[:th]CrCF Logo[:]

แถลงการณ์ร่วม องค์กรสิทธิห่วงใยเสรีภาพ ในการแสดงความคิดเห็น ตามรัฐธรรมนูญกำลังถูกคุกคาม

Share

แถลงการณ์ร่วม องค์กรสิทธิห่วงใยสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และสิทธิในการมีส่วนร่วมในการเสนอแก้ไขกฎหมายตามกรอบรัฐธรรมนูญ กำลังถูกคุกคาม

จากข้อเสนอของนักวิชาการนิติศาสตร์กลุ่มนิติราษฎร์ และกิจกรรมของคณะรณรงค์แก้ไขมาตรา ๑๑๒ เพื่อรวบรวมรายชื่อประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ หรือที่ทราบกันทั่วไปว่ากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ได้นำมาซึ่งการถกเถียงอย่างกว้างขวางในสังคม มีทั้งเห็นด้วย และคัดค้านซึ่งความคิดเห็นที่แตกต่างในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นเรื่องปกติในสังคมประชาธิปไตย ตราบใดที่การใช้สิทธิดังกล่าวได้ดำเนินไปในกรอบของสันติวิธี และเป็นไปตามตามขั้นตอนของกฎหมาย โดยรัฐมีหน้าที่ต้องปกป้อง และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพดังกล่าวของประชาชนทุกคน

แต่ในขณะที่ปรากฏว่ามีกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์บางกลุ่ม ได้แสดงออกในลักษณะของการคุกคามการใช้สิทธิเสรีภาพของกลุ่มนิติราษฎร์นั้น แทนที่รัฐจะได้ทำหน้าที่ดังกล่าวของตน กลับปรากฏว่าผู้นำของรัฐบาลทั้งในฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติบางคนได้แสดงออกไปในทางเสียดสี ข่มขู่ กระทั่งคุกคามการใช้สิทธิเสรีภาพของกลุ่มนิติราษฎร์

ประเทศไทยเป็นสังคมประชาธิปไตย ภายใต้บรรยากาศของความแตกต่างทางความคิดทางการเมือง การแสดงออกซึ่งความคิดเห็นที่แตกต่างของคณะนิติราษฎร์เป็นเสรีภาพทางวิชาการ และเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็น และความเชื่อ ตลอดจนข้อเสนอต่อการดำเนินการแก้ไขกฎหมายตามกรอบวิธีการที่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญจึงเป็นสิ่งปกติ เมื่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดที่ไม่เห็นชอบด้วยกับความเห็น และข้อเสนอดังกล่าว ก็ย่อมมีสิทธิที่จะแสดงออกซึ่งความคิดเห็นของตน และสามารถถกเถียงโต้แย้งได้ด้วยเหตุผล อย่างสันติ และอารยะ แต่ต้องเคารพต่อสิทธิ และเสรีภาพของบุคคลอื่นที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างจากตน ซึ่งเป็นแก่นของคุณค่าแห่งประชาธิปไตย

ดังนั้นเมื่อการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างตามครรลองประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญ กลับนำมาซึ่งการคุกคามสิทธิเสรีภาพของคนอื่น รัฐจึงจึงมีหน้าที่ต้องปกป้องเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นที่แตกต่าง และสิทธิของประชาชนในการมีส่วนร่วมในการแก้ไข และการปฏิรูปกฎหมายอันเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ที่สำคัญคือรัฐจะต้องไม่เป็นผู้คุกคามสิทธิเสรีภาพดังกล่าวนี้เสียเอง ดังนั้นจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลปฏิบัติตามหน้าที่ของตนในการปกป้องสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัดและยุติการคุกคามสิทธิเสรีภาพดังกล่าวของประชาชนโดยทันที

ยิ่งไปกว่านั้น สถาบันการศึกษามีภารกิจในการส่งเสริมเสรีภาพทางวิชาการและสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมีประวัติศาสตร์อย่างยาวนานที่มิใช่พียงแต่เป็นสถาบันซึ่งผลิตปัญญาชนเพื่อรับใช้ประชาชน และสังคมประชาธิปไตยเท่านั้น แต่ยังเป็นต้นแบบของการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพความเสมอภาคและความเป็นธรรม โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นพื้นที่สำหรับสิทธิและเสรีภาพเสมอมา

ดังนั้นการที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ห้ามกลุ่มนิติราษฎร์ซึ่งประกอบด้วยอาจารย์ของมหาวิทยาลัยเองใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยในการรณรงค์เคลื่อนไหวเพื่อแก้ไขประมวลกฎหมาอาญามาตรา ๑๑๒ อันเป็นสิทธิและเสรีภาพที่กลุ่มนิติราษฎร์และประชาชนทั่วไปสามารถกระทำได้ตามหลักการประชาธิปไตย จึงเป็นการดำเนินการที่ไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการเป็นสถาบันศึกษาของรัฐและประเพณีปฏิบัติอันดีงามของมหาวิทยาลัยในการส่งเสริมเสรีภาพทางวิชาการ เสรีภาพความคิด และการแสดงออก ตามครรลองของกฎหมายและประชาธิปไตยเป็นการทำลายจิตวิญญาณของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

จึงขอเรียกร้องให้ผู้บริหารของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้โปรดทบทวนคำสั่งห้ามกลุ่มนิติราษฎร์ใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทำกิจกรรมตราบใดที่การทำกิจกรรมดังกล่าวอยู่ในกรอบของสันติวิธีและสิทธิมนุษยชน

อนึ่งพึงตระหนักว่า สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย บุคคลอาจไม่เห็นด้วยกับความคิดเห็นของบุคคลอื่น แต่พึงปกป้องสิทธิในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นของเขา

วันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๕
– มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.)
– มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
– คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.)
– เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (คนส.)
– โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม

ข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ:
– บุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน โทร +66-089-131-3190, +66-081- 866-2136 (ภาษาไทย/อังกฤษ)
– 
พนม บุญตะเขียว  เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน โทร +66-085-468-1555 (ภาษาไทย)
– สงกรานต์ ป้องบุญจัน โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม โทร  +66-084-016-6152 (ภาษาไทย/อังกฤษ)

Loader Loading…
EAD Logo Taking too long?

Reload Reload document
| Open Open in new tab

Download [151.29 KB]