[:th]CrCF Logo[:]

แถลงการณ์ร่วมศูนย์ทนายมุสลิม-มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ครบรอบ 8 ปีการหายตัวไปของทนายสมชาย นีละไพจิตร

Share

แถลงการณ์ร่วม ครบรอบ 8 ปีการหายไปของทนายความสิทธิมนุษยชนนายสมชาย นีละไพจิตร สังคมยินยอมให้คนผิดลอยนวล และให้ความรุนแรงเพิ่มขึ้น เรียกร้องให้ยุติการแก้แค้น ตาต่อตา ฟันต่อฟัน ที่กำลังจะเป็น“ผู้สร้างความเป็นธรรม” แทนกระบวนการยุติธรรม

วันที่ 12 มีนาคม 2547 นายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความนักสิทธิมนุษยชนที่เรียกร้องกรณีลูกความของตน ซึ่งเป็นผู้ต้องหาคดีปล้นปืนที่จังหวัดนราธิวาส เมื่อเดือนมกราคม 2547 ถูกทรมานทำร้ายร่างกายเพื่อให้สารภาพ โดยต่อมาทนายสมชายฯ ได้ถูกบังคับให้หายสาบสูญไป

บัดนี้นับเป็นเวลา 8 ปีเต็มแล้วที่ครอบครัว กลุ่มองค์กร และสังคมได้เรียกร้องหาความยุติธรรมต่อการหายไปของนายสมชาย และการทรมานผู้ต้องหาที่เป็นลูกความของเขาโดยเรียกร้องให้นำตัวเจ้าหน้าที่ผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมาย แต่ข้อเรียกร้องดังกล่าวยังคงอยู่ในความมืดมน

มิหนำซ้ำเหยื่อที่ถูกทรมานทำร้ายร่างกายจำนวน 14 คน รวมทั้งลูกความของทนายสมชายจำนวน 3 คนกลับถูกรังแกกลั่นแกล้งฟ้องกลับด้วยข้อหาแจ้งข้อความเป็นเท็จจากนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่อาจเกี่ยวข้องในการบังคับให้นายสมชายหายสาบสูญ และรู้เห็นเป็นใจกับการทรมานผู้ต้องหาดังกล่าว

การเข้าถึงความยุติธรรมในกรณีคนหาย และการทรมานยังคงมืดมนในระบบยุติธรรมไทย แม้ว่าในระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา กลุ่มองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน และเจ้าหน้าที่รัฐเองหลายส่วนจะได้พยายามสร้างความเข้าใจต่อสังคม และเจ้าหน้าที่รัฐด้านความมั่นคง และด้านกระบวนการยุติธรรมต่อประเด็นเรื่องคนหาย และการทรมานอย่างเต็มที่

เช่นการสร้างความเข้าใจต่อชุมชน ญาติ และผู้เสียหายเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม การสร้างความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ทั้งทหารตำรวจในการยุติ และต่อต้านการทรมาน การควบคุมตัวไม่ชอบ และการบังคับให้สูญหาย หรือการสร้างบรรทัดฐานในระบบยุติธรรม โดยการฟ้องร้องคดีเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่ง และทางปกครองในเรื่องการทรมานที่มีพนักงานของรัฐเป็นผู้กระทำหรือรู้เห็นเป็นใจในขณะปฏิบัติหน้าที่ เป็นต้น

เหล่านี้ยังไม่สามารถเทียบเคียงกับความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อการหายไปของนายสมชาย นีละไพจิตร และต่อผู้ตกเป็นเหยื่อของการทรมาน รวมทั้งการสูญเสียชีวิต และทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่ และประชาชนจากเหตุการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา การทรมานยังคงอยู่

การลอบทำร้ายประชาชนผู้บริสุทธิ์ และเจ้าหน้าที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ผู้คนชาชิน และยอมให้ความรุนแรงดำรงอยู่ ใช้การแก้แค้น ตาต่อตา และฟันต่อฟัน ตอบโต้ต่อกัน เป็น “ผู้สร้างความเป็นธรรม” แทนกระบวนการยุติธรรม หากแต่ในระบบนิติรัฐสังคมยังคงยินยอมปล่อยให้เจ้าหน้าที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่กระทำผิดต่อประชาชนลอยนวลพ้นผิดต่อไปย่อมเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ดังกล่าวโดยสันติวิธี เนื่องจากการกระทำเช่นนั้นยิ่งก่อให้เกิดความโกรธแค้น และความไม่ไว้วางใจในหมู่ประชาชน และสถานการณ์ความขัดแย้งจะพัฒนาไปจนถึงจุดที่ไม่สามารถหวนกลับมาสู่ภาวะปกติได้

บัดนี้นับเป็นเวลา 8 ปีแล้วที่สังคม และรัฐไม่สามารถเอาผิดเอาโทษกับเจ้าหน้าที่รัฐที่ก่ออาชญากรรมบังคับบุคคลให้นายสมชาย นีละไพจิตร สูญหาย อีกทั้งการที่กลไกยุติธรรมของรัฐกลับเอื้อให้เจ้าพนักงานของรัฐใช้ช่องทางกฎหมายฟ้องกลับผู้เป็นเหยื่อที่ถูกเจ้าหน้าที่ซ้อมทรมาน ทั้งศาลซึ่งเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชนในกระบวนการยุติธรรมกลับรับฟ้อง และพิจารณาคดีด้วยมาตรฐานคดีทางอาญาที่ไม่เคารพต่อสิทธิตามรัฐธรรมนูญขั้นพื้นฐาน และหลักสุจริตว่าชาวบ้านผู้เสียหายจากการทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐ

มิได้มีเจตนาที่จะกลั่นแกล้ง แต่กล้าหาญที่จะร้องเรียนต่อหน่วยงานของรัฐเพื่อยุติการปล่อยให้อาชญกรลอยนวล เท่ากับยินยอมให้เจ้าหน้าที่ใช้กระบวนการยุติธรรมทรมานซ้ำเหยื่อของการทรมาน แทนการอำนวยความยุติธรรมให้ประชาชนเข้าถึงความจริง ความยุติธรรมและการเยียวยาที่เหมาะสม สิ่งที่สังคมควรร่วมกันสร้างคือยุติการแก้แค้น ตาต่อตา ฟันต่อฟัน และเรียกร้องการสร้างคุณธรรมและระบบนิติรัฐ การเข้าถึงความยุติธรรมต่อทุกภาคส่วนเพื่อยุติความรุนแรงต่อกันในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และสี่อำเภอในจังหวัดสงขลา

ข้อมูลเพิ่มเติม
1. อนุกูล อาแวปูเตะ ประธานศูนย์ทนายความมุสลิม จังหวัดปัตตานี
2. พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ โครงการเข้าถึงความยุติธรรมและการคุ้มครองทางกฎหมาย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

Loader Loading…
EAD Logo Taking too long?

Reload Reload document
| Open Open in new tab