[:th]CrCF Logo[:]
อุ้มหาย

จดหมายเปิดผนึก ขอให้นายก เร่งรัดสืบสวนกรณีคนหายล่าสุด นายนาซือลัน ปิ

Share

ใบแจ้งข่าว ขอให้นายกรัฐมนตรีเร่งรัดการสืบสวนสอบสวนกรณีคนหายล่าสุด นายนาซือลัน ปิ ที่ถูกลักพาตัวไปเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2555

เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกส่งถึง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขอให้เร่งรัดการสืบสวนสอบสวนกรณีคนหายล่าสุด นายนาซือลัน ปิ ที่ถูกลักพาตัวไปเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2555 นายนาสือลัน ปิ ได้ถูกลักพาตัวไปจากร้านน้ำชาใกล้กับบ้านของตน เลขที่ 99/1หมู่ที่ 5ตำบลจวบ อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส

โดยมีชาย 2 คนแต่งกายชุดทหาร มีอาวุธประจำกาย ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ได้ลงมาจากรถและได้เข้าไปหานายนาสือลันในร้านน้ำชาและได้ถามว่าชื่อนาสือลัน ใช่ไหม นายนาสือลันตอบว่า ใช่ หลังจากนั้นก็ได้นำตัวนายนาสือลันไปที่รถ แล้วชายทั้งสองคนดังกล่าวได้กดศีรษะและบังคับให้นายนาสือลันขึ้นไปบนรถและนำตัวออกไป ปัจจุบันครอบครัวยังไม่ทราบชะตากรรมของนายนาสือลันแต่อย่างใด แม้จะได้แจ้งความไว้กับพนักงานตำรวจในพื้นที่ให้สืบสวนสอบสวนแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้ความคืบหน้าใด ๆ

จดหมายระบุว่าการบังคับให้บุคคลสูญหายยังคงเกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนใต้ โดยเฉพาะเมื่อกรณีเกิดขึ้นในพื้นที่ที่มีการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ ได้แก่ พระราชบัญญัติอัยการศึก พ.ศ. 2457 และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ไม่มีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาอื่นใดต่อครอบครัวของผู้สูญหาย หน่วยงานของรัฐก็ไม่ได้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนอย่างจริงจัง หรือดำเนินการอย่างขาดความโปร่งใส ลูบหน้าปะจมูก

เช่น กรณีเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2554 นายอิบรอเฮง กาโฮง และนายดุลหามิ มะแร ที่ได้หายไปหลังจากที่ไปติดต่อขอรับเรือจากค่ายตำรวจตระเวนชายแดนในอำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการร้องเรียนถึงหลายหน่วยงานให้สืบสวนสอบสวนกรณีนี้ แต่จนถึงปัจจุบันไม่มีความคืบหน้าและไม่มีข้อมูลว่าราษฎรทั้งสองคนอยู่ที่ใด ทางมูลนิธิฯ ได้ส่งจดหมายร้องเรียนต่อ ฯพณฯ ในเรื่องนี้ไปแล้ว เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2554 แต่ก็ยังไม่ได้รับทราบความคืบหน้าแต่อย่างใด อีกทั้งมีครอบครัวผู้สูญหายเกือบทุกรายยังไม่ได้รับการเยียวยาใด ๆ เลยจากรัฐ ทั้งๆที่มีข้อมูลที่เชื่อถือได้ที่ได้รับการบันทึกไว้และร้องเรียนต่อทางราชการไปแล้วอย่างน้อย 36 กรณี

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมมีความวิตกกังวลอย่างยิ่งกับปัญหาการไม่สามารถเอาผิดเอาโทษกับเจ้าหน้าที่รัฐที่ก่ออาชญากรรมบังคับบุคคลให้สูญหายหรือเจ้าหน้าที่ที่รู้เห็นเป็นใจกับการก่ออาชญากรรมดังกล่าว การปล่อยให้ผู้กระทำผิดลอยนวลนอกจากเป็นการละเลยในการแก้ไขเยียวยาการกระทำผิดแล้ว ยังถือว่ารัฐได้ละเลยหน้าที่ในการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนด้วย หากรัฐปล่อยให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซ้ำแล้ว ซ้ำอีก โดยที่ไม่ลงโทษเจ้าหน้าที่ผู้กระทำผิดได้แล้ว ก็ไม่อาจจะเข้าใจเป็นอย่างอื่นได้ นอกจากถือว่ารัฐไม่เต็มใจที่จะดำเนินการต่อเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิด และถือว่ารัฐได้เป็นผู้ก่ออาชญากรรมบังคับให้บุคคลสูญหายเสียเอง และจะถือได้ว่าประเทศไทยได้ปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามพันธกรณีของตนที่มีอยู่ตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการปกป้องบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ แม้รัฐบาลไทยจะแสดงเจตจำนงที่จะดำเนินมาตรการต่างๆดังนานาอารยประเทศในการต่อต้านการบังคับให้บุคคลสูญหาย โดยเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2555 รัฐบาลไทยได้ลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการปกป้องบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance) แล้วก็ตาม

Loader Loading…
EAD Logo Taking too long?

Reload Reload document
| Open Open in new tab

Download [114.38 KB]

RELATED ARTICLES