[:th]CrCF Logo[:]

เปิดจดหมายผู้ถูกควบคุมตัว ฉฉ. “ข้าแต่ศาลที่เคารพ ผมขอคัดค้าน พรก. ฉุกเฉิน” – พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ

Share

วันเสาร์ที่ทุกคนน่าจะได้พักผ่อน แต่หลายคนอาจจะกังวลใจกับงานที่ทำในอาทิตย์ที่ผ่านมา หรือกับงาน และเรื่องราวที่รออยู่เบื้องหน้าในอาทิตย์ถัดไป ข้าพเจ้าได้รับจดหมายน้อยฉบับหนึ่งจากศูนย์พิทักษ์สันติ จชต. ที่ตั้งอยู่ที่โรงเรียนตำรวจภูธร 9 จังหวัดยะลา จดหมายลงวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2554 บรรยายถึงข้อความที่เราอาจจะไม่ค่อยได้เห็น และได้ยิน

มีข้อความว่า

“ข้าพเจ้านายนิเซ๊ะ นิฮะ ยังมีสติสมัญชญะดี ร่ายกายแข็งแรง หลังจากนี้ถ้าหากมีอะไรในกระบวนการซักถามในชั้น พรก. ข้าฯ นายนิเซ๊ะ นิฮะ จะไม่ให้การใดทั้งสิ้น นอกจากจะยืนยันคำให้การเดิม ถ้าหากเกิดอะไรขึ้นแก่ข้าฯ ไม่ว่าร่างกายหรือชีวิต หรือกรณีใดก็ตาม ข้าฯ ขอเขียนหนังสือนี้เป็นลายลักษณ์อักษรไว้เป็นหลักฐาน เพื่อดำเนินการต่อไป”

ลงชื่อ
ขอคัดค้าน พรก.

1 ตุลาคม 2554

ลายมือ และร่องรอยของจดหมายที่ถูกพับจนเล็ก บ่งบอกถึงที่มา และที่ไปของจดหมายได้ดี ด้วยเส้นสายตัวหนังสือที่หนักแน่น ชัดเจน นายนิเซ๊ะ นิฮะ ถูกจับกุมเมื่อเวลารุ่งเช้า วันที่ 16 กันยายน 2554 เจ้าหน้าที่ทหารตรวจค้นบ้านนายนิเซ๊ะ นิฮะ ตำบลตะลุโบะ อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี โดยมิได้แสดงหมายแต่อย่างใด และควบคุมตัวนายนิเซ๊ะ นิฮะ ไปยังค่ายทหารบริเวณโรงไฟฟ้าปัตตานี ถนนปัตตานี – ยะลา อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี

ต่อมานายนิเซ๊ะ นิฮะ ถูกย้ายสถานที่ควบคุมตัวยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานีในวันเดียวกัน มีรายงานว่านายนิเซ๊ะ ได้รับการปฏิบัติอย่างดีระหว่างการควบคุมตัว และได้ให้การกับเจ้าหน้าที่ทหารที่ค่ายอิงคยุทธฯ ด้วยความสมัครใจต่อข้อซักถามต่างๆ

ภายหลังการควบคุมตัวตามอำนาจกฎอัยการศึกเป็นเวลา 7 วัน เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2554 นายนิเซ๊ะ นิฮะ ได้รับแจ้งว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรกะพ้อ อำเภอกะพ้อ จังหวัดปัตตานี จะยื่นคำร้องขอออกหมายควบคุมตัวตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 โดยย้ายการควบคุมตัวไปที่ค่ายอิงคยุทธฯ และในวันที่ 26 กันยายน 2554 นายนิเซ๊ะ นิฮะ ได้ลงชื่อในบันทึกซักถามซึ่งเป็นการสิ้นสุดการควบคุมตัว และผู้ถูกควบคุมตัวย่อมจะได้รับการปล่อยตัวตามระเบียบปฏิบัติที่ถือปฏิบัติกันมา

แต่กลับถูกส่งตัวไปที่ศูนย์พิทักษ์สันติ จชต. ที่ตั้งอยู่ที่โรงเรียนตำรวจภูธร 9 จังหวัดยะลา โดยนายนิเซ๊ะ นิฮะ ซึ่งสามารถสื่อสารภาษาไทยได้ดี ไม่ได้ทราบถึงข้อกล่าวหาหรือข้อสงสัยที่มีอยู่แต่อย่างใด อีกทั้งเขาก็ไม่มีโอกาสได้ชี้แจงกับศาลจังหวัดปัตตานีในวันที่ 22 กันยายน ในระหว่างที่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจขอศาลจังหวัดปัตตานีออกหมายจับตามอำนาจของ พรก. ฉุกเฉินเป็นครั้งแรก ถ้ามีโอกาสนายนิเซ๊ะ นิฮะ อาจจะพูดเป็นภาษาไทยชัดถ้อยชัดคำกว่าตัวหนังสือว่า ผมขอคัดค้าน พรก……

นับแต่วันที่ 26 กันยายน 2554 นายนิเซ๊ะ นิฮะ ถูกควบคุมตัวที่ศูนย์พิทักษ์สันติที่ตั้งอยู่ที่โรงเรียนตำรวจภูธร 9 จังหวัดยะลา ระหว่างนั้นการซักถามนายนิเซ๊ะ นิฮะ ได้รับการปฏิบัติอย่างดี และการซักถามดำเนินไปด้วยคำถามเดิมๆ เช่น คำถามเกี่ยวกับอาชีพ คำถามเกี่ยวกับกิจกรรมในสมัยเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ สมัยปฎิวัติรัฐประหาร และการต่อสู้เรียกร้องเพื่อประชาธิปไตยเมื่อ 19 ปีที่แล้วในช่วงพฤษภาทมิฬ

ในวันที่ 29 กันยายน 2554 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ขอขยายการควบคุมตัวตามอำนาจของ พรก. ฉุกเฉินหลังจากการควบคุมตัวอีก 7 วัน โดยนายนิเซ๊ะ นิฮะ ก็ไม่มีโอกาสได้พูดกับศาลที่เคารพว่า ผมขอคัดค้าน พรก…………….

ในวันที่ 30 กันยายน 2554 ทนายความมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ได้รับคำร้องจากญาติว่าต้องการให้มีการปล่อยตัวนายนิเซ๊ะ นิฮะเนื่องจากทางเจ้าหน้าที่ฯ ไม่ได้ซักถามประเด็นใดๆ เพิ่มเติม การถูกควบคุมตัวโดยไม่มีเหตุจำเป็นตามกฎหมายนั้นไม่ตรงกับเจตนารมณ์ ของ พรก. ฉุกเฉิน เพราะนายนิเซ๊ะ นิฮะเป็นผู้บริสุทธิ์ และยืนยันว่าจะว่าได้ให้การแก่เจ้าหน้าที่แล้ว และยืนยันคำให้การเดิม

ทนายความฯ ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลจังหวัดปัตตานีมีคำสั่งไต่สวนคำร้องขอขยายระยะเวลาการควบคุมตัว โดยขอให้ศาลเรียกเจ้าหน้าที่ผู้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาการควบคุมตัวและผู้ถูกควบคุมตัวมาไต่สวน และขอให้ศาลมีคำสั่งปล่อยตัวนายนิเซ๊ะ นิฮะ ผู้ถูกควบคุมตัว เพราะการควบคุมตัวบุคคลไว้ไม่มีเหตุจำเป็นตามสถานการณ์ฉุกเฉินแต่อย่างใดย่อมกระทบต่อสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน และทั้งนี้เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ทั้งนี้ ศาลไม่ได้เรียกให้มีการไต่สวนคำร้องในวันดังกล่าว ศาลฯ จึงยังไม่ได้มีโอกาสได้ยินเสียงร้องจากนายนิเซ๊ะ ฮะ ว่าผมขอคัดค้านพรก…………….

ศาลมีคำสั่งนัดไต่สวนผู้ร้อง และผู้ร้องคัดค้านแลนายนิเซ๊ะ ฮะ ผู้ถูกควบคุมตัว ในวันวันพุธที่ 5 ตุลาคม 2554 เวลา 09.30 น. เป็นเวลาอีกกว่าวันหลังจากที่นายนิเซ๊ะ ฮะ ได้มอบหมายให้ทนายความนำความมาเสนอต่อศาลเพื่อให้ศาลรับฟัง แต่ศาลก็ยังคงไม่ได้ยิน นายนิเซ๊ะ นิฮะ ได้เขียนจดหมายฉบับดังกล่าวส่งให้ญาติพับจนเล็กส่งออกมาให้คนภายนอกได้รับรู้ความรู้สึกของตน

การออกหมายจับของศาลเพื่อการควบคุมตัวบุคคลอันเกิดจากดุลพินิจของเจ้าพนักงานฯ ภายใต้การบังคับใช้กฎหมายพิเศษถูกตั้งคำถามเสียงดังมาโดยตลอด ด้วยการเปรียบเทียบความสัมฤทธิ์ผลของการรักษาความมั่นคงปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน กับจำนวนผู้ถูกควบคุมตัวที่ได้รับการปล่อยตัวพร้อมกับจำนวนคดีที่ศาลมีคำสั่งยกฟ้องมานานนับ 7 ปี

จนเมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2554 ภายหลังการบังคับใช้ พรก. กว่า 5 ปี ได้มีประกาศราชกิจจานุเบกษาเรื่องคำแนะนำของประธานศาลฎีกา เกี่ยวกับการพิจารณาคำร้องขอจับกุม และควบคุมตัวบุคคลตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 โดยกำหนดหลักการสำคัญบางประการเพื่อคุ้มครองสิทธิ และเสรีภาพของประชาชน ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย เช่น การขอศาลออกหมายจับตาม พรก. ฉุกเฉินให้นำข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์ และวิธีการเกี่ยวกับการออกคำสั่งหรือหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ในคำแนะนำประธานศาลฎีกาได้ระบุด้วยว่า ศาลจังหวัดที่เกี่ยวข้องต้องไต่สวนให้ได้ความก่อนออกหมาย ศาลควรสอบถามผู้ร้องว่าเคยมีการออกหมายจับ และควบคุมตัวบุคคลมาก่อนที่ศาลใดหรือไม่ เพื่อมิให้มีการควบคุมตัวเกินระยะเวลาที่กำหนด รวมทั้งระบุว่าให้ผู้รับผิดชอบรายงานความคืบหน้าการจับกุมตามหมายต่อศาลทุกสามเดือนจนกว่าจะจับกุมได้

เมื่อจับกุมตามหมายจับได้แล้ว ให้จัดทำรายงานแจ้งต่อศาล หากเปลี่ยนสถานที่ควบคุมตัวให้รายงานให้ศาลทราบทันที เมื่อมีการปล่อยตัวไม่ว่าเมื่อใดก็ตามต้องแจ้งให้ญาติ หรือผู้ที่ผู้ถูกควบคุมตัวไว้ใจทราบ และนำตัวผู้ถูกควบคุมตัวมาศาลที่ออกหมายจับเพื่อการปล่อยตัว ถ้าไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำดังกล่าวศาลจะเพิกถอนหมายจับ หรือสั่งเป็นอย่างอื่นได้

หมายจับตาม พรก. ฉุกเฉินนี้กำหนดว่าเมื่อครบกำหนดหนึ่งปีหากไม่สามารถจับกุมบุคคลได้ ศาลอาจเรียกผู้ขอออกหมายมาสอบถามหรือเพิกถอนหมายจับได้ อีกทั้งประธานศาลฎีกากำหนดด้วยว่า ถ้าการจับกุม และควบคุมตัวไม่เป็นไปตามกฎหมาย ให้ศาลทำการไต่สวน มีคำสั่งให้นำผู้ถูกควบคุมตัวมาศาลเพื่อไต่สวนได้ เป็นต้น

จดหมายน้อยฉบับดังกล่าวเป็นเสียงร้องเรียกดังดังต่อสาธารณะฉบับแรกจากผู้ถูกควบคุมตัว ทั้งที่มีผู้ถูกควบคุมตัวภายใต้อำนาจกฎหมายพิเศษหลายรายที่ไม่สามารถเขียนหนังสือ ไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือทางกฎหมาย ไม่สามารถมีทนายความร่างคำร้องขอคัดค้านการควบคุมตัว บางรายเคยมีรายงานว่าถูกซ้อมทำร้ายร่างกายระหว่างการควบคุมตัว และเคยแม้กระทั่งไม่มีชีวิตที่รอดกลับออกไปจากการควบคุมตัว เช่น กรณีนายสุไลมาน แนซา

แม้เรื่องราวเหล่านี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแล้ว และกำลังอยู่ในขั้นตอนการไต่สวนการตายของศาลฯ แต่มีเสียงสะท้อนการทำงานของนักสิทธิมนุษยชน และนักกฎหมายมาโดยตลอดว่า ข้อร้องเรียนเรื่องการซ้อมทรมานผู้ต้องหาเดิมๆ นั้นไม่ควรนำมาเผยแพร่กันอีก นักสิทธิมนุษยชนได้แต่เรียกร้องปกป้องแต่ผู้ต้องสงสัย ตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มที่ใช้ความรุนแรง ไม่คำนึงถึงสิทธิของผู้เสียหาย และความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ก่อการได้ฆ่าสังหารผู้บริสุทธิ์ไปเป็นจำนวนมาก เหล่านี้เป็นต้น

ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่ากฎหมายพิเศษมีเพื่อสถานการณ์พิเศษที่ต้องการการบริหารจัดการเป็นพิเศษ ความเสียหายที่เกิดแก่ผู้บริสุทธิ์ และเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งต้องได้รับการเยียวยาทั้งด้านการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม และความเป็นธรรมนั้นคือการนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ แม้ว่ารัฐบาลใหม่เองก็ยังไม่มีแนวทางออกทางการเมืองที่ชัดเจนเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ถ้าจะให้คนในรัฐบาลยกมือว่าใครได้รับผลกระทบจาก พรก. ฉุกเฉินมาแล้วบ้าง คงมีคนยกมือขึ้นไม่มากก็น้อย

พรก. ฉุกเฉินที่ประกาศใช้ในพื้นที่กรุงเทพฯ และจังหวัดต่างๆ ในช่วงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2554 เป็นฉบับเดียวกับที่ประกาศใช้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มาเป็นระยะเวลากว่า 7 ปีติดต่อกัน การยกเลิก พรก. ฉุกเฉินหรือการทบทวนที่มาของกฎหมาย และการต่อ พรก. ฉุกเฉินนั้นคงเป็นหน้าที่ผู้มีอำนาจในการกำหนดนิตินโยบายของรัฐบาลคงต้องรับฟังทุกด้าน และคำนึงถึงหลักการที่ว่าการบังคับใช้กฎหมายนั้นต้องมีมาตรฐานเดียวไม่ใช่สองมาตรฐาน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในสังคมประเทศที่เป็นจริง ดังนี้เสียงเรียกร้องของผู้ถูกควบคุมตัวแม้แต่เพียงรายเดียวเราทุกคนก็ต้องรับฟัง

ข้าแต่ศาลที่เคารพ ผมขอคัดค้าน พรก…………………………..

หมายเหตุ: นายนิเซ๊ะ นิฮะ นั้นปัจจุบันมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดปัตตานี เป็นปัญญาชนที่มีบทบาทในงานพัฒนาชุมชนตามวิถีชุมชนและภูมิปัญญาท้องถิ่น อดีตเป็นนักกิจกรรมนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงในช่วงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535 ร่วมกับพรรคสานแสงทอง ซึ่งเป็นพรรคการเมืองนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง

จากนั้นก็ได้มีบทบาทเกี่ยวข้องกับงานพัฒนาสังคม และชุมชนมาโดยตลอด หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬก็ได้มีโอกาสร่วมเคลื่อนไหวกับสมัชชาคนจน กระทั่งได้รับเลือกเป็นประธาน
PNYS (กลุ่มนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ มหาวิทยาลัยรามคำแหง) เมื่อปี พ.ศ. 2537 และต่อมาก็ได้มีส่วนร่วมทำกิจกรรมเพื่อสังคมร่วมกับองค์เครือข่ายภาคประชาสังคมอย่างต่อเนื่อง จนจบการศึกษาในปี พ.ศ. 2540 คณะรัฐศาสตร์ สาขาการปกครอง

Loader Loading…
EAD Logo Taking too long?

Reload Reload document
| Open Open in new tab

Download [682.80 KB]

Loader Loading…
EAD Logo Taking too long?

Reload Reload document
| Open Open in new tab

Download [83.97 KB]