จดหมายเปิดผนึก เรื่อง ขอให้พิจารณาการประกาศให้พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ในพื้นที่สถานการณ์ฉุกเฉินประเภทร้ายแรงในครั้งที่ 26
เรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี
สําเนาถึง
1.ประธานสภาผู้แทนราษฎร
2.ประธานวุฒิสภา
3.เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ
ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้อีก 3 เดือน เป็นครั้งที่ 25 ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน – 19 ธันวาคม 2554 รวมเป็น ระยะเวลาที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้กว่า 6 ปี โดย มีเหตุผลว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันได้เข้ามาทํางานจริงเพียง 1 เดือน จึงขอเวลาในการวิเคราะห์สถานการณ์ อย่างไร ก็ดีการบังคับใช้พรก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งเป็นกฎหมายพิเศษที่ยกเว้นกฎหมายทั่วไปหลายบทเพื่อประโยชน์ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่สามจังหวัดอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานติดต่อกันนั้นขัดกับเจตนารมณ์ของกฎหมายที่มุ่งให้มีการแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็วและเป็นการชั่วคราวอย่างชัดเจน อันจะเห็นได้จากกฎหมาย กําหนดให้นายกรัฐมนตรีมีอํานาจประกาศฯ ได้เพียงครั้งละไม่เกิน 3 เดือน และจะประกาศขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงได้เท่าที่จําเป็นเท่านั้น
พิจารณาสถิติความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยศูนย์ปฏิบัติการตํารวจจังหวัดชายแดน ภาคใต้ (ศชต.) พบว่า สถิติเหตุรุนแรงตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 (หลังเหตุการณ์ปล้นปืน) ถึงวันที่ 22 สิงหาคม 2554 มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นทั้งสิ้น 12,167 เหตุการณ์ โดยมีเหตุการณ์ความรุนแรงมากที่สุดในปี พ.ศ. 2550 มี ผู้เสียชีวิตไปแล้ว 4,771 ราย แบ่งเป็นตํารวจ 274 นาย ทหาร 331 นาย ประชาชน 4,166 ราย บาดเจ็บรวม 8,512 ราย แสดงให้เห็นว่ายังคงมีเหตุการณ์ความไม่สงบอยู่เรื่อยมาแม้จะมีการบังคับใช้พรก.ฉุกเฉินฯมาโดยตลอดก็หาได้แก้ปัญหาความไม่สงบได้ไม่
นอกจากนี้ การนําพรก.ฉุกเฉินฯมาใช้แก้ไขปัญหาการก่อความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งการแก้ไขปัญหาการชุมนุมเพื่อแสดงออกทางการเมืองในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เมื่อปี พ.ศ. 2553 ทําให้ประชาชนถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพจากการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวของเจ้าหน้าที่รัฐมากมายโดยไม่มีการรับผิดชอบจากหน่วยงานของรัฐแต่ประการใด
มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม จึงขอให้รัฐบาลทบทวนการประกาศขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในท้องที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในครั้งต่อไปด้วยเหตุผลและข้อเสนอแนะดังนี้
1. ประเทศไทย เป็นภาคีกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง เมื่อได้ประกาศให้พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่สถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว จําเป็นต้องแจ้งการประกาศ สถานการณ์ฉุกเฉินให้แก่ภาคีสมาชิกของกติการะหว่างประเทศผ่านเลขาธิการสหประชาชาติ คณะกรรมการ สิทธิมนุษยชนภายใต้กติกาฯฉบับนี้ได้สรุปข้อเสนอแนะถึงรัฐบาลไทยต่อกรณีนี้แล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 แต่ ปรากฏว่ารัฐไทยยังไม่ดําเนินการแจ้งเหตุแห่งการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่สามจังหวัดชายแดน ภาคใต้ต่อเลขาธิการสหประชาชาติแต่อย่างใด ดังนั้น รัฐบาลจึงมีหน้าที่ต้องแจ้งเหตุแห่งการประกาศ สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงและรายละเอียดเกี่ยวกับกฎหมายที่เป็นการจํากัดสิทธิเสรีภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ต่อเลขาธิการสหประชาชาติโดยพลัน
2. นับแต่มีการประกาศใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในสามพื้นที่จังหวัดชายแดน ภาคใต้ ได้มีการใช้อํานาจพิเศษตามกฎหมายดังกล่าวลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจับกุมและควบคุมตัวบุคคลโดยอาศัยเพียงเหตุว่าเป็นผู้ต้องสงสัยว่าจะเป็นผู้ร่วมกระทํา การให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉินได้นานถึง 30 วัน โดยไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา และไม่ต้องนําตัวมาแสดงต่อศาล การไม่ได้รับแจ้งเกี่ยวกับเหตุที่ใช้ในการควบคุมตัว การไม่มีทนายความอยู่ร่วมในระหว่างการซักถาม เป็นต้น ซึ่งอาจทําให้เกิดการควบคุมตัวบุคคลโดยไม่ชอบ การซ้อมทรมาน หรือการบังคับบุคคลให้สูญหายได้โดยง่าย หน่วยงานของรัฐควรแก้ไขปรับปรุงระเบียบปฏิบัติที่เกี่ยวกับการจับกุมและควบคุมตัวบุคคลโดยเคารพต่อหลัก สิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรม ไม่ว่าจะเป็นการนําตัวบุคคลมาศาล ให้ญาติและทนายความสามารถเข้าเยี่ยม ได้ ให้มีการตรวจร่างกายก่อนและหลังการควบคุมตัว และระเบียบปฏิบัติอื่น ๆ เพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิ มนุษยชนในระหว่างการควบคุมตัวดังกล่าว
3. ข้อกําหนด ประกาศ คําสั่ง หรือการกระทําตามพรก.ฉุกเฉินฯ ไม่อยู่ในอํานาจของศาลปกครอง ทํา ให้ไม่สามารถตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของข้อกําหนด ประกาศ คําสั่ง หรือการกระทําตามกฎหมาย โดยศาลได้ เนื่องจากมีบางกรณีที่ไม่อยู่ในอํานาจของศาลยุติธรรม เช่น การฟ้องเพิกถอนกฎระเบียบ เป็นต้น อันขัดต่อหลักการตรวจสอบโดยฝ่ายตุลาการและหลักการแบ่งแยกอํานาจ ทําให้การตรวจสอบความชอบด้วย กฎหมายของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงและประกาศขยาย ระยะเวลาประกาศฯ ไม่อาจถูกต้องตรวจสอบโดยศาลได้เช่นกัน จึงควรมีการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ฝ่ายตุลาการ สามารถมีบทบาทในการทบทวนตรวจสอบการกระทําของฝ่ายบริหารในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือ สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงและประกาศขยายระยะเวลาประกาศฯ ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการใช้ อํานาจของฝ่ายบริหารส่งผลเป็นการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญของประชาชน และยกเลิกมาตรา 16 ของพรก.ฉุกเฉิน ที่ยกเว้นอํานาจศาลปกครอง
4. เนื่องจากกระบวนการจัดทําพรก.ฉุกเฉินฯ เกิดจากการใช้อํานาจฝ่ายบริหารเพียงฝ่ายเดียว โดยไม่ ผ่านกระบวนการนิติบัญญัติตามปกติ แม้หลังจากประกาศใช้จะได้ผ่านการอนุมัติจากรัฐสภาในภายหลัง แต่ก็มิได้มีกระบวนการศึกษาและอภิปรายเนื้อหาข้อกฎหมายอย่างถี่ถ้วน และโดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ดังเช่นกระบวนการออกกฎหมายโดยฝ่ายนิติบัญญัติตามปกติ ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ให้อํานาจในการประกาศ สถานการณ์ฉุกเฉินและสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่หนึ่งพื้นที่ใด รวมทั้งอํานาจในการประกาศขยายระยะเวลาประกาศฯ เป็นอํานาจของนายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นฝ่าย บริหารเท่านั้น
รัฐบาลจึงควรเปิดโอกาสให้องค์กรฝ่ายนิติบัญญัติเช่นรัฐสภาหรือฝ่ายตุลาการเข้ามามีส่วนร่วมในการ ตรวจสอบเหตุและความจําเป็นในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงของรัฐบาล รวมทั้งเหตุในการขอขยายระยะเวลาประกาศฯด้วย รวมทั้งพิจารณาให้มีการแก้ไขกฎหมายโดย กําหนดให้เมื่อมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงแล้ว คณะรัฐมนตรีต้อง นําเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาภายในเวลา 7 วัน เพื่อเปิดโอกาสให้ฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งเป็นผู้แทนของปวงชน ชาวไทย ได้ตรวจสอบการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงของฝ่ายบริหาร โดยผ่านการอภิปรายกันอย่างเปิดเผยภายใต้ระบบรัฐสภา รวมทั้งเปิดโอกาสให้ภาคประชาชน และภาควิชาการ ต่างๆ ได้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบด้วย อันเป็นการตรวจสอบภายหลังจากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง
5. การใช้อํานาจตามพรก.ฉุกเฉินฯจับกุมและควบคุมตัวบุคคลโดยใช้อํานาจตาม พรก. ฉุกเฉินฯเพื่อซักถามให้ได้รับคําสารภาพและคําซัดทอด และมีการดําเนินคดีอาญากับบุคคลดังกล่าวโดยอาศัยเพียงคํารับ สารภาพที่ได้ในชั้นซักถามเท่านั้น จากสถิติมีคดีที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความไม่สงบหรือคดีความมั่นคง มากกว่า 8,000 คดี เป็นคดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาแล้วจํานวน 262 คดี พิพากษายกฟ้อง 119 คดี คิดเป็นร้อยละ 45.42 ของคดีที่พิพากษาทั้งหมด แสดงให้เห็นว่ามีบุคคลถูกจับกุมและควบคุมตัวตามพรก.ฉุกเฉินฯและดําเนิน คดีอาญาเป็นจํานวนมาก แต่ปรากฏว่าศาลพิพากษายกฟ้องในอัตราส่วนที่ใกล้เคียงกับอัตราส่วนการลงโทษ ผู้กระทําผิด เนื่องจากไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอ อันสะท้อนให้เห็นขั้นตอนการบังคับใช้กฎหมายที่อาจไร้ ประสิทธิภาพ และขัดกับเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ให้ควบคุมตัวบุคคลเพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติอย่างชัดเจน อันเป็นการใช้อํานาจที่ไม่สอดคล้องกับหลักสิทธิเสรีภาพที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ ประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญา และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองซึ่งประเทศไทย ต้องมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม
พรก. ฉุกเฉินฯ เป็นกฎหมายที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน จึงต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไป ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายอย่างเคร่งครัดเท่านั้น
ดังนั้น จึงขอให้ท่านในฐานะคณะรัฐมนตรีซึ่งมีอํานาจในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความ ร้ายแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้มีการทบทวนการประกาศขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในท้องที่จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี และจังหวัดยะลา ในครั้งต่อไปได้พิจารณา ทบทวนประเด็นข้างต้นเพื่อเป็นแนวทางในการกําหนดนโยบายและการบังคับใช้กฎหมายไปในทางการคุ้มครอง สิทธิและเสรีภาพตามหลักการใช้กฎหมายโดยยึดหลักนิติธรรมและหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา
ขอแสดงความนับถือ
(นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ)
ผู้อํานวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานมูลนิธิฯ
(นายกิจจา อาลีอิสเฮาะ) เลขานุการมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม