จากมาตรา 21 พรบ. ความมั่นคงฯ สู่คดีอาญา บทเรียนคดีอยู่ในความสนใจของประชาชน

Share

จากมาตรา 21 พ.ร.บ. ความมั่นคงฯ สู่คดีอาญา: บทเรียนคดีอยู่ในความสนใจของประชาชน โดย พูนสุข พูนสุขเจริญ และปรีดา ทองชุมนุม มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

1. คดีร้ายแรงอยู่ในความสนใจของประชาชน ศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว

เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2555 พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องนายมาซับบรี กะบูติง กับพวกรวม 5 คน ในฐานความผิด “ร่วมกันก่ออันตรายโดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการใด อันก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตโดยมีความมุ่งหมายเพื่อสร้างปั่นป่วน โดยให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน สะสมกำลังพลหรืออาวุธอันเป็นส่วนหนึ่งของแผนการเพื่อก่อการร้าย พยายามฆ่าเจ้าพนักงาน ซึ่งกระทำตามหน้าที่โดยไตร่ตรองไว้ก่อน เป็นอั้งยี่ เป็นซ่องโจร มีวัตถุระเบิด ซึ่งนายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครอง ขนย้ายวัตถุระเบิดโดยไม่ได้รับอนุญาต และกระทำให้เกิดระเบิดจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น” ต่อศาลจังหวัดนาทวี จำเลยสี่รายได้ยื่นหลักประกันเป็นโฉนดที่ดินมูลค่ารวม 2,400,000 บาทเพื่อขอปล่อยตัวจำเลยทั้งสี่คน อย่างไรก็ตามศาลได้มีคำสั่งว่า “ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว เนื่องจากกรณีเป็นคดีร้ายแรงอยู่ในความสนใจของประชาชน หากปล่อยตัวชั่วคราวเกรงว่าจำเลยจะหลบหนี”

2. มูลเหตุแห่งคดี กระบวนการมาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ. ความมั่นคงฯ และการยื้อเวลาในการฟ้องคดี

สำหรับที่มาของจำเลยในคดีดังกล่าวสืบเนื่องจากมีเหตุระเบิดเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2555 บริเวณตลาดนัดนิคมเทพา อ.เทพา จ.สงขลา ส่งผลให้มีอาสาสมัครทหารพรานได้รับบาดเจ็บจำนวนหกนาย และประชาชนบริเวณดังกล่าวอีกเจ็ดราย โดยก่อนที่จำเลย 4 ใน 5 ราย คือ นายมะซับบรี กะบูติ นายซุบิร์ สุหลง นายสะแปอิง แวและ นายอับบริก สหมานกูด จะถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีความมั่นคงนี้ ได้เคยถูกควบคุมตัวตั้งแต่ช่วงกลางเดือนเมษายน 2554 ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก. ฉฉฯ) พร้อมกับชาวบ้านคนอื่นๆอีก 5 ราย ซึ่งต่อมาญาติของผู้ถูกควบคุมตัวบางส่วนได้ยื่นคำร้องคัดค้านการควบคุมตัวตาม พ.ร.ก. ฉฉฯ ต่อศาลจังหวัดปัตตานี ด้วยเห็นว่าเจ้าหน้าที่ไม่มีความจำเป็นในการควบคุมตัวผู้ถูกควบคุมตัวอีกต่อไป และศาลจังหวัดปัตตานีได้มีคำสั่งได้ปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัวตาม พ.ร.ก. ฉฉฯ ทั้ง 8 ราย ได้แก่ นายสาแปอิง แวและ นายมะนาเซ สะมะแอ นายดลเลาะ เดนดาหยัด นายสุริยา แวนาแว นายอับริก สหมานกูด นายฮัมดี มูซอ นายมะซับรี กะบูติง และนายรอหีม หลำโสะ

อย่างไรก็ตามแม้ศาลจังหวัดปัตตานีจะได้มีคำสั่งปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัวทั้ง 8 รายแล้ว ปรากฎว่าพนักงานตำรวจได้ควบคุมตัวผู้ถูกควบคุมตัวบางรายไว้โดยอ้างว่ามีหมายจับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และเข้าสู่กระบวนการสอบสวนของเจ้าพนักงานตำรวจ นายมะนาเซ สะมะแอ และนายดลเลาะ เดนดาหยัด ได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงให้เข้าสู่กระบวนการตามมาตรา 21 ของพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาจักร พ.ศ. 2551 (พ.ร.บ. ความมั่นคงฯ) อันจะทำให้การฟ้องในคดีอาญาระงับไป แต่นายมะนาเซ และนายดลเลาะ ปฏิเสธไม่เข้าร่วมสู่กระบวนการตามมาตรา 21 แต่ขอต่อสู้คดีตามกระบวนการพิจารณาคดีอาญาตามปกติ โดยวันที่ 22 กรกฎาคม 2555 พนักงานอัยการจังหวัดนาทวีได้ยื่นฟ้องนายมะนาเซ และนายดลเลาะ ต่อศาลในข้อหาเกี่ยวข้องกับความมั่นคง และเหตุการณ์ระเบิดที่ตลาดนิคมเทพา วันที่ 2 เมษายน 2554 จำเลยทั้งสองได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวเพื่อต่อสู้คดี

ส่วนผู้ถูกควบคุมตัวที่เหลือ ได้แก่ นายมะซับรี กะบูติง นายซุบิย์ สุหลง นายสะแปะอิง แวและ และนายอับริก สหมานกูด ยังคงมีสถานะเป็นผู้ต้องหาในคดีความมั่นคง และได้ถูกเจ้าหน้าที่หน่วยความมั่นคงหว่านล้อม ให้เข้าสู่กระบวนการตามมาตรา 21 ของ พ.ร.บ. ความมั่นคงฯ กระทั่งหน่วยงานความมั่นคงได้ออกแถลงข่าวว่าทั้งสี่รายได้ยินยอมเข้าสู่กระบวนการ ตามมาตรา 21 และได้มีการปล่อยตัวชั่วคราวออกมา โดยผู้ต้องหาทั้งหมดได้ไปรายงานตัวต่อศาลอย่างสม่ำเสมอ

วันที่ 14 ธันวาคม 2554 ซึ่งเป็นวันที่พนักงานอัยการจังหวัดนาทวี จะต้องนำตัวผู้ต้องหาทั้งสี่รายมาเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาล และเพื่อให้ศาลสอบถามถึงความสมัครใจของผู้ต้องหาทั้งสี่ราย เพื่อเข้าสู่การฝึกอบรมตามมาตรา 21 ของ พ.ร.บ. ความมั่นคงฯ ซึ่งปรากฏว่าผู้ต้องหาทั้งสี่ซึ่งต่อมาได้ขอรับความช่วยเหลือทางกฎหมายจากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม จนทำให้ทราบถึงสิทธิของตนรวมถึงกระบวนการขั้นตอนของกฎหมาย และบางรายร้องเรียนว่ามีการบังคับขู่เข็ญ ทำร้ายร่างกายเพื่อให้เข้าสู่โครงการดังกล่าว ผู้ต้องหาทั้งสี่รายจึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อแถลงถึงความไม่สมัครใจเข้าสู่กระบวนการมาตรา 21 และยินดีจะพิสูจน์ความจริงตามวิธีพิจารณาความอาญาปกติ พนักงานอัยการจึงขอเลื่อนการไต่สวน ศาลจังหวัดนาทวีจึงนัดอีกครั้งในวันที่ 23 มกราคม 2555 ในครั้งนี้ผู้ต้องหาทั้งสี่รายยังยืนยันที่จะไม่ร่วมเข้ารับการอบรมดังกล่าว ศาลจึงให้งดการไต่สวน ยกคำร้องของพนักงานอัยการ และมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

การจะเข้ารับการอบรมตามมาตรา 21 พ.ร.บ. ความมั่นคงฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้กระทำความผิดที่หลงผิดหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์มีโอกาสในการกลับสู่สังคมโดยผ่านการอบรม และจะมีผลให้คดีอาญาระงับไปได้ซึ่งทางภาครัฐต้องการนำมาใช้เป็นกลไกแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนใต้อีกกลไกหนึ่ง อย่างไรก็ตามขั้นตอนดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากผู้ต้องหา และผู้ต้องหาได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนด จึงจะเข้ารับการฝึกอบรมได้ เมื่อผู้ต้องหาไม่ยินยอมจึงต้องเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์ความจริงตามปกติ ตลอดระยะเวลาหลังจากศาลยกคำร้อง ผู้ต้องหาทั้งสี่รายยังได้รับการติดต่อกับเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อเสนอให้เข้ารับการอบรมตามมาตรา 21 พ.ร.บ. ความมั่นคงฯ แต่ผู้ต้องหาทั้งสี่ยังยืนยันที่จะต่อสู้ตามกระบวนการปกติเช่นเดิม แม้จะมีการเลื่อนกำหนดนัดฟ้องมาแล้วถึง 4 ครั้งจากนัดเดิมในวันที่ 6 มี.ค. 55, 19 เม.ย. 2555, 21 พ.ค. 55 และ 1 มิ.ย.55 โดยไม่ได้แจ้งสาเหตุในการเลื่อนกำหนดฟ้อง แต่ผู้ต้องหาทั้งสี่ยังคงไปรายงานตัวต่อพนักงานอัยการตลอดมาทุกนัด จนกระทั่งพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องผู้ต้องหาทั้งสี่รายพร้อมกับจำเลยอีกหนึ่งคน ในวันที่ 26 มิถุนายน 2555 ที่ผ่านมา และได้ขอรวมคดีกับคดีของนายมะนาเซ สะมาแอ และนายดลเลาะ เดนดาหยัดเป็นคดีอาญาที่ 1572/2554 โดยพนักงานอัยการได้คัดค้านการประกันตัวจำเลยทั้งหมด ศาลอนุญาตให้รวมคดี และมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวด้วยเหตุข้างต้น

3. ปัญหาในการปล่อยตัวชั่วคราว

ในคดีอาญานั้นถือหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ ดังนั้นจำเลยจึงต้องได้รับสิทธิในการต่อสู้คดีอย่างเพียงพอ ซึ่งรวมถึงสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราวเพราะเมื่อสันนิษฐานว่าจำเลยเป็นบุคคลผู้บริสุทธิ์ แล้วจะมาจับกุมคุมขังไม่ได้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยจึงได้รองรับสิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวของผู้ต้องหา และจำเลยเป็นหลัก การไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวนั้นเป็นข้อยกเว้น ซึ่งตามประมวลกฎหมายพิจารณาความอาญามาตรา 108/1 นั้นกำหนดว่า การไม่ปล่อยตัวชั่วคราวกระทำได้ต่อเมื่อมีเหตุอันควรเชื่อเหตุใดเหตุหนึ่งต่อไปนี้

  1. ผู้ต้องหา หรือจำเลยจะหลบหนี
  2. ผู้ต้องหา หรือจำเลยจะไปยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน
  3. ผู้ต้องหา หรือจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น
  4. ผู้ร้องขอประกัน หรือหลักประกันไม่น่าเชื่อถือ
  5. การปล่อยตัวชั่วคราวนั้น จะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดำเนินคดีในศาล

ในคดีดังกล่าวศาลมีเหตุในการสั่งไม่อนุญาตด้วยองค์ประกอบหลักสามประการคือ หนึ่งเป็นคดีร้ายแรง สองคดีอยู่ในความสนใจของประชาชน และสามเกรงว่าจำเลยจะหลบหนี แต่เหตุผลตามกฎหมายมีประการเดียวคือ เกรงว่าจำเลยจะหลบหนี ซึ่งเมื่อพิจารณาพฤติกาณ์ของจำเลยทั้งสี่ราย ที่ได้มารายงานตัวตามกำหนดนัดของศาล และพนักงานอัยการทุกนัดตั้งแต่นัดไต่สวนกระบวนการตามมาตรา 21 จนถึงการนัดฟ้องซึ่งเลื่อนมาถึงสี่ครั้งก็ตาม ย่อมแสดงให้เห็นถึงพฤติการณ์อย่างชัดแจ้งว่าจำเลยในคดีดังกล่าวต้องการต่อสู้คดี และไม่ได้หลบหนี เมื่อพฤติการณ์ของจำเลยเป็นเช่นนี้ บุคคลทั่วไปย่อมไม่อาจเข้าใจได้ว่าศาลยุติธรรมใช้ข้อเท็จจริงใดเป็นฐานในการวินิจฉัยว่าจำเลยจะหลบหนี

ทั้งนี้ความไม่เป็นธรรมในคดีดังกล่าวยิ่งเด่นชัดมากยิ่งขึ้น เมื่อพบว่าจำเลยสองคนคือนายมะนาเซ สะมาแอ และนายดลเลาะ เดนดาหยัดซึ่งมีการฟ้องคดีตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2554 นั้น ได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวได้ และขณะนี้คดีอยู่ระหว่างนัดตรวจพยานหลักฐาน ในขณะที่จำเลยทั้งสี่รายซึ่งฟ้องเป็นคดีเดียวกัน มูลเหตุคดีเดียวกัน ความร้ายแรงของคดีเท่ากัน กลับไม่ได้รับสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราว การอ้างเหตุร้ายแรงของคดียิ่งฟังไม่ขึ้นในกรณีดังกล่าว

พฤติการณ์ที่ต่างกันระหว่างจำเลยทั้งสี่รายกับจำเลยสองรายที่ฟ้องไว้แล้วก็คือ ควานสนใจของประชาชนต่อคดีดังกล่าวเนื่องจากจำเลยทั้งสี่เดิมถูกวางไว้ว่าจะเป็นกลุ่มแรกที่เข้าสู่กระบวนการตามมาตรา 21 พ.ร.บ. ความมั่นคงฯแต่โครงการดังกล่าวยังไม่ประสบผลสำเร็จเนื่องจากจำเลยไม่สมัครใจ จำเลยสี่รายจึงเป็นที่สนใจมากกว่าจำเลยสองรายที่ฟ้องไปแล้ว อย่างไรก็ตามความสนใจ ความรู้สึกของประชาชนนั้นไม่สามารถนำมาอ้างเป็นเหตุทางกฎหมายในการปล่อยตัวชั่วคราวได้

การไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยศาลพิจารณาจากความรู้สึกของประชาชนเคยมีกรณีศึกษามาแล้วหลายกรณี ตัวอย่างเช่น กรณีการขอปล่อยตัวชั่วคราวของนายอำพล (ขอสงวนนามสกุล) หรืออากง จำเลยคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ที่มารายงานตัวต่อศาล และพนักงานอัยการทุกครั้งแต่ศาลกลับให้เหตุผลในการไม่อนุญาตว่าจำเลยจะหลบหนีเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2554ว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาของข้อหา ตลอดจนพฤติการณ์แห่งคดีเป็นการกระทำต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินีและองค์รัชทายาท นับเป็นเรื่องร้ายแรง และกระทบความรู้สึกของปวงชนชาวไทย หากให้จำเลยปล่อยตัวชั่วคราวเกรงว่าจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ยกคำร้อง แล้วคำสั่งเป็นหนังสือให้จำเลย และผู้ขอประกันทราบโดยเร็ว” จนกระทั่งปัจจุบันนายอำพลเสียชีวิตไปแล้วในเรือนจำ หลังจากที่ได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวมาแล้วกว่าแปดครั้งก่อนที่นายอำพลจะเสียชีวิต มีข้อสังเกตว่าในคดีความมั่นคงศาลยุติธรรมมักจะให้เหตุผลซึ่งเกี่ยวข้องความรู้สึกของประชาชนร่วมด้วยทั้งที่ไม่ใช่เหตุผล ตามกฎหมายอันแสดงให้เห็นถึงการใช้ดุลพินิจที่ปราศจากความเป็นอิสระ และเป็นกลาง

4. บทส่งท้าย

ปัญหาในคดีดังกล่าวจะเห็นได้ว่าจำเลยขาดความรู้ความเข้าใจในกระบวนการยุติธรรมมาตั้งแต่ต้น โดยเฉพาะคดีในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ที่มีปัญหาทับซ้อนหลายมิติ ยังผลให้มีการตัดสินใจที่ผิดพลาดต่อแนวทางในการต่อสู้คดี สะท้อนให้เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมในประเทศไทยยังขาดประสิทธิภาพที่จะทำให้ทุกคนเข้าถึงได้ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงทนายความที่สามารถให้คำปรึกษาแก่ผู้ต้องหา ความพยายามหว่านล้อม บังคับ ขู่เข็ญของเจ้าหน้าที่ซึ่งเข้าข่ายความผิดตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ไปจนถึงการเลื่อนกำหนดนัดฟ้องของอัยการออกไปทั้งที่ผู้ต้องหายืนยันต้องการต่อสู้คดี รวมถึงการไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวของศาลซึ่งไม่ได้อยู่บนฐานของข้อเท็จจริงในคดี

สิทธิในการพิจารณาอย่างสะดวก รวดเร็วและเป็นธรรม รวมถึงสิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ตามรัฐธรรมนูญนั้นไม่ได้เกิดขึ้นจริงกับผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง สิ่งที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีความมั่นคงต้องการนั้นไม่ถึงขนาดให้ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม หรือเปลี่ยนแปลงกฎหมาย แต่สิ่งที่ผู้ต้องหาและจำเลยที่กำลังเผชิญหน้ากับการต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมที่ต้องการมีเพียงอย่างเดียวคือความเป็นอิสระเป็นกลางและความโปร่งใสของบุคคลากรในกระบวนการยุติธรรม

Discover more from มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading

Discover more from มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading