[:th]CrCF Logo[:]

ศาลมีคำสั่งรับฎีกาคำร้อง ให้เพิกถอนคำสั่งไต่สวนการตาย เหตุการณ์สลายชุมนุมตากใบ

Share

ศาลมีคำสั่งรับฎีกาคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งไต่สวนการตาย กรณีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่อำเภอตากใบ

เมื่อวันที่ 6 ก.ค. 55 ทนายความของญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส จำนวน 34 คน ได้ยื่นฎีกาต่อศาลอาญา ขอให้เพิกถอนคำสั่งไต่สวนการตายกรณีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมพื้นที่อำเภอตากใบของศาลจังหวัดสงขลา เนื่องจากเห็นว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ถูกต้อง และไม่เป็นธรรมตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ศาลอาญามีคำสั่งรับฎีกาและให้ส่งฎีกาให้ศาลฎีกาพิจารณาต่อไป

คดีนี้สืบเนื่องจาก ญาติผู้ตายทั้ง 34 คน ได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญา เพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งไต่สวนการตายกรณีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่อำเภอตากใบของศาลจังหวัดสงขลา ศาลอาญามีคำสั่งไม่รับคำร้อง ผู้ร้องซึ่งเป็นญาติผู้ตายทั้ง 34 คน จึงได้ยื่นอุทธรณ์

ต่อมาเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 55 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามศาลอาญา เนื่องจากเห็นว่าศาลจังหวัดสงขลารับคดีไว้และทำการพิจารณาพิพากษาไปแล้ว ศาลอาญาจึงไม่อาจรับคดีไว้พิจารณาอีก เป็นการต้องห้ามตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 15

ผู้ร้องจึงได้ยื่นฎีกา โดยให้เหตุผลว่า คำร้องของผู้ร้อง มีวัตถุประสงค์ว่าคำสั่งของศาลจังหวัดสงขลานั้น ไม่ถูกต้องไม่เป็นธรรม ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องต่อศาลอาญาเพื่อเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว

การยื่นคำร้องของผู้ร้องในคดีนี้ไม่ใช่คดีที่ศาลจังหวัดสงขลารับไว้พิจารณาแล้ว ซึ่งต้องห้ามตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 15 แต่เป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่ผู้ร้องสามารถใช้สิทธิทางศาลได้โดยตรง และเมื่อไม่มีศาลใดมีเขตอำนาจเฉพาะ จึงต้องยื่นต่อศาลที่มีเขตอำนาจทั่วไป คือศาลอาญา เพราะศาลอาญามีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาทั้งปวงได้ทั่วราชอาณาจักร

คำสั่งไต่สวนการตายของศาลจังหวัดสงขลากรณีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมอำเภอตากใบในคดีหมายเลขดำที่ ช.16/2548 คดีหมายเลขแดงที่ ช.8 /2552 ที่ว่าผู้ตายทั้งหมดเสียชีวิตเนื่องจากขาดอากาศหายใจ โดยไม่กล่าวถึงเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย

กล่าวคือ ไม่ระบุข้อเท็จจริงเรื่องที่ผู้ถูกควบคุมตัวจำนวน 78 คน ถูกบังคับให้ถอดเสื้อ และมัดมือไขว้หลัง บังคับให้นอนคว่ำหน้ากับพื้นรถยนต์บรรทุก ทับซ้อนกันเป็นชั้น ประมาณ 4-5 ชั้น และไม่ระบุชื่อบุคคลผู้ออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่งและเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติตามคำสั่ง ซึ่งเป็นผู้สั่งการหรือกระทำการอันเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย

ซึ่งจากคำให้การของประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุจำนวนมาก และพยานหลักฐานต่างๆ ในสำนวนได้ปรากฏข้อเท็จจริงทั้งหมดอย่างชัดแจ้ง รวมตลอดถึงข้อเท็จจริงสำคัญอื่นๆ ที่แสดงให้เห็นว่าการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมผู้ร่วมชุมนุม และนำตัวไปที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร โดยไม่คำนึงถึงหลักนิติธรรม ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ และเสรีภาพของผู้ถูกควบคุมตัวแต่อย่างใด

คำสั่งของศาลจังหวัดสงขลาย่อมกระทบต่อสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของผู้ตายและญาติผู้ตาย ซึ่งได้รับการรับร้องไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ขัดกับบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 และบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงสมควรถูกเพิกถอนและมีคำสั่งใหม่ที่เป็นธรรม

โดยในตอนท้ายของฎีกา ผู้ร้องได้ระบุด้วยว่า คำสั่งของศาลจังหวัดสงขลาที่ไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ส่งผลให้เจ้าหน้าที่รัฐไม่ต้องรับผิดในการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและสิทธิมนุษยชนแต่ประการใด และอาจเป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย ละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคล โดยการปฏิบัติที่ทารุณ โหดร้าย และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ได้อีกซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
– นายรัษฎา มนูรัษฎา ทนายความ 081-4394938,
– ภาวิณี ชุมศรี ทนายความ 083-1896598
Photo Credit: Voice TV

Loader Loading...
EAD Logo Taking too long?

Reload Reload document
| Open Open in new tab

Download [192.07 KB]