นั่งเครื่องบินมาคุยกันที่เจนีวา เรื่องสิทธิมนุษยชนและการเลือกปฎิบัติทางเชื้อชาติกันทำไม โดย พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
เมื่อวันที่ 9-10 สิงหาคม พ.ศ. 2555 ได้มีการประชุมทบทวนรายงานของรัฐบาลไทยซึ่งเป็นรายงานฉบับแรก และรายงานสองฉบับพร้อมๆ กัน เรียกว่ารัฐบาลไทยไม่ยอมส่งการบ้านมาเกือบ 10 ปี ขอส่งครั้งเดียว และตอบทุกข้อว่าอย่างนั้น จนทางคณะกรรมการประจำอนุสัญญาว่าด้วยการเลือกปฎิบัติทางเชื้อชาติ (ICERD) หยอกเล่นว่าประเทศไทยไม่มายูเอ็นบ่อยนัก มารายงานวันนี้มีกันเต็มห้อง และคงประสบความสำเร็จในการแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยจำนวน 28 คน และคณะกรรมการ CERC
โดยตัวแทนภาคประชาสังคม NGOs จากเครือข่ายที่ร่วมเขียนรายงานคู่ขนาน ที่ร่วมสังเกตการณ์ด้วยคือ ตัวแทนจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม คุณเกาซัส อาลีมามะ ผูู้แทนจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม และคุณวิวัฒน์ ตามี่ ในนามผู้แทนเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง (ศปส.) ค่าใช้จ่ายในการเดินทางของแต่ละคนก็คงไม่น้อย สำหรับโอกาสของเราสามคนต้องขอขอบคุณ คณะทำงานระหว่างประเทศเพื่อกิจการชนเผ่าพื้นเมือง (International Working Group for Indigenous Affairs -IWGIA) ที่ให้การสนับสนุน
การนำเสนอรายงานต่อคณะกรรมการการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ (ICERD COMMITTEE) เป็นหน้าที่ของภาคีสมาชิกตามอนุสัญญา ที่ทุกๆ 2 ปีจะต้องนำเสนอรายงาน ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกด้วยการภาคนานุวัติ เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2546 และมีผลบังคับใช้กับประเทศไทย 27 กุมภาพันธ์ 2546 ไทยจะต้องส่งรายงานในปีแรกนับจากวันที่อนุสัญญามีผลบังคับใช้ (ฉบับที่ 1 คือ 27 กุมภาพันธ์ 2547) และจากนั้นทุก 2 ปี จะต้องส่งรายงาน
แต่เนื่องจากประเทศไทยไม่เคยส่งรายงานเลย รายงานที่รัฐบาลไทยจัดทำ และส่งในปี 2555 นี้จึงเป็นรายงานรวบยอด 3 ฉบับ การนำเสนอรายงานอย่างเป็นทางการคือ 9-10 สิงหาคม 2555 สำหรับภาคประชาชน เราในฐานะประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการเลือกปฏิบัติและองค์กรสิทธิมนุษยชนที่ทำงานมีบทบาทที่จะต้องเขียนรายงานคู่ขนาน (Shadow Report) เพื่อให้รายงานรัฐบาลไทยมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น จึงไม่ใช่เป็นการตรวจสอบรายงานรัฐบาลโดยตรง พวกเราในนามภาคประชาชนเขียนรายงานได้ติดต่อประสานงานกับคณะกรรมการ ICERD ก่อนเพื่อให้มีการจัดประชุมให้พวกเรานำเสนอรายงานเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการ ICERD ด้วย
โดยในวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2555 ก่อนการประชุมจริง ทางคณะกรรมการ ICERD ได้เชิญให้ตัวแทนภาคประชาสังคมไทยไปร่วมแลกเปลี่ยนและให้ข้อมูล โดยสรุปคำถามแนวคำถามต่อ NGOs ของคณะกรรมการการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ (ICERD) ที่ มีทั้งหมด 17 คำถามต่อไปนี้
- กรณี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้กับชนเผ่าพื้นเมืองชาติพันธุ์ในภูมิภาคอื่นมีความแตกต่างหรือเหมือนกันอย่างไรเกี่ยวกับการถูกเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ
- คนไร้สัญชาติที่ได้รับการผ่อนผันให้อาศัยอยู่ชั่วคราวในประเทศไทย จะประสบปัญหาอะไรบ้าง อย่างไร?
- กรณีไม่ได้สัญชาติ เพราะอะไร ทำไมถึงไม่ได้รับสัญชาติ มีจำนวนเท่าไหร่ เป็นผู้อพยพมาจากประเทศอื่นหรือไม่?
- นโยบายปราบปรามยาเสพติดในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร กระทบต่อชนเผ่าและชนกลุ่มน้อยในประเทศไทยหรือไม่ มากน้อยแค่ไหน อย่างไร?
- กรณีป่าไม้ และที่ดิน ความรุนแรงเกี่ยวกับปัญหาและผลกระทบจากนโยบายด้านป่าไม้และที่ดิน เช่น คดีที่เกิดจากนโยบายรัฐเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนมีความรุนแรงมากน้อย แต่ไหน ชนเผ่าและกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆในประเทศไทยได้รับผลกระทบหรือไม่ สาเหตุเกิดจากอะไรบ้าง?
- รัฐบาลไทยใช้กฎหมายและนโยบายอย่างไรในการจับกูม ไล่รื้อ อพยพ และใช้วิธีการใด?
- รัฐบาลไทยเลือกปฏิบัติทางชาติพันธ์อย่างไรอย่างไร หมายถึงวิธีการ?
- ชนเผ่าพื้นเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์ได้รับการยอมรับจากรัฐบาลไทยหรือไม่ มากน้อย แค่ไหน?
- ยุทธศาสตร์ด้านป่าไม้และที่ดินในเขตป่าของรัฐบาลไทยเป็นอย่างไร ส่งผลกระทบอย่างไรต่อชนเผ่าพื้นเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์
- คำว่าผู้ตกสำรวจ และคนไร้รากเหง้าแตกต่างกันอย่างไร ทั้งการจำแนกกลุ่ม สถานะและสิทธิ?
- ประเทศไทยมีกฎหมายการห้ามการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติประกาศไว้อย่างชัดเจนหรือไม่? ถ้าไม่มีประชาชนที่ถูกเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติใช้ช่องทางใดในการเรียกร้องสิทธิและการใช้สิทธิทางศาลได้หรือไม่อย่างไร?
- ผู้หญิงชนเผ่าตกเป็นเหยื่อถูกค้ามนุษย์มากน้อยแค่ไหน หมายถึงสถานการณ์ความรุนแรงเรื่องการค้ามนษย์ และมีงานให้ความช่วยเหลือ มากน้อยแค่ไหน?
- การได้มาซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) ได้มาด้วยวิธีการอย่างไร?
- คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.)มีบทบาทมากน้อยแค่ไหนในการเข้ามาช่วยเหลือเพื่อไม่ให้เกิดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ?
- ลองจัดลำดับความสำคัญของปัญหาการถูกเลือกปฏิบัติว่า อะไรสำคัญที่สุด?
- กรณีการเลือกปฏิบัติของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเพราะลักษณะภูมิภาคมีความข้ดแย้งทางประวัติศาตร์หรือไม่ หรือเพราะเป็มุสลิมมาลายู?
- ความร่วมมือระหว่างองค์กรเอกชน ภาคประชาสังคมกับองค์กรของรัฐเป็นอย่างไร
แล้วก็มาถึงวันประชุมจริงวันที่ 9-10 สิงหาคม พ.ศ. 2555 ถ้าว่ากันจริง ๆ เป็นวันที่ 9 สิงหาคมทุกปีเป็นวันที่ทางยูเอ็นได้จัดให้เป็นวันชนเผ่าพื้นเมืองสากล แต่ปีนี้ทางยูเอ็นไม่ได้จัดงานในช่วงเวลาดังกล่าวได้ยินว่ามีงานฉลองกันไปก่อนหน้านี้เสียดายที่ไม่ได้มีโอกาสเข้าร่วม เพราะจะมีชนเผ่าพื้นเมืองต่าง ๆ จากทั่วโลกมาร่วมงาน มีการแสดงวัฒนธรรมและการแต่งกายที่ทำให้เราประจักษ์ว่าชนเผ่าพื้นเมืองมีตัวตน มีอัตลักษณ์ ทั้ง ๆ ที่หลาย ๆ ประเทศในโลกพยายามปฎิเสธความมีตัวตนของชนเผ่าพื้นเมือง พยายามนิยามกลุ่มประชากรของตนให้มีความหมายลดน้อยลงด้วยการใช้คำพูดอื่นๆ เช่น ชนกลุ่มน้อย ชาวเขา หรือ คนภูเขา อย่างเช่นประเทศไทยเป็นต้น ทั้งที่ควรเป็นการเรียกชื่อกลุ่มของตนตามที่ต้องการที่เรียกกันว่าself identification ที่ต้องได้รับการส่งเสริม
ในการประชุมวันแรกวันที่ 9 สิงหาคม ประเทศไทยได้เข้าร่วมประชุมพร้อมเพรียงด้วยตัวแทนทั้งสิ้น 28 ท่าน แม้เราจะไม่ได้มีโอกาสพูดคุยกับตัวแทนประเทศไทยเลยก็ตาม ตัวแทนบางท่านก็ได้ทักทายให้ความเป็นกันเอง แต่ก็มีบางท่านที่ไม่ค่อยเป็นมิตรด้วยทัศนคติที่ว่า NGOs เป็นผู้พยายามสร้างปัญหานำเรื่องราวละเมิดสิทธิฯมาฟ้องยูเอ็นทำให้ประเทศไทยยุ่งยากในการตอบคำถาม อย่างไรก็ดีเรามีประจักษ์พยานกันการประชุมครั้งนี้คือคนทั่วโลกและผู้ได้รับผลกระทบจากการละเมิดสิทธิในประเทศไทยที่เฝ้าติดตามการพิจารณารายงานประเทศไทยในวันที่ 9-10 สิงหาคมนี้ เพราะมีการถ่ายทอดสดทาง Webcast และยังสามารถหาชมย้อนหลังได้ทางอินเตอร์เนต ลำดับขั้นตอนการรายงานมีดังนี้คือ
มีการกล่าวรายงานของทางรัฐบาลเป็นเวลา 45 นาที ผู้รายงานพิเศษที่ได้รับการแต่งตั้งให้นำเสนอความเห็นเบื้องต้นของคณะกรรมการ ICERD จากการอ่านรายงานรัฐ รายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และรายงานคู่ขนานของภาคประชาสังคม แล้วได้สรุปประเด็นสำคัญให้ที่ประชุมรับทราบ ต่อมาก็มีคำถามจากสมาชิกของคณะกรรมการ ICERD จำนวน 18 ท่าน รวมเป็นเวลา 3 ชั่วโมงในวันแรก ผู้แทนคณะฯ ของไทย นำโดยรองปลัดกระทรวงยุติธรรม และที่สำคัญมีศาสตรจารย์วิทิต มันตราภรณ์มาร่วมชี้แจงด้วย
ถือเป็นเกียรติของรัฐบาลไทยที่ทางศาสตราจารย์เชี่ยวชาญด้านกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศให้ความสำคัญ และมาร่วมทำงานเพื่อสนับสนุนความพยายามของรัฐบาลไทยในการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ ในวันนี้มีคำถามจากคณะกรรมการ ICERD ทั้งสิ้น 11 ท่านจาก คณะกรรมการทั้งหมด 18 ท่าน ทุกท่านมีประสบการณ์มากมายทั้งการเป็นอาจารย์ เป็นนักการทูต ผู้แทนฯ ที่ได้รับเป็นผู้รายงานของประเทศไทยในคณะกรรมการ ICERD
ในการประชุมนี้เป็นนักการทูตชาวจีนที่เคยทำงานใน UN สำนักงานที่กรุงเทพ ในวันที่สอง วันที่ 10 สิงหาคม ตัวแทนรัฐได้ตอบคำถามของคณะกรรมการ ICERD มีสาระสำคัญเรื่องหนึ่งกรอบใหญ่ของอนุสัญญา CERF ได้แก่การให้ความหมายของกลุ่มประชากรต่าง ๆ ของไทยซึ่งมีปัญหาในเรื่องการเคารพต่ออัตลักษณ์ของแต่ละกลุ่ม ทางคณะกรรมการให้ความสำคัญกับ Self identification มากกว่าการแบ่งกลุ่มอย่างหยาบ ๆ เพื่อเคารพต่อความเป็นหนึ่งเดียวของคนในชาติ อีกทั้งคณะกรรมการ ICERD ได้ตั้งคำถามการตีความว่ารัฐไทยจะดำเนินการตามกรอบของรัฐธรรมนูญไทยเท่านั้น
เรื่องนี้คณะกรรมการฯ เน้นว่า กฎหมายระหว่างประเทศที่รัฐไทยรับเป็นภาคีสมาชิกนั้นมีความสำคัญอย่างมากที่รัฐไทยจะต้องนำกลับไปปรับใช้ ไม่ใช่ตีความแคบเท่ากับกฎหมายในประเทศ อีกทั้งประเทศไทยเป็น Dualism หมายถึงต้องมีการแก้ไขกฎหมายในประเทศให้สอดคล้องกับอนุสัญญาระหว่างประเทศเพื่อนำมาตราฐานด้านสิทธิมนุษยชนมาบังคับใช้ปฎิบัติได้จริง แต่เมื่อรัฐไทยได้ตั้งข้อสงวนไว้ในข้อ 4 ก็ทำให้ไม่สามารถนำจิตวิญญานของการคุ้มครองด้านสิทธิมนุษยชนตามอนุสัญญาระหว่างประเทศต่าง ๆที่รัฐไทยได้รับเป็นรัฐสมาชิกได้จริง คณะกรรมการฯยืนยันว่ารัฐไทยควรยกเลิกข้อสงวนดังกล่าว คำถามภาพรวมใหญ่นี้องค์กรสิทธิมนุษยชนในประเทศคงไม่สามารถตั้งคำถามได้ในเวทีใดในประเทศ นั้นจึงเป็นเหตุผลหนึ่งว่าทำไมเราต้องมาพูดคุยกันไกลถึงเจนีวา
นอกจากคำถามใหญ่ที่รัฐบาลไทยและตัวแทน 28 คนยังคงไม่สามารถให้คำตอบแต่รับปากแต่เพียงว่าจะกลับมาเมื่อไทยแล้วปรึกษาหารือกับหน่วยงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกัน ว่าจะยกเลิกการตีความอย่างแคบว่าจะใช้แต่เฉพาะกฎหมายรัฐธรรมนูญในการคุ้มครองและป้องกันไม่ให้มีการเลือกปฎิบัติทางเชื้อชาติ หรือการยกเลิกข้อสวงนข้อ 4 ที่ระบุว่ารัฐบาลจะต้องมีการออกกฎหมายโดยเฉพาะเพื่อการห้ามไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาตินั้นได้หรือไม่ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็ก แต่มีเรื่องใหญ่อีกหลายเรื่องที่รัฐบาลยังไม่มีคำตอบชัดเจน เช่น เรื่องมาตรการการคุ้มครองสิทธิชนชาวมลายูมุสลิมในภาคใต้ไม่ให้มีการปราบปรามการก่อความไม่สงบอย่างเหวี่ยงแหและมีลักษณะของการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ ขอให้มีการตรวจสอบBlacklist เพื่อป้องกันไม่ให้เกิด Racial Profiling
ซึ่งการคัดกรองบุคคลโดยดูจากลักษณะทางชาติพันธุ์ และภาพเหมารวมต่อกลุ่มชาติพันธุ์ที่ยังคงดำเนินอยู่ หรือบางคำถามก็เป็นการเสนอว่ากำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาเช่น การลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัย เป็นต้น เรื่องสัญชาติ แม้ตัวแทนจะแถลงต่อคณะกรรมการ ICERD ได้รับปากว่าจะมีการลงทะเบียนสัญชาติให้กับบุคคลที่ตกสำรวจ 300,000 คนให้แล้วเสร็จใน 3 ปี แต่ก็ไม่มีรายละเอียดการเริ่มต้นและแนวทางการปฎิบัติว่าจะดำเนินการให้เป็นจริงได้อย่างไร รวมทั้งไม่มีคำตอบที่ชัดเจนต่อคำถามเรื่องการลงทะเบียนเกิดให้กับเด็กที่เกิดในประเทศไทย ทั้ง ๆที่ตัวแทน คณะกรรมการ ICERD ระบุด้วยว่า ถ้าไม่ลงทะเบียนเกิดให้กับเด็กเกิดในไทย ก็จะเป็นการสร้างให้เกิดคนไร้รัฐเพิ่มมาขึ้นหรือไม่
อีกทั้งทางคณะกรรมการ ICERD ได้แนะนำให้รัฐบาลไทยจัดทำข้อมูลแบบแยกประเภทกลุ่มประชากรต่าง ๆ ในประเทศไทยให้ชัดเจนทั้งเพศ หญิงชาย อายุ เพื่อให้มีข้อมูลประชากรสำหรับการรายงานต่อยูเอ็นในครั้งต่อไปในการเปรียบเทียบการพัฒนาในแง่มุมต่าง ๆ ชัดเจนขึ้น และจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความเลื่อมล้ำที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
คำถามหนัก ๆ เช่นเรื่องการดำเนินการโดยกฎหมายป่าไม้ การจับกุมควบคุมตัวชนเผ่าพื้นเมืองข้อหาบุกรุกป่า การคิดค่าภาวะโลกร้อน การปฎิบัติต่อผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัย แม้ว่าทางคณะกรรมการ ICERD จะชื่นชมในความพยายามของรัฐบาลในการบริหารจัดการแต่ก็มีข้อติติงเรื่องการจัดการผู้ลี้ภัยบางกลุ่มเช่น ชาวโรฮิงยา เป็นต้น การปฎิบัติต่อแรงงานข้ามชาติ เช่นเรื่องการส่งกลับกรณีตั้งครรภ์ ซึ่งก็ได้รับการยืนยันจากผู้แทนรัฐบาลไทยว่าจะไม่มีการส่งกลับแรงงานข้ามชาติที่ตั้งครรภ์แน่นอนเป็นเพียงการพูดคุยเพื่อทำการวิจัยเท่านั้น โล่งอกไปได้ เพราะถ้ารัฐบาลไทยจะดำเนินการส่งกลับถือว่าเป็นละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายฉบับ สิทธิเด็ก สิทธิสตรี และยังเป็นเรื่องการกีดกันทางเชื้อชาติอีกต่างหาก
นางสาวเกาซัร อาลีมามะ ตัวแทนประชาชนจากจังหวัดชายแดนใต้ ทำงานที่มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม รู้สึกดีใจที่ได้มีโอกาสร่วมประชุมกับยูเอ็น เธอกล่าวว่า “เราไม่เคยคิดว่าคนเชื้อสายมลายูจะได้มาร่วมงานฯ คิดว่าเป็นโอกาสแม้เสียเปรียบเรื่องภาษา แต่เราก็ได้แลกเปลี่ยนกับกรรมการฯ เราเสียใจได้ยินสิ่งที่ตัวแทนรัฐบาลแถลงในเรื่องจังหวัดชายแดนใต้ เพราะในพื้นที่รับได้รับการปฏิบัติอีกอย่างหนึ่ง แต่พอตัวแทนมาพูดกับกรรมการยูเอ็นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ตรงกันข้ามกันเลย”
แล้วเสริมว่า “ถ้าหากพูดในสิ่งที่ตรงไปตรงมาคงสามารถร่วมกันแก้ไขปัญหาได้ อยากให้มีการเปลี่ยนแปลงเรื่องการจับกุมควบคุมตัวในสถานการณ์ความไม่สงบ ไม่ให้กระทบต่อผู้บริสุทธิ์และไม่เหมารวมเลือกปฏิบัติต่อชาวมลายู” และครั้งนี้ก็มีโอกาสมายื่นจดหมายที่กลุ่มเพื่อนผู้ตัองขังฯและอดีตผู้ต้องขังที่ทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ บอกเล่าถึงความหวาดกลัวเรื่องรายชื่อที่ปรากฎใน Blacklist ของเจ้าหน้าที่และเกรงว่าไม่ปลอดภัยและไม่มีเสรีภาพในการเดินทาง และก็ดีใจที่คณะกรรมการ ICERD ตั้งคำถามและขอให้รัฐบาลมีนโยบายแก้ไขเรื่อง Blacklist เพื่อลดความเดือดร้อนของประชาชนและเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ อีกทั้งคณะกรรมการ ICERD ยังเสนอให้มีการยกเลิกกฎหมายพิเศษ
แม้ว่าในเวทีดังกล่าวคำถามอีกหลายคำถามยังไม่ได้ถาม คำตอบอีกหลายเรื่องยังไม่ได้ข้อมูลมาชี้แจง อย่างน้อยที่สุดความพยายามของทั้งฝ่ายคณะกรรมการ ICERD และฝ่ายรัฐบาลที่พยายามจะดำเนินการให้เกิดการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติให้เกิดในประเทศสมาชิกของอนุสัญญาฉบับนี้คงไม่สามารถเป็นจริงได้ ข้อเสนอแนะฉบับสมบูรณ์สำหรับประเทศไทยจะเขียนขึ้นหลังการประชุมในวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2555 และจะเป็นข้อเสนอแนะโดยตรงให้รัฐบาลไทยในฐานะรัฐภาคีดำเนินการและนำกลับมาตอบกับคณะกรรมการ ICERD ในการประชุมครั้งต่อไป
ทั้งนี้หากภาคประชาสังคมอย่างพวกเราหยุดทำงานกลับจากยูเอ็นไปแล้วไม่สามารถติดตามการดำเนินการตามคำมั่นที่รัฐบาลมีให้ต่อคณะกรรมการยูเอ็นตอนหนึ่งว่า We are into Human Rights, we will bring back the concern (from ICERD) to our peoples at home and including the south. We knew that without human rights we could not obtain peace” ซึ่งมีความหมายว่า เราเข้าใจและทำงานเรื่องสิทธิมนุษยชน
เราจะนำข้อคิดเห็นไปทำงานที่ประเทศของเรารวมทั้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ และเข้าใจดีว่าการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนจะทำให้ประเทศไทยเกิดสันติภาพ” หากรัฐบาล และภาคประชาสังคมรวมทั้งผู้ได้รับผลกระทบในเรื่องการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติรับนำข้อเสนอแนะมาทำงานร่วมกันตามความมุ่งมั่นทางการเมืองของรัฐบาลไทยจริง เราคงไม่ต้องมายูเอ็น ไม่ต้องนั่งเครื่องบินกว่า 14 ชั่วโมงมาพูดคุยกัน ไม่ต้องสิ้นเปลืองงบประมาณซึ่งเป็นภาษีของเรา เราน่าจะคุยกันได้ที่บ้านเรา
ซึ่งสอดคล้องกับคำกล่าวของคณะกรรมการ ICERD ท่านหนึ่งที่ว่า การมาร่วมเวทีของตัวแทนไทยครั้งนี้เป็นคณะที่ใหญ่มากเห็นว่าประเทศไทยมีศักยภาพทางเศรษฐกิจ และคิดว่าน่าจะมีงบประมาณเพียงพอที่จะช่วยทำงานเรื่องส่งเสริมการเลือกปฎิบัติทางเชื้อชาติได้ดีด้วยเช่นกัน แล้วพบกันครั้งหน้าใหม่ที่เจนีวา