องค์กรสิทธิเรียกร้อง นโยบายรัฐบาลยิ่งลักษณ์ต้องส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชนให้เป็นจริง ยุติการออกกฎหมาย นโยบาย และการบังคับใช้กฎหมายที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ควรระมัดระวังการใช้นโยบายปราบปรามยาเสพติดเสริมสร้างกลไกเข้าถึงความยุติธรรม ขอแสดงความยินดีต่อนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย ในโอกาสที่รัฐบาลใหม่จะเสนอนโยบายต่อรัฐสภาในวันที่ 23 – 24 สิงหาคม พ.ศ. 2554
มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาและคณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นองค์กรที่มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมให้ประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อของการละเมิดสามารถเข้าถึงความยุติธรรมและการคุ้มครองทางกฎหมายได้ ขอเสนอความคิดเห็นเพื่อประโยชน์ในการจัดทำนโยบายของรัฐบาลใหม่ดังนี้
1) ให้รัฐบาลยึดมั่นในธรรมาภิบาล สร้างความเข้มแข็งแก่นิติรัฐ เชิดชูนิติธรรม สิทธิมนุษยชน และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารราชการแผ่นดินอย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐจะต้อง ส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างได้ผลและเป็นจริง ทั้งโดยมาตรการทางนิติบัญญัติและด้านการบริหาร อนุวัติกฎหมายให้เป็นไปตามตามพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน การเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาสำคัญอีกสองฉบับคืออนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการบังคับให้บุคคลสูญหายและอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติและครอบครัว และให้สัตยาบันธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยการจัดตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศที่ประเทศไทยได้ลงนามไว้แล้ว
2) ยุติการออกหรือบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม
2.1 ขอให้รัฐบาลพิจารณายกเลิกการใช้การบังคับใช้กฎอัยการศึก พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และพระราชบัญญัติความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ลดบทบาททหารในกิจการพลเรือน เพื่อให้กลไกฝ่ายพลเรือนโดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการยุติธรรมทางอาญาสามารถดำเนินต่อไปได้ตามปกติโดยรัฐบาลจะต้องเน้นการส่งเสริม พัฒนาการ กระบวนการยุติธรรมทางอาญาให้เกิดประสิทธิภาพ สะดวก รวดเร็ว เที่ยงธรรมแก่ทุกฝ่าย
2.2 ขอให้ชลอการดำเนินคดีบุคคลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญาไว้ก่อน ให้ผู้ที่ถูกควบคุมตัวในข้อหาดังกล่าวได้มีโอกาสรับการปล่อยตัวชั่วคราว ขอให้รัฐบาลทบทวนปรับปรุงบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวกับข้องเพื่อปกป้องเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้เหนือการเมืองและความขัดแย้ง และป้องกันมิให้บุคคลใดๆใช้ข้อหาดังกล่าวเป็นเครื่องมือในการกล่าวหาฝ่ายตรงข้าม ศึกษาบทเรียน และประสบการณ์จากประเทศต่างๆที่มีการปกครองในระบอบประชาธิไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
โดยในการดำเนินคดีจำเป็นต้องแจ้งให้บุคคลที่ถูกกล่าวหาให้มารับทราบข้อกล่าวหาเสียก่อนตามขั้นตอนของกฎหมาย ให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเต็มที่ตามสิทธิที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยไม่เลือกปฏิบัติ หรือกระทำไปในลักษณะกลั่นแกล้ง ข่มขู่ คุกคาม ศัตรูในทางการเมือง เป็นการลิดรอนเสรีภาพในความคิดและเสรีภาพความเชื่อทางการเมือง อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน เป็นหัวใจสำคัญต่อการดำรงไว้ซึ่งคุณค่าแห่งการปกครองระบอบประชาธิปไตย
3) ทบทวนร่างกฎหมาย พรบ.การชุมนุม และร่างแก้ไขกฎหมาย พรบ. คอมพิวเตอร์
ขอให้รัฐบาลพิจารณาไม่รับหลักการในร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะที่ค้างพิจารณาอยู่ในรัฐสภาและทบทวนร่างแก้ไขพระราชบัญญัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ โดยให้พิจารณาถึงหลักส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนและให้หน่วยงานรัฐที่อาจเกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวเข้าร่วมการพิจารณาแสดงความเห็น ทั้งนี้เพื่อให้กฎหมายดังกล่าวสะท้อนถึงความจำเป็นแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นจริงและไม่มีบทบัญญัติที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของบุคคล ซึ่งอาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคี
4. ทบทวนนโยบายและกฎหมายเกี่ยวกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล
ขอให้รัฐบาลทบทวนแผนพัฒนาพลังงานของประเทศไทย เช่นกรณีการอนุญาตให้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลทั่วประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อสิทธิชุมชน ต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพอนามัยของประชาชนเป็นจำนวนมาก แม้ว่าโรงไฟฟ้าชีวมวลจะเป็นพลังงานทางเลือกที่รัฐส่งเสริมให้เอกชนลงทุนประกอบกิจการ เพราะเป็นโรงงานที่อ้างว่าส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด โดยต้องมีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการควบคุมดูแลให้อุตสาหกรรมลักษณะเฉพาะนี้เป็นการเฉพาะ โดยจัดทำระเบียบการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโรงงานชีวมวลขนาดเล็กกว่า 10 เมกกะวัตต์เพื่อควบคุมการขอออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานและให้ประชาชนที่จะเป็นผู้ได้รับผลกระทบมีส่วนร่วมในการตัดสินใจให้มากขึ้น
5. กำหนดนโยบายการปราบปรามยาเสพติดอย่างบูรณาการโดยไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน
ขอให้รัฐบาลกำหนดนโยบายและแผนการปราบปรามการค้ายาเสพติดผ่านการบรูณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ คณะกรรมการปราบปรามยาเสพติด กรมราชทัณฑ์ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น โดยกำหนดแผนงานอย่างรอบคอบ รอบด้าน โปร่งใส ตรวจสอบได้ ตามหลักนิติธรรม
แม้ว่าจะเป็นการค้ายาเสพติดจะเป็นอาชญกรรมที่รุนแรง แต่ห้ามไม่ให้มีการนำนโยบายหรือคำสั่งที่เร่งรัดซึ่งอาจนำไปสู่การปราบปรามด้วยการใช้ความรุนแรงซึ่งนำมาสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ดังเช่นที่เกิดขึ้นจากนโยบายสงครามการปราบปรามยาเสพในอดีต โดยรัฐบาลควรเน้นการเฝ้าระวังของสังคม เสริมสร้างระบบครอบครัวและชุมชนเข้มแข็ง เพื่อลดการใช้ยาเสพติด การบำบัดรักษา การรณรงค์ประชาสัมพันธ์ เน้นการปราบปรามการทุจริต กระบวนการค้ายาเสพติดซึ่งเชื่อมโยงกับผู้มีอิทธิพลซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับกลไกและบุคคลากรของรัฐ
6.ยกเลิกโทษประหารชีวิต
ขอให้รัฐบาลพิจารณาการยกเลิกโทษประหารชีวิตโดยเริ่มจากการชลอการประหารชีวิตนักโทษประหารไว้ก่อน ให้อภัยโทษ และแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาเพื่อยกเลิกโทษประหารชีวิตในที่สุด
7. จัดตั้งกองทุนอิสระช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย
ขอให้รัฐจัดตั้งกองทุนอิสระช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย ที่ดำเนินการโดยอิสระ โปร่งใส ตรวจสอบได้ เพื่อประกันการเข้าถึงความยุติธรรมของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ต้องหาและจำเลย ส่งเสริมความรู้ในเรื่องสิทธิของประชาชนในกระบวนการยุติธรรม และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชนในการต่รวจสอบและพัฒนากระบวนการยุติธรรมเพื่อให้เกิดความมีประสิทธิภาพ สะดวก รวดเร็ว ทั่วถึงและเป็นธรรม โดยจัดสรรงบประมาณในปริมาณที่เหมาะสมสนับสนุนระบบการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายที่มีประสิทธิภาพแก่ประชาชน
อนึ่ง จากการศึกษาจากเอกสารของสำนักงบประมาณปี พ.ศ. 2554 พบว่าโครงสร้างงบประมาณในส่วนที่เกี่ยวข้องกับตำรวจ อัยการ ศาล ราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม และสภาทนายความมีสัดส่วนที่ไม่เหมาะสมกับภาระกิจ ทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้
โดยเฉพาะจำเลยที่ตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาโดยพบว่า ในปี พ.ศ. 2554 สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้รับงบประมาณ 75% กระทรวงยุติธรรมได้รับงบประมาณ 17% สำนักงานอัยการได้รับงบประมาณ 6 % ศาลได้รับงบประมาณ 2% คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้รับงบประมาณ 0.2 % สภาทนายความ อันเป็นองค์กรหลักในการให้ความช่วยด้านกฎหมายและคดีความแก่ประชาชนกลับได้รับงบประมาณเพียง 0.06% จากงบประมาณด้านอำนวยความยุติธรรมทั้งหมดจำนวน 100,000 ล้านบาท โดยเฉพาะผู้ตกเป็นจำเลยในคดีอาญา
โดยผู้ต้องหา และจำเลยต้องได้รับสิทธิในการเลือกผู้แทนทางกฎหมายที่ตนเองได้ ได้รับสิทธิในการประกันตัว อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่มีความขัดแย้งทางการเมืองเช่นในจังหวัดชายแดนภาคใต้และในสถานการณ์ความไม่สงบอันเนื่องจากความขัดแย้งทางการเมืองในเดือนเมษายน-พฤษภาคม พ.ศ. 2553 รวมทั้งกรณีความขัดแย้งด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมอื่นที่มีประชาชนถูกรับฟ้องร้องดำเนินคดีเป็นจำเลยในคดีอาญา
8. การคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติ
รัฐต้องปฎิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนและรัฐธรรมนูญ โดยประกันว่าแรงงานข้ามชาติและครอบครัวจะได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานเช่นเดียวกับแรงงานไทย โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ ขจัดการค้ามนุษย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกิจการประมง การรีดไถ กดขี่ รังแกจากเจ้าหน้าที่หรือโดยการรู้เห็นเป็นใจของเจ้าหน้าที่ ประกันว่าแรงงานข้ามชาติที่ประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยจากการทำงาน สามารถเข้าถึงกองทุนเงินทดแทนและกองทุนประกันสังคมเช่นเดียวกับแรงงานไทย
9. สิทธิชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์
ขอให้รัฐบาลยุติการผลักดัน เผาบ้านและยุ้งข้าวชาวกะเหรี่ยงดั้งเดิม อาทิ ชาวกะเหรี่ยงในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ยอมรับในสิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม และระบบไร่หมุนเวียน ซึ่งเป็นสิทธิที่รับรองในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ทั้งนี้ต้องกำหนดนโยบายส่งเสริมสิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์ด้วยการส่งเสริมสิทธิอนุรักษ์ ฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และการมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษาและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชน
แถลงการณ์โดย
– มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
– เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
– มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา
– คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน
ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติม
– พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม โทร. 02-6934939
– จันจิรา จันทร์แพ้ว เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน โทร. 02-6934939
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม Cross Cultural Foundation
111 ซอยสิทธิชน ถนนสุทธิสารวินิจฉัย แขวงสามเสนนอก เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ
โทร. 02-6934939 , 02-6934831 โทรสาร 02-2753954 http://www.crcfthailand.org