[:th]CrCF Logo[:]
[:th]พระสงฆ์ ยะลา[:]

แถลงการณ์ ประณามการใช้ความรุนแรงลอบสังหารพระสงฆ์ จ.ยะลา

Share

จากกรณีเหตุการณ์ความรุนแรงในการสังหารพระภิกษุ 2 รูป คือ พระสมุห์ชาตรี กันตรโต อายุ 47 ปี เป็นเจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว อ.ยะหา และ พระธีรพงษ์ ดงมะลิ อายุ 40 ปี นอกจากนั้นยังมีทหารได้รับบาดเจ็บสาหัสอีก 2 นาย คือ พลทหารพลาธร หนูชัยแก้ว อายุ 22 ปี และ พลทหารไกรสร มดคัน อายุ 22 ปี เจ้าหน้าที่นำส่งโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชยะหา

ในเหตุการณ์ที่ทหารชุดคุ้มครองพระสังกัดกองร้อยทหารราบที่ 1541 หน่วยเฉพาะกิจยะลา 14 ขณะพาพระภิกษุจากวัดสวนแก้วจำนวน 2 รูป ออกจากวัดเพื่อไปบิณฑบาต แต่เมื่อออกจากวัดได้ราว 3 กิโลเมตร คนร้ายใช้แบตเตอรี่จุดชนวนระเบิดแสวงเครื่องบรรจุถังแก๊สน้ำหนักราว 15 กิโลกรัม ซึ่งลอบวางไว้ใต้ผิวถนนจนเกิดระเบิดทำให้ รถกระบะถูกแรงอัดจนพังยับเยิน

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อญาติ และศาสนิกชนของผู้สูญเสีย และผู้ได้รับบาดเจ็บในเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น และขอประณามผู้ที่ก่อเหตุร้ายซึ่งนอกจากจะเป็นการก่ออาชญากรรมร้ายแรงต่อพระสงฆ์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งแล้ว ยังเป็นการจงใจเพื่อสร้างความขัดแย้งรุนแรงทางด้านศาสนาด้วย จึงขอให้ทุกฝ่ายช่วยกันประณามและยืนยันให้รัฐนำตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมอย่างจริงจัง และเป็นธรรม

จากเหตุการณ์ความรุนแรงต่อพระสงฆ์ที่ทำให้ปัจจุบันทำให้วัดสระแก้วในขณะนี้ไม่มีพระสงฆ์เหลือจำวัดนั้น ทำให้เห็นชัดว่ากลุ่มผู้ใช้ความรุนแรงแรงต้องการที่จะสร้างความแตกแยกทางศาสนา ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ที่ยึดเยื้อยาวนานมาเป็นเวลากว่า 7 ปีแล้ว

มูลนิธิฯ ได้ติดตามการดำเนินการพัฒนาและแนวทางการแก้ไขความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้พบกว่าปัจจุบันการพัฒนาตามแนวทางสันติวิธีหรือการเมืองนำการทหารโดยเน้นการพัฒนาเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของกลุ่มประชากรในพื้นที่แบบแยกส่วน ขาดการผสมผสานการดำรงอยู่รวมกันของกลุ่มประชากรที่มีความแตกต่างทางชาติพันธุ์และศาสนา เช่น กลุ่มไทยพุทธ กลุ่มชาวมลายูมุสลิม กลุ่มไทยเชื้อสายจีน การพัฒนาขาดความสมดุล

ชาวไทยพุทธหรือชาวไทยเชื้อสายจีนเข้าใจว่ากลุ่มตนไม่ได้รับความเป็นธรรมเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ ชาวมลายูมุสลิมยังรู้สึกว่าตนไม่ได้ความเท่าเทียมจากรัฐบาลไทย ชุมชนต่างศาสนาไม่กล้าไปมาหาสู่กัน ทำให้ประชากรในพื้นที่ขาดความไว้เนื้อเชื้อใจกันจนกลายเป็นประเด็นที่กลุ่มที่ใช้ความรุนแรงนำมาสร้างวงจรแห่งความรุนแรงการประหัตประหารต่อกันในหลายรูปแบบ

มูลนิธิฯ ขอให้รัฐและหน่วยงานทุกภาคส่วนทั้งรัฐและเอกชนโดยเฉพาะบทบาทของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้(ศอบต.) โดยสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาอย่างสมดุลในสังคมพหุวัฒนธรรมและการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรมที่สร้างสรรค์ เช่นการจัดโครงการพัฒนา จัดงานวัฒนธรรม จัดกีฬา และเวทีที่ส่งเสริมกิจกรรมระหว่างกลุ่มประชากรทั้งกลุ่มไทยพุทธ กลุ่มชาวมลายูมุสลิม กลุ่มไทยเชื้อสายจีน อย่างจริงจัง

โดยมุ่งปรับทัศนคติ ลดอคติทางสังคมของกลุ่มประชากรต่าง ๆในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ขอให้ศอบต.ทบทวนแนวทางการจัดกิจกรรมของรัฐแบบแยกส่วน การแบ่งแยกและพัฒนาในพื้นที่ เช่นการจัดอบรมเฉพาะชาวมลายูมุสลิม หรือจัดอบรมเฉพาะชาวไทยพุทธเป็นต้น อาจทำให้เกิดความแตกแยกและความไม่วางใจต่อกันประชาชนขาดปฎิสัมพันธ์ต่อกันเนื่องจากปัญหาด้านความมั่นคงและความไม่ปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สิน

รัฐต้องเปิดโอกาสให้ทุกกลุ่มวัฒนธรรมสามารถสร้างธำรงไว้ซึ่งการอนุรักษ์วัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของตนด้วยการสนับสนุนจากรัฐ เช่น การจัดพิพิธภัณฑ์ การจัดงานศิลปวัฒนธรรม หรือเปิดโอกาสให้ผู้แทนชาติพันธุ์หรือกลุ่มศาสนาได้ร่วมเป็นเจ้าภาพในการจัดงาน เท่าที่จะสามารถกระทำได้โดยไม่ขัดกับหลักการศาสนาใดศาสนาหนึ่ง อีกทั้งการส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ภาษามลายูถิ่นในหมู่ข้าราชการที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่อย่างจริงจัง เน้นให้สื่อมวลชนสื่อสารอย่างอิสระและเผยแพร่ข้อมูลสร้างความรู้ความเข้าใจและทัศนคติเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ที่ถูกต้องอย่างกว้างขวาง การอยู่รวมกันด้วยการสร้างสังคมพหุวัฒนธรรมและการเคารพต่อกัน ย่อมนำไปการยุติความรุนแรงและสร้างสันติภาพที่ยั่งยืน

ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติม พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม 02-6934939

Loader Loading…
EAD Logo Taking too long?

Reload Reload document
| Open Open in new tab

Download [122.44 KB]