แอมเนสตี้ฯ ประเทศไทย หารือกระทรวงการต่างประเทศ “พักการใช้โทษประหารชีวิต”
เนื่องในเดือนธันวาคม 2555 ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (United Nations General Assembly) จะมีการรับรองมติต่าง ๆ และหนึ่งในมตินั้นคือการพักใช้โทษประหารชีวิต ดังนั้นในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2555 ตัวแทนจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยจึงได้ทำการปรึกษา และยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเพื่อเรียกร้องให้มีการพักการใช้โทษประหารชีวิต โดยคุณพรประไพ กาญจนรินทร์ อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศเป็นตัวแทนเข้าร่วมปรึกษาและรับมอบหนังสือ
นายสมชาย หอมลออ ประธานแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวถึงการรณรงค์ยกเลิกโทษประหารชีวิตว่า แม้ปัจจุบันประเทศไทยยังคงมีการตัดสินลงโทษประหารชีวิตอยู่ แต่ในแผนแม่บทสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2552-2556) ที่รัฐบาลได้ประกาศอย่างเป็นทางการและมีผลปฏิบัติตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมานั้น หนึ่งในตัวชี้วัดต่อความสำเร็จในการดำเนินการตามแผนนี้ คือตัวชี้วัดกลยุทธ์ที่ 3.1 ว่ามีการยกเลิกโทษประหารชีวิตโดยเปลี่ยนให้เป็นโทษจำคุกตลอดชีวิต ซึ่งถือได้ว่าเป็นพันธสัญญาของรัฐบาลที่จะให้มีการยกเลิกโทษประหารชีวิตในที่สุด
และในการประชุมของคณะกรรมาธิการที่สามของที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติ เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2555 ที่ผ่านมา รัฐภาคีสมาชิกได้ร่วมลงคะแนนต่อมติพักการใช้โทษประหารชีวิต โดยมีรัฐที่ลงคะแนนเสียงเห็นชอบ 110 เสียง งดออกเสียง 36 เสียง และคัดค้าน 39 เสียง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ขอชื่นชมที่รัฐบาลไทยลงคะแนน “งดออกเสียง” และไม่คัดค้านต่อมติข้อตกลงการพักใช้โทษประหารชีวิตดังกล่าว
“เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยสนับสนุนและลงมติ “เห็นชอบ” ต่อมติการพักใช้โทษประหารชีวิตที่จะมีขึ้นอย่างเป็นทางการในที่ประชุมสมัชชาใหญ่ฯ ในเดือนธันวาคม 2555 เพื่อแสดงจุดยืนและเจตนารมณ์ของรัฐบาลไทยต่อการเคารพและปกป้องสิทธิมนุษยชนในเวทีระหว่างประเทศ ทั้งยังนับเป็นการปฏิบัติตามแผนแม่บทสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 2 และปฏิบัติตามพันธกรณีของไทยที่มีต่อกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ทั้งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง” นายสมชายกล่าว
นางสาวปริญญา บุญฤทธิ์ฤทัยกุล ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศระบุว่า แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เรียกร้องให้รัฐบาลไทยควรพิจารณาสนับสนุนแนวโน้มที่เกิดขึ้นในเวทีระหว่างประเทศในทางที่ยกเลิกโทษประหารชีวิต ดังนี้
· ประกาศยุติการประหารชีวิตในทางปฏิบัติอย่างเป็นทางการโดยทันที เพื่อให้สอดคล้องกับแผนปฏิบัติแม่บทว่าด้วยสิทธิมนุษยชน โดยมีเจตจำนงที่จะออกกฎหมายให้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในท้ายที่สุด
· ให้มีการยกเลิกโทษประหารชีวิต และให้ใช้โทษจำคุกตลอดชีวิตแทนภายในปี 2556
· ประเทศไทยควรให้สัตยาบันรับรองพิธีสารเลือกรับฉบับที่สองของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (Second Optional Protocol to the International Covenant on Civil and Political Rights)
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ต่อต้านโทษประหารในทุกกรณี โดยถือเป็นการละเมิดสิทธิที่จะมีชีวิต และถือเป็นการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และดูหมิ่นศักดิ์ศรีมากที่สุด
จากการประชุมปรึกษาหารือ คุณพรประไพ กาญจนรินทร์ อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยในปีนี้คิดว่าคงจะงดออกเสียงในมตินี้ไปก่อน แต่ก็ยังมีความคืบหน้าในประเด็นดังกล่าว ซึ่งขณะนี้กระทรวงยุติธรรมได้จัดสรรงบประมาณจำนวนหนึ่งให้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพเป็นผู้รับผิดชอบ ในการว่าจ้างให้คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศึกษาวิจัยและการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนว่ามีความคิดเห็นอย่างไร หากมีการยกเลิกโทษประหารชีวิต ซึ่งผลการศึกษาจะแล้วเสร็จในเดือนกันยายนปี 2556
หมายเหตุ: วันที่ 30 พฤศจิกายน 2555 เวลา 10.30 น. แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จะเข้าพบอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ณ อาคารศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ตึก A ชั้น 8 เพื่อปรึกษาหารือและยื่นหนังสือในประเด็นดังกล่าวข้างต้น
สินีนาฏ เมืองหนู
ผู้ประสานงานฝ่ายพัฒนาสมาชิกและเครือข่าย
Sineenart Muangnoo
Growth Mobilization Coordinator
Amnesty International Thailand
90/24, Soi Duangporn, Ladprao Soi 1,
Jomphol, Chatuchak, Bangkok 10900
Tel. 02 513-8745, 02 513-8754
Fax. 02 939-2534
Email: membership@amnesty.or.th
Web:www.amnesty.or.th
Facebook:www.facebook.com/amnestythailand
Amnesty International is a Nobel Peace Prize-winning grassroots activist organization with more than 3 million supporters, activists and volunteers in more than 150 countries and territories campaigning for human rights worldwide. The organization investigates and exposes abuses, educates and mobilizes the public, and works to protect people wherever justice, freedom, truth and dignity are denied