หนังสือข่าวด้านการเข้าถึงความยุติธรรมและสิทธมนุษยชนจังหวัดชายแดนใต้ Access to Justice and Human Rights Newsletters, Southern Thailand ประจำเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม พ.ศ. 2554 บรรณาธิการ นายอนุกูล อาแวปูเตะ และนางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ
บทความนำ
ความหวังใหม่ของจำเลยในคดีความมั่นคง
โดยทนายอนุกูล อาแวปูเตะ ประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมประจำจังหวัดปัตตานี
ความคืบหน้าสถานการณ์คคีสิทธิมนุษยชน
• ศาลแพ่งไกล่เกลี่ยยอมความ กลาโหมกองทัพบกเยียวยาจ่าย 5.2 ล้าน เปิดบันทึกศาลแพ่ง จำเลยเสียใจและยืนยันว่านายยะผา กาเซ็งผู้ตายและครอบครัวไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบ(เอกสารแนบ กระบวนพิจารณาของศาล)
• ญาติคนหายสองคนจากพื้นที่สันติ 1 บันนังสตา ยื่นหนังสือขอให้ DSI รับเป็นคดีพิเศษ ศอบต. รับว่าสูญหายจริง แต่ไม่มีความคืบหน้าทางคดี ทุกหน่วยไม่มีคำตอบให้ญาติ
• ศาลพิพากษาลงโทษ จำคุก 2 ปี เหยื่อถูกซ้อมทรมานกรณีปล้นปืน ในคดีเจ้าหน้าที่ตำรวจฟ้องกลับข้อหาแจ้งความเท็จ อาจขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 62
ภายใต้โครงการส่งเสริมการเข้าถึงความยุติธรรมแก่ประชาชน
ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ของประเทศไทย
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ดำเนินโครงการส่งเสริมการเข้าถึงความยุติธรรมซึ่งระยะเวลาดำเนินโครงการเป็นเวลา 2 ปี ตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ.2554 – เดือนธันวาคม พ.ศ. 2555 ที่มุ่งจะให้ความเหลือด้านกฎหมายโดยไม่คิดค่าบริการแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย โครงการมีเป้าประสงค์เพื่อยกระดับและปรับปรุงกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งการเสริมสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ และกองทุนสหภาพยุโรป ภายใต้โครงการพัฒนาภาคประชาสังคม ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดยะลา จังหวัดปัตตานี จังหวัดนราธิวาส และจังหวัดสงขลา
กิจกรรม ในโครงการฯประกอบไปด้วย: การให้บริการด้านกฎหมายโดยไม่คิดค่าบริการแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการทำคดีในเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Litigation) การประชุมคดีระหว่างทนายความและผู้ชำนาญการด้านกฎหมายสิทธิมนุษยชน การอบรมเพิ่มทักษะให้แก่ทนายความ ผู้ช่วยทนายความ และนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ การจัดสัมมนาโดยมีกลุ่มเป้าหมายที่เป็นหน่วยงานในพื้นที่ หน่วยงานด้านความมั่นคง ผู้มีอำนาจตัดสินใจและเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม งานวิจัยและการทำกรณีศึกษาเกี่ยวกับความต้องการการใช้บริการให้ความช่วยเหลือด้านคดีโดยไม่คิดค่าบริการ ส่งเสริมให้พนักงานอัยการและศาลมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง และการจัดทำข้อเสนอให้กับหน่วยงานของรัฐ
การดำเนินการโครงการในครั้งนี้ มีความคาดหวังว่า
1. หน่วยงานในพื้นที่มีศักยภาพเพิ่มขึ้นในการใช้กฎหมายในการให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายโดยไม่คิดค่าบริการแก่กลุ่มผู้เสียเปรียบในสังคม
2. เพิ่มศักยภาพชุมชนเพื่อช่วยให้หน่วยงานในพื้นที่และหน่วยงานด้านความมั่นคงสามารถยึดถือและปฏิบัติตามกฎหมายในระดับประเทศและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากล
3. หน่วยงานในพื้นที่และเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจตัดสินใจมีความรู้และความสามารถในการกำหนดนโยบายมากขึ้น ช่วยให้เกิดการปฏิรูประบบยุติธรรมอย่างยั่งยืน