กองบรรณาธิการสำนักข่าวอามาน รายงานพิเศษเรื่องการหายตัวไปของ ‘อับดุลเลาะห์ อาบูคารี’ ตอนที่ 2 เป็นมุมมองและข้อมูลจากทนายความ และนักสิทธิมนุษยชนที่ดูแลด้านคดีให้เขามาตั้งแต่ พ.ศ. 2547
ปมที่ยากจะคลี่คลายที่สุดน่าจะเป็นปมของตัวเขาเองที่หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยในระหว่างการคุ้มครองพยานโดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ท่ามกลางความคาราคาซังของคดีความต่างๆ ลำดับเหตุการณ์ ความคืบหน้า รวมถึงข้อสังเกตจากผู้ช่วยเหลือทางกฎหมายของเขาเป็นอย่างไร จะช่วยให้เรื่องราวคลี่คลายได้มากน้อยเพียงใด ติดตามได้ในรายงานชิ้นนี้
“ที่เราตั้งข้อสังเกต คือ นายอับดุลเลาะห์เป็นพยานปากสำคัญในคดีสำคัญที่อาจเกี่ยวข้องกับการหายไปของทนายความสมชาย นีละไพจิตร ดังนั้น จึงได้เรียกร้องให้ทาง DSI ดำเนินการเร่งติดตาม แต่ปัจจุบันยังไม่มีข้อเท็จจริงใดใดเปิดเผยออกมาว่า นายอับดุลเลาะห์หายไป หนีไป หรือถูกทำร้ายหรือไม่อย่างไร ยังคงมีสถานภาพเป็นบุคคลสูญหาย” พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ เจ้าหน้าที่มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุถึงความเงียบงันในการติดตามคดีของเจ้าหน้าที่ โดยองค์กรของเธอสนใจเข้าไปติดตามการหายตัวไปมาตั้งแต่เริ่มต้น
“แม่ของเขารู้จักกับทีมทนายความของเราเพราะคดีตากใบ แม่ของอับดุลเลาะห์ก็เป็นผู้เสียหายที่ลูกชายเสียชีวิตในเหตุการณ์ ทางทนายความได้รับเรื่องร้องเรียนตั้งแต่วันสองวันแรกที่หายไป ได้สอบข้อเท็จจริงร่วมกับศูนย์ทนายความมุสลิม และได้ติดต่อประสานกับทางดีเอสไอเป็นระยะๆ แต่ข้อมูลไม่ชัดเจน รวมทั้งข้อสังเกตที่ว่าพบรถจักรยานยนต์ที่ไม่มีร่องรอยอุบัติเหตุ ทางการได้สอบปากคำผู้อาจมีข้อมูลในช่วงเวลาที่หายไปไว้แล้ว แต่ยังไม่ได้สรุปหรือตัดประเด็นใดใด” เธอยืนยันความคืบหน้าของความไม่คืบหน้าอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม พรเพ็ญ ยอมรับว่า จากประสบการณ์ที่ผ่านมา เรื่องคนหายยากต่อการติดตาม และค้นหา ศักยภาพของเจ้าหน้าที่ รวมทั้งความปลอดภัย และการคุ้มครองพยานที่ทราบข้อมูลก็เป็นปัญหาในการให้ได้มาซึ่งข้อมูล ในกรณีของอับดุลเลาะห์ก็เช่นกัน ครั้งสุดท้ายที่เธอได้เจอเขา ก็คือ เมื่อสองปีก่อน และไม่เคยเจอกันอีกเลย เนื่องจากที่อยู่ปกปิด และมีคนดูแลอยู่ แต่ที่มีการสังเกตว่าทำไมเขาจึงกลับบ้านใน 3 จังหวัดได้บ่อยนั้นเข้าใจว่า น่าจะเป็นเพราะเหตุผลเกี่ยวกับครอบครัว คือมีแม่ และภรรยามีลูกเล็ก
อย่างไรก็ตาม เรื่องหนึ่ง พรเพ็ญ รู้สึกคาใจในรูปการณ์ก็คือ ทำไมคดีต่างๆ เกี่ยวกับเขา ปปช. จึงไม่ชี้มูล เพราะทำให้พยานมีความยากลำบาก และการปล่อยระยะเวลาอาจทำให้พยานถูกกดดันได้หรือไม่
เราตามต่อไปให้ลึกไปในด้านคดีความ เพราะเชื่อว่าน่าจะเป็นตอใหญ่ที่อาจเชื่อมโยงไปถึงสาเหตุของการหายตัวไปของอับดุลเลาะห์ ซึ่งกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ประธานศูนย์ทนายความมุสลิม จังหวัดนราธิวาส ซึ่งเป็นทนายที่ดูแลคดีความของเขาได้ลำดับความโดยละเอียดทุกคดีตั้งแต่ต้น
“คดีของอับดุลเลาะห์ เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 มีเหตุการณ์ปล้นปืนที่ค่ายทหารกองพันทหารพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อำเภอเจาะได้ร้อง จังหวัดนราธิวาส จากนั้นในวันที่ 5 มกราคม 2547 ทางกองทัพภาคที่ 4 ได้ประกาศใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้”
เขาบรรยายต่อว่า เวลานั้นทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ส่งตำรวจจากส่วนกลางเข้ามารับผิดชอบคดีนี้ นำโดย พล.ต.อ. โกวิท วัฒนะ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ยศในขณะนั้น) พล.ต.ท. ภาณุพงศ์ สิงหรา ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ยศในขณะนั้น) และ พล.ต.ต. โกสินทร์ หินเธาว์ ผู้บังคับการกองบังคับการปราบปราม (ยศในขณะนั้น) โดยได้มีการขีดเส้นตายให้มีการคลี่คลายคดีนี้ให้ได้ใน 1 -2 เดือน
“จากนั้นได้มีการจับกุมนายอนุพงศ์ พันธชยางกูร กำนันตำบลโต๊ะเด็ง อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส ในวันที่ 3 มีนาคม 2547 พร้อมกับพวกอีก 3 คน ชื่อ นายอาซีซาน สุเด็ง นายซอบัร สรีฟและ นายกานิต มะมะ ในข้อหาฆ่า จ.ส.ต. ปัญญา ดาราฮีม โดยใช้กฎอัยการศึกเข้าควบคุมตัว จากนั้นได้พาไปควบคุมตัวที่สถานีตำรวจภูธร (สภ.) ตันหยง อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส ต่อมาได้มีการจับกุมผู้ต้องหาอีกชุด ได้แก่ นายมะกะตา ฮารง กับพวกรวม 5 คน หนึ่งในนั้น คือ นายอับดุลเลาะห์ อาบูคารี ในข้อหาเผาโรงเรียน”
กมลศักดิ์ เล่าต่อว่า ทั้งหมดถูกพาไปควบคุมตัวที่ สภ. ตันหยัง โดยมีตำรวจจากส่วนกลางไปบัญชาการ เมื่อมีการสอบสวนเสร็จ ปรากฏว่ามีการซ้อมทรมานผู้ถูกควบคุมตัวทั้งหมดเพื่อให้รับสารภาพ จากนั้นผู้ต้องหาชุดของนายมะกะตา (อับดุลเลาะห์ อาบูคารี อยู่ในชุดนี้) ถูกโอนคดีไปยังศาลอาญา และถูกขังที่กองปราบปราม ส่วนผู้ต้องหาชุดของกำนันอนุพงศ์ ถูกนำไปฝากขังที่โรงเรียนตำรวจนครบาลบางเขน
“ขณะนั้น ผมกับทนายสมชาย นีละไพจิตร ประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม กำลังว่าความให้กับนายแพทย์แวมาฮาดี แวดาโอะ จำเลยในคดี เจ.ไอ. ทนายสมชายได้รับทราบข่าวว่า มีผู้ต้องหาในคดีปล้นปืนจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกนำตัวมาฝากขังที่กรุงเทพฯ และถูกซ้อมทรมานด้วย จึงชวนผมไปเป็นล่ามแปลภาษายาวี ไปถึงกองปราบปราบแล้วขออนุญาตตำรวจเพื่อขอพบผู้ต้องหา แต่ได้รับการปฏิเสธ ทนายสมชายจึงได้หยิบหนังสือรัฐธรรมนูญปี 2540 ขึ้นมาอ่านในหมวดสิทธิของประชาชน เรื่องสิทธิของผู้ต้องหาที่ต้องได้รับ โดยเฉพาะการได้พบกับทนายโดยเร็ว ตำรวจจึงอนุญาต”
เมื่อได้พบกับผู้ต้องหาทั้งหมด ผู้ต้องหาได้เล่าเหตุการณ์ขณะที่ถูกควบคุมตัวให้ฟัง กมลศักดิ์ ระบุว่า เขาเป็นผู้บันทึกการให้ข้อมูลของทุกคน และแปลให้ทนายสมชายฟังว่าแต่ละคนถูกทำร้ายร่างกายอย่างไร ต่อมา ทนายสมชายจึงทำหนังสือร้องเรียนไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรว่า ผู้ต้องหากลุ่มนี้ถูกซ้อมทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐ
ภาพที่เกิดขึ้นจากกระบวนการตรงนี้คือ ทนายสมชายอาจไปขวาง ‘เป้าหมายใหญ่’ ของตำรวจ นั่นก็คือ นายนัจมุดดีน อูมา, นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ และนายเด่น โต๊ะมีนา ซึ่งถูกต้องสงสัยว่าอยู่เบื้องหลังในเหตุการณ์ปล้นปืน แต่คดีมาสะดุดในวันที่ 12 มีนาคม 2547 เมื่อทนายสมชายเองได้ถูกอุ้มหายไปโดยเจ้าหน้าที่รัฐกลุ่มหนึ่ง
ทั้งนี้ ในระหว่างการสืบสวนสอบสวนคดีปล้นปืน กำนันอนุพงศ์ได้ให้การซัดทอดนายนัจมุดดีน, นายอารีเพ็ญ และนายเด่น ว่า เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการปล้นปืน แต่ศาลได้ออกหมายจับนายนัจมุดดีน เพียงคนเดียว ต่อมา ศาลมีคำสั่งไม่ฟ้องนายมะกะตากับพวก (นายอับดุลเลาะห์ อาบูคารี อยู่ในกลุ่มนี้) ส่วนกำนันอนุพงศ์ถูกกันไว้เป็นพยาน
หลังจากนี้มีเหตุการณ์แทรกซ้อนเข้ามา คือ มีการจับกุมตำรวจ 5 นาย ที่สงสัยว่าอยู่เบื้องหลังการอุ้มทนายสมชาย (ต่อมาศาลได้ตัดสินว่า พ.ต.ต. เงิน ทองสุก มีความผิดจริงในข้อหาขืนใจ ทำให้สูญเสียอิสรภาพ สั่งจำคุก 3 ปี แต่อนุญาตให้ประกันตัวในระหว่างการอุทธรณ์คดี
ส่วนคดีของกำนันอนุพงศ์ศาลมีคำสั่งไม่ฟ้อง คดีของนายนัจมุดดีน ศาลก็มีคำพิพากษายกฟ้อง จำเลยที่ถูกยกฟ้องทั้งหมดจึงได้ยื่นฟ้องต่อคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ว่า ถูกตำรวจซ้อมขณะถูกควบคุมตัว โดยต่างคนต่างก็เป็นพยานให้กัน มีตำรวจที่ถูกฟ้อง รวมทั้งหมด 14 นาย (จำเลยแต่ละคนอาจถูกตำรวจ 4 – 5 นาย ซ้อม รวมเป็น 14 นาย)
กำนันอนุพงศ์เองก็ได้ฟ้องต่อ ป.ป.ช. เช่นกันว่า ถูกตำรวจบังคับให้ซัดทอดถึงคนอื่น นางอังคนา นีละไพจิตร ภรรยาของทนายสมชาย ได้ฟ้องต่อ ป.ป.ช. กรณีที่ตำรวจ 5 นาย อุ้มทนายสมชาย โดยจำเลยทั้งหมดได้มาเป็นพยานในคดีนี้ด้วย จุดนี้เองที่ DSI ได้เข้ามาดูแลพยานของทั้ง 2 คดี เพราะเป็นพยานคนเดียวกัน แต่พยานบางคนก็ไม่ต้องการคุ้มครองพยาน บางคนต้องการให้คุ้มครองในพื้นที่ บางคนก็ให้อยู่เซฟเฮ้าส์ที่กรุงเทพมหานคร เช่น อับดุลเลาะห์
“คดีเหล่านี้กำลังเข้มงวดอยู่พอดี เพราะว่า ก่อนที่อับอุลเลาะห์จะหายตัว เมื่อช่วงก่อนปีใหม่ (ปลาย พ.ศ. 2552) กำนันอนุพงษ์ถูก พล.ต.อ. ภาณุพงศ์ (ยศปัจจุบัน) ฟ้องกลับว่า แจ้งความเท็จต่อพนักงานว่า เขาซ้อม แต่ศาลไม่รับฟ้อง ซึ่งพอกำนันอนุพงษ์ ได้รับหมายก็เอาหมายมาให้ผม ผมก็ไปแก้ต่างให้แก ปรากฏว่าก่อนถึงวันนัดไต่สวน ทางทนายของ พล.ต.อ. ภาณุพงศ์ ได้หมายเรียกขอเอกสารทั้งหมดที่กำนันอนุพงศ์ไปร้อง ป.ป.ช. และคำวินิจฉัยของคณะอนุกรรมการต่างๆ ของ ป.ป.ช.มาส่งศาลทั้งหมด”
กมลศักดิ์ เล่าต่อว่า พอถึง วันที่ 23 ธันวาคม 2552 ซึ่งเป็นวันนัดไต่สวน เจ้าหน้าที่ของ ป.ป.ช. ที่ได้รับหมายศาลก็มาแถลงต่อศาลด้วยตัวเองว่า เอกสารทั้งหมดที่ทางทนายของ พล.ต.อ. ภาณุพงศ์ขอไม่สามารถให้ได้ เพราะคดียังอยู่ระหว่างการพิจารณา ศาลถาม เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ที่มาแถลงต่อศาลว่า แล้วคดีชี้มูลความผิดหรือยัง ประมาณเมื่อไหร่ เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ก็ตอบว่า ประมาณเดือนเมษายน 2553 กระบวนการตรงนี้ คือ หาก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดตำรวจคนไหนก็ต้องออกจากราชการทันที แต่ถ้าเห็นว่า คำสั่งของ ป.ป.ช. ไม่ชอบ เขาสามารถไปฟ้องศาลปกครองต่อได้
ทั้งนี้ ก่อนที่ พล.ต.อ. ภาณุพงศ์ จะฟ้องกลับนั้นเป็นช่วงที่ ทางอัยการได้ยื่นอุทธรณ์คดีของกำนันอนุพงษ์ และนายอาซีซาน ในข้อหาฆ่า ด.ต. ปัญญา ดาราฮีม อีกครั้ง ซึ่งกมลศักดิ์ตั้งข้อสังเกตตรงนี้ว่า หากศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษา การฟ้องกลับของ พล.ต.อ. ภาณุพงศ์ จะมีน้ำหนักทันที แต่สุดท้าย ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษายืน คือ ยกฟ้องเหมือนศาลชั้นต้น
“พอศาลมีคำพิพากษายืน พล.ต.อ. ภาณุพงศ์ก็ฟ้องกลับ หมายความว่า พล.ต.อ. ภาณุพงศ์กับตำรวจชุดของเขาก็รอความหวังจากคำพิพากษาอุทธรณ์ ถ้าศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาไม่ชอบ แสดงว่ามีหลักฐานว่า พวกนี้ (กลุ่มกำนันอนุพงศ์) ทำความผิดจริง ผมเชื่อว่า ตำรวจเหล่านั้นจะคัดคำพิพากษาไปยื่น ป.ป.ช. เพื่อทำลายน้ำหนัก บอกว่าพวกนี้ผิดจริง โมเมว่า ถูกบังคับขู่เข็ญ ทำร้ายร่างกาย แต่พอศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น คดีก็ถึงที่สุด”
“พล.ต.อ. ภาณุพงศ์ ก็ให้ทนายมาฟ้องเอง เพื่อจะเอาหลักฐานตรงนี้ไปทำลายอีกด้านหนึ่ง ถ้าสมมุติว่า สิ่งที่เขาฟ้องกลับคือ สิ่งที่กำนันอนุพงศ์ไปแจ้งกับ ป.ป.ช. ว่า ถูกบังคับ ถูกทำร้ายร่างกาย ฟันหัก อะไรต่างๆ ไม่เป็นความจริง แล้วศาลรับฟ้องในข้อหาที่เขาฟ้องกำนันอนุพงศ์ว่า แจ้งความเท็จ อย่างน้อยเขาก็เอาคำสั่งไปยื่น ป.ป.ช. ให้รอฟังการไต่สวนคดีนี้ ก็ยืดเวลาไปได้อีก”
กมลศักดิ์ ตั้งข้อสังเกตต่อไปว่า สมมติว่า หาก ป.ป.ช. มีคำสั่งชี้มูลช้า พล.ต.อ. ภาณุพงศ์ก็สามารถสู้ ต่อไปได้ จนกระทั่งศาลมีคำพิพากษาว่า พยานหลักฐานของกำนันอนุพงศ์ฟังไม่ขึ้น เขาก็เอาตรงนี้ไปหักล้างทำลาย นี่คือกำลังเดินเกมกันอยู่ แต่เมื่อศาลบอกว่า ป.ป.ช. ยังไม่ชี้มูล ศาลยังรับฟ้องไม่ได้ ก็คือ ศาลยกฟ้องไปเลย เพราะฉะนั้นเท่ากับว่า ในแง่ของการหาพยานหลักฐานเพื่อไปหักล้างในส่วนที่เป็นคำสั่งศาล ปิดประตูแล้ว ตอนนี้ พล.ต.อ. ภาณุพงศ์ กับกลุ่มตำรวจต้องเล่นเกมอื่น ตัวอย่างหนึ่ง กมลศักดิ์ เล่าว่า พล.ต.อ. ภาณุพงศ์เคยให้ตำรวจนอกราชการส่งหนังสือมาบอกให้เอาตัวนายอาซีซานไปคุยที่ สภ.สุไหงปาดี แต่ตำรวจที่ สภ.สุไหงปาดีไม่เอาด้วย
เราขยับไปถามถึงความเป็นไปได้เรื่องคดีกับกรณีการหายตัวไปของนายอับดุลเลาะห์ ในฐานะพยานที่เกี่ยวพันกับคดีทั้งหลายทั้งมวลเหล่านี้ กมลศักดิ์ บอกเพียงว่า ตอนที่เขาอยู่ที่ DSI เคยระบายความในใจว่า อึดอัดใจ แต่นั่นก็ไม่อาจปักใจได้ว่ามาจากเรื่องอะไร
“พอมีหลายเรื่องมาปะติดปะต่อก็ไม่อยากฟันธง ฟันธงไม่ได้เลยว่าหายเองหรือถูกอุ้มหาย DSI ก็พยายามฟันธงว่าถูกอุ้มหาย เพราะยังอยู่ระหว่างการคุ้มครองพยาน เจ้าหน้าที่ที่มีชื่อในการคุ้มครองพยานเป็นใคร แต่จะมีความผิดหรือไม่ถ้าพยานหายตัวไป ก็ต้องดูว่าเลินเล่อขนาดไหน คือ ดูว่าถ้าอับดุลเลาะห์หายไปคนหนึ่งทำให้คดีทั้งหมดมีปัญหา…ก็ไม่ เพราะยังมีพยานคนอื่นๆ อีกเยอะแยะ”
กมลศักดิ์ ระบุว่า ทุกคนได้ไปให้การต่อ ป.ป.ช. หมดแล้ว ดังนั้น ถ้าจะหายตัวไปก็ควรจะหายตัวไปก่อนหน้านี้ เพราะตอนนี้มันเลยขั้นตอนไปหมดแล้ว
“เอาไปตอนนี้แล้วจะมีประโยชน์อะไร ถ้าอับดุลเลาะห์กำลังจะไปให้การ ก็ว่าไปอย่าง แต่ตอนนี้ทุกคนไปให้การหมดแล้ว อยู่ระหว่างการรวบรวมสำนวนเพื่อชี้มูลการวินิจฉัย ส่วนที่ว่าทำไมยังมีการคุ้มครองพยานนั้น เท่าที่รู้คือ การคุ้มครองไม่ได้มีแค่ช่วงก่อนขึ้นศาลเท่านั้น หลังขึ้นศาลก็ต้องคุ้มครอง จนกว่าคดีจะสิ้นสุด”
การหายตัวไปของ ‘อับดุลเลาะห์ อาบูคารี’ ยังคงเป็นปริศนาทั้งยังเกี่ยวพันกับบุคคลหลายฝ่าย แม้ว่าเราไม่อาจจะชี้ชัดลงไปในด้านใดได้ แต่เชื่อว่าการติดตามนำข้อสังเกตและข้อมูลจากหลายๆด้านมานำเสนอจะเป็นประโยชน์ในการคลี่คลายปมต่างๆที่เคยขมวดแน่น เพราะเราเชื่ออย่างนั้น เราจึงอยากให้ทุกท่านโปรดติดตามตอนต่อไป.