[:th]CrCF Logo[:]

ศาลแพ่งนัดไกล่เกลี่ย คดีญาติพลทหารวิเชียร เผือกสม ฟ้องฝ่ายทหารเรียกค่าเสียหาย

Share

ตามที่นางประเทือง เผือกสม มารดาของ พลทหารวิเชียร เผือกสม ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องที่ศาลแพ่ง เรียกค่าเสียหายจากกระทรวงกลาโหม, กองทัพบก และสำนักนายกรัฐมนตรี  เป็นจำเลย ให้รับผิดชดใช้ค่าเสียหาย กรณีที่ถูกครูฝึกทหารใหม่ได้ลงโทษพลทหารวิเชียร ด้วยการทำร้ายร่างกายโดยทรมานทารุณโหดร้าย จนเป็นเหตุให้พลทหารวิเชียรถึงแก่ความตาย เหตุเกิดที่ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส

วันนี้ 1 ต.ค. 55 เวลา 9.00 น. ซึ่งเป็นวันนัดพร้อม ศาลได้มีคำสั่งให้ส่งคดีเข้าสู่ศูนย์ไกล่เกลี่ย ก่อนสืบพยานโจทก์จำเลย เนื่องจากคดีมีโอกาสเจรจาตกลงกันได้ เพื่อประโยชน์ของคู่ความทั้งสองฝ่าย ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2555 เวลา 09.00 น. และเพื่อให้การดำเนินกระบวนพิจารณาเป็นไปด้วยความรวดเร็ว จึงได้กำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์เป็นวันที่ 18 ธันวาคม  2555 เวลา 9.00-16.00 น. ด้วย

พลทหารวิเชียร เผือกสม ได้เคยอุปสมบทเป็นพระภิกษุ และศึกษาจนจบชั้นปริญญาพุทธศาสตรบัณฑิต (พธ.บ.) คณะพุทธศาสตร์ สาขาวิชาศาสนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย ผลการเรียนเกียตินิยมอันดับ 1  และสำเร็จระดับปริญญาโท คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีผลการเรียนดีเยี่ยม เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2554 พลทหารวิเชียรได้สมัครเข้ารับการเกณฑ์ทหาร และเข้าฝึกที่หน่วยฝึกทหารใหม่ ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส ต่อมาวันที่ 1 มิถุนายน 2554 เจ้าหน้าที่ทหาร 10 นาย ได้ร่วมกันทำร้ายร่างกายพลทหารวิเชียร โดยทรมาน และกระทำทารุณโหดร้าย โดยอ้างว่า พลทหารวิเชียร เผือกสม หลบหนีการฝึก ทำให้พลทหารวิเชียร ได้รับบาดเจ็บสาหัส และได้เสียชีวิตในวันที่ 5 มิถุนายน 2554 โดยสาเหตุการเสียชีวิตเนื่องจากไตวายเฉียบพลันจากกล้ามเนื้อได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรง

ทั้งนี้ ในส่วนของคดีอาญาที่นางประเทืองได้แจ้งความดำเนินคดีกับครูฝึกทหารใหม่ และทหารที่ร่วมกันทำร้ายร่างกายพลทหารวิเชียรจนถึงแก่ความตายนั้น ยังมีความล่าช้าอยากมาก ซึ่งขณะนี้คดีอยู่ในระหว่างการชี้มูลความผิดของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ของกระทรวงยุติธรรม แต่ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด

การลงโทษโดยทำร้ายร่างกายด้วยวิธีการทารุณโหดร้าย นอกจากจะเป็นความผิดท้ังทางอาญาและทางแพ่งแล้ว ยังเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 ม. 32 ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของบุคคล และละเมิดอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี ที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคีและมีพันธกรณีให้ปฏิบัติตามอนุสัญญาฯดังกล่าวด้วย

ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
– 
นายรัษฎา มนูรัษฎา ทนายความ สภาทนายความ 02 282 9906
– นางสาวภาวิณี ชุมศรี ทนายความ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม 02 693 4939[:]