บทพิสูจน์การเมืองนำการทหาร โดย อนุกูล อาแวปูเตะ ประธานคณะทำงาน มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ประจำจังหวัดปัตตานี
จากข้อมูลของกองอำนวยการรักษาความมั่นงคงภายใน (กอ.รมน.) ที่วิเคราะห์บทบาทผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส โดยมีการระบุพฤติกรรมผู้สมัครที่เคยถูกขึ้น บัญชีดำของทางการ เนื่องจากมีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการก่อความไม่สงบในพื้นที่
นับตั้งแต่เหตุการณ์ปล้นปืนที่กองพันพัฒนาที่ ๔ ปี ๒๕๔๗ และมีบางคนเกี่ยวข้องกับธุรกิจผิดกฎหมาย และยาเสพติด (อ้างจากคอลัมน์: ไทยโพสต์ อิสรภาพแห่งความคิด: ว่าที่ ส.ส. ใต้พันก่อการร้าย ฉบับวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๕๔ )
ข้อมูลดังกล่าวนอกจากทำให้สังคมตื่นตระหนกตกใจแล้ว ยังสร้างความกังขาให้คนในพื้นที่ เกิดคำถามมากมายตามมาว่า กระบวนการของการต่อสู้ในทางการเมืองของนักการเมือง และพรรคการเมืองมุสลิมซึ่งมีอยู่หลายกลุ่มในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กับกลุ่มก่อความไม่สงบหรือขบวนการแบ่งแยกดินแดนนั้น มีความเชื่อมโยงหรือเกี่ยวข้อง สัมพันธ์กันอย่างไร เพราะประเด็นดังกล่าวเป็นประเด็นสำคัญ และเป็นโจทย์หนึ่งในการที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งในสามจังหวัด ประชาชนคาดหวังต่อนักการเมืองในการที่จะมีส่วนในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบซึ่งเกิดขึ้นมายาวนาน เมื่อนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ปล้นปืน วันที่ ๔ มกราคม ๒๕๔๗ จนถึงปัจจุบัน มีการเลือกตั้งแล้ว ๒ ครั้ง ไม่นับการเลือกตั้งที่มีเหตุการณ์วุ่นวาย เมื่อปี ๒๕๔๙ คือ การเลือกตั้งทั่วไปภายหลังที่รัฐบาลทักษิณดำรงตำแหน่งครบวาระ โดยมีการจัดการเลือกตั้งในวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘
หลังจากนั้นก็ได้มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปภายหลังปฎิวัติโดยพลเอกสนธิ บุญรัตกลิน เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ คือ การเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๕๐
ย้อนไปการเลือกตั้ง เมื่อปี ๒๕๔๘ ในขณะนั้น ส.ส. มุสลิมในนามกลุ่มวาดะห์ ซึ่งนำโดยนายวันมูหะหมัดนอร์ มะทา สังกัดพรรคไทยรักไทย ในรัฐบาลทักษิณ มีตำแหน่งเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ถูกรุมเร้าอย่างหนักโดยมรสุมทางการเมือง เพราะเป็นการเลือกตั้งภายหลังที่เกิดเหตุการณ์ ปล้นปืน เหตุการณ์ฆ่าในมัสยิดกรือเซะ และเหตุการณ์ชุมนุมที่ตากใบ ซึ่งทำให้มุสลิมที่เข้าร่วมชุมนุมในเดือนรอมฎอน (เดือนถือศีลอด) เสียชีวิตขณะที่ถูกขนย้าย ไปส่งที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร จำนวน ๗๘ คน
นอกจากปัญหารุมเร้าจากเหตุการณ์ดังกล่าวแล้ว ในช่วงนั้นสิ่งที่ถูกท้าทายอย่างหนักของกลุ่มวาดะห์ ก็คือมีข้อมูลว่านักการเมืองที่อยู่ในกลุ่มมีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการแบ่งแยกดินแดน ภายหลังที่กำนันโต๊ะเด็งได้ถูกจับกุมในคดีปล้นปืนแล้วออกมาแถลงข่าวทางสื่อมวลชนว่า มีนักการเมืองในกลุ่มของวาดะห์เป็นผู้ร่วมวางแผนในการปล้นปืนโดยนำไปชี้ถึงสถานที่มีการประชุม และพาดพิงถึงนักการเมืองที่มีส่วนเกี่ยวข้อง
แต่สุดท้ายออกมายอมรับว่าเหตุที่ตนเองต้องกระทำเพราะถูกซ้อมทรมาน และบีบบังคับจากเจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ต่อมากำนันโต๊ะเด็งได้กลับคำให้การในชั้นศาล จนเป็นคดีความมีการฟ้องร้องกับตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ถึงทุกวันนี้
จากผลพวงดังกล่าว นำไปสู่การดำเนินคดีนายนัจมุดดิน อูมา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนราธิวาสพร้อมกับพวกอีกจำนวน ๕๐ กว่าคน ในข้อหาร่วมกันปล้นปืน เป็นขบวนการแบ่งแยกดินแดน โดยบุคคลที่ถูกดำเนินคดีก็ล้วนแต่เป็นคนใกล้ชิดและเป็นหัวคะแนน ผู้สนับสนุน
แต่โชคดีที่พนักงานอัยการโดยสำนักงานอัยการสูงสุดในขณะนั้นใช้หลักเมตตาธรรม มีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาจำนวนหลายคน และได้ปล่อยตัวไป แต่นายนัจมุดดิน อูมา นั้น ถูกดำเนินคดีตกเป็นจำเลยที่ศาลอาญา และมีการต่อสู้คดีจนศาลมีคำพิพากษายกฟ้องในที่สุด
จากการถูกกล่าวหาของนัจมุดดิน ดังกล่าว ทำให้สังคมเข้าใจว่าเหตุการณ์ในสามจังหวัด มีนักการเมืองเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดน โดยมีแนวร่วมในการก่อความไม่สงบในพื้นที่ และเข้าใจต่อไปอีกว่ากลุ่มขบวนการดังกล่าวมีชาวบ้านที่เป็นแนวร่วมจำนวนมาก ที่นำโดยนักการเมืองเป็นผู้วางแผน และบงการอยู่เบื้องหลัง
คนทั่วประเทศเข้าใจว่ามุสลิมในสามจังหวัดคือกลุ่มขบวนการที่สนับสนุนการก่อการร้าย ขบวนการแบ่งแยกดินแดน โดยมีนักการเมืองเป็นแกนนำ แต่เมื่อผลการเลือกตั้งเมื่อ ปี ๒๕๔๘ ออกมา ปรากฏว่าแกนนำของขบวนการสอบตกหมด พรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส. ในสามจังหวัดยกทีม ดังเช่นคลื่นสึนามิโหมกระหน่ำ
จากข้อเท็จจริงในอดีต เมื่อนำมาพิจารณากับข้อมูลของ กอ.รมน. ในการเลือกตั้งครั้งนี้ จะเห็นได้ว่าไม่ใช่ข้อมูลใหม่ แต่ข้อมูลของ กอ.รมน. ในครั้งนี้ หากไม่เปิดเผยภาพให้ชัดเจนก็จะยิ่งสร้างความสับสนกับประชาชนและบรรดานักการเมือง รวมทั้งผู้สนับสนุนนักการเมืองเหล่านั้น อย่าลืมว่าการวิเคราะห์ข้อมูลของ กอ.รมน. ย่อมมีผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของนักการเมืองไม่ทางตรงก็ทางอ้อม และในขณะเดียวกันย่อมทำให้พรรคการเมืองบางพรรคได้ประโยชน์
จากผลการวิเคราะห์ดังกล่าว และหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่สังคมจะเข้าใจว่าปัญหาในสามจังหวัดแท้จริงแล้วคือปัญหาการเมือง นอกจากปัญหาขบวนการยาเสพติด และน้ำมันเถื่อนดังที่มีการเปิดเผยโดยแม่ทัพ ภาค ๔ มาแล้ว
หากฝ่ายความมั่นคง หรือ กอ.รมน. ต้องการใช้นโยบายการเมืองนำการทหารจริง ต้องกำหนดกรอบให้ชัดเจนว่ากระบวนการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งชัยชนะในทางการเมืองโดยการปลุกจิตวิญญาน อุดมการณ์ของการสำนึกความเป็นมลายูของคนในสามจังหวัด ซึ่งเป็นเส้นที่บางมากๆ กับอุดมการณ์ของการต่อสู้เพื่อแแบ่งแยกดินแดนนั้น มีเส้นแบ่งอย่างไร เพราะข้อมูลของ กอ.รมน. ย่อมทำให้เกิดความไม่มั่นใจของประชาชนในสามจังหวัด ว่าจะต้องวางตัวอย่างไรในการเป็นหัวคะแนน หรือสนับสนุนผู้สมัครของตนเอง
กระบวนการเลือกตั้งทางการเมืองควรเป็นวิธีหนึ่ง ที่มีส่วนในการส่งเสริมให้คนในสามจังหวัด เปิดพื้นที่ของการต่อสู้ตามแนวทางตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย ดีกว่าเลือกต่อสู้นอกระบบ มิเช่นนั้นก็จะเรียกร้องรูปแบบการปกครองอื่น ซึ่งอาจสร้างความไม่พอใจให้กับฝ่ายความมั่นคงอีกเช่นกัน
เพราะหากคนระดับนักการเมืองยังต้องเผชิญกับข้อกล่าวหาความมั่นคงซ้ำแล้วซ้ำเล่าอย่างนี้แล้ว ประชาชนตาดำๆ จะเหลืออะไร และต่อไปก็จะมีการให้ข้อมูลกล่าวหาใส่ร้ายป้ายสีฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง สุดท้ายแล้วคดีความมั่นคงก็จะไหลเข้าสู่ศาล สร้างความเดือดร้อนให้กับคนมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป[:]