[:th]CrCF Logo[:]
[:th]กฎอัยการศึก[:]

ขอเชิญร่วมรับฟังการพิจารณาคดีครั้งแรก คดี 2 นักศึกษายะลา ฟ้อง ทบ.-กลาโหม กรณีถูกซ้อมทรมาน จากกฎอัยการศึกภาคใต้

Share

ในวันที่ 26 ตุลาคม 2554 เวลา 11.00 น. ศาลปกครองสงขลากำหนดนัดนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก ณ ห้องพิจารณาคดีที่ 2 ในคดีหมายเลขดำที่ 187, 188/2552 ที่นายอิสมาแอ เตะ ผู้ฟ้องคดีที่ 1 และนายอามีซี มานาก ผู้ฟ้องคดีที่ 2 ยื่นฟ้องกองทัพบก และกระทรวงกลาโหม เป็นผู้ถูกฟ้องคดี กรณีที่มีการควบคุมตัวตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

มีการทำร้ายร่างกาย และซ้อมทรมานผู้ฟ้องคดีทั้งสองกับผู้ถูกควบคุมตัวคนอื่นๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูล และคำรับสารภาพ หลังจากศาลปกครองสงขลาแสวงหาพยานหลักฐานครบถ้วนเพียงพอพิพากษาคดีแล้ว ศาลฯ นัดวันนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก

โดยตุลาการผู้แถลงคดีจะอ่านแถลงการณ์ว่าคดีนี้จะพิพากษาคดีอย่างไร โดยจะเปิดโอกาสให้ผู้ฟ้องคดี และผู้ถูกฟ้องคดีแถลง ต่อศาลด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือต่อศาลก่อน เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก ศาลจะกำหนดนัดวันฟังคำพิพากษาต่อไป

โดยเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2554 ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้ยื่นคำแถลงเป็นหนังสือต่อศาลก่อนนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก โดยยืนยันข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่แล้วในสำนวนคดี

กล่าวคือ ผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้นำเสนอพยานหลักฐานโดยชัดแจ้งเพื่อยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ทหารในสังกัดผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้จับกุมไม่ชอบตามกฎหมาย มีการทำร้ายร่างกาย และซ้อมทรมานผู้ฟ้องคดี และมีการควบคุมตัวเกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ตามคำฟ้องจริง ในขณะที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่ไม่มีพยานหลักฐานใดยืนยัน โดยเฉพาะประเด็นสำคัญแห่งคดีในส่วนที่เกี่ยวกับการทำร้ายร่างกาย และซ้อมทรมานเพื่อให้รับสารภาพ

ซึ่งฟังได้ว่าผู้ฟ้องคดีทั้งสองอยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ทหารในสังกัดผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองโดยตลอด แล้วเกิดอันตรายแก่ร่างกายขึ้นในระหว่างการควบคุมตัว ปรากฏตามใบรับรองแพทย์ และเวชระเบียนการตรวจรักษาของผู้ฟ้องคดีที่ 1 ภาพถ่ายบาดแผล

และพยานหลักฐานอื่นๆ และมีพยานที่ผู้พบเห็นผู้ฟ้องที่มีร่องรอยบาดแผลระหว่างการถูกควบคุมตัว โดยในคำแถลงของผู้ฟ้องคดีทั้งสองดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีได้ขอนำพยานที่เห็นสภาพร่างกายที่บอบช้ำจากการทำร้ายร่างกาย และซ้อมทรมานของผู้ฟ้องคดีทั้งสองกับพวกที่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัว เข้าแถลงต่อศาลปกครองด้วยวาจา และขอส่งแผ่นบันทึกภาพและเสียง (VCD) ของกลุ่ม IN SOUTH ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อสะท้อนปัญหา และผลกระทบของการบังคับใช้กฎหมายพิเศษต่อศาล นอกจากนี้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองยังมีความประสงค์ขออนุญาตเปิด VCD ดังกล่าวในศาลด้วย

คดีนี้นับว่าเป็นคดีแรกที่เหยื่อผู้ถูกควบคุมตัว และซ้อมทรมานตามอำนาจของกฎอัยการศึกในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ใช้สิทธิทางศาลในการฟ้องคดีเพื่อให้หน่วยงานรัฐ (กองทัพบก และกระทรวงกลาโหม) รับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ ซึ่งอยู่ในสังกัดของตนที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

ผู้ฟ้องคดีทั้งสองต้องอาศัยความกล้าหาญ และเข้มแข็งอย่างมากในการตัดสินใจฟ้อง และดำเนินคดีถามหาความเป็นธรรม และการเยียวยาจากหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่ทหารผู้กระทำละเมิด โดยหวังว่าการใช้สิทธิตามระบบกระบวนการยุติธรรมนี้ จะส่งผลให้หน่วยงานแก้ไขปรับปรุงบรรทัดฐานการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ ที่ส่งผลกระทบต่อเยาวชน และประชาชนในพื้นที่อย่างมาก

เพื่อดำรงหลักประกันสิทธิเสรีภาพของเยาวชน และประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้คงอยู่ และหวังว่ากระบวนการยุติธรรมจะเป็นส่วนหนึ่งในการคลี่คลายสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้กลับคืนสู่สภาวะปกติ ซึ่งในวันที่ 26 ตุลาคม 2554 นี้ จะได้ทราบแนวคำพิพากษาของคดีนี้ว่าจะเป็นไปในทิศทางใดต่อไป

ข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ
– ทนายความจันทร์จิรา จันทร์แผ้ว 02-6934939

ข้อมูลเกี่ยวกับคดี
เหตุแห่งคดีนี้เกิดขึ้นเมื่อเดือนมกราคม 2551 และผู้ฟ้องคดีทั้งสองยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2552 ต่อมาวันที่ 20 มิถุนายน 2554 เป็นวันสิ้นสุดการแสวงหาข้อเท็จจริงในคดี และนัดนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกในวันที่ 26 ตุลาคม 2554 นี้ ระยะเวลานับแต่วันฟ้องถึงวันนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกเกือบ 3 ปี

ในระหว่างที่ถูกควบคุมตัววันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2551 ญาติของผู้ฟ้องคดีที่ 1 กับพวก เห็นร่องรอยการถูกทำร้ายร่างกาย ซึ่งถือเป็นการควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ได้ร้องขอความช่วยเหลือจากศูนย์ทนายความมุสลิมให้ดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลตามมาตรา 90 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

ศาลจังหวัดปัตตานีได้รับคำร้องดังกล่าวไว้ และมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ทหารผู้ควบคุมตัวนำผู้ถูกควบคุมตัวมาศาลในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2551 ซึ่งเป็นโอกาสอันดีที่เจ้าหน้าที่ทหารในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจะได้แสดงข้อมูล ข้อเท็จจริง เหตุผล และข้อกฎหมายตามที่ได้ให้การต่อศาลในคดีนี้ เพื่อยืนยันว่าตนปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย และไม่ได้ทำร้ายร่างกายและซ้อมทรมานผู้ฟ้องคดีทั้งสองกับพวก ในระหว่างควบคุมตัวแต่อย่างใด

แต่เจ้าหน้าที่ทหารดังกล่าวกลับปล่อยตัวผู้ฟ้องคดีทั้งสองกับพวกไปในยามวิกาล และไม่ได้มาศาลตามหมายเรียกของศาลจังหวัดปัตตานี เป็นเหตุให้ศาลยกคำร้องของผู้ฟ้องคดีที่ 1 กับพวก เนื่องจากผู้ฟ้องคดีทั้งสองกับพวกได้รับการปล่อยตัว จึงไม่มีเหตุให้ศาลวินิจฉัยคำร้อง

การซ้อมทรมานเพื่อให้ได้คำรับสารภาพจะยังไม่เป็นฐานความผิดในคดีอาญาตามกฎหมายไทย แต่ในมาตรา 32 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ได้รับรองสิทธิเสรีภาพในชีวิต และร่างกายโดยการห้ามทรมาน ทารุณกรรม หรือลงโทษด้วยวิธีการโหดร้ายหรือไร้มนุษยธรรม

ประกอบกับประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีในอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 ซึ่งทำให้การกระทำใดๆ โดยเจ้าพนักงานของรัฐที่ทำให้เกิดความเจ็บปวด หรือทุกข์ทรมานอย่างสาหัส ซึ่งเป็นกระทำเพื่อให้ได้รับคำสารภาพ ลงโทษ ข่มขู่ให้กลัว หรือเพราะเหตุใดๆบนพื้นฐานของการเลือกปฏิบัติถือเป็น “การทรมาน” ซึ่งรัฐมีพันธกรณีในการป้องกัน และต่อต้านไม่ให้เกิดการทรมานดังกล่าว

อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่เป็นภาคีอนุสัญญาฯ ดังกล่าวจนปัจจุบัน ประเทศไทยยังไม่ได้ดำเนินการกำหนดมาตรการใดไม่ว่าในทางนิติบัญญัติ บริหาร หรือตุลาการอย่างจริงจังเพื่อป้องกันการกระทำทรมาน เยียวยาผู้เสียหาย คุ้มครองพยาน หรือนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ

ทำให้การทรมานยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และดำรงอยู่ในสังคมไทยไม่ว่าภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินในจังหวัดชายแดนใต้ สถานการณ์ฉุกเฉินอันเนื่องมาจากการเรียกร้องทางการเมือง หรือภายใต้การบังคับใช้กฎหมายปกติ ซ้ำร้าย ผู้เสียหายซึ่งร้องทุกข์ว่าถูกทรมานให้รับสารภาพในคดีปล้นปืนค่ายปิเหล็ง จังหวัดนราธิวาส เมื่อปีพ.ศ. 2547 ยังถูกเจ้าหน้าที่ฟ้องคดีกลับในข้อหาแจ้งความเท็จ หลังจากหลังจากคณะกรรมการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ชี้มูลความผิดว่าไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอ

ทั้งนี้ผู้เสียหายยังเป็นลูกความ และพยานในคดีเกี่ยวเนื่องกับการถูกบังคับให้หายไปของทนายสมชาย นีละไพจิตร มาตรการการคุ้มครองสิทธิของประชาชนภายใต้การบังคับใช้กฎหมายโดยอำนาจ และคำพิพากษาของศาลปกครองในคดีนักศึกษายะลาจึงเป็นความหวัง และมาตราการทางกฎหมายขั้นตอนสุดท้ายที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการปฏิบัติตามพันธกรณีเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทรมาน

ในขณะที่ประเทศไทยยังไม่ได้มีการออกกฎหมายเฉพาะ แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายหรือกำหนดมาตรการใดๆเพื่อให้ฐานความผิดเรื่องการทรมานเป็นฐานความผิดเฉพาะ และกำหนดอัตราโทษที่เหมาะสมกับฐานความผิดดังกล่าว ปัจจุบันในกฎหมายไทยยังไม่มีฐานความผิดว่าด้วยการทรมานที่เป็นการกระทำของเจ้าพนักงานของรัฐ

Loader Loading…
EAD Logo Taking too long?

Reload Reload document
| Open Open in new tab