แถลงการณ์ ภาคประชาสังคมประณามการรับรองร่างปฏิญญาสิทธิมนุษยชนอาเซียน ที่เต็มไปด้วยข้อบกพร่อง ปฏิญญาสิทธิมนุษยชนอาเซียนต่ำกว่ามาตรฐานสากลมาก
โดยไม่คำนึงถึงข้อกังวลอย่างลึกซึ้งของบรรดาเจ้าหน้าที่อาวุโสองค์การสหประชาชาติ ผู้ชำนาญการด้านสิทธิมนุษยชน และหน่วยงานระดับรากหญ้าและหน่วยงานภาคประชาสังคมอีกหลายร้อยแห่งในระดับภูมิภาคและนานาชาติ บรรดาผู้นำประเทศอาเซียนเดินหน้ารับรองปฏิญญาสิทธิมนุษยชนอาเซียน (ASEAN Human Rights Declaration) เมื่อวานนี้ ทั้ง ๆ ที่เป็นกฎบัตรซึ่งทำลายกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ หาได้เป็นการส่งเสริมไม่ กฎบัตรสิทธิมนุษยชนฉบับนี้เป็นเพียงเครื่องกำบังการประกาศอำนาจรัฐต่าง ๆ มากกว่า
เป็นเรื่องที่น่าเสียใจที่รัฐบาลประเทศอาเซียนยืนยันจัดทำปฏิญญาซึ่งเหมือนเป็นการระบุว่า ประชาชนของตนเองคู่ควรกับสิทธิมนุษยชนน้อยกว่าประชาชนในยุโรป แอฟริกา หรืออเมริกา ประชาชนในอาเซียนไม่ควรยอมรับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่ต่ำกว่ามาตรฐานในที่อื่น ๆ ทั่วโลก
ปฏิญญาสิทธิมนุษยชนอาเซียนควรแสดงเจตจำนงสากลในการเคารพสิทธิมนุษยชน ซึ่งหมายถึงการจำกัดอำนาจของรัฐบาล แต่ในทางตรงข้าม เนื้อหาของปฏิญญาฉบับที่ผ่านการรับรองนี้ จะยิ่งสร้างความชอบธรรมมากขึ้นให้กับการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนที่อยู่ใต้เขตอำนาจของรัฐบาลอาเซียน ทั้งนี้จะเห็นได้จาก “หลักการทั่วไป” ที่เต็มไปด้วยข้อบกพร่อง นอกจากนั้น ยังมีการลดหย่อนการคุ้มครองสิทธิพื้นฐานโดยอ้างการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องกระทำกับบุคคล มีการอ้างบริบทระดับภูมิภาคและระดับชาติเพื่อเป็นเงื่อนไขในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และยังอ้างข้อจำกัดต่อสิทธิอย่างอื่น ๆ ทั้ง ๆ ที่เป็นสิทธิอันไม่พึงถูกจำกัดเลย ในหลายข้อบัญญัติ มีการกำหนดเงื่อนไขการคุ้มครองสิทธิให้ขึ้นอยู่กับกฎหมายระดับประเทศ แทนที่จะกำหนดให้กฎหมายควรได้รับการปรับให้มีเนื้อหาสอดคล้องกับสิทธิเหล่านั้น
ปฏิญญาฉบับนี้ยังละเลยสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานหลายประการ รวมทั้งสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการรวมตัวเป็นสมาคมและสิทธิที่จะไม่ถูกบังคับให้กลายเป็นบุคคลผู้สูญหาย
เนื้อหาที่เพิ่มเติมเข้ามาในนาทีสุดท้ายสำหรับถ้อยแถลงของผู้นำที่รับรองปฏิญญาฉบับนี้ แทบไม่ได้แก้ปัญหาขั้นพื้นฐานของปฏิญญาเลย แม้จะเป็นการยืนยันเจตจำนงของรัฐบาลอาเซียนที่มีต่อปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights – UDHR) และกฎบัตรสิทธิมนุษยชนอื่น ๆ ตราบที่ “หลักการทั่วไป” ของปฏิญญาฉบับนี้และช่องโหว่ต่าง ๆ ยังปรากฏอยู่ จะเป็นการส่งสัญญาณผิด ๆ ต่อรัฐบาลว่า สามารถอ้างเหตุผลเพื่อไม่ต้องปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศได้
เป็นเรื่องน่าเสียใจอย่างยิ่งที่รัฐบาลในอาเซียนซึ่งเป็นประชาธิปไตยมากกว่าและเปิดรับกับสิทธิมนุษยชนมากกว่า กลับยอมตกอยู่ใต้แรงกดดันของรัฐบาลที่รังเกียจสิทธิมนุษยชน และยอมรับกฎบัตรที่เต็มไปด้วยข้อบกพร่องเหล่านี้
เรายังขอแสดงความไม่เห็นด้วยต่อระบบการตัดสินใจแบบ “ปรึกษาหารือและฉันทามติ” (consultation and consensus) ของอาเซียน ซึ่งก็ทำให้ประชาชนผิดหวังอีกครั้ง เป็นการเผยให้เห็นว่าวาระสิทธิมนุษยชนของอาเซียนถูกกำหนดแต่ฝ่ายเดียวโดยบรรดารัฐภาคี โดยแทบไม่มีการปรึกษาหารืออย่างจริงจังกับหน่วยงานระดับรากหญ้าและหน่วยงานภาคประชาสังคมซึ่งทำงานด้านสิทธิมนุษยชนกับประชาชนในภูมิภาคอาเซียนอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
ปฏิญญาฉบับนี้ไม่คู่ควรกับชื่อของมันเลย เราจึงขอปฏิเสธ และจะไม่นำปฏิญญาฉบับนี้มาใช้ในการทำงานกับกลุ่มต่าง ๆ ที่คุ้มครองสิทธิมนุษยชนในภูมิภาค เราจะไม่อ้างปฏิญญาฉบับนี้ในการติดต่อกับอาเซียนหรือรัฐภาคีของอาเซียน ทั้งยังจะประณามว่าเป็นกฎบัตรที่ต่อต้านสิทธิมนุษยชน เราจะยังอ้างอิงกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศต่อไป เพราะประกันเสรีภาพและให้ความคุ้มครองที่คู่ควรกับประชาชนและกลุ่มต่าง ๆ ในอาเซียน แตกต่างจากปฏิญญาฉบับนี้มาก เราขอเตือนบรรดารัฐภาคีอาเซียนถึงพันธกรณีของพวกเขาที่มีต่อกฎหมายระหว่างประเทศ และย่อมมีผลบังคับใช้เหนือกว่ากรณีที่เนื้อหามีความขัดแย้งกับปฏิญญาฉบับนี้ และไม่ควรมีการอ้างปฏิญญาฉบับนี้เป็นข้อแก้ตัวกรณีที่รัฐไม่สามารถปฏิบัติตามพันธกรณีสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศได้