[:th]CrCF Logo[:]
วรเจตน์ ภาคีรัตน์

องค์กรสิทธิมนุษยชน ประณามการทำร้ายร่างกาย อ.วรเจตน์ แกนนำกลุ่มนิติราษฎร์

Share

แถลงการณ์ องค์กรสิทธิมนุษยชนประณามการทำร้ายร่างกาย รศ.ดร.วรเจตน์ แกนนำกลุ่มนิติราษฎร์ ร้องสังคมไทยให้มีความอดทนอดกลั้นรับฟังความเห็นต่าง รัฐมีหน้าที่คุ้มครองไม่ให้สังคมตกอยู่ในบรรยากาศแห่งความกลัวและต้องนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษโดยเร็ว

ตามที่ รศ.ดร. วรเจตน์ ภาคีรัตน์  อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นหนึ่งในกลุ่มอาจารย์คณะนิติราษฎร์ ถูกชายสองคนทำร้ายร่างกายภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในช่วงบ่ายวันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕  บริเวณลานจอดรถของคณะนิติศาสตร์นั้น

องค์กรดังมีรายชื่อแนบท้ายนี้ มีความห่วงกังวลอย่างยิ่งว่าสาเหตุในการทำร้ายร่างกายดังกล่าวจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการแสดงบทบาทในฐานะนักวิชาการของกลุ่มอาจารย์คณะนิติราษฎร์  เนื่องจากที่ผ่านมาไม่ปรากฏว่ารศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์  เคยมีความขัดแย้งกับบุคคลใดเป็นการส่วนตัว ในทางตรงกันข้ามการดำเนินกิจกรรมของคณะนิติราษฎร์ที่ได้มีข้อเสนอแนะในทางวิชาการให้ลบล้างผลพวงของรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๕๕   การจัดทำข้อเสนอเพื่อการรณรงค์แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒  และการล่ารายชื่อประชาชน ๑๐,๐๐๐ รายชื่อ เพื่อเสนอร่างแก้ไขกฎหมายดังกล่าวโดยคณะกรรมการรณรงค์แก้ไขมาตรา ๑๑๒ กลับทำให้กลุ่มอาจารย์คณะนิติราษฎร์ต้องตกอยู่ภายใต้การวิพากษ์วิจารณ์ทั้งที่อยู่ในกรอบของกฎหมายและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามหลักการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนสากล  จนเลยไปถึงการดูหมิ่น หมิ่นประมาท และการข่มขู่ทำร้ายร่างกายอันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพ  ทั้งปรากฏว่า เคยมีการแสดงความรุนแรงโดยการเผาหุ่นของดร.วรเจตน์เมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๕๕ บริเวณหน้าประตูทางเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนกระทั่งเกิดการทำร้ายร่างกาย รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ขึ้นภายมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันนี้

เราเห็นว่า เหตุการณ์ดังกล่าวย่อมทำให้สังคมตกอยู่ในภาวะความหวาดกลัวถึงการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญว่าอาจมีบุคคล กลุ่มบุคคลซึ่งมีความเห็นต่างจะมุ่งประสงค์ร้าย จนถึงขั้นทำร้ายร่างกายหรือทำให้เสียชีวิต เนื่องจากการดำเนินกิจกรรมของคณะนิติราษฎร์ และการล่ารายชื่อของคณะกรรมการรณรงค์แก้ไขมาตรา ๑๑๒ นั้นเป็นการกระทำบนพื้นฐานของสิทธิเสรีภาพทางวิชาการ และสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งเป็นพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย  และกล่าวได้ว่ากลุ่มอาจารย์ดังกล่าวเป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งรัฐมีหน้าที่คุ้มครองและปกป้องไม่ให้ผู้ใดมาละเมิดสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ  และตามหลักกติกาสากลว่าด้วยการคุ้มครองนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน

เราเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิในร่างกาย การไม่เคารพต่อเสรีภาพของบุคคลอื่น การไม่รับฟัง และขาดความอดทนอดกลั้นต่อความคิดเห็นที่แตกต่างอันเป็นพฤติกรรมที่ยิ่งจะบ่อนทำลายคุณค่าแห่งสังคมประชาธิปไตย และเห็นว่าการทำร้ายร่างกายดังกล่าวไม่ใช่เรื่องการทำร้ายร่างกายส่วนบุคคลแต่เป็นเรื่องสวัสดิภาพและความปลอดภัยของประชาชนในการแสดงออกตามสิทธิและเสรีภาพขั้นพี้นฐาน จึงมีข้อเสนอและข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้

  1. เราขอประนามการกระทำความรุนแรงครั้งนี้ และขอให้รัฐบาลรีบดำเนินการหาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษโดยเร็วที่สุด เพื่อแสดงให้เห็นว่ารัฐสามารถปกป้องคุ้มครองประชาชนในการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญได้และไม่ตกอยู่ภายใต้ความหวาดกลัวในการใช้เสรีภาพดังกล่าว
  2. ขอเรียกร้องต่อประชาชนชาวไทยให้ใช้ความอดทนอดกลั้นต่อการแสดงความเห็นที่แตกต่าง แม้ความเห็นที่คณะนิติราษฎร์หรือคณะกรรมการรณรงค์แก้ไขมาตรา ๑๑๒ จะขัดแย้งต่อความรู้สึกของประชาชนชาวไทยบางกลุ่ม แต่การดำเนินการดังกล่าวเป็นการดำเนินการภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญและเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของหลักประชาธิปไตยในการอยู่ร่วมกัน

ด้วยความเคารพต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

  1. เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (คนส.)
  2. สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)
  3. มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.)
  4. คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.)
  5. โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม(Enlaw)
  6. มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF)
  7. ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น
  8. ศูนย์ข้อมูลชุมชน

สอบถามเพิ่มเติม นายพนม บุตะเขียว
ผู้ประสานงานเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ๐๒ ๖๙๓๐๖๘๒