[:th]CrCF Logo[:]

เสียงจาก กลุ่มเป้าหมาย ไม่มั่นใจกระบวนการมาตรา 21 พรบ. ความมั่นคง โดย ปรัชญา โต๊ะอิแต, แวลีเมาะ ปูซู

Share

แม้รัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จักเดินหน้าใช้กระบวนการตามมาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ. ความมั่นคงฯ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปแล้ว โดยเชื่อว่าจะเป็น “ไม้เด็ด” ที่สามารถสกัดการขยายวงของกลุ่มก่อความไม่สงบได้ แต่ปัญหาก็คือชาวบ้านในพื้นที่ โดยเฉพาะ “บรรดาแนวร่วม” หรือ “ผู้ต้องสงสัย” ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญนั้น เห็นด้วยหรือไม่กับกระบวนการนี้

มาตรา 21 (ม.21) แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 (พ.ร.บ. ความมั่นคงฯ) อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือการเปิดโอกาสให้บุคคลที่ถูกต้องหาว่ากระทำความผิดตามฐานความผิดที่รัฐกำหนดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ “กลับใจยอมเข้ามอบตัว” หรือ “กระทำไปเพราะหลงผิด” ได้เข้ารับการฝึกอบรมจากรัฐเป็นเวลาไม่เกิน 6 เดือนแทนการถูกดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม ซึ่งต้องรับโทษจากการกระทำความผิดนั้น

ไม่มั่นใจ…หวั่นมอบตัวแล้วติดคุก

มุมตัส หีมมินะ จากกลุ่มด้วยใจ ซึ่งเป็นเครือข่ายครอบครัวผู้ต้องขังคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เล่าให้ฟังว่า เท่าที่ได้ฟังจากครอบครัวผู้หลบหนีที่ได้รู้จัก (อาจจะเป็นกลุ่มที่ถูกออกหมายจับในคดีความมั่นคง หรือผู้ต้องสงสัยตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ) ทราบว่ามีจำนวนมากที่ไม่เชื่อมั่นต่อกระบวนการตามมาตรา 21 แม้จะยอมรับว่ากระบวนการนี้เป็นเรื่องดี แต่ไม่มั่นใจกระบวนการตรวจสอบหลักฐานและคัดกรองผู้เข้าร่วมอบรมแทนการถูกดำเนินคดี

“เขาไม่เชื่อมั่นกับวิธีการว่าถ้ายอมเข้ามอบตัวแล้วจะอบรมแค่ 6 เดือนจริงหรือไม่ หรือว่าต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำ คือยังไม่มีใครสามารถบอกพวกเขาได้เลยว่าเขาจะผ่านกระบวนการตรวจสอบนี้แล้วเข้าสู่การอบรมได้แน่ๆ และหากไม่ผ่านกระบวนการตรวจสอบคัดกรอง เขาต้องถูกส่งเข้าเรือนจำใช่หรือไม่ ถ้าเป็นอย่างก็เหมือนเป็นการหักหลัง”

“ยกตัวอย่างในชุมชนแห่งหนึ่งมีการออกมามอบตัว แต่พอมอบตัวแล้วกลับไม่ได้รับการประกันตัว ทั้งๆ ที่คดีก็ไม่มีหลักฐานอะไร ถามว่าเขาจะเชื่อใจรัฐได้อย่างไรในเมื่อคนที่บริสุทธิ์ใจออกมามอบตัวยังไม่ได้รับการประกันตัว จุดนี้กลายเป็นว่าเขาไม่เชื่อในกระบวนการยุติธรรม เพราะรัฐไม่สามารถสร้างความมั่นใจได้ และอีกประเด็นหนึ่งคือรัฐไม่สร้างความโปร่งใสในกระบวนการด้วย ทำให้เขาไม่ไว้เนื้อเชื่อใจมากขึ้นไปอีก”

คนผิดจริงได้ฟอกตัว-ผู้บริสุทธิ์ถูกกล่าวหาเป็นตราบาป

มุมตัส บอกว่า จากข้อมูลที่รับฟังมาจึงยังมองไม่ออกเลยว่าวิธีการที่รัฐจะทำให้กลุ่มเป้าหมายออกมาแสดงตัวจะทำได้อย่างไร และยังเห็นว่าผู้ที่จะได้ประโยชน์จากกระบวนการตามมาตรา 21 ก็คือผู้ที่กระทำความผิดจริง แล้วใช้หนทางนี้ฟอกตัวเอง ไม่ต้องผ่านกระบวนการยุติธรรม แค่ 6 เดือนก็ออกมาเป็นผู้บริสุทธิ์แล้ว ส่วนผู้บริสุทธิ์ตัวจริงที่ถูกกล่าวหาหรือถูกตั้งข้อสงสัยอย่างไม่เป็นธรรมจะได้ไม่รับประโยชน์อะไรเลย

“ผู้บริสุทธิ์ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด คนกลุ่มนี้จะมีวิธีการไหนพิสูจน์นอกจากกระบวนการยุติธรรมตามปกติ เขาก็ต้องใช้เวลา 4-5 ปี (สู้คดีในศาลยุติธรรม) เทียบกับคนที่กระทำผิดจริงใช้เวลาแค่ 6 เดือน อย่างนี้เรียกว่ายุติธรรมไหม”

“คนที่ไม่ได้เป็นผู้กระทำผิด เมื่อเดินเข้าสู่กระบวนการตามมาตรา 21 ต้องถูกสังคมตราหน้าว่าเป็นผู้กระทำความผิดไปตลอดชีวิต หากมองระยะยาวย่อมไม่ส่งผลดีต่อครอบครอบครัวของเขา จึงไม่รู้ว่าเขาจะเลือกเส้นทางไหนดี เพราะปลายทางมันตันไปเสียหมด”

แต่ยังหนุนมาตรา 21 แนะออกระเบียบรองรับให้รัดกุม

อย่างไรก็ดี มุมตัส บอกว่า หากถามว่าเห็นด้วยกับมาตรา 21 หรือไม่ เธอเห็นด้วยครึ่งหนึ่ง โดยเฉพาะหากเทียบกับกฎอัยการศึก หรือ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ (พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548) ก็ถือว่าดีกว่า ถ้าใช้กฎอัยการศึกจะดีสำหรับทหารที่สามารถปฏิบัติงานได้อย่างรวดเร็ว แต่กระทบกับประชาชน

“มาตรา 21 หากพูดถึงคนหลบหนีหรือผู้ต้องสงสัย ฉันยังมองไม่ออกว่าจะได้รับประโยชน์อย่างไร คิดว่าผู้ที่กระทำผิดจริงน่าจะได้ประโยชน์มากกว่า ซึ่งไม่รู้ว่าจริงๆ เขาจะกลับตัวกลับใจได้จริงหรือไม่ หรือจะใช้มาตรา 21 เป็นเครื่องตัวฟอกตัวเอง คำถามก็คือว่าแล้วเราจะช่วยเหลือผู้บริสุทธิ์ได้อย่างไร”

“จริงๆ ฉันเห็นด้วยกับ พ.ร.บ. ความมั่นคงฯ เพราะมันอ่อนกว่ากฎอัยการศึก และ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ แต่ไม่เห็นด้วยกับมาตรา 21 ที่ผู้บริสุทธิ์หรือเป็นแค่ผู้ต้องสงสัยกลับต้องมาลงชื่อเสมือนว่าตัวเองเป็นผู้กระทำความผิด ทำให้ถูกมองว่าถ้าเขาไม่ได้กระทำผิดแล้วเขาจะไปสารภาพผิดทำไม หรือว่าถ้าเขายอมมอบตัว แต่ไม่ผ่านกระบวนการคัดกรอง เขาต้องไปอยู่ในเรือนจำจะทำอย่างไร เพราะเรือนจำไม่ใช่สิ่งสวยงามแบบที่ใครอยากจะเข้าไปอยู่”

มุมตัส เสนอว่า รัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงต้องมีระเบียบขั้นตอนที่ชัดเจนเพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้หลบหนีเข้ามอบตัว ซึ่งนั่นเป็นเพียงขั้นแรก เพราะสิ่งสำคัญที่สุดคือเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติมีความเข้าใจหรือยัง จากนั้นต้องทำความเข้าใจกับประชาชนด้วย เพราะทุกวันนี้ประชาชนยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า พ.ร.บ. ความมั่นคงฯ มีเนื้อหาอะไรบ้าง มาตรา 21 เขียนไว้ว่าอย่างไร

ติงมาตรา 21 สันนิษฐานล่วงหน้าว่ามีความผิด

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ จากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม องค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า สิ่งที่นักกฎหมายและนักสิทธิมนุษยชนกังวลมากที่สุดคือหลักการของมาตรา 21 ซึ่งขัดกับหลักที่ว่าทุกคนต้องถูกสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ เพราะมาตรานี้เขียนว่าผู้ที่จะเข้ากระบวนการคือผู้ต้องหาว่ากระทำความผิด และต้องสารภาพ หรือรับผิด หรือกลับใจ เพื่อเข้าสู่การอบรมเป็นเวลา 6 เดือน แล้วจะไม่ถูกดำเนินคดีอาญา

“มาตรา 21 ไปให้ความเชื่อถือกับกระบวนการยุติธรรมชั้นต้น คือชั้นสืบสวน สอบสวน ออกหมายจับ และการหาพยานหลักฐานดำเนินคดีในชั้นต้นโดยตำรวจหรือทหารซึ่งอาจจะใช้กฎหมายพิเศษว่าน่าเชื่อถือมากถึงมากที่สุด และเชื่อว่าบุคคลที่ถูกกล่าวหาเหล่านั้นเป็นผู้กระทำผิดไว้ก่อน แล้วมาต่อรองให้โอกาสในการสารภาพหรือรับผิดตามที่ถูกกล่าวหา เพราะใช้ความเห็นของพนักงานสอบสวนในการเสนอและคัดกรองผู้ที่เข้ากระบวนการฝึกอบรม”

“แต่ในความเป็นจริงก็คือกระบวนการยุติธรรมลำดับต้นในสถานการณ์ความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนใต้เป็นปัญหามากที่สุด หลายกรณีไม่มีความน่าเชื่อถือ คือสูญเสียความน่าเชื่อถือไปแล้ว จึงทำให้ประชาชนและนักกฎหมายที่คลุกคลีอยู่ไม่เชื่อมั่น ตั้งข้อสงสัย ตั้งแง่ และอาจไม่ให้ความร่วมมือ”

ให้ยึดโยงหลักทั่วไปตาม ป.วิอาญา

พรเพ็ญ ยังชี้ว่า แนวทางที่ดีที่สุดในมุมมองของนักกฎหมายอย่าง ศ.วิทิต มันตาภรณ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งทำงานให้องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ด้วย ได้นำเสนอไว้เมื่อวันที่ 9 พ.ย.2553 ว่า การบังคับใช้กฎหมายพิเศษในส่วนที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญา หากจะใช้ พ.ร.บ. ความมั่นคงฯ ต้องมีการบรรเทาผลลัพธ์ทางลบ โดยใช้หลักการทั่วไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาปกติ (ป. วิอาญา) คือต้องนำตัวผู้ต้องหาขึ้นศาลภายใน 84 วัน (กระบวนการชั้นก่อนฟ้องทั้งตำรวจและอัยการ) โดยจะต้องมีกลไกให้ศาลตรวจสอบ (หมายถึงผัดฟ้องฝากขังต่อศาลทุก 12 วัน) ด้วย เพื่อให้เกิดความโปร่งใส

ส่วนการใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ในทางปฏิบัติก็สามารถใช้ได้ แต่ต้องให้ทนายหรือผู้ที่ถูกควบคุมตัวไว้วางใจสามารถเข้าถึงประชาชนที่ถูกจับกุมโดยทันที แม้ว่าจะมีการควบคุมตัวโดยไม่ต้องแจ้งข้อหาเป็นเวลา 30 วันก็ตาม

รัฐพร้อมรับฟัง-เปิดช่องทางประกันตัวง่ายขึ้น

ด้านแหล่งข่าวระดับสูงใน กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวว่า อยากให้ทุกฝ่ายเข้าใจว่าขณะนี้ภาครัฐรับทราบข้อกังวลต่างๆ ของภาคประชาสังคมเกี่ยวกับกระบวนการตามมาตรา 21 แล้ว และพยายามหาจุดร่วมจากข้อเสนอของทุกฝ่าย เพื่อให้กระบวนการนี้นำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้จริง

“คนที่เข้ากระบวนการตามมาตรา 21จะมุ่งเน้นผู้ที่สมัครใจจริงๆ เท่านั้น หากใครไม่สมัครใจเข้าร่วม ก็จะมีช่องทางการต่อสู้ในชั้นศาลต่อ ไม่ใช่ลักษณะการบีบบังคับ หากเขาต้องการประกันตัว ภาครัฐก็มีแผนช่วยให้ประกันตัวได้ง่ายขึ้น คือต้องเข้าใจว่าตอนนี้เรามีจำนวนผู้ต้องขังรอการไต่สวนคดีจำนวนมากเกินที่เรือนจำจะรองรับได้ ขณะที่ศาลเองก็ต้องรับภาระต่างๆ มากมาย ดังนั้นช่องทางตามมาตรา 21 ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดปัญหานี้ด้วย” แหล่งข่าว ระบุ

Source: http://www.south.isranews.org/academic-arena/753–qq-21-.html