วานนี้ (22 มิ.ย. 2555) ที่โรงแรมศิรินาถ การ์เดนท์ จ.เชียงใหม่ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับ สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (AIHR) ศูนย์พิทักษ์และพื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จัดสัมมนาเรื่อง “สิทธิในกระบวนการยุติธรรม: หลักการและความเป็นจริง” เพื่อรวบรวมข้อมูล ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของประชาชน ผ่านการรวบรวมข้อมูลจากกิจกรรมการสังเกตการณ์คดี และเนื้อหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นจริงในสังคมไทย
สำหรับการเสวนาหัวข้อ “กระบวนการยุติธรรม: คุกคามหรือปกป้องสิทฺธิมนุษยชน” ซึ่งดำเนินรายการโดย อ.ดามร คำไตรย์ และ อ.โศภิต ชีวะพาณิชย์ ซึ่งมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ นภาพร สงปรางค์ ทนายความสิทธิมนุษยชน ชยทัศ ชินสรนันท์ ผู้พิพากษาศาลจังหวัดเชียงใหม่ ศ.ดร. เขตไท ลังการ์พินธุ์ สภาทนายความจังหวัดเชียงใหม่ สมชาย หอมลออ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย
นภาพร สงปรางค์ ทนายความสิทธิมนุษยชน “กระบวนการยุติธรรมยังไม่สามารถปกป้องสิทธิมนุษยชนได้อย่างแท้จริง เป็นเพียงกลไกหยุดยั้งนักต่อสู้ นักเคลื่อนไหวเท่านั้น ชาวบ้านชนเผ่ายังเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม” ตนเองพยายามทำงานขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ส่วนใหญ่จะทำงานในชุมชน ในส่วนการทำงานด้านทนายซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมโดยตรง ยังเห็นว่ากลไกกระบวนการยุติธรรมนั้นยังไม่เพียงพอที่จะสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หรือการปกป้องสิทธิมนุษยชน หรือทำให้ชาวบ้านลุกขึ้นมาปกป้องและใช้สิทธิของตนเองได้
ดิฉันมีหน้าที่อบรมให้ความรู้แก่ชาวบ้าน มุ่งหวังให้ชาวบ้านได้รู้ถึงสิทธิของตนเอง รู้ว่าพวกเขามีสิทธิหรือสามารถทำอะไรได้บ้าง เพื่อนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน สามารถนำความรู้เรื่องสิทธิไปใช้กรณีที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม และชาวบ้านสามารถลุกขึ้นมาต่อสู้ได้ คดีความที่ดิฉันรับผิดชอบ คือคดีป่าไม้ ที่ดิน คดีของพี่น้องชนเผ่า และคดีพี่น้องแรงงาน สิ่งที่ดิฉันพบเห็นบ่อยครั้งอย่างกรณีชาวบ้านเจอตำรวจ พวกเขาไม่สามารถต่อสู้ได้ เนื่องจากปัจจัยหลายอย่าง ทั้งเรื่องค่าใช้จ่าย ความยากจน ขาดความรู้ด้านสิทธิที่ตนเองพึงมี จนนำไปสู่การยอมรับผิด
แต่เมื่อชาวบ้านมีความรู้ด้านสิทธิ ชาวบ้านก็เข้าสู่กระบวนการต่อสู้คดีในชั้นศาลต่างๆ ดิฉันเห็นว่าสิ่งที่เป็นปัญหามากที่สุด คือปัญหากระบวนการยุติธรรมที่ชาวบ้านไม่สามารถเข้าถึง หรือเข้าถึงยาก อย่างกรณีชั้นตำรวจ พวกเขาควรจะต้องใช้สิทธิประกันตัว หรือชั้นอัยการ ชาวบ้านก็ไม่มีความรู้ว่า อัยการมีหน้าที่อะไร ถูกสั่งฟ้องด้วยเหตุอะไร เป็นต้น
กรณีคดีที่ดินในพื้นที่ของชนเผ่า ซึ่งพวกเขาไม่สามารถเข้าใจภาษาไทย แต่ทางด้านกระบวนการยุติธรรมยังไม่มีล่ามชนพื้นเมือง ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่อีกอย่างหนึ่ง ทั้งนี้เราต้องการให้ชาวบ้านสามารถพูดหรือเล่าถึงวิถีชีวิตในการอยู่กับป่าให้ศาลได้รับฟัง แต่กระบวนการศาลยังไม่รับฟังมากนัก กรณีการประกันตัว เมื่อชาวบ้านเข้าสู่กระบวนการศาลแล้ว จะต้องมีการร้องขอประกันตัว โดยใช้หลักทรัพย์ หรือบุคคล แต่ถูกปฏิเสธและไม่ให้มีการประกันตัว หากว่าใช้บุคคลอื่นที่ไม่ใช่ญาติของตนเอง
เป็นผลทำให้ชาวบ้านเข้าไม่ถึงกระบวนการศาลตั้งแต่ครั้งแรก อย่างไรก็ตามยังไม่มีการนำหลักสิทธิมนุษยชนไปปรับใช้ในกระบวนการพิพากษา ซึ่งเราก็พยายามนำหลักสิทธิมนุษยชน หลักสิทธิชุมชนของชาวบ้านเข้าไปต่อสู้คดีในชั้นศาล แต่คำพิพากษาแต่ละคำพิพากษายังไม่สามารถก้าวล่วงถึงสิ่งนั้น ซึ่งอาจจะเป็นดุลพินิจของแต่ละท่าน ทั้งนี้ความรู้สึกของทนาย เห็นว่า หลายอย่างยังคงต้องปรับปรุงแก้ไขทั้งเรื่องทัศนคติของแต่ละท่านด้วย ดิฉันมองว่า กลุ่มอำนาจรัฐและกลุ่มทุนใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือที่จะหยุดยั้งชาวบ้านหรือทำให้ชาวบ้านอ่อนตัวลง กระบวนการยุติธรรมยังไม่สามารถปกป้องสิทธิมนุษยชนได้อย่างแท้จริง
อย่างกรณีคดีที่ดินลำพูน กลุ่มคนทำงานเข้าไปปกป้องสิทธิของชาวบ้าน หรือทำให้มีการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม แต่สุดท้ายชาวบ้านถูกฟ้องดำเนินคดี อย่างไรก็ตามตนมองว่ากระบวนการยุติธรรม เป็นกลไกที่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริง เป็นเพียงเครื่องมือที่หยุดยั้งนักต่อสู้ หรือนักเคลื่อนไหวเท่านั้น
ชยทัศ ชินสรนันท์ ผู้พิพากษาศาลจังหวัดเชียงใหม่ “กฎหมายหรือสิ่งต่างๆมันเปลี่ยนแปลงไปตามความต้องการของผู้มีอำนาจในการออกกฎหมายไปตามความต้องการของสังคมและยุคสมัย ส่วนผู้พิพากษาปฏิบัติหน้าที่ให้คู่ความหรือประชาชนได้รับประโยชน์อย่างเท่าเทียมกันทุกฝ่ายโดยไม่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา” ประชาชนทั่วไปบางคนมีทัศนคติที่ดีหรือไม่ดีบ้างต่อศาล ขึ้นอยู่กับว่าตนเองเป็นผู้ชนะหรือแพ้ แต่คนมักลืมไปว่าศาลมีอำนาจหน้าที่จำกัด และทุกสิ่งที่ผู้พิพากษากระทำนั้นก็มีกฎหมายให้อำนาจไว้
ถ้าดูรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา197 จะเห็นว่าผู้พิพากษามีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีโดยยุติธรรมให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและตามกฎหมาย สิ่งนี้เป็นประเด็นที่สามารถตอบได้ว่า ทำไมศาลไม่นำเอาเรื่องของสิทธิมนุษยชนเข้ามาตัดสินคดี ทั้งนี้ศาลก็มองว่าศาลใช้อำนาจได้มากน้อยเพียงใด ก็ต้องตัดสินไปตามอำนาจที่กฎหมายได้บัญญัติไว้ ส่วนที่ผิดหรือไม่ผิด ก็เป็นไปได้ว่าจะนำเอาเรื่องสิทธิมนุษยชน เป็นผู้อ่อนด้อยทางความรู้ เป็นผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ หรือสิ่งอื่นๆ ในตัวจำเลยนำมาประกอบการใช้ดุลพินิจของแต่ละท่าน
ส่วนสิทธิของจำเลยหรือผู้ต้องหานั้น รัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้เช่นเดียวกัน อย่างเช่น คดีอาญา จำเลยได้สันนิษฐานว่าไม่มีความผิด ศาลทุกท่านก็จะกระทำตามรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ส่วนกรณีปัญหาการเข้าถึงของประชาชน หรือชนเผ่า ในชั้นศาลจะเริ่มตั้งแต่การฝากขัง ซึ่งการฝากขังครั้งแรกศาลก็จะเห็นตัวจำเลย และศาลจะดูรายละเอียดที่พนักงานสอบสวนบรรยายมา อย่างเช่นจำเลยเป็นคนไทยก็จะสื่อสานเป็นภาษาไทย แต่ถ้าจำเลยเป็นคนต่างด้าว ศาลก็จะให้เจ้าหน้าที่สอบถามเบื้องต้นในการที่มีผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ถูกขังหลายคนหรือเป็นเพื่อนกันที่สามารถสื่อสารกันเข้าใจ ศาลก็จะให้เป็นล่ามให้ศาล และศาลก็จะให้ลงลายมือชื่อไว้ในชั้นฝากขัง
ในชั้นพิจารณาศาลก็จะอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง โดยศาลจะดูจากคำฟ้องที่พนักงานอัยการบรรยาย ถึงชื่อ ที่อยู่ เชื้อชาติกำเนิดต่างๆ ศาลจะสอบถามเบื้องต้น ถ้าเห็นว่าไม่เข้าใจภาษาไทยศาลอาจจะเลื่อนคดีหรือถ้ามีจำเลยที่สามารถสื่อสารภาษาไทยเข้าใจศาลก็จะตั้งเป็นล่าม ซึ่งศาลก็ปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เมื่อผ่านจากชั้นนี้ไปแล้ว ก็ไปยังชั้นพิจารณาซึ่งเป็นไปตามกฎหมายว่าศาลมีอำนาจในกระบวนการพิจารณาให้คู่ความได้รับประโยชน์โดยเท่าเทียมกัน
ทั้งนี้พวกศาลได้รับเงินเดือนจากภาษีอากรของประชาชน ศาลไม่เคยได้รับสิ่งใดๆ จากคู่ความ ดังนั้นจึงไม่มีเหตุสงสัยใดๆ ว่าพวกศาลจะมีอคติ หรือไม่ได้รับความยุติธรรม อีกอย่างหนึ่งที่ผู้คนมักสงสัยว่าศาลให้สิทธิแก่จำเลยมากน้อยเพียงใด อันนี้ก็บัญญัติเช่นเดียวกันในกระบวนการวิธีพิจารณาความอาญามาตรา227 ให้ศาลใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง อย่าพิพากษาลงโทษจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทำความผิดและจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้น ทุกคนอาจจะสงสัย แต่สิ่งนี้เป็นความเชื่อในพยานหลักฐานที่ทั้งสองฝ่ายนำสืบว่ามีความสงสัยตามสมควรหรือไม่ ถ้าสงสัยตามสมควร ศาลก็ยกประโยชน์ให้แก่จำเลย
นี่ก็เป็นบทบัญญัติคุ้มครองสิทธิของจำเลย โดยปกติคนในสังคมทั่วไป เมื่อได้รับทราบคำพิพากษา มักจะได้รับทราบเพียงผลของคำพิพากษา โดยไม่สามารถทราบถึงรายละเอียดคำพิพากษา หรือพยานหลักฐานสำนวนอื่นๆ บุคคลอื่นไม่สามารถล่วงรู้ได้ ก็จะวิจารณ์ไปต่างๆ นาๆ ซึ่งข้อเท็จจริงต่างๆยังทราบไม่ครบถ้วน และพวกศาลก็มีกฎระเบียบว่าไม่มีสิทธิที่จะชี้แจงในคดีต่างๆ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการชี้แจงถึงเรื่องต่างๆ กรณีการปล่อยตัวชั่วคราว แต่ละศาลจะอิงระเบียบกฎเกณฑ์ จะมีระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการเกี่ยวกับการปล่อยตัวผู้ต้องหาหรือจำเลย จะมีข้อบังคับของประธานศาลฎีกาเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ต่างๆ ในการเรียกหลักประกันหรือไม่เรียกหลักประกัน
ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ศาลแต่ละท่านจะพิจารณาประกอบกับพฤติการณ์แต่ละคดีที่พนักงานสอบสวนยื่นเรื่องต่อศาล ต้องพิจารณาถึงผู้เสียหายเช่นเดียวกัน ศาลมิใช่พิจารณาสิทธิของจำเลย ศาลจะต้องดูภาพรวมว่าผู้เสียหายจะได้รับความเดือดร้อนหรือไม่ ในกรณีที่จะมีการปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย การปล่อยตัวจะต้องมีเหตุตามกฎหมาย กฎหมายหรือสิ่งต่างๆ มันเปลี่ยนแปลงไปตามความต้องการของผู้มีอำนาจในการออกกฎหมายไปตามความต้องการของสังคมและยุคสมัย
ส่วนผู้พิพากษาปฏิบัติหน้าที่ให้คู่ความหรือประชาชนได้รับประโยชน์อย่างเท่าเทียมกันทุกฝ่ายโดยไม่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ศ.ดร. เขตไท ลังการ์พินธุ์ สภาทนายความจังหวัดเชียงใหม่ “การไม่ได้รับการประกันตัว และไม่มีกระบวนการเยียวยา ทั้งนี้หากไม่มีการให้ประกันตัว น่าจะมีการเร่งพิจารณาคดีเพื่อให้คำตัดสินในตัวเขาว่าผิดหรือไม่ผิด แต่ทางปฏิบัติผมเข้าใจว่า ก็ติดกันอยู่อย่างนั้น ต้องรอเพื่อสืบพยานหลักฐาน บางทีก็ใช้เวลายาวนาน” ประเด็นสิทธิมนุษยชนนั้น อย่างในสหรัฐอเมริกาเกิดสิทธิมนุษยชนก่อนมีรัฐธรรมนูญเสียอีก
จะเห็นได้ว่ามันเป็นขั้นพื้นฐานที่เป็นสากลนำมาปฏิบัติกันทั่วโลก ประเทศไทยมีการออกกฎหมาย การปฏิบัติเกี่ยวกับสิทธิของผู้ต้องหาในคดีอาญาสอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศที่ว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งประเทศไทยเข้าไปเป็นภาคีอยู่ในนั้น แต่บางเรื่อง ประเทศไทยค่อนข้างที่จะมีปัญหา อย่างเช่นเรื่องของสิทธิการประกันตัว การปล่อยตัวชั่วคราว ซึ่งกติการะหว่างประเทศเขาระบุไว้ในข้อ 9 ว่าบุคคลใดที่ถูกควบคุมตัวระหว่างดำเนินคดี ไม่สามารถกระทำได้ จะกระทำได้เฉพาะกรณีได้รับการยกเว้น ซึ่งประเทศไทยได้ออกกฎหมายสำคัญภายใน ที่รองรับไว้แล้วในวิธีพิจารณาความอาญา
ปัจจุบัน คดีใหญ่ๆ ที่มีปัญหา โดยเฉพาะคดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง ประเทศชาติ หรือคดีที่เกี่ยวกับสถาบัน จะเห็นได้ว่าผู้ต้องหาไม่ได้รับสิทธิการประกันตัว โดยศาลให้เหตุผลตามวิธีพิจารณาคดีความอาญา เกรงจะไปก่ออันตรายหรืออุปสรรคต่างๆ ผมคิดว่าการที่จะมาจำกัดสิทธิไม่ให้ประกันตัว (ผมเคารพในการตัดสินของศาล) น่าจะมีข้อปฏิบัติ มีระเบียบ หรือมีขั้นตอนที่ชัดเจนมากกว่านี้ แต่ทำไมถึงไม่ให้ประกันตัว ซึ่งขัดกับสิทธิมนุษยชนตามกติกาของต่างประเทศ
ปัญหาต่อมา คือการไม่ได้รับการประกันตัว และไม่มีกระบวนการเยียวยา ทั้งนี้หากไม่มีการให้ประกันตัว น่าจะมีการเร่งพิจารณาคดีเพื่อให้คำตัดสินในตัวเขาว่าผิดหรือไม่ผิด แต่ทางปฏิบัติผมเข้าใจว่า ก็ติดกันอยู่อย่างนั้น ต้องรอเพื่อสืบพยานหลักฐาน บางทีก็ใช้เวลายาวนาน กรณีบางรายก็เสียชีวิตอยู่ในเรือนจำ ซึ่งไม่ให้มีการประกันตัวไปรักษาตัวโรงพยาบาลภายนอก ผมจึงอยากเสนอว่า ในเรือนจำควรมีโรงพยาบาลที่มีมาตรฐาน ให้ความสำคัญด้านสิทธิมนุษยชนที่เป็นไปตามสากล
ผมว่าในอนาคตต้องปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับสิทธิมนุษยชนด้วย สมชาย หอมลออ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย “ปัจจุบันความน่าเชื่อถือต่อศาลมีความสั่นคลอนลงมาก ดังนั้นหากเราต้องการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบนั้น เราต้องคิดนอกกรอบตามหลักเกณฑ์ ขั้นแรกคือความคิด ความเชื่อ หรือทฤษฎีทางกฎหมาย ถ้าเราต้องการให้กระบวนการยุติธรรมที่เป็นกลไกของรัฐ ให้ปกป้องสิทธิมนุษยชนมากกว่าคุกคาม” คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย มีจำนวน 11 คน เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ สิ่งที่ได้รับมอบหมายจากคณะทำงานคือการดูแล ศึกษากฎหมายที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม เพื่อเสนอให้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายต่างๆที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม สามารถเสนอแก้ไขกฎหมายต่อรัฐสภา หรือรัฐมนตรีได้
ประเทศไทยได้ดำเนินการปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมมาขั้นหนึ่งแล้ว โดยเฉพาะหลังมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี2540 ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2540 ได้สืบทอดมาถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งได้กล่าวถึงการปรับปรุงกระบวนการยุติธรรม ผมคิดว่า กระบวนการยุติธรรมมีปัญหาอย่างมาก ลุกลามไปยังกระบวนการยุติธรรมชั้นต้น คือตำรวจชั้นพนักงานสอบสวน จนถึงศาล ปัจจุบันทั้งความขัดแย้งทางการเมือง และจุดอ่อนข้อบกพร่องในกระบวนการยุติธรรม แม้แต่ศาลเองที่ได้รับความไว้วางใจ ความน่าเชื่อถือตลอดมา
แต่ปัจจุบันความน่าเชื่อถือต่อศาลมีความสั่นคลอนลงมาก ดังนั้นหากเราต้องการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบนั้น เราต้องคิดนอกกรอบตามหลักเกณฑ์ ขั้นแรกคือความคิด ความเชื่อ หรือทฤษฎีทางกฎหมาย ถ้าเราต้องการให้กระบวนการยุติธรรมที่เป็นกลไกของรัฐ ให้ปกป้องสิทธิมนุษยชนมากกว่าคุกคาม เราต้องทำความเข้าใจทฤษฎีทางกฎหมายเสียใหม่ และกฎหมายต้องเป็นธรรม คือ วางบนฐานหลักสิทธิมนุษยชน ทุกคนเกิดมามีอิสระเสรีภาพ มีความเสมอภาค ถือว่ามนุษย์จะทำอะไรก็ได้ ยกเว้นสิ่งที่กฎหมายห้าม
สำหรับเจ้าหน้าที่รัฐไม่สามารถกระทำอันใดได้ ยกเว้นกฎหมายได้ให้อำนาจไว้ แม้แต่การใช้เงินก็ต้องมีหลักฐานการเบิกจ่าย ต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติ หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นในแง่สิทธิมนุษยชนมีความสัมพันธ์กับกฎหมาย นั่นหมายความว่ามนุษย์ได้สร้างรัฐขึ้นมา เพื่อปกป้องและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่โดยธรรมชาติ รัฐจะคุกคามสิทธิมนุษยชนไม่ได้ และหากรัฐคุกคามสิทธิมนุษยชน ประชาชนก็มีสิทธิที่จะก่อการกบฏ
ฉะนั้นรัฐจะต้องปกป้องและส่งเสริมหลักสิทธิมนุษยชน ส่งเสริมการศึกษา ส่งเสริมอาชีพ ส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ปกป้องให้คนหนึ่งไปฆ่าอีกคนหนึ่ง ควบคุมไม่คนปล้นคน รัฐต้องควบคุมโดยกลไกสามระดับ คือรัฐต้องออกกฎหมาย และต้องบังคับใช้ ตีความกฎหมาย การตีความกฎหมายก็คือกระบวนการยุติธรรม ทั้งตำรวจเจ้าหน้าที่ ศาล ตุลาการ สิ่งแรกที่ประชาชนต้องถามว่ากฎหมายเป็นธรรมหรือไม่ รัฐสภาที่ประชาชนเลือกเข้าไปนั้นได้ปกป้อง ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชนหรือไม่ หากเขาทำหน้าที่ดังกล่าวมานี้ เขาก็ต้องออกกฎหมายที่ดี ต้องแก้ไขกฎหมายที่ไม่ถูกต้อง
กระบวนการยุติธรรมเป็นเพียงปลายทางเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร กรมราชทันฑ์ กระทรวงอุตสาหกรรม ฯลฯ ต่างมีการบังคับใช้กฎหมาย ดังนั้นต้องใช้บังคับกฎหมายที่เที่ยงธรรม ปกป้องสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่การละเมิดสิทธิมนุษยชน อย่างไรก็ตามก็ต้องปกป้องสิทธิของบุคคลและสังคมสอดคล้องกันไปด้วย เพื่อให้เกิดความสมดุล ปัญหาอย่างหนึ่งของกระบวนการยุติธรรม คือไม่สามารถทำหน้าที่ของตนเองในการปกป้อง คุ้มครองสิทธิมนุษยชนได้
ทั้งที่เป็นหน้าที่ของกระบวนการยุติธรรมเนื่องจากเป็นกลไกของรัฐ เป็นผลสืบเนื่องจากความขัดแย้ง แตกแยกภายในองค์กรกระบวนการยุติธรรม ไม่มีการบูรณาการ อย่างเช่นปัญหาศาลล่าช้า คนล้นคุก ถ้าอัยการสั่งฟ้องด้วยการพิจารณาอย่างรอบคอบ กรั่นกรองอย่างดี จะมีคดีถูกฟ้องน้อยลง และศาลก็ไม่ต้องทำหน้าที่ตัดสินคดีเยอะกว่าที่เป็นอยู่ กระบวนการปฏิรูปกฎหมายเราต้องการให้ประชาชนมีพลัง มีส่วนร่วม เพื่อให้ประชาชนมีความตื่นตัว มีความรู้เรื่องสิทธิ มีความเข้าใจด้านกฎหมาย ติดตามดูกระบวนการยุติธรรม โดยไม่ตกเป็นเหยื่อข้อมูลที่บิดเบือนไปจากความเป็นจริง
อ้างอิง: http://www.prachatham.com/detail.htm?code=n3_23062012_02