[:th]CrCF Logo[:]

ผู้ต้องหากับมาตรา 21 แห่ง พรบ. ความมั่นคง โดย อับดุลเลาะห์ หะยีอาบู

Share

ผู้ต้องหากับมาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ. ความมั่นคง โดย อับดุลเลาะห์ หะยีอาบู ทนายความมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม

หลังจากที่หลากหลายฝ่ายหลากหลายองค์กรทั้งผู้ที่สนับสนุน ต่อต้าน และกังวลกับการบังคับใช้มาตรา 21 ของพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 แม้กฎหมายฉบับดังกล่าวหลากหลายฝ่ายเห็นว่ามีความเข้มข้นน้อยกว่าพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 ที่ประกาศใช้มาโดยตลอดหลังจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นจังหวัดชายแดนภาคใต้ระลอกใหม่

และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ที่ประกาศใช้นับตั้งแต่เดือนกรกฏาคม 2548 โดยประกาศต่ออายุทุกๆ 3 เดือน จนถึงปัจจุบัน โดยประกาศยกเลิกแล้วหนึ่งอำเภอ และมีแนวโน้มจะยกเลิกในอีกหลายอำเภอ ตามความเห็นของฝ่ายบริหารแต่ก็ยังไม่ได้รับความเห็นด้วยจากฝ่ายความมั่นคงทั้งในส่วนหน้า และส่วนกลาง อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี เป็นอำเภอแรกในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่รับการยกเลิกการบังคับใช้กำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ 2548 และเป็นพื้นที่แรกในการประกาศใช้ พรบ. การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 หลังจากประกาศไปแล้วในพื้นที่ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลาเมื่อปลายปี พ.ศ. 2552

หลังจากที่ประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ทั้งสองพื้นที่ดังกล่าวนั้น เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2554 และวันที่ 19 มกราคม 2554 นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร (ผอ.รมน.) มีประกาศตามมติคณะรัฐมนตรี กำหนดลักษณะความผิดอันมีผลกระทบต่อความั่นคงภายในราชอาณาจักรตามมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ทั้งสองพื้นที่ดังกล่าวตามลำดับ

ซึ่งตามมาตรา 21 นั้นถือได้ว่าเป็นสาระสำคัญหรือหัวใจหลักของพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ในการที่จะนำกระบวนการอบรมแทนการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาที่กระความผิดตามที่มติคณะรัฐมนตรีกำหนด และผู้นั้นกลับใจเข้ามอบตัวต่อเจ้าพนักงานหรือพนักงานสอบสวนได้ดำเนินการสอบสวนแล้วปรากฎว่าบุคคลนั้นได้กระทำไปเพราะหลงผิดหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้นั้นกลับใจมอบตัวจะเป็นประโยชน์ต่อการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร

เมื่อพนักงานสอบสวนส่งรายงานการสอบสวน และความเห็นไปให้ผู้อำนวยการ กอ.รมน. และผู้อำนวยการ กอ.รมน. เห็นด้วยกับความเห็นของพนักงานสอบสวนผู้อำนวยการ กอ.รมน. ส่งบันทึกสำนวนพร้อมทั้งความเห็นไปยังพนักงานอัยการ พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ศาลสั่งให้ส่งตัวผู้ต้องหาให้ผู้อำนวยการ กอ.รมน. เพื่อเข้ารับการอบรม

และหากผู้ต้องหายินยอมเข้ารับการอบรม และปฏิบัติตามเงื่อนไข และศาลเห็นสมควร ศาลจะสั่งให้ส่งผู้ต้องหานั้นให้ผู้อำนวยการ กอ.รมน. เพื่อเข้ารับการอบรมเป็นเวลาไม่เกิน 6 เดือน และปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนด และเมื่อผู้ต้องหาเข้ารับการอบรมและปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนด สิทธิในคดีอาญามาฟ้องผู้ต้องหาเป็นอันระงับไป

หากพิจารณาจากสาระสำคัญหลักในมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 จะเห็นได้ว่ามีผู้ที่บทบาทและกระทบมากที่สุดนั้นก็คือ
ผู้ต้องหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (2) “ผู้ต้องหา หมายความถึงบุคคลผู้ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำความผิดแต่ยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาล” การถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดนั้นต้องเป็นการกล่าวหาต่อเจ้าพนักงานว่าได้กระทำความผิดอาญาขึ้นโดย คำร้องทุกข์ของผู้เสียหายหรือคำกล่าวโทษของบุคคลอื่นซึ่งมิใช่ผู้เสียหาย

ผู้ต้องหาตามมาตรา 21 นั้นต้องเป็นผู้ถูกว่าวหาว่าได้กระทำความผิดที่คณะรัฐมนตรีกำหนดลักษณะความผิดอันมีผลกระทบต่อความั่นคงภายในราชอาณาจักร ทั้งนี้การร้องทุกข์ของผู้เสียหายหรือการกล่าวโทษของบุคคลอื่นว่าผู้ต้องหาได้กระทำความผิดอาญานั้นต้องมีพยานหลักฐานเพียงพอในการที่จะร้องทุกข์หรือกล่าวหาด้วย

จากคดีในจังหวัดชายแดนภาคใต้ การร้องทุกข์ส่วนใหญ่แล้วจะร้องทุกข์ในกรณีที่ไม่ทราบผู้กระทำความผิดเป็นส่วนใหญ่ โดยจะมีการกล่าวหาของเจ้าพนักงานมากกว่าการร้องทุกข์ของผู้เสียหาย โดยพยานหลักฐานหลักในการกล่าวหาของเจ้าพนักงานนั้นมักจะมีพยานหลักฐานเพียงคำให้การซัดทอดของผู้ที่ถูกควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกหรือตาม พรก. ฉุกเฉินเท่านั้น ที่ซัดทอดถึงขบวนการที่มีอยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งหลายกรณีปรากฎว่าผู้ที่ให้การซัดทอดเองก็มิได้ถูกดำเนินคดีอาญาต่อศาลแต่อย่างใด

หรือเจ้าพนักงานจะมีเพียงคำให้การรับสารภาพในชั้นควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกหรือตาม พรก. ฉุกเฉินของผู้ต้องหาเสียเอง ซึ่งเพียงหลักฐานดังกล่าวเป็นการอ้างขึ้นของบุคคลที่ถูกซักถามตามกฎหมายพิเศษ ช่วงเวลาการซักถามตามกฎหมายพิเศษนั้นจะเป็นการซักถามของเจ้าหน้าที่ทหารหรือตำรวจที่ไม่ใช่พนักงานสอบสวนตามกฎหมายแต่อย่างใด และการให้ถ้อยคำตามกฎหมายพิเศษที่บังคับใช้อยู่ไม่ถูกต้องตามหลักกฎหมาย โดยการให้การหรือให้ถ้อยคำนั้นไม่มีผู้ที่ตนไว้วางใจ ญาติ หรือทายความเข้าร่วมในการซักถามแต่อย่างใด

และหลายกรณีปรากฎว่ามีการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายระหว่างการซักถามนั้นเพื่อให้ผู้ให้ถ้อยคำรับสารภาพหรือซัดทอดต่อบุคคลอื่นอีกด้วย การให้การปรปักษ์ต่อตนเองนั้นถึงแม้จะเป็นการให้การในชั้นซักถามตามกฎอัยการศึกหรือ พรก. ฉุกเฉินก็ตาม ก็มิอาจนำมาเพื่อเป็นพยานหลักฐานประกอบการร้องทุกข์หรือกล่าวโทษตามกฎหมายได้ หากนำพยานหลักฐานดังกล่าวมาประกอบก็ย่อมขัดต่อหลักตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 บัญญัติไว้ในมาตรา 40 (4) ที่บัญญัติคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาในการที่จะไม่ให้ถ้อยคำเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเอง

ประกอบกับกติกาสากลระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง ICCPR ข้อที่ 14 (3) สิทธิในการที่จะถูกบังคับให้การปฏิปักษ์ต่อตนเองหรือให้รับสารภาพผิด ดังนั้นเจ้าพนักงานที่กล่าวโทษนั้นต้องมีพยานหลักฐานเพียงพอที่เห็นได้ว่าหรือเชื่อได้ว่าผู้ต้องหาเป็นผู้กระทำความผิดจริง และพนักงานที่รับแจ้งการร้องทุกข์กล่าวโทษก็ย่อมที่จะพิจารณาขั้นต้นในการที่รับเรื่องร้องทุกข์กล่าวโทษดังกล่าวว่าผู้ต้องหานั้นได้กระทำหรือเชื่อได้ว่าเป็นผู้กระทำความผิดตามคำร้องทุกข์กล่าวโทษนั้นด้วย

อย่างไรก็ตามหากบุคคลใดตกอยู่สถานะของผู้ต้องหา สิทธิต่างๆ ก็ย่อมได้รับความคุ้มครองเชกเช่นเดียวกัน ดังที่ได้บัญญัติในรัฐธรรมนูญ ICCPR และตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ทั้งนี้ในการรับมอบตัว การสอบสวน หรือการให้คำให้การของผู้ต้องหานั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ต้องหาจะต้องได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการพบหรือปรึกษาทนายความเป็นการเฉพาะตัว ให้ทนายความหรือบุคคลที่ตนไว้วางใจเข้าร่วมในการสอบปากคำในชั้นสอบสวน ได้รับการเยี่ยมหรือติดต่อกับญาติ

หรือในชั้นที่พนักงานอัยการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่ง ผู้ต้องหาสามารถมีทนายความร่วมในการไต่สวนคำร้อง ยื่นคำร้องคัดค้าน รวมทั้งสามารถนำพยานหลักฐานของตนเข้าร่วมในกระบวนการไต่สวนของศาลด้วย

ตามมาตรา 21 จึงเห็นได้ว่าผู้ต้องหาที่เข้ามามอบตัว หรือผู้ต้องหาที่พนักงานสอบสวนเห็นว่าผู้ต้องหากระทำไปเพราะหลงผิดหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์นั้นต้องเป็นผู้ต้องหาตามที่บัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเท่านั้น จะนำผู้ที่มีหมายตาม พรก. ฉุกเฉินฯ ผู้ที่ควรเฝ้าระวังหรือบุคคลเป้าหมายด้านความมั่นคงที่อยู่ในเรือนจำ บุคคลผู้หลงผิดหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์และบุคคลอื่นๆที่ไม่มีพยานหลักฐานเกี่ยวข้องด้านความมั่นคงแต่ประสงค์เข้าร่วมรายงานตัวหรือบุคคลที่อพยพออกจากพื้นที่ด้วยความหวาดกลัวแต่มีความประสงค์จะกลับคืนสู่ภูมิลำเนาไม่ได้ เพราะกลุ่มบุคคลเหล่านั้นมิใช่ผู้ต้องหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 21 แต่อย่างใด

บทความฉบับนี้ เขียนขึ้นมาระหว่างการฝึกงานกับ คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission Of Jurists :ICJ ) http://th.macmuslim.com/?p=272#more-272