ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ไม่รับคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งไต่สวนการตาย กรณีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ตากใบ
วันนี้ 8 มิ.ย. 2555 เวลา 9.00 น.ศาลอาญานัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ใน กรณีญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ตากใบจำนวน 34 คน ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาให้เพิกถอนคำสั่งไต่สวนการตายของศาลจังหวัดสงขลาเนื่องจากเห็นว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ถูกต้อง และไม่เป็นธรรมตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และศาลอาญามีคำสั่งไม่รับคำร้อง
ผู้ร้องจึงได้อุทธรณ์คำสั่งของศาลอาญา โดยศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาว่า “ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ว่าศาลอาญามีอำนาจพิจารณาคดีนี้หรือไม่ เห็นว่าศาลจังหวัดสงขลารับคดีไว้และทำการพิจารณาพิพากษาไปแล้ว นางสาวมัสตะกับพวกจึงมาคำร้องต่อศาลอาญา
ซึ่งกรณีเช่นนี้ศาลอาญาจึงไม่อาจรับคดีไว้พิจารณาได้อีกเป็นการต้องห้ามตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม พ.ศ. 2535 มาตรา 15 ที่ศาลอาญามีคำสั่งไม่รับคำร้อง ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของนางสาวมัสตะ กับพวกรวม 34 คน ฟังไม่ขึ้นพิพากษายืน ”
คดีนี้ เนื่องจากเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2552 ศาลจังหวัดสงขลาได้มีคำสั่งในคดีไต่สวนชันสูตรพลิกศพ หรือคดีไต่สวนการตายกรณีผู้เสียชีวิตในระหว่างการขนย้ายผู้ชุมนุมบริเวณหน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบจังหวัดนราธิวาส ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 78 คน
โดยศาลจังหวัดสงขลาได้มีคำสั่งว่าผู้ตายทั้ง 78 คน เสียชีวิตเนื่องจากขาดอากาศหายใจ ในระหว่างอยู่ในความควบคุมตัวของเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติราชการตามหน้าที่
ญาติผู้เสียชีวิตเห็นว่า คำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งที่ไม่เป็นไปโดยถูกต้อง และไม่เป็นธรรม ตามรัฐนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ม.3, 27, 28, 32, 197 กติการระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 2, 6, 7, 14 และไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญา ม.150 เนื่องจากหน่วยงานของรัฐต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามหลักนิติธรรม และคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง
แต่กรณีผู้เสียชีวิตในระหว่างการขนย้ายผู้ชุมนุมในเหตุการณ์ตากใบนี้ เมื่อรับฟังจากคำให้การพยานในคดีแล้ว เห็นว่า การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานเป็นไปโดยไม่ถูกต้อง และไม่เป็นธรรม เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2552 ญาติผู้เสียชีวิตจำนวน 34 คน จึงได้ยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำสั่งไต่สวนชันสูตรพลิกศพของศาลจังหวัดสงขลาต่อศาลอาญา โดยอาศัยสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลอาญามีเขตอำนาจทั่วอาณาจักร เนื่องจาก กฎหมายกำหนดให้คำสั่งไต่สวนชันสูตรพลิกศพถึงที่สุดจึงไม่อาจอุทธรณ์คำสั่งของศาลจังหวัดสงขลาต่อศาลอุทธรณ์ได้
ต่อมาศาลอาญามีคำสั่งไม่รับคำร้องขอเพิกถอนคำสั่งไต่สวนชันสูตร เนื่องจากเห็นว่าศาลอาญา และศาลจังหวัดสงขลาเป็นศาลยุติธรรมชั้นต้นด้วยกันเมื่อคดีศาลสงขลารับคดีไว้พิจารณาแล้ว ศาลอาญาจึงไม่อาจพิจารณาได้อีก ในวันที่ 29 กรกฎาคม 2552 ญาติผู้เสียชีวิตดังกล่าวจึงได้อุทธรณ์คำสั่งไม่รับคำร้องของศาลอาญาต่อศาลอุทธรณ์ จึงได้มีการคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ดังกล่าว
ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ นายรัษฎา มนูรัษฎา ทนายความ 081-4394938, ภาวิณี ชุมศรี ทนายความ 083-1896598