การอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง สิทธิมนุษยชน ความยุติธรรมทางสังคม และ การปกครองโดยหลักนิติธรรม จัดโดย สถาบันเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (Asian Institute for Human Rights, Thailand : AIHR) และ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Center for Social Development Studies : CSDS) วันที่ 10-25 พฤษภาคม 2553
เป้าหมายการอบรม
เพื่อให้นักกิจกรรมที่มีประสบการณ์การทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในระดับหนึ่ง ทั้งในพื้นที่และในประเด็นปัญหาที่หลากหลาย ได้มีโอกาสทบทวน และตริตรองเกี่ยวกับแนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนในหลายแง่มุม อาทิ การนำแนวคิดดังกล่าวมาใช้ในสังคมไทยประสบปัญหาหรือไม่อย่างไร แนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนอาจไม่สามารถนำมาใช้โดยลำพังได้หรือไม่ จำเป็นต้องเชื่อมโยงกับแนวคิดอื่นๆ หรือไม่อย่างไร
เช่นเชื่อมกับแนวคิดความยุติธรรมทางสังคม (social justice) การปกครองโดยหลักนิติธรรม ( the rule of law) อัตลักษณ์ (identity) พลวัตของอำนาจ (dynamics of power) และการเสริมสร้างอำนาจ (empowerment) เป็นต้น พร้อมกันนี้เพื่อให้ผู้เข้าอบรมได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนที่ผ่านมา เพื่อเพิ่มพูนทักษะในการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนให้มีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น
หลักสูตรการอบรม
1. เนื้อหาการอบรม
ส่วนที่ 1 สถานการณ์ทั่วไปด้านสิทธิมนุษยชนและความยุติธรรมในสังคมไทย: แลกเปลี่ยนประสบการณ์และทำความเข้าใจเกี่ยวกับบริบททางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมไทย ในประเด็น อาทิ อะไรที่เป็นปัจจัยที่ส่งเสริม หรือ ละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นต้น
ส่วนที่ 2
2.1 แนวคิดเรื่องการปกครองโดยหลักนิติธรรม (rule of law) และประชาธิปไตย: การปกครองโดยหลักนิติธรรมคืออะไร เกี่ยวข้องกับประชาธิปไตยอย่างไร และรูปแบบต่างๆ ของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
2.2 ทำความเข้าใจบริบทของระบบการเมืองเศรษฐกิจและสังคมของไทย โดยยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม
– ทบทวนพัฒนาการและประวัติศาสตร์ของระบบการเมืองและการปกครองของไทย รวมไปถึงพัฒนาด้านสิทธิด้านต่างๆ และพัฒนาการของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยใช้แนวคิดการปกครองโดยหลักนิติธรรมและประชาธิปไตยเป็นกรอบคิด
2.3 ความยุติธรรมทางสังคมกับสังคมไทย
– แนวคิดความยุติธรรมทางสังคม (social justice)
– ทบทวนรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของไทยในเชิงประวัติศาสตร์และนโยบายในมุมมองความยุติธรรมทางสังคม เช่น ทบทวนว่านโยบายการพัฒนาส่งผลกระทบต่อความยุติธรรมทางสังคมหรือไม่อย่างไร
– ทบทวนนโยบายของรัฐบาลไทยในประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนในอดีตและปัจจุบัน ส่งผลกระทบอย่างไรต่อประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า กัมพูชา และ เวียดนาม รวมทั้งสภาพการณ์ของประเทศเพื่อนบ้านเหล่านั้นส่งผลกระทบอย่างไรต่อสังคมและรัฐบาลไทย
ส่วนที่ 3 ทำความเข้าใจรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กลไกการบังคับใช้ และ หลักสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
– อภิปรายรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และ 2550
– อภิปรายลักษณะทั่วไปของกระบวนการยุติธรรมไทย ระบบศาลไทย การจับกุม การดำเนินคดี และกฎหมายที่เปิดช่องให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น พระราชบัญญัติความมั่นคง โดยใช้กรอบคิดเรื่องการปกครองโดยหลักนิติธรรม ความยุติธรรมทางสังคม และแนวคิดประชาธิปไตย
– พิจารณาหลักสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ปรากฏอยู่ อาทิ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (the Universal Declaration of Human Rights) และกติการะหว่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ เช่น กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights : ICCPR) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (International Covenant on Economic Social and Cultural Rights : ICESCR) เป็นต้น ส่งผลอย่างไรต่อรัฐธรรมนูญไทยและกลไกอื่นๆของรัฐไทย รวมทั้งต่อการทำงานของผู้ที่เคลื่อนไหวด้านสินทธิมนุษยชนในสังคมไทย
ส่วนที่ 4 แนวคิดอำนาจและความสัมพันธ์เชิงอำนาจ (power and power relations) การเสริมสร้างอำนาจ (empowerment)
– แนวคิดเรื่องอำนาจมิติต่างๆ และพลวัตรของอำนาจ (dynamics of power)
– แนวคิดเรื่องการเสริมสร้างอำนาจ (empowerment)
ส่วนที่ 5 การประยุกต์ใช้แนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนในการแก้ไขปัญหาอย่างเชื่อมโยงกับแนวคิดอื่นๆ
– บ่งชี้ปัญหาหลัก ด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองการปกครอง รวมไปถึงปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน และประเด็นอ่อนไหวอื่นๆ ที่ผู้เข้าอบรมได้แลกเปลี่ยนจากหัวข้อก่อนหน้า โดยใช้แนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชน การปกครองโดยหลักนิติธรรม ความยุติธรรมทางสังคม เป็นแนวทางในการวิเคราะห์
– วิเคราะห์และอภิปรายประสบการณ์ของขบวนการเคลื่อนไหวในสังคมไทย (social movement) เช่น ขบวนการสิทธิสตรี สมัชชาคนจน เป็นต้น โดยใช้แนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนในการวิเคราะห์อย่างเชื่อมโยงกับแนวคิดสำคัญอื่นๆ อาทิ การปกครองโดยหลักนิติธรรม แนวคิดเรื่องการพัฒนา ความยุติธรรมทางสังคม และความสัมพันธ์ทางอำนาจ ในประเด็นวิเคราะห์ อาทิ จุดแข็ง-จุดอ่อนของขบวนการทางสังคมในประเทศไทย ยุทธศาสตร์การเคลื่อนไหวและการรณรงค์ที่ผ่านมา โดยระหว่างการอภิปรายผู้เข้าอบรมจะแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเคลื่อนไหวระหว่างกัน เพื่อให้การเคลื่อนไหวรณรงค์เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนในสังคมไทยมีประสิทธิผลยิ่งขึ้นในทางปฏิบัติ หรือ /และ การทัศนะศึกษา
– วิเคราะห์และอภิปรายกลไกด้านสิทธิมนุษยชน ระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับสากล
– อภิปรายการพัฒนานโยบายด้านสิทธิมนุษยชนและนโยบายการพัฒนา
ส่วนที่ 6 รายงานวิจัยด้านสิทธิมนุษยชน และการอบรม อบรมแนวทางในการวิเคราะห์และเขียนบทความวิจัย: การสืบหาข้อเท็จจริง (fact finding) วิธีการรวบรวม การเขียนจดหมายร้องเรียน ใบแถลงข่าว และ แถลงการณ์
ผู้เข้าอบรมต้องเขียนงานวิจัยด้านสิทธิมนุษยชน 1 ชิ้น และนำเสนอ
2. รูปแบบการอบรม
การอบรมเชิงปฏิบัติการ (workshop) เน้นการสัมมนา (seminar) และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกันของผู้เข้าอบรม และระหว่างผู้เข้าอบรมกับวิทยากร โดยประเด็นที่แลกเปลี่ยนมีอาทิ ปัญหาที่ประสบจากการทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ทั้งปัญหาด้านข้อกฎหมาย ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ กลไกต่างๆ ด้านสิทธิมนุษยชน ยุทธศาสตร์การคลื่อนไหว เป็นต้น รวมทั้งอภิปรายถึงแนวคิดอื่นๆ ที่อาจเข้ามาเสริมให้แนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชน ให้มีความลุ่มลึกและมีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติมากขึ้น เมื่อนำมาประยุกต์ใช้ในสังคมไทย
3. คณะวิทยากร
คณะวิทยากรประกอบด้วยนักวิชาการจาก ศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยอื่นๆ ในประเทศไทย รวมทั้งนักกิจกรรมในประเทศไทย ที่มีความเชี่ยวชาญในประเด็นเฉพาะด้าน
4. ผู้เข้าร่วมอบรม
ผู้เข้ารับการอบรมมีจำนวนประมาณ 15-20 คน
5. ภาษาที่ใช้ในการอบรม
อบรมเป็นภาษาไทย
6. สถานที่การอบรม และที่พัก
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถนนพญาไท เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร
7. คุณสมบัตรผู้สมัครเข้ารับการอบรม
1. มีอายุระหว่าง 23-35 ปี โดยประมาณ
2. สามารถอ่านและเขียนภาษาไทยได้อย่างคล่องแคล่ว
3. เป็นนักกิจกรรม นักกฎหมายรุ่นใหม่ ผู้นำชุมชน เจ้าหน้าที่รัฐ หรือสมาชิกกลุ่มเสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิ เช่น ผู้นำแรงงาน คนงานพลัดถิ่น คนพื้นเมือง เป็นต้น
4. มีประสบการณ์ในการทำงานอย่างน้อย 1 ปี ในประเด็นเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ความมั่นคงของมนุษย์ ความยุติธรรมทางสังคม การพัฒนาทางสังคม หรือประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
5. สามารถเข้าร่วมการอบรมได้ตลอดระยะเวลาที่จัดการอบรม
8. วุฒิบัตร: ผู้ที่เข้าร่วมการอบรมตลอดโครงการและส่งรายงานบทความวิจัยด้านสิทธิมนุษยชนเท่านั้น จึงมีสิทธิที่จะได้รับวุฒิบัตร
9. ค่าลงทะเบียน: 5,000 บาท (ห้าพันบาทถ้วน) รวมค่าอาหาร ที่พัก อุปกรณ์การอบรม (สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียมีทุนการศึกษาให้กับผู้ที่สนใจ โดยพิจารณาตามคุณสมบัติของผู้เข้าสมัคร ทั้งนี้ ให้แจ้งความประสงค์ของท่านพร้อมเขียนอธิบายถึงความจำเป็นในการขอรับทุนดังกล่าว และส่งมาพร้อมกับใบสมัคร)
10. ขั้นตอนการสมัคร: ผู้สนใจเข้าร่วมการอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้สามารถดาวน์โหลดใบสมัครได้จากเว็บไซด์ http://www.csds.polsci.chula.ac.th/ , www.thaingo.org, www.naksit.org หรือขอรับใบสมัครจากผู้ประสานงานหลักสูตร
เอกสารการสมัครประกอบด้วย
1. ใบสมัครที่กรอกข้อมูลครบถ้วน
2. จดหมายรับรองผู้สมัครจากองค์กรต้นสังกัด
3. สำหรับผู้มีความประสงค์ขอรับทุนจากสถาบัน กรุณาแนบจดหมายอธิบายความจำเป็นมาพร้อมกันด้วย
โดยท่านสามารถส่งเอกสารข้างต้นทั้งหมดมาได้ที่ อีเมล์ laninnehr@gmail.com หรือ โทรสาร 02-652 3021 หากมีข้อสงสัยกรุณาติดต่อ จารุวรรณ (ผู้ประสานงานโครงการ) โทร 02-6523020, 02-6523021 มือถือ 087 0797906
องค์กรร่วมจัด
– สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (Asian Institute for Human Rights, Thailand)
สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งเอเซีย (AIHR) ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ 2548 มุ่งทำงานเพื่อสร้างความเข้มแข็งด้านทฤษฎีและการดำเนินกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน โดยส่งเสริมการเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบระหว่างนักวิชาการกับนักกิจกรรม และสนับสนุนให้เกิดกระบวนการเชื่อมต่อกันอย่างต่อเนื่องระหว่างการทำกิจกรรมกับการทบทวนตริตรอง นอกจากนั้น สถาบันยังทำหน้าที่เป็นองค์กรให้การสนับสนุนด้านทรัพยากรต่อการทำกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคเอเชีย อีกทั้งยังเป็นผู้นำประสบการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนจากภูมิภาคอื่นๆทั่วโลกมาเผยแพร่อีกด้วย
– ศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคม คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคมก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2528 เพื่อสนับสนุนงานวิชาการและงานวิจัยในประเด็นด้านการพัฒนาสังคมและประเด็นที่เกี่ยวข้อง ศูนย์มีเป้าหมายเพื่อยกระดับความตระหนักและความเข้าใจในประเด็น การพัฒนาสังคมและกระบวนการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาสังคม โดยส่งเสริมการเชื่อมโยงแนวคิดทฤษฎีเข้ากับความเป็นจริงในสังคม และสนับสนุนการเชื่อมโยงระหว่างการสอนและการวิจัย
คณะกรรมการหลักสูตร
1. รองศาสตราจารย์ ม.ร.ว. พฤทธิสาณ ชุมพล ประธาน สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย และประธานหลักสูตร
2. นางสาว กัลปาลาตา ดัตตา ผู้อำนวยการ สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย และผู้อำนวยการหลักสูตร
3. อาจารย์ ดร. นฤมล ทับจุมพล ผู้อำนวยการโครงการหลักสูตรศิลปศาสตร์ มหาบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาระหว่างประเทศ (หลักสูตรนานาชาติ) คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเลขานุการบริหาร ศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคม
4. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรรมการศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคม
5. รองศาสตราจารย์ ดร. เอก ตั้งทรัพย์วัฒนา อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรรมการศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคม
6. นาย ศราวุฒิ ประทุมราช นักวิชาการอิสระ และนักเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน
7. นาย ไพโรจน์ พลเพชร สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ และนักเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน
8. นางสาว อนงค์ กาญจนประภากุล เลขานุการศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคม
9. นางสาว โสธรสินี สุภานุสร ผู้ประสานงานสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย
10. นางสาว จารุวรรณ แก้วมะโน ผู้ประสานงานหลักสูตร