม่สามารถตอบโต้ใดๆ เพราะอ่านหนังสือไม่ออก พูดภาษาไทยไม่ได้

แต่บางคนที่พูดภาษาไทยได้บ้าง แต่ไม่อาจเข้าใจภาษากฎหมาย จึงมักถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจบางคนจึงฉวยหาผลประโยชน์ด้วยการข่มขู่ รีดไถเงิน หากผู้ต้องหาชนเผ่าไม่ยินยอม เจ้าหน้าที่ตำรวจก็จะเขียนบันทึกตั้งข้อกล่าวหาตามใจชอบ ส่งผลทำให้จากข้อหาเบากลายเป็นข้อหาหนักได้ ยิ่งเมื่อผู้ต้องหาชนเผ่าถูกส่งตัวฝากขังที่ศาลหรือเรือนจำ ชนเผ่าไม่มีทางเข้าใจและทำนายอนาคตตนเองได้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้น

เมื่อตำรวจทำสำนวนส่งฟ้องอัยการ อัยการส่งฟ้องต่อศาล และศาลนัดไต่สวนซักถาม ชนเผ่าที่ตกเป็นผู้ต้องหาก็ไม่รู้เรื่อง ไม่รู้ว่าจะตอบโต้หรือแก้ต่างซักค้านให้แก่ตนเองอย่างไรดี ซึ่งในขั้นตอนนี้เองที่อาจมีบุคคลภายนอกที่เป็นผู้นำในเผ่าเดียวกัน หรือคนพื้นราบที่ไม่หวังดีฉวยโอกาสหาผลประโยชน์กับผู้ต้องหาชนเผ่า ด้วยการเรียกร้อง ว่าหากยอมจ่ายตามที่เรียกร้องได้ก็จะสามารถช่วยให้หลุดคดี หรือผ่อนหนักให้เป็นเบาได้

และยังพบทนายความบางคนบางกลุ่มที่คอยหาผลประโยชน์จากผู้ต้องหาชนเผ่าที่ไม่มีความรู้ และไม่มีความเข้าในภาษาและกฎหมายพื้นฐาน (ซึ่งก็เห็นมาเยอะ) ดังกรณีตัวอย่าง ชนเผ่าโดนข้อหาบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ มีความผิดตาม พ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ทนายความประเภทนี้ก็จะทำตัวเป็นเทวดามาโปรดช่วยว่าความแบบไม่ฟรี เสนอให้ผู้ต้องหายอมรับสารภาพผิด ศาลจะได้ลดโทษกึ่งหนึ่ง

ชนเผ่าจำนวนมากที่ต้องโทษในข้อหาค้ายาเสพติด และข้อบุกรุกตัดไม้ทำลายป่า ส่วนใหญ่ถูกศาลพิพากษาตัดสินจำคุก และปรับทั้งที่ตนเองไม่มีความผิด หรือกรณีถูกพิพากษาความผิดแค่ลหุโทษ (โทษเบา) แต่กลายเป็นผู้ต้องหาคดีหนัก และกรณีโดนคดีหนัก แทนที่จะได้รับการลดหย่อนผ่อนโทษ แต่กลับหลายเป็นต้องมาติดคุกตลอดชีวิต หลายครั้งสูญเสียโอกาสในการประกันตนเอง สูญเสียโอกาสต่อสู้คดีความในระดับศาลอุทธรณ์ และต่อสู้คดีในระดับศาลฎีกา เป็นสาเหตุทำให้ชนเผ่าผู้บริสุทธิ์จำนวนมากกลายเป็นผู้ต้องหา ถูกศาลพิพากษาทั้งจำคุกและปรับ หลายคนต้องโทษถูกประหารชีวิต และตายไปแล้วก็ยังไม่รู้ว่าตนเองผิดอะไร

ผู้อ่านอาจมีคำถามว่า ศาลไทยไม่มี “ล่าม” คอยทำหน้าที่แปลให้แก่ผู้ต้องหาที่เป็นชนเผ่า และกลุ่มชาติพันธุ์ที่พูดภาษาไทยไม่ได้หรอกหรือ ตอบได้เลยว่าไม่มีศาลไหนในประเทศไทยที่จัดหาล่ามคอยบริการสำหรับผู้ต้องหาที่เป็นชนเผ่าและกลุ่มชาติพันธุ์ต่างภาษา ยกเว้น กรณีคนต่างประเทศที่อาจจะมีล่ามช่วยทำหน้าที่แปลภาษา และการสื่อสารระหว่างผู้หากับศาลและกับเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ก็จัดหามาเองด้วยการจัดจ้างโดยผู้ต้องหาหรือญาติผู้ต้องหาเอง

ส่วนชนเผ่าก็มีล่ามช่วยทำหน้าที่แปลภาษาบ้างเป็นบางครั้ง แต่เป็นกรณีที่ทนายความบางคนใส่ใจ และจัดหามาเอง แต่ประเด็นคือ คนที่จะมาเป็นล่ามมีความรู้ความเชี่ยวชาญทั้งภาษาไทยและภาษาชนเผ่าตนเองมากน้อยแค่ไหน ยิ่งเป็นภาษากฎหมายด้วยแล้วจะเข้าถึงภาษากฎหมายและแปลอย่างไรให้ทั้งสองฝ่ายเข้าใจถูกต้องร่วมกันได้

​ในกรณีในประเทศที่เจริญแล้ว เช่น ประเทศแถบยุโรปและอเมริกา ศาลจะมีล่ามภาษาต่างๆ คอยให้บริการช่วยแปล ช่วยสื่อสารระหว่างศาลกับผู้ต้องหาที่ต่างเผ่าพันธุ์ต่างเชื้อชาติ แต่ศาลไทยกลับไม่มีล่ามคอยให้บริการ ทั้งที่ชนเผ่าในประเทศไทยจำนวนมากไม่สามารถพูด อ่านและเขียนภาษาไทยได้ และยังมีคนไร้สัญชาติและแรงงานข้ามชาติต่างชาติพันธุ์ต่างภาษาอีกมากมาย

ความจำเป็นของ “ล่าม” ในกระบวนการยุติธรรม

ตามที่คนทั่วเข้าใจว่า “ล่าม”หมายถึง คนที่กำลังทำหน้าที่สื่อสารด้วยการแปลจากภาษาหนึ่งไปเป็นอีกภาษาหนึ่ง ในรูปแบบต่างๆ กัน เชื่อว่าการแปลช่วยให้ผู้คนที่ถูกขวางกั้นด้วยอุปสรรคต่างๆ อันเกิดจากภาษาคำพูด ภาษากาย หรือโดยเงื่อนไขอื่นๆ สามารถเข้าใจสาระที่ต้องการสื่อสารให้แก่อีกฝ่ายถูกต้องและสมบูรณ์ได้

บ่อยครั้งที่เราเองต้องแปลคำพูดของคนอีกคนหนึ่งให้ตัวเราเองฟัง แม้ว่าคน ๆ นั้นจะดูใกล้เคียงกับเรา แต่มีความรู้สึกนึกคิดที่แตกต่างจากเรามาก เวลาที่เรารู้สึกว่า คำพูดเดียวกัน ถ้าออกมาจากปากของเราน่าจะมีความหมายแตกต่างออกไปโดยสิ้นเชิง หรือมีน้ำหนักมากกว่าหรืออ่อนกว่าเมื่อพูดออกมาจากปากของคนคนหนึ่ง หากต้องการสื่อสารในสิ่งเดียวกับที่คนอีกคนตั้งใจจะพูด เราอาจใช้ถ้อยคำสำนวนที่แตกต่างออกไป บางครั้งเมื่อเราต้องการทำให้คำพูดนั้นเป็นของเราจริง เราต้องแปลคำพูดของตัวเราเอง เมื่อเรานิยามความรู้สึกนี้ให้แก่ตัวเอง มันจะกลายเป็นความคิดในใจเรา นั่นเท่ากับเรากำลังแปลนั่นเอง (ฟรีดริช ชไลเออร์มาเคอร์ ในภควดีแปล, 2546)

ผู้เขียนคิดว่า ภาษาพูดของชนเผ่าที่แตกต่างกันภายในชนชาติหนึ่ง และพัฒนาการที่แตกต่างกันของภาษาเดียวกัน หรือภาษาท้องถิ่นในแต่ละทศวรรษ ย่อมถือเป็นภาษาที่แตกต่างกัน บ่อยครั้งต้องอาศัยการแปลจึงจะเข้าใจ แม้กระทั่งคนร่วมยุคสมัยเดียวกัน ไม่ได้ถูกขวางกั้นด้วยภาษาท้องถิ่น แต่มาจากคนละชนชั้นทางสังคมที่มีการติดต่อกันน้อยมาก มีช่องว่างทางการศึกษา ก็มักสื่อสารกันได้รู้เรื่องต่อเมื่ออาศัยกระบวนการแปลเช่นกัน ยิ่งเป็นภาษากฎหมายที่ตำรวจ ทนายความ อัยการและศาลใช้ คนธรรมดาที่ไม่เคยเรียนรู้ สัมผัสหรือมีประสบการณ์ยากที่จะเข้าถึงภาษาเหล่านี้ จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะเข้าใจ

​“ล่าม” หรือนักแปลภาษา มีความสำคัญตรงที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายที่แยกจากสองขั้วต้องมาพบกันที่จุดๆ หนึ่ง ซึ่งจุดๆ เพื่อเชื่อมโยงกับอีกฝ่ายโดยสมบูรณ์ โดยที่ทำให้ไม่รู้ภาษาของอีกฝ่ายเกิดภาพพจน์และความพึงพอใจ เช่นเดียวกับสัมผัสในภาษาต้นฉบับด้วยตัวเอง

ล่ามชนเผ่าในกระบวนการยุติธรรม จึงมีความจำเป็นเพื่อช่วยทำหน้าที่แปลภาษาและสื่อสารภาษาระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐ ศาล อัยการและทนายความกับชนเผ่าที่เป็นผู้ต้องหา เพราะล่ามและนักแปลช่วยชนเผ่าไม่ตกเป็นผู้ต้องทั้งที่ไม่ได้กระทำความผิด บางกรณีสามารถประกันตนเองเพื่อต่อสู้คดี และได้รับการลดหย่อนผ่อนโทษหรือยกโทษในคดีลหุโทษได้

ล่ามที่ดีควรจะมีคุณลักษณะอย่างไร

ผู้เขียนมีความเห็นว่า ผู้ที่กำลังทำหน้าที่เป็น “ล่ามและนักแปล” ที่แท้จริงนั้น จะต้องชักนำทั้งสองฝ่ายที่แยกขาดจากกันโดยสิ้นเชิงให้เข้าหากัน กล่าวคือ ระหว่างศาลหรือเจ้าหน้าที่รัฐกับผู้ต้องหาชนเผ่าที่ไม่รู้หนังสือ ไม่สามารถพูดภาษาของอีกฝ่ายช่วยทำให้ทั้งสองฝ่ายได้รับความเข้าใจที่ถูกต้องสมบูรณ์และผู้ต้องหาชนเผ่าสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมสูงสุด คำถามคือ จะมีหนทางใดที่มีความเป็นไปได้ตามที่คาดหวัง

การเป็นล่าม และนักแปลที่ดีไม่ได้ง่ายอย่างที่ผู้เขียนฝันไว้เลย เพราะว่าล่ามจะต้องแปลภาษาคำพูดที่ศาลใช้ กับภาษาชนเผ่าของผู้ต้องหาเพื่อให้เข้าใจถูกต้องร่วมกันได้ ด้วยการชักนำทั้งสองฝ่ายที่แยกขาดจากกันอย่างสิ้นเชิงให้เข้าหากันได้และสื่อสารเข้าใจ จนนำไปสู่การคลี่คลายปัญหาเพื่อให้ผู้ต้องหาชนเผ่าได้รับความยุติธรรมมากขึ้น เพราะว่าศาลใช้ภาษากฎหมายที่แตกต่างไปจากภาษาชาวบ้านทั่วไป และเชื่อว่าล่ามส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ความเข้าใจ ไม่มีพื้นฐานทางกฎหมายจะเข้าถึงภาษาที่ซับซ้อนยุ่งยากเหล่านี้ได้อย่างไรและผู้ต้องหาจะได้รับความยุติธรรมมากน้อยแค่ไหน

การแปลภาษาไทยธรรมดาทั่วไปนั้น อาจไม่ยากและสื่อสารกันเข้าใจได้ แต่ภาษากฎหมายนี่ซิ ล่ามชนเผ่าที่ไม่มีความรู้เรื่องกฎหมายจะแปลอย่างไร ยิ่งเป็นภาษาของศาล ภาษาของพนักงานอัยการ ภาษาของทนายความและตำรวจด้วยแล้วยิ่งยากเข้าไปใหญ่ เพราะว่า บุคคลเหล่านี้มีความแตกต่างกันเองทั้งในเรื่องความเชื่อทางวัฒนธรรม ระบบโครงสร้างทางสังคมที่มีสถานะซึ่งแตกต่างกับล่ามชนเผ่าราวกับอยู่กันคนละโลก แล้วล่ามชนเผ่าจะเข้าถึงภาษาและระบบที่ซับซ้อนยุ่งยากของภาษาเหล่านี้อย่างไร

ผู้เขียนเป็นชนเผ่าลีซู (Lisu) พอมีความรู้เรื่องในภาษาชนเผ่าลีซูอยู่บ้าง แต่บอกได้เลยว่า ไม่มีความเชี่ยวชาญพอๆ กับการใช้ภาษาไทย แต่พอบอกได้ว่าภาษาลีซูมีความซับซ้อนแค่ไหน อย่างไร กล่าวคือ พบว่า ภาษาที่เด็กลีซูใช้ ภาษาที่วัยรุ่นหนุ่มสาวลีซูใช้ และภาษาที่กลุ่มผู้สูงอายุใช้ มีความแตกต่างกันและใช้ในบริบทสภาวะเวลา สถานที่แตกต่างกันมีความหมายต่างกันแม้ว่าแต่ละวัยจะใช้ “คำๆ เดียวกัน” ก็ตาม

ตัวกรณีอย่างคำว่า “ฉี่ หรือปัสสาวะ” เด็กใช้คำว่าฉี่ตรงคำไม่น่าเกลียด หนุ่มสาวใช้คำว่าขอตัวเดี่ยวแล้วหายตัวไป (อย่าถามว่าไปไหนและมองตามหลังมันน่าเกลียด) พ่อกับลูกสาว แม่กับลูกชายก็จะไม่พูดกันตรงๆ เช่นกัน ปัจจุบัน มีชนเผ่ารุ่นใหม่ที่ได้รับการศึกษา และใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในเมือง มักใช้ภาษาชนเผ่าปนภาษาไทย หรือพูดภาษาชนเผ่าคำและพูดภาษาไทยคำ คนเหล่านี้อยู่ในเมืองนานอาจลืมภาษาดั้งเดิมหรือคำศัพท์บางคำจึงหายไป และไม่อาจสื่อสารกับชนเผ่าที่อาศัยอยู่ในชุมชนบนพื้นที่สูงได้ ถามว่าคนประเภทนี้จะเป็นล่ามที่ดีได้หรือไม่

นี่ยกตัวอย่างเพียงภาษาลีซูภาษาเดียวก็ซับซ้อนยุ่งยากแล้ว ยิ่งเป็นภาษาของกลุ่มชาติอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยอีกกว่า 13 ชนเผ่าหลัก จะมีความยุ่งยากในการทำความเข้าใจมากน้อยแค่ไหนเพียงใด แต่ละชนเผ่ายังมีภาษาย่อยที่ใช้พูดแตกต่างกันอีก ดังกรณีชนเผ่ากะเหรี่ยงเผ่าเดียวมีถึง 4 กลุ่มภาษาย่อย กล่าวคือ ภาษาสะกอร์ โพล่ง ตองสู้ และปะโอ ซึ่งทั้งสี่กลุ่มแม้ว่ามีภาษาใกล้เคียงกัน แต่สำเนียงภาษาไม่เหมือนกัน บางคำก็ใช้แตกต่าง และมีความหมายไม่เหมือนกันเลยจะสื่อสารกันไม่รู้เรื่อง เช่น ภาษาของชนเผ่าปะโอกับภาษากะเหรี่ยงสะกอร์ จึงจำเป็นต้องใช้ “ล่าม”ในการแปลเพื่อสื่อสารทำความเข้าใจกัน แล้วเราจะหาล่ามที่ดีหรือพัฒนาให้ล่ามมีคุณภาพ จะกระทำสำเร็จได้ด้วยวิธีการใดเพื่อสามรถตอบสนองปัญหาล่ามในกระบวนการยุติธรรม

ประเด็นคือ “ล่าม” จะแปลให้บรรลุความสำเร็จได้อย่างไร ในเมื่อระบบความเชื่อของมโนทัศน์ และสัญลักษณ์ต่างๆ ในภาษาของล่ามแตกต่างโดยสิ้นเชิงจากภาษาของศาล อัยการและนักกฎหมาย หรือแม้กระทั่งชนเผ่าเดียวกับตน และแทนที่รากคำพูดจะต้องแปลให้ตรงกัน แต่พอแปลออกมากลับกลายเป็นคนละความหมายอย่างสิ้นเชิง ความยากคือ จึงทำอย่างไร ล่ามจะใช้ภาษาได้คงเส้นคงวาเหมือนกับเจ้าของภาษาที่ตนกำลังแปลอยู่ ยิ่งงานแปลที่เป็นภาษากฎหมายที่มีความซับซ้อนท่ามกลางการชิงไหวชิงพลิกกันระหว่างอัยการกับทนายความด้วยแล้ว ล่ามจะสามารถเท่าทัน เข้าถึงภาษาเหล่านี้ได้มากน้อยแค่ไหน

แนวทางการเป็นล่ามที่ดีตามอุดมคติควรจะเป็นอย่างไร

ผู้เขียนคิดว่า “ล่ามและนักแปล” ที่ดีในอุดมการณ์ของเราอาจหาไม่ได้จริง เพราะเราจะรู้ได้อย่างไร ว่าล่ามที่ดีสมบูรณ์แบบตามอุดมการณ์ของแต่ละคนเป็นอย่างไร เพราะจะมีใครที่สามารถก้าวไกลไปถึงขั้นไม่เพียงสามารถนำเสนอภาษาของตนเองได้อย่างคล่องแคล้วเชี่ยวชาญแล้ว ยังสามารถนำเสนอต่างภาษาได้ดีอีกภาษาหนึ่ง สามารถผสมผสานรวมจิตวิญญาณของต่างภาษาเข้าด้วยกันเป็นหนึ่งเดียวได้ ด้วยการทำให้เหมือนกับว่าได้สื่อสารสัมผัสใกล้ชิดด้วยตนเองเหมือน ”ล่าม” กำลังสัมผัส ซึ่งข้อเท็จจริงแล้วอาจจะยากและแทบเป็นไปไม่ได้เลย แต่ใช่ว่าจะหาคนทำหน้าที่เป็นล่ามไม่ได้เลยก็หาไม่เพียงแต่ว่า เราอาจจะต้องใช้เวลาสรรหาคนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในภาษา มีจิตใจเสียสละมาพัฒนาศักยภาพของล่ามท่ามกลางความจำเป็นที่ต้องการใช้ล่ามชุมชนในกระบวนการยุติธรรม

คุณสมบัติของล่ามที่ดี น่าจะเป็นคนที่มีความสามารถในการใช้ภาษาที่แปลอย่างแพร่หลาย มีศิลปะในการแปล มีความรู้ในผลงานทางปัญญาของต่างชาติแพร่หลาย ล่ามเหล่านี้จะต้องคอยขัดเกลาและยกระดับการรับรู้ของตนอย่างสม่ำเสมอ

“ล่าม” ควรมีความรู้เพียงพอในภาษาที่จะสื่อสารและมีความรู้อย่างทะลุปรุโปร่งในประเด็นที่ตนจะแปล เช่น ภาษากฎหมาย กล่าวคือ เมื่อได้ฟังจากศาล อัยการ ทนายความพูดออกมา ล่ามควรมีความสามารถในการสังเกตรายละเอียดเนื้อหาสาระของถ้อยคำ

การผูกประโยคของผู้ที่ต้องการสื่อสาร เข้าถึงถ้อยคำและการผูกประโยคนั้นแทรกซึมเข้าไปในภาษาตามความต้องการพิเศษของคำพูดและพลังในการใช้ถ้อยคำของศาล อัยการและทนายความอย่างไร การสังเกตนี้ย่อมกำหนดความประทับใจแก่ผู้แปล ดังนั้นจึงเป็นส่วนหนึ่งในภาระกิจการแปลที่ต้องการสื่อสารความซาบซึ้งในเนื้อหาให้แก่ผู้ต้องหาชนเผ่าให้ได้ มิเช่นนั้น เนื้อสาระสำคัญที่สุดอาจตกหล่นสูญหายไปได้

“ล่าม” ควรเป็นคนที่มีจิตใจสาธารณะ เสียสละเพื่อส่วนรวม มีศีลธรรมคุณธรรมและมีความรับผิดชอบต่อสังคม ที่กล่าวเช่นนี้ จากประสบการณ์ เรามักพบว่าผู้นำชนเผ่า คนทำงาน NGOs บางคน เมื่อมีความเชี่ยวชาญ มีฝีมือและมีชื่อเสียงมักจะเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่าส่วนรวม และอาจใช้ช่องทางในการทำธุรกิจเพื่อแสงวหาผลประโยชน์ส่วนตัว ดังนั้นการมีจิตใจสาธารณะ เสียสละ มีศีลธรรมคุณธรรมจึงควรเป็นพื้นฐานการเป็นล่ามที่ดี

ความคงเส้นคงวาในการแปลภาษา ดังที่กล่าวไปแต่ต้นว่า ที่มาของรากคำและภาษาภาษาในแต่ละเผ่าพันธุ์ต่างกัน เพราะเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับมโนทัศน์และสัญลักษณ์ภาษา คำพูดบางคำที่ออกมาจากปากของศาล อัยการ ทนายความ ตำรวจ อาจมีน้ำหนักไม่เท่ากัน หากล่ามพูดคำๆเดียวกับบุคคลเหล่านี้ถามว่า ยังคงมีน้ำหนักคำพูดเหมือนเดิม หรือเบากว่าและหนักกว่า

ยังมีอีกประเด็นที่จะต้องพิจารณาควบคู่กันไปด้วย คือ ล่ามจำเป็นที่จะต้องแปลทุกคำพูดที่ศาล อัยการ ตำรวจและทนายความพูดหรือไม่ รากคำภาษา โครงสร้างประโยกและการผูกประโยคของภาษาแตกต่างจากภาษาของชนเผ่า หากแปลตรงตัวทุกคำผลมันจะเกิดอะไรขึ้น

ความอดทนและกล้าเผชิญกับปัญหาที่จะเกิดจากการถูกกล่าวหาในเรื่องความเป็นกลางมีมากน้อยแค่ไหนจากทั้งทั้งศาลกับชนเผ่า อาจถูกตำหนิติเตียน ดูถูกในเรื่องความรู้ความสามารถ ความเชี่ยวชาญในภาษาตนเองจากผู้ที่อ้างตนเป็นผู้เชี่ยวชาญ

ทำอย่างไรที่จะไม่ให้ต่างภาษาผิดเพี้ยนไปจากต้นฉบับและคงความถูกต้องให้ได้ใกล้เคียงที่สุด เพราะไม่อย่างนั้นจะเกิดผลลัพธ์เลวร้ายอันเกิดจากการแปลผิด

บทเรียนการทำโครงการ “ล่ามชุมชนกับการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ” ในกลุ่มชนเผ่าไร้สถานะและสิทธิ”

เครือข่ายสุขภาพและชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง(คชส.) กำลังทดลองดำเนินงานโครงการ “ล่ามชุมชนกับการเข้าถึงระบบบริการด้านสุขภาพ” ในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคเหนือตอนบน คือจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่และแม่ฮ่องสอนอยู่นั้น น่าสนใจมากทีเดียว เพราะเป็นโครงการเดียว ที่เน้นเป้าหมายว่า ทำอย่างไร จึงจะทำให้ชนเผ่าที่ไม่รู้หนังสือ ไม่สามารถพูดภาษาไทยและไม่มีสถานะบุคคลและสิทธิ สามารถเข้าถึงสิทธิบริการด้านสาธารณะสุขอย่างเท่าเทียมทั่วถึง ทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพและเกิดความยั่งยืน

แนวคิดการดำเนินโครงการ สรุปบทเรียนจากความล้มเหลวการทำหน้าที่ล่ามชนเผ่าในสถานพยาบาล/โรงพยาบาลต่างๆ ว่า “ล่าม” เหล่านี้ไม่ได้ทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือสื่อสารแก่ผู้ป่วยชนเผ่าที่ไม่รู้หนังสือและผู้ป่วยที่ไม่มีสัญชาติมากนัก ในโรงพยาบาลบางแห่ง ผู้ป่วยไม่สามารถเข้าถึงล่ามได้เพราะล่ามเหล่านี้ลืมตัวกลายเป็นหมอคนหนึ่งของโรงพยาบาล
ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างผู้ป่วยกับล่ามจึงเกิดขึ้น คล้ายกับปัญหาช่องว่างระหว่างหมอกับคนไข้ชนเผ่า เพราะล่ามเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในชุมชนของผู้ป่วยชนเผ่า จึงไม่สามารถไปหาและขอคำปรึกษาได้ตลอดเวลาตามที่ต้องการ

อาสาสมัครสาธารณสุขชุมชน (อสม.) เองไม่สามารถตอบสนองบริการให้แก่ชนเผ่าได้ตลอด เพราะ อสม. จะทำงานเฉพาะตามที่สถานีอนามัยสั่งเท่านั้น การพาผู้ป่วยชนเผ่าโดยไม่มีคำสั่งจึงไม่ใช่หน้าที่ของตน หากจะให้พาไปก็ต้องคิดค่าเสียเวลาและค่าเดินทางด้วย อสม. ยังมีข้อจำกัดในเรื่องการติดตามศึกษานโยบายรัฐ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของชนเผ่าไร้สถานะและสิทธิ จึงไม่สามารถให้ข้อมูลข่าวสารและสร้างความเข้าใจให้แก่ชุมชนชนเผ่าได้ ทำให้ชนเผ่าไร้สถานะจำนวนมากสูญเสียโอกาสในการเข้าถึงบริการรัฐจึงได้จัดทำโครงการล่ามชุมชนและค้นหานวัตกรรมใหม่ๆที่เกี่ยวกับล่ามชุมชน

ผลจากการดำเนินโครงการ พบว่า “ล่ามชุมชน” สามารถตอบสนองปัญหาความต้องการของชนเผ่าที่ไม่รู้หนังสือ ชนเผ่าที่ไม่สามารถพูดภาษาไทยได้ระดับหนึ่ง กลุ่มที่น่าจะได้รับประโยชน์มากที่สุดเป็นชนเผ่าไร้สถานะและสิทธิ เพราะเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก จึงได้รับการดูแลเป็นกรณีพิเศษ

ล่ามชุมชน นอกจากทำหน้าที่สื่อสารระหว่างหมอกับคนไข้ ด้วยการพยายามช่วยแปลภาษาของหมอที่ซับซ้อนกับภาษาคนไข้จนทั้งสองฝ่ายเกิดความเข้าใจตรงกัน ส่งผลทำให้คนไข้ได้รับบริการในการรักษาพยาบาลที่ดีขึ้น ล่ามยังทำหน้าที่จัดการศึกษานโยบายสำคัญของรัฐที่เกี่ยวข้องกับสิทธิด้านสุขภาพของคนไร้สถานะและสิทธิให้แก่คนกลุ่มต่างๆในชุมชน ทำให้ชุมชนที่มีล่ามประจำอยู่ ได้รับความรู้ความเข้าใจและการเคลื่อนไหวสิทธิด้านสุขภาพในระดับนโยบายด้วย

สิ่งที่ล่ามชุมชนบางคนกำลังวิตกและเกิดความไม่มั่นใจ คือ ปัญหาที่เกิดจากผู้นำและอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) บางคนในบางชุมชน ที่ไม่ค่อยให้ความร่วมมือในบางกิจกรรม อาจเป็นเพราะล่ามชุมชนเป็นคนของ NGOs แต่ไม่ใช่คนของราชการ ปัญหาดังกล่าวยังส่งทำให้ล่ามไม่มั่นใจในการทำหน้าที่เจรจาต่อรองกับหมอและผู้ให้บริการ ด้วยคิดว่าตนเองไม่ได้มีสถานะที่เป็นทางการ ไม่มีใบอนุญาตรับรองสถานะในฐานะล่ามชุมชนอย่างเป็นทางการ

คำถามที่เกิดขึ้นอีกเรื่องหนึ่งคือ คำถามเกี่ยวกับความยั่งยืนของโครงการล่ามชุมชน ว่าจะเกิดความยั่งยืนในอนาคตได้อย่างไร เพราะว่าล่ามชุมชนที่กำลังดำเนินงานอยู่ในปัจจุบัน ได้รับค่าใช้จ่ายที่เป็นค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าเดินทางระหว่างทำหน้าที่จากโครงการพิเศษนี้ หากโครงการนี้สนับสนุน ล่ามเหล่านี้ยังคงอยู่ชุมชนเพื่อทำหน้าที่ต่ออีกหรือไม่
คิดไม่ออก และกำลังคิดอยู่…อย่ารบกวน ???