[:th]CrCF Logo[:]
บารัค โอบามา

ยุติคุกลับของสหรัฐอเมริกทั่วโลก เรียกร้องให้ประธานาธิบดีโอบามา และนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ตรวจสอบ และเปิดเผยต่อสาธารณะ

Share

แถลงการณ์ ยุติคุกลับของสหรัฐอเมริกทั่วโลก เรียกร้องให้ประธานาธิบดีโอบามา และนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ตรวจสอบ และเปิดเผยต่อสาธารณะเรื่องสถานที่ควบคุมตัวลับ (คุกลับ) ในประเทศไทย

ขอแสดงความยินดีกับนายบารัค โอบามาในการได้รับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และนโยบายในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับนานาประเทศ รวมทั้งการเยือนประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นประเทศแรกแรก การเยี่ยมเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในวันที่ 18-19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 นั้น แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีความสัมพันธ์อย่างดีกับประเทศสหรัฐอเมริกาตลอดมา รวมทั้งจะช่วยยกระดับการพัฒนาความสัมพันธ์ทางการค้าการลงทุนทวิภาคี และในระดับภูมิภาค

อย่างไรก็ตามมูลนิธิผสานวัฒนธรรมยังมีข้อกังวลกับนโยบายต่างประเทศของประเทศสหรัฐอเมริกาในการปราบปรามการก่อการร้ายภายหลังเหตุการณ์วินาศกรรม 11 กันยายน ปีพ.ศ.2544 (2001) หน่วยงานข่าวกรองแห่งชาติของสหรัฐฯ (CIA) ภายใต้อำนาจหน้าที่ตามคำสั่งประธานาธิบดี (Presidential Memorandum) ได้จัดตั้งสถานที่ควบคุมตัวลับ (black sites) ทั่วโลกเพื่อควบคุมตัวและสอบปากคำผู้ต้องสงสัยว่าก่อการร้าย ที่รวมถึงข้อมูลที่ปรากฎว่ามีการสถานที่ควบคุมตัวลับอยู่ในประเทศไทย ในกรณีของการควบคุมตัวนายอาบู ซาเบดาห์ (Abu Zubaydah) และนายอัล-นาชิรี (al-Nashiri) ในที่ควบคุมตัวลับเหล่านี้เท่านั้น แต่พวกเขายังถูกเจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ ทรมานในระหว่างการควบคุมตัวด้วยความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลไทยด้วยซึ่งปรากฎเป็นข่าวและรายงานของหน่วยงานความมั่นคง หน่วยงานด้านกระบวนการยุติธรรมและวุฒิสภาของสหรัฐที่เปิดข้อมูลอย่างเป็นทางการมาก่อนหน้านี้

นายอาบู ซาเบดาห์ได้ถูกจับกุมเป็นครั้งแรกที่ปากีสถานเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2545 ไม่นานหลังจากนั้นเขาถูกส่งตัวมาสอบปากคำที่ประเทศไทย มีรายงานข่าวว่าหน่วยงานซีไอเอ (CIA) เข้าดำเนินการสอบสวน โดยการว่าจ้าง นักจิตวิทยาและนำวิธีการสอบสวนของเขามาใช้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ภาพลามกอนาจาร การรบกวนไม่ให้นอน การกระตุ้นระบบประสาท การใช้เสียงดัง การปรับอุณหภูมิเพื่อรบกวนร่างกาย การใส่โซ่ตรวนเป็นเวลานาน และการรบกวนด้านโภชนาการ

ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2545 ทางนิติกรของซีไอเอเริ่มขอความเห็นเกี่ยวกับความชอบด้านกฎหมายของ “เทคนิคการสอบปากคำแบบเข้มข้น” (“enhanced interrogation techniques” -EITs) ที่ใช้กันอยู่ ในวันที่ 24 กรกฎาคม 2545 ทางหน่วยงานให้ความเห็นด้านกฎหมาย (Office of Legal Counsel -OLC) ให้ความเห็นต่อซีไอเอว่า เทคนิคการสอบปากคำแบบเข้มข้นเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย แม้จะมีข้อห้ามการทรมานปรากฏอยู่ในมาตรา 2340A ลักษณะ 18 ของประมวลกฎหมายแห่งสหรัฐอเมริกา (United States Code) ต่อมามีการย้ายนายซาเบดาห์ไปยังที่ควบคุมตัวลับอีกแห่งหนึ่งในประเทศโปแลนด์เมื่อเดือนธันวาคม 2545 จากนั้นจึงย้ายไปที่อ่าวกวนตานาโมเมื่อปี 2549 ปัจจุบันเขายังถูกควบคุมตัวอยู่โดยทางสหรัฐอเมริกาไม่ได้ตั้งข้อหาต่อนายซูเบดาห์แต่อย่างไรเป็นเวลาเกือบ 10 ปีนับแต่วันที่ถูกจับกุม

อีกกรณีหนึ่งมีรายงานข่าวว่านายอัล-นาชิรีได้ถูกจับกุมตัวที่ประเทศดูไบ เมื่อเดือนตุลาคม 2545 จากนั้นมีการส่งตัวเขามาที่ที่ควบคุมตัวลับในไทย ซึ่งเป็นที่เดียวกับที่นายซาเบดาห์เคยถูกควบคุมตัว มีการกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ใช้วิธีเทคนิคการสอบปากคำแบบเข้มข้นทันทีกับนายนาชิรี รวมทั้งการราดน้ำอย่างต่อเนื่องใส่ใบหน้าขณะที่นอนหงายและคลุมผ้าอยู่ (waterboarding) นายอับเดล-ฮาคิม เบลฮัจ (Abdel-Hakim Belhaj) เป็นผู้ถูกควบคุมตัวอีกคนหนึ่งที่กล่าวหาว่าเขาเคยถูกควบคุมตัวไว้ในที่ควบคุมตัวลับของไทยและถูกทรมานเมื่อปี 2547

จากข้อเท็จจริงดังกล่าวมูลนิธิฯ ขอเรียกร้องให้ประเทศไทยและประเทศสหรัฐอเมริการ่วมกันตรวจสอบอย่างโปร่งใสและเปิดเผยต่อสาธารณะเรื่องสถานที่ควบคุมตัวลับ (คุกลับ)ในประเทศไทยที่มีการทรมานบุคคลและทดลองรูปแบบการทรมานในประเทศไทย รวมทั้งนำผู้กระทำความผิดและละเมิดกฎหมายมาลงโทษทั้งในเขตอำนาจศาลในประเทศไทยและในประเทศสหรัฐอเมริกา และให้ประเทศทั้งสองยุติความร่วมมือในการอนุญาตให้มีสถานที่ควบคุมตัวลับนอกกฎหมายในประเทศไทย และขอให้ผู้นำประเทศทั้งสองคือนายบารัค โอบามา และนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรได้แสดงออกต่อสาธารณะว่าความร่วมมือระหว่างประเทศทั้งสองประเทศจะต้องไม่นำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนใดๆ และต้องไม่อนุญาตให้มีการทรมานหรือทดลองการทรมาน ร่วมทั้งการปฎิบัติอย่างโหดร้ายไม่ว่าผู้ถูกกระทำจะเป็นพลเมืองประเทศใด เทคนิคการทรมานเหล่านี้ไปใช้ในการปราบปรามการก่อการร้ายทั่วโลกทั้งที่การทรมานและปฎิบัติต่อผู้ต้องขังอย่างไร้มนุษยธรรมซึ่งเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างร้ายแรงจนถึงปัจจุบัน

ติดต่อ พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ โทร 02-6934939
โครงการรณรงค์ต่อต้านการทรมาน มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

Loader Loading…
EAD Logo Taking too long?

Reload Reload document
| Open Open in new tab

Download [104.37 KB]

RELATED ARTICLES