เวทีเสวนา พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ในจังหวัดชายแดนใต้กับรัฐบาลใหม่ (Emergency Decree in the Deep south of Thailand and A New Government) วันเสาร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2554 เวลา 13.00 น. ณ โรงแรมซีเอส จังหวัดปัตตานี
1. หลักการและเหตุผล
รัฐบาลในยุคนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ได้ประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน แม้จะมีการเปลี่ยนรัฐบาลมาแล้วหลายรัฐบาลก็ตาม แต่ทุกรัฐบาลก็ยังคงไว้ซึ่งการประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ มาโดยตลอด
อย่างไรก็ตาม มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสม และผลกระทบในการใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่อย่างต่อเนื่องกันเป็นเวลากว่าหกปี จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นปัจจุบันความรุนแรงในด้านกายภาพคือจำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ในเดือนสิงหาคม ปี พ.ศ. 2554 มีตัวเลขถึง 53 รายในระยะเวลาหนึ่งเดือน
ทำให้เกิดคำถามถึงความสัมฤทธิ์ผลของการนำกฎหมายพิเศษด้านความมั่นคงมาใช้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยเฉพาะกฎอัยการศึก ที่นำมาใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 และ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ที่นำมาใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 ในการใช้กฎหมายพิเศษด้านความมั่นคงดังกล่าวว่าสามารถจะแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้เพื่อให้เกิดความสงบสุขได้จริงหรือไม่อย่างไร
พิจารณาสถิติความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) พบว่า สถิติเหตุรุนแรงตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 (หลังเหตุการณ์ปล้นปืน) ถึงวันที่ 22 สิงหาคม 2554 มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นทั้งสิ้น 12,167 เหตุการณ์ โดยมีเหตุการณ์ความรุนแรงมากที่สุดในปี พ.ศ. 2550 มีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 4,771 ราย แบ่งเป็นตำรวจ 274 นาย ทหาร 331 นาย ประชาชน 4,166 ราย บาดเจ็บรวม 8,512 ราย
นอกจากนี้ยังมีคดีที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความไม่สงบหรือคดีความมั่นคงมากกว่า 8,000 คดี ซึ่งปรากฏว่ามีคดีที่ศาลชั้นต้น พิพากษาแล้ว 262 คดี พิพากษายกฟ้อง 119 คดี คิดเป็นร้อยละ 45.42 ของคดีทั้งหมดที่พิพากษาแล้ว ซึ่งนับได้ว่ามีการยกฟ้องในอัตราส่วนที่เกือบเท่ากับอัตราส่วนการลงโทษ อันเป็นบทสะท้อนของการขั้นตอนการบังคับใช้กฎหมายที่ไร้ประสิทธิภาพ ส่งผลต่อการลิดรอนสิทธิ และเสรีภาพและความไว้วางใจของประชาชนที่มีต่อรัฐ
อีกทั้งการประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่อื่น เช่น กรุงเทพมหานคร เมื่อปี 2553 ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวยังถูกละเมิดสิทธิ และเสรีภาพจากการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ของเจ้าหน้าที่รัฐอีกด้วย และยังไม่มีการรับผิดชอบจากฝ่ายรัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่รัฐแต่ประการใด
เหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงมีอยู่เรื่อยมา แม้ว่ารัฐบาลจะขยายระยะเวลาประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ อย่างต่อเนื่องติดต่อกันมาแล้วเป็นเวลากว่าหกปี โดยในวันที่ 19 กันยายน 2554 นี้จะเป็นวันครบกำหนดการขยายระยะเวลาประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ครั้งที่ 25
และในโอกาสที่ประเทศไทยมีรัฐบาลชุดใหม่ซึ่งอำนาจตัดสินใจว่าจะมีการขยายระยะเวลาประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ต่อไปอีกหรือไม่ จึงเป็นโอกาสที่ภาคประชาชนจะได้มาร่วมกันแสดงความคิดเห็นต่อรัฐบาลชุดใหม่ว่าต้องการให้มีการประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวในพื้นที่สามจังหวัดหรือไม่ การประกาศใช้ และการบังคับใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯที่ผ่านมาสามารถแก้ไขปัญหาความไม่สงบได้จริง และเป็นไปตามหลักนิติธรรมหรือไม่
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ได้จัดให้มีเวทีเพื่อเปิดพื้นที่ให้แก่ภาคประชาชนในพื้นที่ร่วมคิดทบทวนถึงการบังคับใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ผลสำเร็จ ความล้มเหลว และผลกระทบของการประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ เป็นเวลาติดต่อกันยาวนาน รวมทั้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อเป็นแนวทางให้กับรัฐบาลใหม่ได้ทราบถึงความต้องการของประชาชนในพื้นที่ และเพื่อหามาตรการทางกฎหมายร่วมกันในการป้องกันมิให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการบังคับใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯและกฎหมายพิเศษด้านความมั่นคงฉบับอื่นๆ ต่อไป
2. วัตถุประสงค์
2.1 เพื่อเปิดเวทีให้ประชาชนในพื้นที่ได้ร่วมกันคิดทบทวน และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับความเหมาะสมของการประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ และผลกระทบที่เกิดจากการประกาศใช้
2.2 เพื่อรวบรวมปัญหาที่เกิดจากการบังคับใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ อันนำไปสู่การแก้ไขที่ถูกต้องจากรัฐบาลใหม่
2.3 ทบทวนกฎ ระเบียบหรือคำสั่ง ที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายพิเศษด้านความมั่นคงอันนำไปสู่การผลักดันในเชิงนโยบายด้านการบังคับใช้กฎหมายโดยเคารพต่อหลักนิติธรรม และเคารพสิทธิมนุษยชนของประชาชน
2.4 แสวงหาความร่วมมือด้านการทำงานระหว่างรัฐบาล ประชาชนในพื้นที่ และภาคประชาสังคม เพื่อปกป้องและคุ้มครองสิทธิของประชาชน รวมทั้งหาหลักประกันว่าบุคคลทุกคนจะได้รับการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน