[:th]CrCF Logo[:]
รอยแผลบนดวงจันทร์

งานเสวนาและ งานเปิดตัวหนังสือ “รอยแผลบนดวงจันทร์” สารคดีนำเสนองานวิจัย สิทธิเด็กในกระบวนการยุติธรรมจังหวัดชายแดนใต้

Share

“เด็กโดยเหตุที่ยังเติบโตไม่เต็มที่ ทั้งทางร่างกายและจิตใจ
จึงต้องการการพิทักษ์และการดูแลเป็นพิเศษ
รวมถึงต้องการการคุ้มครองทางกฎหมายที่เหมาะสมทั้งก่อนและหลังการเกิด”

อารัมภบท อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก พ.ศ. 2532

“รอยเเผลบนดวงจันทร์” เป็นการบอกเล่าเรื่องราวของเด็กที่ถูกจับกุมและควบคุมตัวตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 (กฎอัยการศึก) พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พรก.ฉุกเฉิน) ซึ่งเป็นกฎหมายพิเศษที่บังคับใช้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 โดยจุดเริ่มต้นของเรื่องมีที่มาจาก “ยุทธการพิทักษ์แดนใต้” ในการปิดล้อม ตรวจค้น จับกุม ในชุมชน บ้านเรือน และบุคคลที่ต้องสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุการณ์ความไม่สงบ ไม่เว้นแม้แต่เด็กที่ต้องตกอยู่ในสถานการณ์เช่นเดียวกันเมื่อถูกปลุกให้ตื่นขึ้นในเช้ามืดของวันหนึ่ง ขณะที่ทหารเข้าปิดล้อมตรวจค้นบ้าน ตามมาด้วยการถูกจับกุมและควบคุมตัวไว้ที่ค่ายทหารเป็นเวลาหลายวัน หลายสัปดาห์ หรือนับเดือน หลายกรณีที่พ่อแม่ไม่ทราบว่าลูกของตนถูกนำตัวไปไว้ที่ใด และไม่ได้รับอนุญาตให้เยี่ยม บางกรณีพบว่ามีการข่มขู่และทำร้ายร่างกาย

เหล่านี้ล้วนมีที่มาจากปากคำของเด็กในระหว่างการสัมภาษณ์เพื่อจัดทำรายงานวิจัยเรื่อง “กระบวนการยุติธรรมทางอาญาสำหรับเด็กและเยาวชน: กรณีศึกษาเด็กและเยาวชนที่ถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมายความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้” เพื่อสะท้อนถึงผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายพิเศษต่อเด็ก เพื่อตั้งคำถามและพยายามหาคำตอบเกี่ยวกับมาตรฐานที่เหมาะสมในการปฏิบัติต่อเด็กในขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมที่ต้องดำเนินไปในภาวะความขัดแย้งและเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อันเป็นแรงบันดาลใจให้คุณรพีพรรณ สายัณตระกูล นำรายงานวิจัยมาเรียบเรียงขึ้นใหม่ในรูปแบบของงานเขียนสารคดี

งานเขียนสารคดีเพื่อนำเสนอรายงานวิจัยฉบับนี้จึงมีที่มาจากข้อมูลกรณีศึกษาจากการทำงานของมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม (MAC) และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF) ในงานให้ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายแก่ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาตลอดระยะเวลากว่า 5 ปี และหากปราศจากความร่วมใจและร่วมแรงจากนักกิจกรรม ผู้ช่วยทนายความและทนายความในจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ที่ได้นำคณะผู้วิจัยลงพื้นที่เพื่อพบกับเด็กและครอบครัวของเด็กแล้ว งานเขียนชิ้นนี้ย่อมไม่สามารถสำเร็จลุล่วงได้

คณะผู้เขียนและผู้วิจัยหวังว่า “รอยเแผลบนดวงจันทร์” จะเป็นตัวเเทนของเด็กและครอบครัวของเด็กในการนำเสนอปัญหาสู่สังคมและผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยคำนึงถึงความเป็นเด็กและการเคารพต่อสิทธิของเด็กในการดำเนินกระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็กในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างสอดคล้องกับมาตรฐานกระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็กและเยาวชน

ณ วันที่ชายแดนใต้ยังคงอยู่ภายใต้ พรก.ฉุกเฉิน และกฎอัยการศึก
11 ธันวาคม 2554
คณะทำงานวิจัย

Loader Loading…
EAD Logo Taking too long?

Reload Reload document
| Open Open in new tab

Download [156.63 KB]