แถลงการณ์ร่วมศูนย์ทนายมุสลิม-มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ครบรอบ 8 ปีการหายตัวไปของทนายสมชาย นีละไพจิตร

Share

แถลงการณ์ร่วม ครบรอบ 8 ปีการหายไปของทนายความสิทธิมนุษยชนนายสมชาย นีละไพจิตร สังคมยินยอมให้คนผิดลอยนวล และให้ความรุนแรงเพิ่มขึ้น เรียกร้องให้ยุติการแก้แค้น ตาต่อตา ฟันต่อฟัน ที่กำลังจะเป็น“ผู้สร้างความเป็นธรรม” แทนกระบวนการยุติธรรม

วันที่ 12 มีนาคม 2547 นายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความนักสิทธิมนุษยชนที่เรียกร้องกรณีลูกความของตน ซึ่งเป็นผู้ต้องหาคดีปล้นปืนที่จังหวัดนราธิวาส เมื่อเดือนมกราคม 2547 ถูกทรมานทำร้ายร่างกายเพื่อให้สารภาพ โดยต่อมาทนายสมชายฯ ได้ถูกบังคับให้หายสาบสูญไป

บัดนี้นับเป็นเวลา 8 ปีเต็มแล้วที่ครอบครัว กลุ่มองค์กร และสังคมได้เรียกร้องหาความยุติธรรมต่อการหายไปของนายสมชาย และการทรมานผู้ต้องหาที่เป็นลูกความของเขาโดยเรียกร้องให้นำตัวเจ้าหน้าที่ผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมาย แต่ข้อเรียกร้องดังกล่าวยังคงอยู่ในความมืดมน

มิหนำซ้ำเหยื่อที่ถูกทรมานทำร้ายร่างกายจำนวน 14 คน รวมทั้งลูกความของทนายสมชายจำนวน 3 คนกลับถูกรังแกกลั่นแกล้งฟ้องกลับด้วยข้อหาแจ้งข้อความเป็นเท็จจากนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่อาจเกี่ยวข้องในการบังคับให้นายสมชายหายสาบสูญ และรู้เห็นเป็นใจกับการทรมานผู้ต้องหาดังกล่าว

การเข้าถึงความยุติธรรมในกรณีคนหาย และการทรมานยังคงมืดมนในระบบยุติธรรมไทย แม้ว่าในระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา กลุ่มองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน และเจ้าหน้าที่รัฐเองหลายส่วนจะได้พยายามสร้างความเข้าใจต่อสังคม และเจ้าหน้าที่รัฐด้านความมั่นคง และด้านกระบวนการยุติธรรมต่อประเด็นเรื่องคนหาย และการทรมานอย่างเต็มที่

เช่นการสร้างความเข้าใจต่อชุมชน ญาติ และผู้เสียหายเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม การสร้างความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ทั้งทหารตำรวจในการยุติ และต่อต้านการทรมาน การควบคุมตัวไม่ชอบ และการบังคับให้สูญหาย หรือการสร้างบรรทัดฐานในระบบยุติธรรม โดยการฟ้องร้องคดีเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่ง และทางปกครองในเรื่องการทรมานที่มีพนักงานของรัฐเป็นผู้กระทำหรือรู้เห็นเป็นใจในขณะปฏิบัติหน้าที่ เป็นต้น

เหล่านี้ยังไม่สามารถเทียบเคียงกับความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อการหายไปของนายสมชาย นีละไพจิตร และต่อผู้ตกเป็นเหยื่อของการทรมาน รวมทั้งการสูญเสียชีวิต และทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่ และประชาชนจากเหตุการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา การทรมานยังคงอยู่

การลอบทำร้ายประชาชนผู้บริสุทธิ์ และเจ้าหน้าที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ผู้คนชาชิน และยอมให้ความรุนแรงดำรงอยู่ ใช้การแก้แค้น ตาต่อตา และฟันต่อฟัน ตอบโต้ต่อกัน เป็น “ผู้สร้างความเป็นธรรม” แทนกระบวนการยุติธรรม หากแต่ในระบบนิติรัฐสังคมยังคงยินยอมปล่อยให้เจ้าหน้าที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่กระทำผิดต่อประชาชนลอยนวลพ้นผิดต่อไปย่อมเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ดังกล่าวโดยสันติวิธี เนื่องจากการกระทำเช่นนั้นยิ่งก่อให้เกิดความโกรธแค้น และความไม่ไว้วางใจในหมู่ประชาชน และสถานการณ์ความขัดแย้งจะพัฒนาไปจนถึงจุดที่ไม่สามารถหวนกลับมาสู่ภาวะปกติได้

บัดนี้นับเป็นเวลา 8 ปีแล้วที่สังคม และรัฐไม่สามารถเอาผิดเอาโทษกับเจ้าหน้าที่รัฐที่ก่ออาชญากรรมบังคับบุคคลให้นายสมชาย นีละไพจิตร สูญหาย อีกทั้งการที่กลไกยุติธรรมของรัฐกลับเอื้อให้เจ้าพนักงานของรัฐใช้ช่องทางกฎหมายฟ้องกลับผู้เป็นเหยื่อที่ถูกเจ้าหน้าที่ซ้อมทรมาน ทั้งศาลซึ่งเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชนในกระบวนการยุติธรรมกลับรับฟ้อง และพิจารณาคดีด้วยมาตรฐานคดีทางอาญาที่ไม่เคารพต่อสิทธิตามรัฐธรรมนูญขั้นพื้นฐาน และหลักสุจริตว่าชาวบ้านผู้เสียหายจากการทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐ

มิได้มีเจตนาที่จะกลั่นแกล้ง แต่กล้าหาญที่จะร้องเรียนต่อหน่วยงานของรัฐเพื่อยุติการปล่อยให้อาชญกรลอยนวล เท่ากับยินยอมให้เจ้าหน้าที่ใช้กระบวนการยุติธรรมทรมานซ้ำเหยื่อของการทรมาน แทนการอำนวยความยุติธรรมให้ประชาชนเข้าถึงความจริง ความยุติธรรมและการเยียวยาที่เหมาะสม สิ่งที่สังคมควรร่วมกันสร้างคือยุติการแก้แค้น ตาต่อตา ฟันต่อฟัน และเรียกร้องการสร้างคุณธรรมและระบบนิติรัฐ การเข้าถึงความยุติธรรมต่อทุกภาคส่วนเพื่อยุติความรุนแรงต่อกันในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และสี่อำเภอในจังหวัดสงขลา

ข้อมูลเพิ่มเติม
1. อนุกูล อาแวปูเตะ ประธานศูนย์ทนายความมุสลิม จังหวัดปัตตานี
2. พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ โครงการเข้าถึงความยุติธรรมและการคุ้มครองทางกฎหมาย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

Loader Loading…
EAD Logo Taking too long?

Reload Reload document
| Open Open in new tab

Discover more from มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading

Discover more from มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading