ต้นไม้ (พิษ) ของกฎหมายพิเศษ: ข้อค้นพบจากสถิติคดีความมั่นคง อนุกูล อาแวปูเตะ ประธานศูนย์ทนายความมุสลิม จังหวัดปัตตานี
เมื่อวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๕๔ ที่ห้องจะบังติกอ โรงแรมซีเอสปัตตานี มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ร่วมกับเนติบัณฑิตอเมริกา หรือ American Bar Association Rule of Law Initiative (ABA) ได้มีการจัดทำเวทีรับฟังความคิดเห็น ต่อร่างรายงานข้อมูลสถิติคดี และข้อค้นพบในคดีความมั่นคง ตามโครงการการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของคดีความมั่นคง ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (Case Audit) โดยได้มีการจัดเวทีรับฟังความเห็นร่างรายงานดังกล่าว จากภาคส่วนต่างๆ ทั้งในและนอกพื้นที่ เช่น เจ้าหน้าที่รัฐ นักวิชาการ ตัวแทนภาคประชาสังคม ตัวแทนสื่อ เข้าร่วมในการรับฟังและให้ความเห็นต่อรายงานดังกล่าว
นับว่ารายงานดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้น และมีคุณค่าทางวิชาการเป็นอย่างยิ่ง เพราะตั้งแต่มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ได้มีการก่อตั้งมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๐ และได้ให้ความช่วยเหลือผู้ต้องหา หรือจำเลยในคดีความมั่นคงมาตลอดระยะเวลา 5 ปีนั้น ทางศูนย์ทนายความมุสลิมได้นำเสนอการทำงานในเชิงวิชาการในรูปแบบงานวิจัยเป็นครั้งแรก งานวิจัยครั้งนี้มีกระบวนการในการจัดทำ การรวบรวมข้อมูล และนำเสนอเป็นภาพในเชิงสถิติ ให้เห็นได้อย่างเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ต้องขอขอบคุณทางเนติบัณฑิตอเมริกา หรือ American Bar Association Rule of Law Initiative (ABA) และอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมทั้งคุณเยาลักษณ์ อนุพันธุ์ (คุณเอ๋) และคุณศิริกาญจน์ เจริญศิริ (คุณจูน) ที่ให้ความสำคัญกับคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนใต้ และมีส่วนในการผลักดันรวมทั้งให้การสนับสนุนโครงการจนงานประสบความสำเร็จและลุล่วงด้วยดี
กระบวนการในการจัดทำรายงานตามโครงการดังกล่าว เริ่มมีการดำเนินการตั้งแต่ปี ๒๕๕๓ คือตั้งแต่เดือนมกราคม ๒๕๕๓-ธันวาคม ๒๕๕๔ เริ่มตั้งแต่การระดมความคิดจากหลายภาคส่วนในกระบวนการยุติธรรม เพื่อวางกรอบในการจัดทำรายงาน (Check list) เพื่อระบุหลักกฎหมายตามมาตรฐานสากล รัฐธรรมนูญ กฎหมายภายในประเทศ โดยเฉพาะขั้นตอนตั้งแต่การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ในการบังคับใช้กฎอัยการศึก พระราชบัญญัติการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก. ฉุกเฉิน) และการแจ้งข้อกล่าวหาในชั้นของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพื่อกำหนดรายละเอียดแบบฟอร์มที่จะใช้เก็บรวบรวมข้อมูลให้ครอบคลุม โดยกำหนดจำนวนคดีตัวอย่างที่ใช้เป็นฐานข้อมูล โดยยกกรณีศึกษาจากคดีความมั่นคง จำนวน ๑๐๐ คดี ที่ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาแล้ว ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และสี่อำเภอของสงขลา
เมื่อได้ข้อมูลของคดีตัวอย่างแล้ว ก็ดำเนินการคัดเลือกข้อมูลจากแบบสอบถามลงไฟล์เอกเซล (Microsoft Excel) แล้วทำการสังเคราะห์ข้อมูลโดยทำการย่อยข้อมูลดิบทั้งหมด ผ่านกระบวนการสังเคราะห์ในโปรแกรมดังกล่าว จากนั้นนำข้อมูลที่ย่อยแล้วนั้น ให้ผู้เชี่ยวชาญ และนักวิชาการวิเคราะห์ข้อมูล และได้มีการจัดทำเป็นรูปเล่มนำเสนอในรูปกราฟสถิติ เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ ซึ่งทางมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผลของรายงานดังกล่าวจะสะท้อนให้เห็นสภาพปัญหาในกระบวนการยุติธรรมต่อคดีความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และจะเป็นประโยชน์ในการนำเสนอเป็นแนวทางในการปรับปรุง แก้ไข และพัฒนาระบบกระบวนการยุติธรรมให้เป็นไปตามหลักนิติธรรมได้อย่างแท้จริง
จากผลการศึกษาคดีความมั่นคงใน ๑๐๐ คดี ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้อง ๗๒ คดี (ซึ่งมีความใกล้เคียงกับข้อมูลของศาลยุติธรรมที่ระบุว่ามีคดีความยกฟ้อง ๗๘.๕%) นอกจากนี้ยังพบว่าในการปฏิบัติต่อบุคคลที่เป็นผู้ต้องสงสัยตามกฎหมายพิเศษ มีการข่มขู่ทำร้ายทั้งทางร่างกาย และใช้ถ้อยคำที่ไม่สุภาพ และขู่เข็ญตั้งแต่ในขั้นตอนการจับกุม การกักหรือคุมตัวไปจนถึงการซักถามไม่ว่าตามกฎหมายพิเศษ คือ กฎอัยการศึก หรือ พระราชบัญญัติการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พรก.ฉุกเฉิน) รวมถึงในชั้นของการสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยข้อมูลดังกล่าวปรากฏในทุกขั้นตอนจากรายงาน (Check list) ในสำนวนคดีตัวอย่างของมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม
เมื่อตรวจสอบพฤติการณ์เจ้าหน้าที่ที่เกิดขึ้นในชั้นการถูกกักตัว และซักถามหรือสอบปากคำจะพบว่า สถิติการทำร้าย และขู่เข็ญมีสูงที่สุดในกระบวนการภายใต้กฎอัยการศึก รองลงมาคือการดำเนินการภายใต้ พระราชบัญญัติการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พรก. ฉุกเฉิน) แต่สิ่งที่น่าสนใจของรายงานดังกล่าวก็คือ ในจำนวนคดีความมั่นคง ๑๐๐ คดีที่มีการแจ้งข้อกล่าวหา และดำเนินคดีกับผู้ต้องหาจนมีการฟ้องคดีต่อศาลในข้อหาก่อการร้าย อั้งยี่ หรือซ่องโจร และที่น่าสนใจก็คือ เมื่อตรวจสอบถึงที่มาก่อนที่จะมีการตกเป็นผู้ต้องหา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ตามรายงาน ข้อ ๕.๑ การปรากฏตัวต่อเจ้าพนักงานในชั้นสอบสวน) มีถึง ๔๙ คดีที่มาจากการส่งตัวผู้ต้องหามาจากการควบคุมตัวตามกฎหมายพิเศษก่อน
จะเห็นได้ว่าที่มาของผู้ที่ถูกดำเนินคดีความมั่นคงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก่อนที่จะมีแจ้งข้อกล่าวหาในฐานะเป็นผู้ต้องหา ส่วนใหญ่มาจากการถูกควบคุมตัวตามกฎหมายพิเศษ อาจเป็นกฎอัยการศึก หรือพระราชบัญญัติการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พรก.) จากนั้นจึงมีการส่งตัวไปแจ้งข้อกล่าวหาดำเนินคดี ในช่วง ๒-๓ ปีที่ผ่าน (ช่วงที่เก็บข้อมูลพ.ศ. ๒๕๕๒- ๒๕๕๔) กฎหมายพิเศษจึงเป็นหน่อหรือผลผลิตของคดีความมั่นคง นี่ยังไม่รวมถึงบุคคลที่ถูกดำเนินคดีที่มาจากการซัดทอดของผู้ที่ถูกดำเนินคดีหรือบุคคลอื่นที่ถูกควบคุมตัว จนมีการขยายผลไปสู่การออกหมายจับ แล้วทำการจับกุมดำเนินคดี จากต้นไม้ (พิษ) ของกฎหมายพิเศษ ได้ขยายเชื้อแตกหน่อเพาะพันธ์เจริญงอกงามพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วงที่ผ่านมา ความชัดเจนที่ได้จากการวิจัยครั้งนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางนโยบายของรัฐบาลใหม่นี้อย่างไรคงต้องติดตามดูต่อไป
อ่านรายงานสถิติคดีความมั่นคงฉบับเต็มที่ ข้อมูลสถิติ และข้อค้นพบในคดีความมั่นคงจังหวัดชายแดนใต้