คดียุทธศาสตร์ (strategic litigation) เป็นยุทธวิธีของงานด้านกฎหมายเพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชน โดยกลุ่มทนายความสิทธิมนุษยชน มีความคาดว่าจะนำคดีตัวอย่างบางคดีมาฟ้องร้องต่อศาล เพื่อนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงในระบบยุติธรรม และสร้างการเปลี่ยนแปลงในวงกว้างต่อสังคม โดยในที่นี้หมายความว่าเรายังอยู่ในบริบทของสังคม ที่กระบวนการยุติธรรม หรือระบบตุลาการยังเป็นที่พึ่งสุดท้าย การรณรงค์ที่ทำไปพร้อมๆ กับการทำคดีในชั้นศาล
ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงในทางบวกหลายประการ เช่น การปรับเปลี่ยนระเบียบการให้เข้าเยี่ยมผู้ถูกกักขัง ตามอำนาจกฎอัยการศึกในช่วงเหตุการณ์กรณีการเสียชีวิตของนายยะผา กาเซ็ง จำนวนเรื่องร้องเรียนกรณีการทรมานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ลดน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ เป็นต้น การเรียกร้องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน เข้ามามีบทบาทในการตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัว เป็นต้น ผลลัพธ์ของการทำงานคดียุทธศาสตร์ก็ไม่อาจเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จทุกกรณี กรณีคำสั่งไต่สวนการตาย คดีตากใบ กลายเป็นประเด็นที่ตอกย้ำถึงความไม่สมบูรณ์ของการแสวงหาความจริง ในขั้นตอนการไต่สวนการตาย จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของประชาชน และผู้ให้ความสนใจต่อความเป็นธรรม ต่อกรณีสะเทือนขวัญทั่วโลกที่คำสั่งของศาลกล่าวแต่ว่า สาเหตุการตายเกิดจากการขาดอากาศหายใจเป็นต้น
ทางมูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้นำกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนมาพิจารณาคัดเลือก และฟ้องคดีต่อศาลในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ และในกรุงเทพฯ โดยมีเป้าหมายเพื่อการเปลี่ยนแปลงในเชิงระบบกระบวนการยุติธรรม และนำมาซึ่งการเยียวยาด้านความยุติธรรมทางอาญา และทางแพ่ง ให้กับผู้ได้รับผลกระทบโดยมุ่งหวังว่าผลลัพธ์ในทางคดีจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในระบบ และทัศนคติของบุคลากรส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ที่อาจมีส่วนในการกระทำการละเมิด และในส่วนบุคคลากรด้านกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ อัยการ ศาล และสื่อมวลชน การทำงานของนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนในสถานการณ์ฉุกเฉิน และในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งทางความคิด ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ง่ายนัก
หลายคดีเป็นเรื่องการทำงานกับข้อมูลที่มีความอ่อนไหว ทั้งก่อนจะฟ้องคดี ระหว่างการดำเนินคดี และหมายรวมถึงความปลอดภัยของผู้เสียหาย ที่ตกเป็นผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนพยาน และญาติของผู้เสียหายรวมทั้งการพยายามหลักการสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ มาใช้นำเสนอแนวทางในการเขียนคำฟ้องคำอุทธรณ์ และการนำเสนอพยานในชั้นศาลนั้น ยังไม่อาจกล่าวได้ว่าประสบความสำเร็จ ผลลัพธ์ และความสำเร็จของคดียุทธศาสตร์อาจจะยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ในระยะเวลาอันใกล้ บางคดียังคงต้องรอการเข้าสู่การพิจารณาคดีของศาลสูง หรือสารที่เกี่ยวข้องเช่นศาลทหารเป็นต้น
หนังสือเล่มนี้ มีความมุ่งหวังที่จะเปิดเผยคำพิพากษาในคดีสำคัญ ที่เกิดขึ้นในห้วงที่ความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ยังคงครุกกรุ่นไปด้วยควันไฟ เสียงระเบิด และเสียงปืน ความสูญเสียของชีวิต และทรัพย์สิน รวมทั้งทรัพยากรบุคคลที่ทุ่มเทลงไปจำนวนมากมายเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาด้วยจุดมุ่งหมายเดียวกัน ดูเหมือนว่ายังหาทางออกไม่เจอ สาร หรือระบบตุลาการเป็นที่พึ่งสุดท้าย แต่ท่ามกลางสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีบริบทแห่งความมั่นคงเป็นฉากบางๆ นั้น ระหว่างความจริงหลายๆ จุดบทบาทของนักกฎหมาย และความเป็นอิสระของตุลาการ จึงเป็นบทบาทที่สำคัญยิ่งที่จะนำความจริงทั้งหลายให้ปรากฏ อันนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความอยุติธรรมที่เป็นต้นตอสำคัญของปัญหาความขัดแย้ง ที่นำมาสู่ความรุนแรงทางอาวุธที่เกิดขึ้น
คำพิพากษาที่เปิดเผย และบทความของนักกฎหมายในเชิงวิเคราะห์ในหนังสือเล่มนี้ เป็นวิวาทะต่อกันและกัน ที่จะช่วยเผยแพร่ให้สาธารณชนให้ความสนใจกับงานด้านกฎหมาย และนิติศาสตร์ในสถานการณ์ความขัดแย้งชัดเจนขึ้น ด้วยความหวังว่าบทบาทของนักกฎหมายที่ยึดมั่นต่อคุณธรรม และจรรยาบรรณของตน และความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการเป็นส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง และแปรเปลี่ยนเป็นสันติภาพที่ปราศจากความอยุติธรรมได้อย่างไร
คณะผู้จัดพิมพ์
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม