[:th]CrCF Logo[:]

มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ยื่นจดหมายเปิดผนึก ถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ พิจารณาการต่อ พรก. ฉุกเฉินฯ ชายแดนใต้

Share

ใบแจ้งข่าว มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมยื่นจดหมายเปิดผนึก ขอให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ พิจารณาการต่อ พรก. ฉุกเฉินจังหวัดชายแดนใต้ครั้งหน้า ทบทวนที่มาของกฎหมาย แก้มาตราที่ละเมิดสิทธิฯ ยกเลิกมาตราที่ขัดรัฐธรรมนูญ

ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้อีก 3 เดือน เป็นครั้งที่ 25 ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน – 19 ธันวาคม 2554 รวมเป็นระยะเวลาที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้กว่า 6 ปี โดยมีเหตุผลว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันได้เข้ามาทำงานจริงเพียง 1 เดือน จึงขอเวลาในการวิเคราะห์สถานการณ์

ตลอดระยะเวลา 6 ปี ของการต่ออายุการบังคับใช้ พรก. ฉุกเฉินฯ ในสมัยรัฐบาลต่างได้อ้างเหตุจำเป็นด้านการรักษาความปลอดภัยและความมั่นคง โดยมิได้พิจารณาที่มาของกฎหมาย บทบัญญัติและระเบียบที่อาจละเมิดสิทธิฯขัดต่อหลักการของรัฐธรรมนูญ เนื่องจากกฎหมายพิเศษที่ยกเว้นกฎหมายทั่วไปหลายบทเพื่อประโยชน์ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่สามจังหวัดอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานติดต่อกันนั้น พรก.ฉุกเฉินมีเจตนารมณ์มุ่งให้มีการแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็วและเป็นการชั่วคราวอย่างชัดเจนเพียงครั้งละไม่เกิน 3 เดือน และจะประกาศขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงได้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม จะยื่นจดหมายเปิดผนึกเพื่อให้รัฐบาล และคณะรัฐมนตรีพิจารณาทบทวนที่มาของกฎหมายและการประกาศขยายระเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในท้องที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในครั้งต่อไป ดังนี้

1. รัฐบาลจึงมีหน้าที่ต้องแจ้งเหตุแห่งการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงและรายละเอียดเกี่ยวกับกฎหมายที่เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ต่อเลขาธิการสหประชาชาติโดยพลัน

2. ต้องแก้ไขมาตราและระเบียบการใช้อำนาจตามพรก.ฉุกเฉินที่มีข้อบัญญัติขัดกับรัฐธรรมนูญ และทำให้มีการใช้อำนาจพิเศษตามกฎหมายดังกล่าวลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างมาก เช่น การจับกุมและควบคุมตัวบุคคลโดยอาศัยเพียงเหตุว่าเป็นผู้ต้องสงสัย 30 วัน โดยไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา และไม่ต้องนำตัวมาแสดงต่อศาล การไม่ได้รับแจ้งเกี่ยวกับเหตุที่ใช้ในการควบคุมตัว การไม่มีทนายความอยู่ร่วมในระหว่างการซักถาม เป็นต้น

3. แก้ไขกฎหมายพรก. โดยยกเลิกมาตรา 16 ที่กำหนดว่า ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตาม พรก. ฉุกเฉินฯ ไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง

4. ทบทวนที่มาของ พรก. ฉุกเฉิน เนื่องจากกระบวนการจัดทำ พรก. ฉุกเฉินฯ เมื่อปี พ.ศ. 2548 เกิดจากการใช้อำนาจฝ่ายบริหารเพียงฝ่ายเดียว โดยไม่ผ่านกระบวนการนิติบัญญัติตามปกติ แม้หลังจากประกาศใช้จะได้ผ่านการอนุมัติจากรัฐสภาในภายหลัง แต่ก็มิได้มีกระบวนการศึกษาและอภิปรายเนื้อหาข้อกฎหมายอย่างถี่ถ้วน และโดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน

5. พิจารณาถึงผลสัมฤทธิ์ในการใช้อำนาจตาม พรก. ฉุกเฉินฯ จับกุมและควบคุมตัวบุคคลโดยใช้อำนาจตาม พรก. ฉุกเฉินฯ เพื่อซักถามให้ได้รับคำสารภาพและคำซัดทอด และมีการดำเนินคดีอาญากับบุคคลดังกล่าวโดยอาศัยเพียงคำรับสารภาพที่ได้ในชั้นซักถามเท่านั้น จากสถิติมีคดีที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความไม่สงบหรือคดีความมั่นคงมากกว่า 8,000 คดี เป็นคดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาแล้วจำนวน 262 คดี พิพากษายกฟ้อง 119 คดี คิดเป็นร้อยละ 45.42 ของคดีที่พิพากษาทั้งหมด

โดยตัวแทนของมูลินิธิผสานวัฒนธรรม และมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจะไปยื่นจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ในวันพุธที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2554 ที่สำนักนายกรัฐมนตรี เวลา 9.30 น. โดยสำเนาจดหมายดังกล่าวจะส่งให้ประธานวุฒิสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร และเลขาธิการสภาความมั่นคงเพื่อพิจารณา

ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติม พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ 02-6934939/ สิทธิพงษ์ จันทรวิโรจน์ 089 873 1626
เอกสารประกอบ: สำเนา จดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2554

Loader Loading…
EAD Logo Taking too long?

Reload Reload document
| Open Open in new tab

Download [102.12 KB]

Loader Loading…
EAD Logo Taking too long?

Reload Reload document
| Open Open in new tab

Download [100.77 KB]