คดีแรก คนหายเรียกร้องสิทธิรับสิทธิประโยชน์จากสหกรณ์ครู ในฐานะผู้เสียชีวิตศาลจังหวัดยะลานัดฟังคำพิพากษาคดีคุ้มครองผู้บริโภค วันที่ 1 พ.ย. 2554 เรียกร้องให้รัฐบาลลงนามในอนุสัญญาคุ้มครองการบังคับให้บุคคลสูญหาย
เมื่อวันที่ 4-5 ตุลาคม 2554 ศาลจังหวัดยะลา ได้กำหนดนัดฟังคำพิพากษาตัดสินคดีหมายเลขดำที่ ผบ.39/2554 ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2554 ที่จะถึง หลังจากเสร็จสิ้นการสืบพยานฝ่ายโจทก์แล้ว 2 ปาก คือนางซูมาอีเด๊าะ มะรานอ และผู้ค้ำประกันที่ 1 ในฐานะลูกหนี้ร่วม ในวันที่ 5 ตุลาคม โดยในวันที่ 4 ตุลาคม 2554 สืบพยานฝ่ายจำเลยหรือสหกรณ์ออมทรัพย์ครูยะลา ศาลจังหวัดยะลาได้นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2554 ซึ่งนางซูมาอีเด๊าะและบุตรเชื่อว่าศาลเป็นกลไกสุดท้ายของกระบวนการยุติธรรมอันเป็นที่พึ่งของประชาชนที่เดือดร้อนได้ และครอบครัวมะรานอหวังจะได้รับความยุติธรรมในเร็ววันนี้
ตามที่นางซูมาอีเด๊าะ มะรานอ และบุตรชายทั้งสอง ของนายมะยาเต็ง มะรานอ ภารโรงโรงเรียนแห่งหนึ่งใน ต.บาเจาะ อ.บันนังสตา จ.ยะลา ซึ่งหายสาบสูญไปหลังจากเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวไปเมื่อปี พ.ศ. 2550 ได้ยื่นฟ้องสหกรณ์ออมทรัพย์ครูยะลาต่อศาลจังหวัดยะลาเมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2554 เป็นคดีหมายเลขดำที่ ผบ.39/2554 ซึ่งถือเป็นคดีแรกที่ครอบครัวของผู้สาบสูญจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ลุกขึ้นมาฟ้องร้องเพื่อทวงสิทธิของผู้สาบสูญ ซึ่งกรณีนี้ผู้สาบสูญเป็นสมาชิกของสหกรณ์ออมทรัพย์ดังกล่าว
มูลเหตุของการฟ้องคดีผู้บริโภคในครั้งนี้ เพื่อเรียกร้องเงินจากกองทุนสงเคราะห์สมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ที่นายมะยาเต็งผู้สาบสูญเป็นสมาชิกอยู่ ให้ได้รับเงินจากกองทุนสงเคราะห์เฉกเช่นผู้เสียชีวิต เนื่องจากเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2552 ศาลจังหวัดยะลาได้มีคำสั่งให้นายมะยะเต็งเป็นบุคคลสาบสูญ และนายมะยาเต็งเป็นสมาชิกของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูแต่กลับไม่ได้รับเงินจากกองทุนสงเคราะห์สมาชิกดังกล่าว เพราะมติคณะกรรมการของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูยะลาให้นายมะยาเต็งพ้นจากการเป็นสมาชิกก่อนจะครบเงื่อนเวลาที่ศาลจะสามารถมีคำสั่งให้นายมะยะเต็งเป็นบุคคลสาบสูญได้ และทางสหกรณ์ฯ ยังได้บังคับให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้แทนนายมะยาเต็ง ทั้งๆ ที่ระเบียบของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูยะลาให้สิทธิในการรับผลประโยชน์กรณีสมาชิกเป็นบุคคลสาบสูญได้เช่นเดียวกับผู้เสียชีวิต
ทางครอบครัวของนายมะยาเต็งได้สิทธิประโยชน์ดังกล่าวอย่างเป็นธรรมก็จะสามารถชำระหนี้ที่กู้มาสร้างบ้านกับสหกรณ์เป็นเงินจำนวนหลายแสนบาทได้หมด โดยสิทธิประโยชน์ดังกล่าวของสมาชิกเป็นไปตามวัตถุประสงค์เพื่อประกันการชำระหนี้ของบรรดาสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ครูยะลาด้วย แต่กลับเป็นว่าปัจจุบันครูประจำโรงเรียนจำนวน 4 คน ที่เป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ให้แก่นายมะยาเต็งกลับต้องรับภาระใช้หนี้ดังกล่าวแทน เพราะนางซูมาอีเด๊าะภรรยาของนายมะยาเต็งไม่มีเงินที่จะชำระหนี้ได้ เนื่องจากเมื่อครอบครัวสูญเสียนายมะยาเต็งซึ่งเป็นผู้นำของครอบครัวไป ก็แทบจะไม่มีรายได้มาเลี้ยงครอบครัว และจ่ายค่าเล่าเรียนให้แก่ลูกทั้งสองคน
มติของคณะกรรมการสหกรณ์ฯ ดังกล่าวนำมาซึ่งความเสียหายและความกังวลต่อครอบครัวผู้ค้ำประกันและครอบครัวผู้สาบสูญเป็นอย่างมากมาเป็นเวลาหลายปีนับแต่สหกรณ์ฯ บังคับชำระหนี้ผู้ค้ำประกันทั้ง 4 คน
ทั่วประเทศมีบุคคลถูกบังคับให้สูญหายจำนวนมากที่ขาดการติดตามตรวจสอบ จากการติดตามกลไกในกระบวนการยุติธรรม และกลไกให้ความช่วยเหลือต่อบุคคลที่บังคับให้สูญหายในจังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวนกว่า 30 รายพบว่ารัฐยังไม่สามารถจัดสรรความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมแก่บุคคลเหล่านี้แต่อย่างใดเนื่องจากไม่เข้าเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือเยียวยาที่รัฐกำหนด แม้จะได้มีการตั้งคณะกรรมการชุดพิเศษภายใต้การทำงานของกระทรวงยุติธรรมมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549/2550 แล้วก็ตาม
การบังคับให้บุคคลสูญหายในประเทศไทยยังไม่เป็นความผิดทางอาญา กลไกสืบสวนสอบสวนไม่มีประสิทธิภาพทำให้หน่วยงานรัฐต่างๆ ไม่สามารถกำหนดขอบเขตการช่วยเหลือให้กับครอบครัวบุคคลสูญหายได้อย่างเหมาะสมพอเพียง แนวทางการแก้ไขปัญหาที่สำคัญคือการแก้ไขกฎหมายในประเทศไทยให้การบังคับบุคคลสูญหายเป็นอาชญกรรม และแก้ไขกฎหมายข้อบังคับระเบียบต่างๆ ที่จำกัดสิทธิการเข้าถึงความยุติธรรมและความช่วยเหลือด้านต่างๆ แก่ครอบครัวผู้สูญหาย
ขณะนี้ในระหว่างวันที่ 5 และ 7 เดือนตุลาคม พ.ศ. 2554 ประเทศไทยกำลังนำเสนอรายงานสิทธิมนุษยชนต่อองค์กรสหประชาชาติ ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยประกาศรับรองและให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาคุ้มครองการบังคับให้บุคคลสูญหาย เพื่อแสดงเจตนารมณ์ว่ารัฐบาลไทยคำนึงถึงความจำเป็นที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงนี้ร่วมกัน
ข้อมูลเพิ่มเติม
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เบอร์ติดต่อ 02-693-4939
สมสกุล ศรีเมธีกุล ทนายความ 087-288-5949