[:th]CrCF Logo[:]
[:th]เดินสันติปัตตานี[:]

พลังเท้า พลังใจ เดินสันติปัตตานีเพื่ออะไร? | สำนักข่าวอิศรา

Share

กิจกรรม “เดินธรรมยาตราสู่สันติปัตตานี” ซึ่งนำโดย นายโคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษา และพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล เดินเท้าจากนครปฐม เป้าหมายปัตตานี ตั้งแต่วันที่ 11 ก.ค.ที่ผ่านมา เพื่อหวังกระตุ้นให้สังคมได้ตระหนักถึงความสำคัญของการใช้สันติวิธีดับไฟใต้นั้น ตลอดเส้นทางมีอาสาสมัครร่วมเดินเป็นระยะๆ และหนึ่งในนั้นคือ พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ซึ่งเธอได้เขียนบทความบอกเล่าประสบการณ์ของการร่วมเดินเพื่อสันติแห่งปัตตานีครั้งนี้

พลังเท้า พลังใจ เดินสันติปัตตานีเพื่ออะไร?

ข้าพเจ้าได้ร่วมเดินสันติปัตตานีครั้งแรกเมื่อวันที่  26 ก.ค.2553 เพียงวันเดียว เป็นระยะทาง 28 กิโลเมตรจากตัวเมืองประจวบคีรีขันธ์ ถึง อ.ทับสะแก (จ.ประจวบคีรีขันธ์) แปลกใจตนเองเหมือนกันว่าเดินได้อย่างไร เพราะชีวิตในกรุงเทพฯ ออกจากบ้านก็ใช้กุญแจบิดสตาร์ทรถ แล้วก็เดินไม่เกิน 20 ก้าวถึงที่ทำงานมาเป็นระยะเวลาหลายปี  

เรื่องเดินระหว่างป้ายรถเมล์ไม่ต้องพูดถึง “ไม่คิด ไม่อยาก และไม่ทำ” 

นอกจากจะพิศวงในพลังอำนาจของเท้าและใจของตนเองแล้ว จากการติดตามความมุ่งมั่นของทีมเดินเท้าทางไกลสันติปัตตานีที่เริ่มเดินมาตั้งแต่วันที่ 11 ก.ค.2553 ก็พิศวงในพลังเท้าและพลังใจของทีมเดินเท้าสันติปัตตานีว่าน่าจะสร้างปาฏิหาริย์ทำให้ปัตตานีเกิดสันติตามเป้าประสงค์ได้จริง 

ทีมเดินเท้าส่วนใหญ่ไม่ได้รับรู้ความสลับซับซ้อนของปัญหาที่ปัตตานีมากนัก แต่ทุกคนเชื่อมั่นว่าสันติเกิดขึ้นได้จริง และจะยุติความขัดแย้ง หยุดการฆ่าฟันทำร้ายกันและกันได้จริง ด้วยการส่งกระแสจิตถ่ายทอดกำลังใจจากผู้คนตลอดเส้นทาง แล้วส่งมอบให้แก่ชาวปัตตานีเมื่อก้าวสุดท้ายถึงที่หมาย และจะกลายเป็นก้าวแรกแห่งสันติปัตตานีอย่างแท้จริง

การจุดประกายครั้งนี้มีเป้าหมายที่จะให้ทุกฝ่ายหันมาเห็นความสำคัญของการยุติความรุนแรงและสร้างสันติร่วมกัน แต่เป้าประสงค์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้อย่างไร หลายฝ่ายยังมองเห็นไม่ชัด เอาเป็นว่าข้าพเจ้าได้เห็นเค้าลางมากขึ้นเมื่อทีมเดินเท้าก้าวเข้าใกล้ปัตตานีทีละก้าว…ทีละก้าว…อย่างไม่หยุดยั้ง

วันที่ข้าพเจ้าเดินเท้าทางไกลเป็นครั้งแรก ได้รับคำแนะนำว่าให้เดินในลักษณะฝึกจิต ยึดหลักการเดินแบบ “ธรรมยาตรา” ทำให้สามารถบรรลุเป้าหมายหลายสิบกิโลเมตรได้โดยง่าย มีคนให้คำอธิบายว่า “ธรรมยาตรา” คือการสร้างโอกาสให้ผู้คนจำนวนหนึ่งได้ร่วมใช้ชีวิต ร่วมเดินเท้าทางไกลร่วมกัน ภายใต้กรอบข้อตกลงที่เชื่อมร้อยอยู่ด้วยหลักธรรมทางศาสนาอันพิเศษไปกว่าการปฏิบัติธรรมส่วนตัวตามปกติ การใช้ชีวิตเป็นชุมชนเล็กร่วมกันในระยะเวลาหนึ่ง สามารถฝึกปฏิบัติตน ร่วมกิน ร่วมอยู่พร้อมๆ กัน มีวัตถุประสงค์ที่จะสร้างสันติในใจตน สร้างสรรค์มิตรภาพต่อกัน และนำสันตินั้นมอบให้กับสังคมในทางอ้อม  

อย่างไรก็ดี จิตใจของข้าพเจ้าในวันนั้นกลับไม่สงบเลย เฝ้าแต่ครุ่นคิดถึงเรื่องผู้ถูกควบคุมตัวที่เป็นเด็กอายุ 16 ปีเป็นเวลากว่า 7 วันแล้ว ว่าเหตุใดเด็กที่ตกเป็นเป้าของการใช้และสร้างให้เกิดความรุนแรงเป็นวงจรแห่งความโหดร้ายที่ไร้ความเมตตาต่อกันจึงอายุน้อยลงเรื่อยๆ ทั้งๆ ที่เด็กควรเป็นผู้ที่ได้รับการปกป้องคุ้มครอง 

ในจิตใจของข้าพเจ้าครุ่นคิดรู้สึกได้ถึงความโกรธต่อผู้ที่ใช้เด็กร่วมในการก่อเหตุร้ายต่างๆ และรู้สึกถึงความโกรธต่อเจ้าหน้าที่ที่ต้องการปราบปราบยุติเหตุร้ายโดยใช้เด็กเป็นพยานหรือเป็นผู้ซัดทอดให้ข้อมูลกับทางการ โดยการจับกุมและควบคุมตัวเพื่อซักถาม ต่อมาได้รับข่าวว่าเด็กชายอายุ 16 ปีได้รับการปล่อยตัวไปภายหลังถูกควบคุมตัวเพื่อซักถามอีกเพียงสามวัน…และวันนั้นข้าพเจ้าก็เดินทางกลับกรุงเทพฯ เพื่อปฏิบัติภารกิจการงาน แต่ตั้งใจจะไปร่วมเดินเท้าทางไกลใหม่อีกครั้งด้วยจิตใจที่โปร่งโล่งกว่าเดิม

ข้าพเจ้าได้เข้าร่วมเดินเท้าเป็นครั้งที่สอง ระยะทางรวมเกือบ 200 กิโลเมตร จาก จ.สุราษฎร์ธานี ถึง จ.นครศรีธรรมราช ตั้งแต่วันที่ 11 ถึงวันที่ 19 ส.ค.2553 ที่ผ่านมา ระหว่างทางก็ได้ป่าวประกาศ (โดยการส่งข้อความสั้น หรือ SMS ทางโทรศัพท์มือถือ) ว่าได้ร่วมเดินเท้ากับทีมงานของอาจารย์โคทม ส่วนหนึ่งเพราะไม่ค่อยได้ยินเสียงสะท้อนจากในพื้นที่ว่าคิดอย่างไรกับการเดินสันติปัตตานีระยะทางกว่า 1,100 กิโลเมตร กินเวลากว่า 50 วันของคนเหนือ คนภาคกลาง คนอีสานในครั้งนี้ แม้ว่าจะมีข่าวประกาศทางทีวีอยู่เนืองๆ  มีพี่น้องชาวบ้านตามถนนหนทางมามอบของกินของใช้มอบกำลังใจให้ตลอดทาง อุ่นใจอิ่มท้องไปตามๆ กัน แต่กลับไม่ค่อยได้ยินเสียงจากคนในพื้นที่ปัตตานีสักเท่าใดนัก…
 เราไม่มีเพื่อนชาวปัตตานีร่วมเดินกับเราแม้แต่คนเดียว…พลันครุ่นคิดมิได้ปล่อยวาง

ขณะที่เดินก็ได้ยินเสียงโทรศัพท์บอกกล่าวเล่าเรื่องเศร้าๆ ตลอดเส้นทาง มีผู้ต้องขังเสียชีวิตในเรือนจำโดยไม่ทราบสาเหตุหนึ่งคน เป็นชาว ต.ปะแต อ.ยะหา จ.ยะลา ถูกจับกุมมาประมาณปีเศษ ขณะที่ถูกจับและถูกสอบสวน ผู้ต้องขังรายนี้ถูกซ้อมทำร้ายร่างกายจนสลบไป สองวันต่อมาพบว่าตัวเองตื่นขึ้นที่สถานีตำรวจแห่งหนึ่งในพื้นที่ แล้วก็ส่งตัวมาที่เรือนจำ และถูกดำเนินคดีตั้งแต่บัดนั้น  

ผู้ต้องขังรายนี้ได้พักรักษาตัวจนอาการดีขึ้น แต่ก็ยังมีอาการข้างเคียงทำให้ต้องอาศัยบริการของสถานพยาบาลทั้งในและนอกเรือนจำอยู่เนืองๆ  เมื่อเสียชีวิตในเรือนจำแต่ญาติไม่ยินยอมให้ผ่าพิสูจน์ศพ ทำให้ไม่ทราบสาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริง นอกจากคำบอกเล่าว่าเกิดอาการช็อคและเสียชีวิตไปเองในวันก่อนวันถือบวชวันแรกของปีนี้

แม้เดือนบวชจะเริ่มขึ้นแล้วเมื่อวันที่ 12 ส.ค. แต่เสียงระเบิดและเสียงปืนที่ตกเป็นข่าวในช่วงระหว่างวันที่เดินเท้าก็ยังคงมีอยู่ต่อไป    

เมื่อเดินเท้าต่อไปได้ 3 วัน ก็ได้ยินเสียงโทรศัพท์จาก จ.นราธิวาส แจ้งให้ทราบว่า ผู้ต้องสงสัยรายหนึ่งที่กำลังหนีหมายจับถูกยิงเสียชีวิต ซึ่งก่อนหน้านี้มีความพยายามให้ความช่วยเหลือเพื่อมอบตัวสู้คดี แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ ผู้ต้องสงสัยหลายรายขาดความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม และมีปัจจัยอื่นๆ อีกมากที่ทำให้หนทางตามเส้นทางของกฎหมายไทยยังไม่เป็นทางออกที่ถูกเลือก 

การเดินเท้าของแต่ละคนคงมีเรื่องราวรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไป สำหรับข้าพเจ้าได้รับรู้ถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ตลอดเวลา ทำให้จิตใจครุ่นคิดว่าจะทำอย่างไรให้ทุกฝ่ายมีความเมตตาและปรารถนาดีต่อกันมากขึ้นได้โดยไม่เลือกปฏิบัติ และเคารพกันและกัน…ผู้ต้องขังในเรือนจำคงได้รับการรักษาพยาบาลที่ดีกว่านี้ ประชาชนและเจ้าหน้าที่จะเชื่อมั่นแนวทางสันติวิธีเพื่อเรียกร้องสิ่งที่เขาต้องการได้อย่างไร หรือทุกฝ่ายจะอดทนอดกลั้นต่อกันมากกว่านี้ได้อย่างไร…ให้เสียงปืนเสียงระเบิดเสียงสุดท้ายจบสิ้นลง

พอเดินเท้าก้าวใกล้ถึงปัตตานีมากขึ้น ก็เริ่มมีน้องๆ พี่ๆ จากปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เริ่มส่งแรงใจว่า “ขอให้สู้ๆ”  บ้างก็ว่า “ใกล้ๆ ถึงแล้วจะมาร่วมเดินด้วย”  ข้าพเจ้าได้รับโทรศัพท์จากพี่ทหารในพื้นที่ท่านหนึ่งว่า จะมาร่วมเดินเท้าไปปัตตานีด้วยกัน มีการฝากขนมมาให้ หรือมีเสียงส่งมาว่ามีอะไรให้ช่วยก็บอกมา เหล่านี้เป็นกำลังใจทำให้แผลตุ่มน้ำตามฝ่าเท้าบรรเทาลงไปได้บ้าง 

ทำให้อุ่นใจว่าความพยายามของคนนอกอย่างพวกเราจะยังคงเป็นความปรารถนาดีที่ไม่ประสงค์ร้าย เป็นที่ยอมรับได้ของพี่น้องชาวมลายูมุสลิมในพื้นที่ และจากพี่ๆ ทหารที่คลุกฝุ่นในพื้นที่มาตลอด 6-7 ปีที่ผ่านมา พอจะเหมาเอาเองได้ว่าเสียงเรียกร้องว่า…สันติๆๆ นั้นยังมีคนได้ยิน…แต่แล้วสิ่งเหล่านี้จะแปรเปลี่ยนเป็นรูปธรรมได้อย่างไร ยังคงเป็นเพียงภาพที่เลือนราง

ระหว่างทางที่เดินเท้ามาจาก จ.สุราษฎร์ธานี ถึง จ.นครศรีธรรมราช เราเดินบนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 401 หลายกิโลเมตรได้มีโอกาสเดินผ่านหมู่บ้านทั้งไทยพุทธและมุสลิมริมทะเลอ่าวไทย ทำให้เรารับรู้และเข้าใจสภาพปัญหาในพื้นที่ได้บ้างตามสมควร  แผนพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจภาคใต้ที่เรียกว่า Southern Seaboard และสภาพปัญหาความเสื่อมโทรมตามธรรมชาติและจากน้ำมือมนุษย์ทำให้วิถีชีวิตชาวริมเลได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า ทำให้เรารับรู้ว่าความขัดแย้งในเมืองไทยมีด้วยกันทุกหย่อมหญ้า แต่หลายที่หลายแห่งยังอาศัยความอดกลั้นอดทนและยังไม่ได้แปรผันเป็นความรุนแรง

หนทางการยุติยับยั้งความรุนแรงจะมีบ้างไหม และต้องทำอย่างไร การเดินเท้าสันติปัตตานี้ครั้งนี้ได้ช่วยบอกผ่านแนวทางสันติวิธีไปได้บ้างระหว่างทาง แต่อย่างที่อาจารย์โคทม อารียา ได้บอกกับผู้คนที่พบปะพูดคุยตลอดเส้นทางว่า การเดินเท้าเป็นเพียง “กระบวนการ” ขณะที่ อาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ (อดีตอาจารย์ภาควิชาปรัชญาและศาสนา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่เคยเดินเท้าจาก จ.เชียงใหม่กลับบ้านเกิดที่เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี และเขียนหนังสือชื่อ “เดินสู่อิสรภาพ”) ใช้คำว่า “เป็นอุบาย” แต่วิธีการนำไปสู่สันติเป็นเรื่องของทุกฝ่ายทุกคนที่ต้องทำด้วยมือ หรือก้าวไปด้วยเท้าพร้อมๆ กัน

“กระบวนการ” หรือ “อุบาย” ครั้งนี้จะสำเร็จหรือไม่…เสียงกระสุนปืนและเสียงระเบิดจะยังคงดังกลบเสียงเรียกร้องแห่งสันติไปอีกนานแค่ไหน สัญญาณสุดท้ายที่ได้ยินในคืนนี้คือ มีเพื่อนชาวนราธิวาสจะเดินทางมารับทีมเดินเท้าทางไกลสันติปัตตานีในวันที่ 1 ก.ย.ที่มัสยิดกลางปัตตานี  

เราทุกคนหวังว่าเราจะร่วมกันกลบเสียงปืนเสียงระเบิดได้จริง ดังปณิธานของก้าวทุกก้าวของผู้รักสันติทุกคนบนโลกใบนี้!

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เผยแพร่ครั้งแรก ศูนย์ข่าวอิศรา วันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2553

Source: http://www.isranews.org/isranews/index.php?option=com_content&view=article&id=491:2010-08-24-13-39-39&catid=14:2009-11-15-11-18-34