ชื่อบทความเดิม: คำพิพากษาคดี ชุมชนบ้านแม่อมกิ ภาพสะท้อนความขัดแย้งทางนโยบาย และการบังคับใช้กฎหมายที่ปลายเหตุ จิระ ณ จันทร์ เขียนถึงกรณีคำพิพากษาคดี ชุมชนบ้านแม่อมกิ ซึ่งชาวบ้านถูกฟ้องในความผิดฐานบุกรุกป่า ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าสะท้อนให้เห็นปัญหาทางนโยบาย และการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง
นาง น่อเฮหมุ่ย เวียงวิชชา และนายนาย ดิ๊แปะโพ ไม่มีชื่อสกุล ประชาชนใน ชุมชนบ้านแม่อมกิ ตำบลแม่วะหลวง อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ชาวปกาเกอญอ ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 ในความผิดต่อพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 และความผิดต่อพระราชบัญญัติป่าสงวน พ.ศ. 2507 ข้อหาร่วมกันยึดถือ ครอบครองที่ดิน ตัด โค่น ก่นสร้างแผ้วถางป่า ทำประโยชน์ในที่ดินเขตป่าสงวนแห่งชาติฯ และพนักงานอัยการฟ้องจำเลยเป็นคดีหมายเลขดำที่ 1770/2551 และ 1771/2551 ต่อศาลจังหวัดแม่สอด
ในศาลชั้นต้นคดีดังกล่าวจำเลยรับสารภาพ คดีจึงไม่มีการสืบพยาน ศาลชั้นต้นจึงพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิด ลงโทษจำคุก 1 ปีโดยไม่รอการลงโทษ แต่ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาว่ากระบวนพิจารณาคดีไม่ชอบ เนื่องจากจำเลยไม่มีทนายความ และล่ามไม่ได้สาบานตัว ศาลอุทธรณ์จึงพิพากษากลับให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีใหม่
ภายหลังการสืบพยานโจทก์และจำเลยคดีนาง น่อเฮหมุ่ย เวียงวิชชา เมื่อวันที่ 18 และ 19 กุมภาพันธ์ 2553 ศาลได้มีคำพิพากษาเป็นคดีหมายเลขแดงที่ 1737/2551 เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2553 โดยคำพิพากษาได้อ้างเหตุการทำเกษตรแบบไร่หมุนเวียน ซึ่งมีมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 30 มิถุนายน 2541 ผ่อนผันให้อยู่อาศัย และทำกินได้ และประเด็นเรื่องจำเลยสำคัญผิดว่าตนเองสามารถอยู่อาศัย และทำกินในพื้นที่ป่าสงวนดังกล่าวได้ การกระทำของจำเลยจึงขาดเจตนา จึงพิพากษายกฟ้อง
แม้คำพิพากษาดังกล่าวจะอ้างถึงมติคณะรัฐมนตรี และข้อกฎหมายเรื่องการขาดเจตนา ซึ่งเป็นการให้น้ำหนักไปที่องค์ประกอบของกฎหมายมากกว่าประเด็นเรื่องสิทธิชุมชน แต่อย่างน้อยคำพิพากษาดังกล่าวก็ได้ยืนยันว่า ชุมชนบ้านแม่อมกิ ตำบลแม่วะหลวง อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก เป็นชุมชนที่อยู่อาศัย และทำกินมานานก่อนประกาศเขตป่าสงวนท่าสองยาง และมติคณะรัฐมนตรีที่ผ่อนผันให้ทำกินได้ก็เป็นไปเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการประกาศเขตป่าสงวนทับที่อยู่อาศัย และที่ดินทำกินของชุมชน
ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ไม่เพียง ชุมชนบ้านแม่อมกิ เท่านั้น แต่ยังมีชุมชนเป็นจำนวนมากที่ถูกประกาศเขตป่าสงวนหรือเขตอุทยานทับที่อยู่อาศัย และที่ดินทำกิน สะท้อนให้เห็นปัญหาทางนโยบาย และการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง และทำให้สังคมเข้าใจว่าชุมชนเข้าไปอยู่อาศัยและทำกินภายหลังการประกาศเขตป่าสงวน หรือเขตอุทยาน คนที่อยู่ในเขตป่ามาก่อนจึงถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกเข้าไป “บุกรุกทำลายป่า” ถูกจับกุม และดำเนินคดีเป็นจำนวนมาก
ย้อนไปพิจารณาทบทวนนโยบายการจัดการป่า และการบังคับใช้กฎหมายเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมของรัฐที่เดินหน้าประกาศพื้นที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจในภาคอุตสาหกรรมที่ต้องอาศัยการลดต้นทุนให้ต่ำลง เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ นำไปสู่การใช้ทรัพยากรธรรมชาติโดยไม่คำนึงถึงความเสื่อมโทรมที่เกิดขึ้น ความขัดแย้งในนโยบาย และการบังคับใช้กฎหมายของรัฐเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม จึงเป็นตลกร้ายที่นอกจากจะไม่สามารถจัดการปัญหาทรัพยากรสิ่งแวดล้อมได้แล้ว ยังสร้างความไม่เป็นธรรมให้กับประชาชนคนเล็กคนน้อยอย่างร้ายกาจอีกด้วย
คดี ชุมชนบ้านแม่อมกิ ทำให้เห็นปัญหาการบังคับใช้กฎหมายที่มองข้ามวิถีชีวิตของคนชายขอบที่อยู่อาศัย และทำมาหากินในพื้นที่ป่ามาแต่เดิม ดูแลรักษา ใช้ประโยชน์ เพื่อความมั่นคงในชีวิตของตนเอง และเพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติโดยรวม แต่กลับถูกขับไล่ออกจากป่า เพราะรัฐไม่เชื่อว่าคนหรือชุมชนดูแลรักษาป่าได้
ระบบไร่หมุนเวียนที่เป็นภูมิปัญญาของ ชาวปกาเกอญอ ซึ่งสอดคล้องกับระบบนิเวศน์ของป่า กำลังถูกจำกัดพื้นที่ลง บางพื้นที่ไม่สามารถทำไร่หมุนเวียนได้อีกต่อไป เมื่อไม่มีชุมชนที่คอยดูแลรักษา ในขณะที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้ไม่มีกำลังพอจะดูแลรักษาป่าได้ นโยบายการอนุรักษ์ป่าในทิศทางดังกล่าวได้ถูกพิสูจน์แล้วว่าไม่อาจบรรลุเป้าหมายในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมได้ และเป็นการแก้ปัญหาทรัพยากรที่ปลายเหตุ
ที่ยิ่งทำให้ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมถูกทำลายไปพร้อมกับชุมชนที่ถูกจับกุมดำเนินคดีและขับไล่ออกจากป่า พร้อมกับการละทิ้งวิถีชีวิตของชุมชน ซึ่งหมายถึงความมั่นคงในชีวิตที่ตนเองสามารถกำหนดได้ เข้าสู่เมืองเพื่อใช้แรงงาน หรือต้องหันมาใช้ระบบเกษตรเชิงเดี่ยวในพื้นที่จำกัด ซึ่งต้องใช้สารเคมี มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไม่ต่างจากเกษตรกรรมพื้นราบที่ยังไม่ได้ปรับตัวอย่างยั่งยืน
รัฐต้องหันมาทบทวนนโยบาย และการบังคับใช้กฎหมายที่ทำให้ชุมชนต้องอยู่ในสภาพที่หันเหออกจากทิศทางการใช้ประโยชน์ และรักษาทรัพยากรอย่างยั่งยืน หันมาสนับสนุนการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนอย่างเป็นธรรรม
กล่าวคือ นอกจากให้ชุมชนดูแลรักษาแล้วยังต้องเข้าใจว่าชุมชนสามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในชุมชนอย่างยั่งยืนได้ด้วย เพราะชุมชน และประชาชนจะมีความมั่นคงในชีวิตได้ต่อเมื่อสามารถเข้าถึงทรัพยากรของชุมชนได้ และเมื่อทรัพยากรคือความมั่นคงในชีวิต การใช้ทรัพยากรของชุมชนย่อมเป็นไปอย่างสมดุลและยั่งยืน และไม่เพียงชุมชนเท่านั้นที่จะได้ประโยชน์ สาธารณะก็จะได้ประโยชน์ด้วย เพราะทรัพยากรชุมชนก็คือทรัพยากรของประเทศและของโลก
สิทธิของชุมชนจึงสัมพันธ์กับการดูแลรักษา และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างมีนัยสำคัญ
ดังนั้น ความจริงประการหนึ่งที่ต้องยอมรับร่วมกันคือ มีประชาชนจำนวนมากอยู่อาศัย และทำกินในป่า และมีวิถีชีวิตที่สอดคล้องสมดุลกับระบบนิเวศน์ป่า ความจริงอีกประการหนึ่งคือ นโยบายของรัฐ และการบังคับใช้กฎหมายในปัจจุบันไม่สามารถบรรลุเป้าหมายในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมได้ รัฐจึงจำเป็นต้องเชื่อมั่นว่าชุมชนมีศักยภาพเพียงพอในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุลและยั่งยืน รัฐมีหน้าที่เพียงส่งเสริม สนับสนุนชุมชน
และที่สำคัญคือไม่จำกัดสิทธิของชุมชนในการรักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชุมชน เหล่านี้ น่าจะเป็นทางออกของปัญหาการจัดการทรัพยากรในปัจจุบัน
สำหรับกลไกการบังคับใช้กฎหมาย ได้แก่ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ นายอำเภอในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวน ตลอดจนพนักงานอัยการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากร ควรทบทวนการจับกุมดำเนินคดีกับประชาชน ในกรณีที่เป็นชุมชนที่อยู่มาก่อนการประกาศเขตป่าสงวนหรือเขตอุทยานทับที่อยู่อาศัย และที่ดินทำกิน
เพราะหากดำเนินคดีกับคนเหล่านี้แล้ว เมื่อพ้นโทษจำคุกก็อาจจะกลับมาอยู่อาศัย และทำกินที่เดิมที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษ เนื่องจากไม่รู้จะไปอยู่อาศัยหรือทำมาหากินที่ไหนได้ หรือหากคนเหล่านี้ยอมย้ายออกจากพื้นที่ ผลต่อเนื่องที่จะเกิดขึ้นคือปัญหาความยากจน การอพยพเข้าเมืองเพื่อทำมาหากิน และเกิดปัญหาคนจนเมืองสืบเนื่องต่อไปไม่สิ้นสุด
จนอาจกล่าวได้ว่าทิศทางการแก้ปัญหาป่าไม้ที่ดิน และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ผ่านมาได้สร้างปัญหาอื่นๆ ตามมามากมาย แต่ผู้ก่อมลพิษหรือผู้ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมที่เป็นสาเหตุสำคัญในการทำให้สภาพแวดล้อมเสื่อมโทรมกลับไม่ถูกดำเนินการทางกฎหมายอย่างจริงจัง
แม้จะกล่าวไม่ได้เต็มปากเต็มคำนักว่าศาลได้ยืนยันสิทธิชุมชนในคำพิพากษาคดี ชุมชนบ้านแม่อมกิ แต่ประเด็นสำคัญในคำพิพากษานี้คือการรับรองให้ ชุมชนบ้านแม่อมกิ ซึ่งอยู่อาศัย และทำกินในเขตป่าสงวนก่อนการประกาศเขตป่าสงวนทับที่อยู่อาศัย และที่ทำกินมีสิทธิที่จะอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ดังกล่าวต่อไปได้ แม้คำพิพากษาจะให้น้ำหนักกับมติคณะรัฐมนตรี และประเด็นเรื่องจำเลยไม่มีเจตนาบุกรุกเนื่องจากสำคัญผิดว่าตนเองทำกินในที่ดินพิพาทได้ก็ตาม
แต่คำพิพากษาคดีนี้ทำให้สังคมได้เห็นบทบาทของศาลในการทำหน้าที่พิพากษาคดีอย่างเป็นธรรม และสอดคล้องกับความเป็นจริงเรื่องสิทธิชุมชนมากขึ้น ในทางกฎหมายมติคณะรัฐมนตรีไม่ใช่กฎหมายและพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 และความผิดต่อพระราชบัญญัติป่าสงวน พ.ศ. 2507 ก็ยังมีสภาพบังคับใช้อยู่ หากจะเลือกพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยและรอลงอาญาก็ย่อมทำได้ แต่คำพิพากษานี้แตกต่างออกไป
จึงถือเป็นอีกก้าวหนึ่งของสิทธิชุมชนผ่านกระบวนการยุติธรรม และอาจเป็นแนวทางหนึ่งแก่ภาคประชาชนในการทำงานกันต่อไป โดยเฉพาะองค์กรและชุมชนในพื้นที่ตำบลแม่วะหลวง เพราะปัจจุบัน ตำบลแม่วะหลวง อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ตำบลแม่สวด อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน และตำบลนาเกียน อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ รวมพื้นที่ทั้งหมดจำนวน 257,650 ไร่ อยู่ระหว่างดำเนินการประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติแม่เงา…
ที่มา: http://www.prachatai.com/journal/2010/03/28535