แถลงการณ์ สภาทนายความ การคุ้มครองสิทธิ และช่วยเหลือทางมนุษยธรรม แก่ผู้ประสบอุทกภัยทุกคนโดยไม่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งสัญชาติ เชื้อชาติ ความแตกต่างทางภาษา หรือสถานะทางกฎหมาย คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ
๒๑ ตุลาคม ๒๕๕๔
สืบเนื่องจากสถานการณ์วิกฤตอุทกภัยที่กำลังเกิดขึ้นในหลายจังหวัดของประเทศไทย ส่งผลให้มีผู้ได้รับความเดือดร้อนจำนวนมาก ซึ่งมีทั้งราษฎรไทย และแรงงานต่างด้าว และด้วยปัญหาการสื่อสารทางภาษา ความหวาดกลัว ทำให้แรงงานต่างด้าวซึ่งส่วนใหญ่ไม่สามารถสื่อสารภาษาไทย กับประชาชนไทย หรือหน่วยงานภาครัฐที่ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยได้ ส่งผลให้ผู้อพยพ และแรงงานข้ามชาติเหล่านั้นได้รับความเดือดร้อนเป็นเท่าทวีคูณ
ที่ผ่านมาเป็นที่น่ายินดีว่ามีหลายภาคส่วนได้พยายามช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ แก่ทุกคนโดยไม่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งสัญชาติ เชื้อชาติ ความแตกต่างทางภาษา หรือสถานะทางกฎหมาย แต่ก็ยังมีหลายภาคส่วนเช่นกันที่ยังกังวล และตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับสถานะทางกฎหมายในการเข้ามา และอยู่อาศัยในประเทศไทย หรือรู้สึกไม่ปลอดภัยหากให้ความช่วยเหลือหรือให้ที่พักพิงแก่แรงงานต่างด้าวและผู้ติดตามที่ประสบอุทกภัยเหล่านั้น ส่งผลให้แรงงานต่างด้าว และผู้ติดตามไม่สามารถเข้าถึงหรือได้รับความช่วยเหลือทางปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นแก่การดำรงชีพตามความเหมาะสม รวมทั้งได้รับการปฏิเสธจากที่พักพิง ทั้งที่หน่วยงานรัฐและเอกชนจัดตั้งขึ้น
ด้วยปัญหาดังกล่าว คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ ตระหนักและเล็งเห็นว่า การชี้แจงและทำความเข้าใจกับทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานราชการ หน่วยงานเอกชน ราษฎรไทย และองค์กรทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) เพื่อคลายข้อกังวล ลดปัญหา และเสริมสร้างความเข้าใจ ดังต่อไปนี้
๑) แรงงานต่างด้าวทุกคนถือเป็นกลไกหนึ่งที่สำคัญในการร่วมขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย สำหรับประเภทงานที่ขาดแคลนแรงงานสกปรก รายได้น้อย และเป็นงานที่แรงงานไทยไม่ทำ ควรที่จะได้รับการยอมรับ และปฏิบัติว่าเป็นสมาชิกคนหนึ่งของสังคมไทย ดังนั้น การให้ความช่วยเหลือแรงงานต่างด้าว และผู้ติดตามในสถานการณ์ที่ไม่ปกติเช่นอุทกภัยที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ จำเป็นต้องให้ความคุ้มครอง และให้ความช่วยเหลือตามหลักสิทธิมนุษยชน และหลักมนุษยธรรมแก่ทุกคนโดยเสมอภาค ไม่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งสัญชาติ เชื้อชาติ ภาษา วัฒนธรรม หรือสถานะทางกฎหมาย ซึ่งมีหลักกฎหมายระหว่างประเทศ สนธิสัญญา อนุสัญญาระหว่างประเทศจำนวนมาที่ไทยลงนาม และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ให้การรับรอง
๒) สถานะทางกฎหมายของแรงงานต่างด้าวสามสัญชาติในประเทศไทย รัฐบาลไทยได้ผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าว และผู้ติดตามอยู่อาศัย และทำงานในประเทศไทยได้เป็นการชั่วคราว โดยขึ้นทะเบียนกับกระทรวงมหาดไทยและขออนุญาตทำงาน (WORK PERMIT) ต่อกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน และแรงงานต่างด้าวบางส่วนได้ผ่านกระบวนการพิสูจน์ชาติ โดยถือหนังสือเดินทาง (PASSPORT) วีซ่า (VISA) และมีใบอนุญาตทำงาน (WORK PERMIT) ตามนโยบายของรัฐบาลไทย แต่ก็ยังมีแรงงานต่างด้าว และผู้ติดตามอีกส่วนหนึ่งที่อยู่อาศัยในประเทศไทยโดยผิดกฎหมายด้วยเหตุปัจจัยที่แตกต่างกัน ไม่ว่าแรงงานต่างด้าวหรือผู้ติดตามแรงงานต่างด้าวจะเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายหรือถูกกฎหมาย ตามนัยแห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. ๒๕๒๒ ก็ตาม การดำเนินการเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าวเพื่อเป็นการช่วยชีวิตบุคคลในสถานการณ์อุทกภัยด้วยวิธีการใดๆ ดังนี้
๑. การช่วยเหลือ ลำเลียง หรือให้แรงงานต่างด้าว หรือผู้ติดตามแรงงานต่างด้าว ให้โดยสารรถ เรือ หรือยานพาหนะใดๆ มิอาจถือว่าเจ้าของพาหนะหรือผู้ควบคุมพาหนะ กระทำผิดเกี่ยวกับการนำพาหรือให้ความสะดวกแก่คนต่างด้าวตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๗๐
๒. การช่วยเหลือ ให้ที่พักพิง ซึ่งอาจเป็นบ้านส่วนตัว โรงแรม ที่พักฉุกเฉิน สถานที่ราชการ หรือเอกชน หรือสถานที่ใดๆ แก่แรงงานต่างด้าวหรือผู้ติดตามแรงงานต่างด้าว มิอาจถือว่าเจ้าของบ้าน โรงแรม ผู้ที่รับผิดชอบดูแลที่พักฉุกเฉิน สถานที่ราชการหรือเอกชนหรือสถานที่ใดๆ เหล่านั้น ได้กระทำผิดพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๖๔
๓. กลุ่มแรงานต่างด้าว หรือผู้ติดตามแรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานหรืออาศัยอยู่ในเขต/พื้นที่จังหวัดที่ขึ้นทะเบียน และบุคคลนั้นจำเป็นต้องเดินทางออกนอกเขต/พื้นที่จังหวัดที่ตนขึ้นทะเบียนขณะเกิดอุทกภัย โดยไม่ได้ขออนุญาตออกกนอกพื้นที่ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย มิอาจถือว่าบุคคลนั้นกระทำผิดเกี่ยวกับการออกนอกเขต/พื้นที่ขึ้นทะเบียนโดยไม่ได้รับอนุญาต
๔. แรงงานต่างด้าว หรือผู้ติดตามแรงงานต่างด้าวที่ไม่สามารถทำงานกับนายจ้างเดิม หรือในอาชีพเดิมได้ด้วยเหตุจากอุทกภัย และจำเป็นต้องทำงานกับนายจ้างใหม่ หรือทำงานอื่นๆ ซึ่งอาจเป็นอาชีพที่ไม่ได้รับอนุญาต หรือมิได้ทำการแจ้งเปลี่ยนย้ายงานย้ายนายจ้างตามกฎระเบียบของกระทรวงแรงงาน หากเป็นการทำงานเพื่อยังชีพระหว่างประสบอุทกภัย มิอาจถือว่าบุคคลนั้นกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับการทำงานในอาชีพที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือผิดประเภท หรือทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต
๕. รักษาพยาบาลให้กับแรงงานต่างด้าว หรือผู้ติดตามแรงงานต่างด้าว มิอาจถือว่าแพทย์ พยาบาล หรือเจ้าหน้าที่ผู้ให้การรักษาโรคนั้นได้กระทำผิดกฎหมาย
๖. การที่เจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ว่าเจ้าหน้าตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองที่มีหน้าที่จับกุมคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยผิดกฎหมาย หรืออาศัยอยู่ในประเทศไทยโดยผิดกฎหมาย หรือออกนอกเขต/พื้นที่จังหวัดที่ขึ้นทะเบียน หากพบหรือทราบว่ามีคนต่างด้าวเช่นว่านั้น และไม่ได้ดำเนินการจับกุม มิอาจถือว่าเจ้าหน้าที่ผู้นั้นกระทำผิดเกี่ยวกับการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๕๗
๗. เจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงาน ผู้มีหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับคนต่างด้าวที่ทำงานผิดประเภทหรือไม่มีใบอนุญาตให้ทำงาน หากพบหรือทราบว่ามีคนต่างด้าวเช่นว่านั้น มิอาจถือว่าเจ้าหน้าที่ผู้นั้นกระทำผิดเกี่ยวกับการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๕๗
๘. ในทางตรงกันข้ามเจ้าหน้าที่ และบุคคลทุกคนมีหน้าที่ร่วมกันในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในการรักษาชีวิตเพื่อนมนุษย์ โดยเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นประโยชน์สูงสุดของการอยู่ร่วมกัน รวมทั้งเป็นคุณธรรมที่จำเป็นต้องเกื้อกูลดูแลกันตามหลักสิทธิมนุษยชน และมนุษยธรรม
๓) ช่วงวิกฤตอุทกภัยน้ำท่วมที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหันในหลายพื้นที่ ลูกจ้างซึ่งเป็นแรงงานต่างด้าวจำนวนมากไม่มีเอกสารใดๆ พกติดตัว เช่น ใบอนุญาตทำงาน หนังสือเดินทางหรือบัตรประจำตัวคนไม่มีสัญชาติไทย ฯลฯ เนื่องจากสูญหาย หรือไม่สามารถนำออกมาจากที่พักได้ หรือนายจ้างอาจยึดถือไว้ จึงขอความร่วมมือจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้ความช่วยเหลือแก่แรงงานต่างด้าว หรือผู้ติดตามแรงงานต่างด้าว โดยไม่ควรคำนึงถึงเอกสารใบอนุญาต หรือบัตรต่างๆ เหล่านั้น
๔) นายจ้างที่ยึดใบอนุญาตทำงาน หนังสือเดินทางหรือบัตรประจำตัวคนไม่มีสัญชาติไทย ฯลฯ ของแรงงานต่างด้าวไว้ ขอความร่วมมือจากนายจ้าง ให้ส่งมอบคืนบัตรหรือเอกสารประจำตัวบุคคลเหล่านั้นแก่แรงงานต่างด้าว เนื่องจากการยึดบัตรหรือเอกสารประจำตัวของบุคคลอื่นอาจมีความผิดตามกฎหมาย
๕) การให้ความช่วยเหลือ เยียวยา และมาตรการคุ้มครองสิทธิแก่แรงงานต่างด้าว ในฐานะแรงงานตามนัยแห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ และกฎหมายอื่นๆ ภาครัฐ เอกชน และนายจ้าง ต้องช่วยเหลือและคุ้มครองสิทธิอย่างเท่าเทียม และเสมอภาคกัน
คณะอนุกรรมการฯ ขอขอบพระคุณทุกภาคส่วนของสังคมไทยที่หยิบยื่นความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมให้แก่ผู้ประสบอุทกภัยทุกคนโดยเสมอภาคและไม่เลือกปฏิบัติ
(นายสุรพงษ์ กองจันทึก)
ข้อมูลเพิ่มเติม
– นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานกรรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ (๐๘๑-๖๔๒๔๐๐๖)
– ประสานความช่วยเหลือ นายธนู เอกโชติ อนุกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ (๐๘๙-๘๙๔๑๒๒๐), นายนัสเซอร์ อาจวาริณ อนุกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ (๐๘๑-๖๑๘๑๙๒๙)
– ประสานงาน นางสาวทิพย์วิมล ศิรินุพงศ์ อนุกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ (๐๘๕-๐๔๔๐๒๓๔)