[:th]CrCF Logo[:]

ถอดบทเรียนกรณีชาวบ้านปางแดงกับผืนป่า: มองหาสิทธิ เสรีภาพ เสมอภาค ในสังคมไทย ตอนที่ 1 โดย องอาจ เดชา

Share

เมื่อเอ่ยถึง ‘ปางแดง’ เชื่อว่าหลายคนที่สนใจในเรื่องประเด็นสิทธิมนุษยชนคงจะจำ และคุ้นเคยกันดี เนื่องจากเป็นกรณีตัวอย่าง เมื่อเกิดเหตุการณ์ เจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งตำรวจ ทหาร ป่าไม้ อส. ฯลฯ ร่วม 200 นาย สนธิกำลังเข้าปิดล้อม และจับกุมชาวบ้านปางแดงถึง 3 ครั้งติดต่อกัน โดยครั้งหลังสุด เมื่อปี 2547 มีการจับกุม 48 ชีวิต ไม่เว้นแม้คนพิการขาขาด ตาบอด และหญิงท้องแก่ ในข้อหาบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ ขณะพักอยู่ในกระท่อมของตนเอง

ภาพการจับกุมของเจ้าหน้าที่ในครั้งนั้นทำให้สังคมมองว่า นี่เป็นการจับกุมแบบเหวี่ยงแห และถือว่าเป็นละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง กระนั้น เหตุการณ์ปางแดงที่ผ่านมา ก็ได้สร้างกระแสการตื่นตัวในเรื่องของสิทธิมนุษยชนขึ้นอย่างมาก ซึ่งดูได้จากมีหยิบยกนำเอากรณีปัญหาบ้านปางแดง ไปเป็นวิทยานิพนธ์ รวมทั้งงานข่าว งานสารคดี รวมทั้งทำให้ชาวบ้านได้ตื่นตัว ตระหนัก เกิดการเรียกร้องไปยังหลายๆ หน่วยงาน อาทิ อำเภอ จังหวัด ป่าไม้ วุฒิสภา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาที่ปรึกษา รวมทั้งสหประชาชาติ เป็นต้น

และเมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2552 ที่ผ่านมา ที่หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มีเวทีสาธารณะนำเสนอประสบการณ์และบทเรียนการแก้ไขปัญหาชุมชนบ้านปางแดง ซึ่งมีประเด็นน่าสนใจอย่างยิ่ง ‘ประชาไท’ จึงขอนำมารายงานไว้ตรงนี้

อนุสัญญาระหว่างประเทศไม่ช่วย รัฐไทยยังมีอคติต่อชนเผ่า นายวสันต์ พานิช ผู้อำนวยการสถาบันนักกฎหมายและสิทธิมนุษยชน อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ตนได้มีโอกาสเข้าไปในคุกครั้งแรก ก็เมื่อตอนที่พี่น้องปางแดงถูกจับ และติดคุก ซึ่งได้เข้าเยี่ยม พร้อมกับอาจารย์เสน่ห์ จามริก อดีตประธานกรรมการสิทธิมนุษยชน

พร้อมสอบข้อเท็จจริง ซึ่งเมื่อพูดถึงเรื่องประชาชน หรือชนเผ่าหรือใครก็แล้วแต่ ในรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 ได้รับรอง และบัญญัติไว้ในมาตรา 4 ที่บอกว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพ ย่อมได้รับความคุ้มครอง ก็หมายความว่า ใครที่อยู่ในประเทศไทย ไม่ว่าจะยากดีมีจน เป็นชนเผ่า หรือนับถือศาสนาใดๆ ก็ต้องได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญอย่างเท่าเทียมกันหมดเลย และพี่น้องชนเผ่าก็เหมือนกับคนทั่วไป

และปี 2550 มีการแก้ข้อความเพิ่มเติมขึ้นมาว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือศักดิ์ศรีความเป็นคน ได้รับสิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง โดยมีคำว่า “เสมอภาค” เข้ามา “นอกจากนั้น เมื่อปี พ.ศ. 2546 ประเทศไทยเราก็เป็นภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยการปฏิบัติและเลือกขจัดทางเชื้อชาติโดยทุกรูปแบบ โดยที่ประเทศไทยเป็นภาคีและมีนายทหารจากรัฐธรรมนูญมา ขณะนั้น นายสัก กอแสงเรือง เป็นสมาชิกวุฒิสภา มาให้ความเห็น และมี ดร. บรรเจิด สิงคะเนติ (อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ได้มาให้ข้อมูลความเห็นทางกฎหมาย

ผลสรุปในวันนั้น ก็คือ พี่น้องปางแดงเขาอยู่ตรงนั้นมานานแล้ว แต่ขณะเดียวกัน วันนั้นมีการเข้าจับกุมชาวบ้านตอนเช้ามืด และมีการสนธิกำลังโดยมีการระดมกำลังทั้งตำรวจ ทหาร เจ้าหน้าที่ป่าไม้ เข้ามา เหมือนกับการยกทัพเพื่อที่จะไปออกรบเข้าไปจับพี่น้อง และไล่ลงมาเพื่อมาทำบัญชี แต่ในที่สุดแล้ว มาระบุความผิดที่เกิดขึ้น คือ การแผ้วถางป่า ทั้งที่บ้านนั้นเขาได้มาอยู่นาน แล้วเข้าไปจับข้อหานี้ได้อย่างไร อุตริหรือเปล่า ไปตั้งข้อหา ยังไม่พอ การเข้าไปวันนั้น ถ้ามามีหมายจับแล้ว เขาจะหาข้ออ้างอะไรมาเป็นตัวกำหนด เป็นตัวช่วย และปรากฏว่าเขามีการอ้างว่าใช้พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก และมีการส่งสำเนาให้กับทางอัยการ…”

นายวสันต์ ยังวิเคราะห์ต่อว่า ที่ผ่านมา สายตาของภาครัฐ ยังคงมองชาวเขาหรือชนเผ่า ด้วยสายตา และความคิดที่มีอคติอยู่เสมอ มักมองว่า ชนเผ่าค้ายาเสพติด ตัดไม้ทำลายป่า “และสิ่งเหล่านี้ถูกสั่งสมและสั่งสอนมา มีการถูกฝังแนวความคิดมาอย่างนี้กี่ยุคกี่สมัย ก็ออกมาแนวนี้ พอเป็นอย่างนี้ การที่มองต่อกลุ่มชาติพันธ์จึงมองในความรู้สึกที่เป็นอื่น ทั้งที่โดยหลักสิทธิมนุษยชนก็คือ… มนุษย์ทั้งปวงคือผองเพื่อน” ทำไมถึงจับกุมซ้ำซากถึง 3 ครั้ง?

ในขณะ นายสุมิตรชัย หัตถสาร ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น ซึ่งเป็น 1 ใน 7 ทนายความที่ใช้ตำแหน่งประกันตัวชาวบ้านปางแดงทั้ง 47 คนออกมา ได้ให้ข้อมูลเบื้องหลังว่า กรณีชาวบ้านปางแดง ถูกจับกุม กระทั่งญาติชาวบ้านปางแดง ต้องมาชุมนุมอยู่ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ ยืดเยื้อนานร่วม 2 เดือน กระทั่ง ศาลให้มีการประกัน และนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณา จนนำไปสู่การเจรจาเพื่อให้มีการแก้ไขปัญหา

นายสุมิตรชัย กล่าวว่า อยากเสริมข้อมูลต่อจากทางคุณวสันต์ พานิช กรณีที่มีการส่งสำเนาให้กับอัยการด้วยว่าทำไมต้องมีการส่งสำเนาให้กับอัยการ ประเด็นคือว่า เขาต้องการให้อัยการไปคัดค้านกับการประกันตัว คือตอนที่ชาวบ้านปางแดงถูกจับกระบวนการของการฝากขัง จับกุม หรือส่งมาฝากขังที่เรือนจำนั้นเหมือนกับว่ามีการถูกออกแบบไว้พอสมควร เจ้าหน้าที่ตำรวจที่มาก็เตรียมทุกอย่างไว้หมดแล้ว และพี่น้องชาวบ้านปางแดงก็ถูกขังที่เชียงดาวคืนหนึ่ง รุ่งเช้าก็มีการฝากขังที่ศาล กระบวนการก็ต้องเป็นอย่างนั้น

“ตอนที่ถูกชาวบ้านปางแดงถูกจับนั้น ผมอยู่ที่ห้องประชุมโรงแรมในเมืองเชียงใหม่ มีการจัดประชุมเกี่ยวกับเรื่องสิทธิชุมชน โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งวันนั้นเองอาจารย์เสน่ห์ จามริก มาด้วย ตอนที่ชาวบ้านถูกจับทุกคนก็วิ่งเข้ามาในเวทีนี้ เพราะส่วนใหญ่ NGOs ก็จะอยู่ตรงนั้นทั้งหมด และมีการพูดคุยกันด้วยว่า ชาวบ้านปางแดงถูกจับและก็มีการพูดถึงเรื่องสิทธิชุมชนกันอยู่

ซึ่งอาจารย์เสน่ห์ จามริก ก็พูดขึ้นในเวทีเลยว่า…นี่เป็นตัวอย่างที่เกิดขึ้นในเรื่องของการละเมิดสิทธิชุมชน หลังจากนั้นก็มีการลงพื้นที่หลังจากเสร็จเวที ทุกคนก็ตรงไปที่บ้านปางแดง ที่ อ.เชียงดาว ซึ่งพี่น้องบ้านปางแดงเองก็อยู่ที่โรงพักทั้งหมด และทนายที่อยู่ในพื้นที่ก็ลงพื้นที่ตรงนั้น สภาทนายความฯ ทุกคนมีการรู้เรื่องของบ้านปางแดงทั้งหมดเลย ก็ต้องเลยลงมาช่วยกัน นี่เป็นที่มาของกระบวนการตอนที่ถูกจับ…”

นายสุมิตรชัย ได้ตั้งประเด็นที่น่าสนใจและชวนคิดกันต่อ…ว่าทำไมถึงมีการจับกุมซ้ำซากถึง 3 ครั้ง? “…สิ่งที่ผมรู้สึกเลยตอนนั้น คือ การตั้งคำถามกับตัวเองว่า ทำไมชาวบ้านปางแดงถึงมีการถูกจับเป็นครั้งที่ 3 เพราะว่าผมเองได้ศึกษา และติดตามคดีของปางแดงตั้งแต่ครั้งที่ 2 เมื่อปี 2541 มีโอกาสได้อ่านสำนวนคดี สอบถามข้อมูลจากผู้ที่เกี่ยวข้อง เพราะมีทั้งนักวิชาการ นักวิจัย ที่ลงไปทำงานในพื้นที่นั้นมากมาย

ในช่วงนั้นมีโครงการร่วมกันกับป่าไม้ เจ้าหน้าที่ในท้องที่ ที่จะมีการพัฒนาพื้นที่ตรงนี้ให้เป็นพื้นที่ที่เป็นโครงการร่วมกัน… แต่แล้วทำไมถึงมีการถูกจับกันเป็นครั้งที่ 3 และประเด็นคำถามต่อมา ก็คือ ทำไมถึงจับ จับแล้วกำลังสนธิ ระหว่างทหาร ตำรวจ อ.ส. ป่าไม้ ลักษณะเหมือนกับครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ที่ผ่านมา ซึ่งดูเหมือนกับว่า ยังไม่ได้สรุปบทเรียนอะไรเลย ครั้งแรก ชาวบ้านก็ถูกจับ ถูกติดคุกอยู่บางส่วน แต่ครั้งที่ 2 หลายองค์กรเริ่มมีประเด็นของการเคลื่อนไหว และตอนนั้นได้เข้าไปร่วมในการต่อสู้ มีการตั้งองค์กรเพื่อที่จะเข้ามาทำในเรื่องของกฎหมายโดยเฉพาะ เพื่อช่วยเหลือพี่น้องปางแดง มีสภาทนายความเข้ามาช่วย” ใช้รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นเครื่องมือในการต่อสู้

นายสุมิตรชัย กล่าวต่อว่า และครั้งนั้นเองก็มีความเคลื่อนไหวที่สำคัญครั้งหนึ่ง โดยมีการใช้รัฐธรรมนูญ 2540 มาเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ มีประเด็นเรื่องของการจับกุมมิชอบ ในเรื่องของการเข้าไปสนธิกำลังจับครั้งที่ 2 ก็บอกว่าเป็นการจับกุมมิชอบ มีการยืนคำร้องต่อศาลในการต่อสู้คดี “คดีปางแดงจึงเป็นบทเรียนชิ้นหนึ่งที่กระบวนการยุติธรรมสมัยนั้นเอามาถกกันเรื่องของการจับกุมมิชอบ และมีท่านหนึ่งที่เขียนออกมาเป็นตำรา โดยท่านได้อ้างถึงคดีของบ้านปางแดง ในปี 2541 กระทั่งมีการจับกุมครั้งที่ 3 อีกครั้ง อย่างที่พวกเรานั้นรู้กันอยู่” ส่วนราชการอ้าง ‘กฎอัยการศึก’ แต่ทหารที่เข้าร่วมสนธิกำลังปัดไม่ใช่

นายสุมิตรชัย ยังได้วิเคราะห์ถึงประเด็น การจับกุมชาวบ้านปางแดงนั้นเป็นเรื่องของการจับกุมโดยมิชอบ แต่ในช่วงเวลานั้น ทางส่วนราชการ ที่นำกำลังเข้าจับกุมกลับออกมาอ้างต่อสื่อมวลชน ว่าได้ใช้ ‘กฎอัยการศึก’ จนกลายเป็นประเด็นร้อน และมีการเชิญตัวแทนฝ่ายทหารมาสอบถาม “ตอนนั้น ทางส่วนราชการได้อ้างต่อหลายฝ่าย รวมทั้งมีการอ้างต่อกรรมาธิการของสมาชิกวุฒสภา (ส.ว.) ด้วยซ้ำไปที่ว่าเขาได้ใช้ ‘กฎอัยการศึก’ ก็เป็นประเด็นหนึ่งที่ทางกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้เรียกหน่วยงานทางทหารมาสอบถามว่า เป็นการใช้กฎอัยการศึกจริงหรือไม่ ซึ่งก็มีตัวแทนทหารมาให้ข้อมูล เขาก็มีการตอบไว้ว่า ‘ไม่ใช่กฎอัยการศึก’ ที่ทหารเข้ามาร่วม ก็เพราะทางหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องนั้นขอความร่วมมือมา และประเด็นเรื่องของกฎอัยการศึกก็มีความชัดเจนในเวทีครั้งนั้นว่า ไม่ใช่เป็นเรื่องของการใช้กฎอัยการศึก นั่นก็หมายความว่า การจับกุมครั้งนั้นเป็นการจับกุมโดยไม่ชอบโดยกฎหมาย ถ้าไม่ใช้กฎอัยการศึก”

นายสุมิตรชัย กล่าวต่อว่า เพราะว่าในขณะนั้น ยังไม่มี พ.ร.บ. ฉุกเฉิน นั่นหมายความว่า การจะจับกุมผู้ใดในบ้าน ในที่รโหฐาน ก็ต้องมีหมายค้นหรือหมายจับของศาลตามรัฐธรรมนูญ แต่กรณีปางแดง ไม่มีหมายศาล เพราะฉะนั้น ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ชัดเจนมาก และเป็นประเด็นที่ออกสื่อสารมวลชน ต่อหน้าสาธารณะออกไป ว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างชัดเจน “อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ครั้งนั้น หลายฝ่ายหลายองค์กรพยายามจะหาเข้าไปดำเนินการช่วยเหลือชาวบ้านปางแดง แต่ก็ไม่ทันการ เมื่อชาวบ้านนั้นอยู่ในเรือนจำไปเรียบร้อยแล้ว อีกทั้ง ไม่สามารถที่จะประกันตัวได้ เพราะว่าพี่น้องชาวบ้านปางแดงนั้นไม่มีหลักทรัพย์ ไม่มีที่ดิน ไม่มีทรัพย์สิน และตอนนั้นก็ไม่สามารถที่จะหาผู้ที่มาประกันตัวได้”

โปรดติดตามตอนต่อไป…

RELATED ARTICLES