[:th]CrCF Logo[:]

เมื่อพ่อหนูถูกจับ…อีกหนึ่งความจริงที่รัฐไม่ควรละเลย โดย ปรัชญา โต๊ะอิแต | สถาบันอิศรา

Share

ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น แม้จะมีตัวชี้วัดบางตัวที่สะท้อนให้เห็นว่าสถานการณ์กำลังดีขึ้น แต่ก็ยังมีบางแง่มุมที่รัฐค่อนข้างละเลย โดยเฉพาะการให้ความช่วยเหลือเยียวยาครอบครัวผู้ต้องขังหรือผู้ต้องหาทั้งที่ถูกจับกุม และถูกวิสามัญฆาตกรรม ซึ่งกำลังเพิ่มมากขึ้นทุกที

ที่ผ่านมารัฐไม่ค่อยใส่ใจดูแลคนกลุ่มนี้ เพราะมองว่าเป็นครอบครัวของกลุ่มคนที่สร้างปัญหา แต่รัฐลืมไปว่าการช่วยเหลือเยียวยาโดยไม่เลือกว่าเขาเป็นใคร อยู่ฝ่ายไหน หรือกระทำผิดพลาดอย่างไร จะเป็น “จุดเปลี่ยน” ในสงครามแย่งชิงมวลชนครั้งนี้เลยทีเดียว

นิพนธ์ บุญญามณี ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งทำงานคลุกคลีในพื้นที่มาเนิ่นนานก็ยังบอกว่า การเข้าไปช่วยเหลือเยียวยากลุ่มแม่หม้ายกับเด็กกำพร้า ตลอดจนครอบครัวของผู้ต้องขังคดีความมั่นคงซึ่งมีอยู่ถึง 548 คน (นับเฉพาะในเรือนจำสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้) จะเป็นทิศทางใหม่ที่ช่วยลดความหวาดระแวง และหนุนเสริมกระบวนการตามมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ที่กำลังเตรียมการทดลองใช้นำร่องใน 4 อำเภอของ จ.สงขลา อันเป็นการเปิด “แนวรบทางความคิด“ อย่างจริงจังครั้งแรกในสถานการณ์ความไม่สงบที่ต่อเนื่องยาวนานมากว่า 6 ปีเต็ม

แต่ปัญหาก็คือ “คนของรัฐ” ได้ปรับกระบวนทัศน์ในเรื่องนี้แค่ไหน เพราะในแต่ละช่วงเวลาที่ผ่านไป ยังพบครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบและรู้สึกว่าตัวเอง “ไม่ได้รับความเป็นธรรม” อยู่มากมายในดินแดนแห่งนี้…

ถนนลาดยางสายแคบ คดเคี้ยว สูงต่ำลัดเลาะไปตามขอบเขาและป่าทึบในพื้นที่ ต.บาละ อ.กาบัง จ.ยะลา คือเส้นทางสู่บ้านของ มะรอนิง กาซอ กับครอบครัวขนาดใหญ่ของเขา แต่บ้านที่มีสมาชิกนับสิบคนนี้ เป็นเพียงบ้านหลังเล็กๆ ที่ยังสร้างไม่เสร็จ

มะรอนิง ในฐานะหัวหน้าครอบครัว ถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจับกุมไปเมื่อวันที่ 28 มี.ค.2552 ด้วยเหตุผลซ้ำๆ กับที่ผู้คนอีกจำนวนมากต้องสูญสิ้นอิสรภาพ ก็คือ…”เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ความไม่สงบ” และนับจากวันนั้นเขาก็มีหน้าที่ต้องรอพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเองอยู่ในเรือนจำ ไม่ได้ออกมาภายนอกอีก

ทั้งๆ ที่ภารกิจในการพิสูจน์ความถูกผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และกระบวนการยุติธรรมระบบกล่าวหาของไทย คือหน้าที่ของพนักงานสอบสวนกับอัยการ ส่วนผู้ถูกกล่าวหานั้น มีบทบัญญัติรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ…กฎหมายสูงสุดของประเทศนี้ว่า ให้ถือเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่ามีความผิด
แต่ดูเหมือนในดินแดนปลายด้ามขวาน หลักการในเรื่องเหล่านี้จะกลับทิศกันไปหมด

ที่บ้านหลังย่อมและยังสร้างไม่เสร็จริมถนนสายโค้ง จึงมีเพียง แวแยนะ ยีปาเนาะ ภรรยาของมะรอนิง แบกรับภาระทั้งหนี้สินกับลูกๆ อีก 6 คน (จาก 9 คน) ที่ยังอยู่ในวัยเรียน ลูกๆ บางคนต้องหันหลังให้โรงเรียน ทิ้งความใฝ่ฝันเรื่องการศึกษาไว้ข้างหลัง เพื่อประคับประคองให้อีกหลายชีวิตในครอบครัวต้องอยู่รอดต่อไปวันต่อวัน

สุไรดา กาซอ เด็กสาววัย 18 ปี ลูกสาวคนที่ 2 ของครอบครัว เล่าย้อนถึงเหตุการณ์ที่พ่อของเธอโดนจับ แม้มันจะผ่านมาเกือบปีแล้ว แต่ก็ยังจำได้ไม่ลืม

“พ่อโดนจับขณะกำลังขายยาง พ่อถูกตั้งข้อหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ความไม่สงบ ตอนนั้นมีผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8 (ต.บาละ) ตำรวจ และทหารประมาณ 2 คันรถเข้ามาในพื้นที่ เขาพาพ่อไปที่สถานีอนามัยร้างซึ่งห่างจากบ้านประมาณ 1 กิโลเมตร ก่อนจะนำตัวไปสอบต่อที่หน่วยเฉพาะกิจยะลา 21 อ.ยะหา”

“หลังจากพวกเขาจับพ่อไป ก็มีเจ้าหน้าที่ตามมาค้นบ้าน เขาก็ค้นตามปกติ ไม่ได้ใช้ความรุนแรงอะไร เขาเจอปืนสั้นของพ่อก็ยึดไป แต่เป็นปืนที่มีใบอนุญาตเรียบร้อย สำเนาใบอนุญาตเราก็เก็บอยู่ แต่เจ้าหน้าที่อ้างว่าไม่มีใบอนุญาต จนถึงปัจจุบันเขาก็ยังบอกอย่างนั้น และเขาก็ส่งไปที่กองพิสูจน์หลักฐาน ก่อนจะยอมคืนให้ในภายหลัง และขายต่อไปแล้ว ส่วนสาเหตุที่พ่อมีปืน ก็เพราะพ่อเคยเป็น ชรบ. (ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน)”

สิ่งเดียวที่ครอบครัวกาซอคาดหวังในวันนี้ก็คือ ขอให้ มะรอนิง ได้ประกันตัว

“เมื่อพ่อถูกจับ ทุกคนในบ้านก็ไปเยี่ยมพ่อ เพราะกลัวพ่อจะโดนซ้อมเหมือนที่ชาวบ้านพูดกัน แต่พอไปถึง ก็เห็นว่าพ่อมีสภาพร่างกายปกติ เพียงแต่เสียงพูดดูแหบๆไป ไม่รู้เป็นเพราะอะไร แต่เรามารู้จากสำนวนที่ทางเจ้าหน้าที่ชี้แจงภายหลังจากที่เราไปขอความช่วยเหลือกับทางผู้ว่าราชการจังหวัดยะลาว่า พ่อโดนซ้อมจริงแต่เป็นการซ้อมจากบุคคลอื่นก่อนจะไปถึงหน่วยเฉพาะกิจ ตอนนี้เจ้าหน้าที่ก็กำลังสืบอยู่”

“เราเองคาดหวังเพียงว่าอยากให้พ่อได้รับการประกันตัว เราเตรียมเงินค่าประกันไว้แล้วซึ่งยืมมาจากญาติๆ ประมาณ 800,000 บาท แต่เจ้าหน้าที่ก็คัดค้าน”

ในมุมมองของรัฐ ครอบครัวของผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคง มักถูกเหมารวมไปด้วยว่าน่าจะเป็นแนวร่วมของฝ่ายก่อความไม่สงบ แต่กับเพื่อนบ้านและญาติๆ ที่รู้จักกันมานาน ไม่ได้มองเช่นนั้นเลย

“ทุกวันนี้ถามว่ามีคนคนแถวบ้านรังเกียจเราหรือไม่ ก็ไม่นะ เขาสงสารเรามากกว่า คอยมาช่วยเหลือเรา แต่ถ้าจะให้เขาไปเป็นพยานให้ เขาก็ไม่กล้า เราก็เข้าใจเขา แต่ความรู้สึกประทับใจที่เพื่อนบ้านยังช่วยเหลือเรา ไม่มองเราเป็นแบบอื่น ทำให้เราไม่หมดกำลังใจ”

ปัญหาสำคัญที่สุดของครอบครัวกาซอ ณ วันนี้ คือเรื่องปากท้องการศึกษาของเด็กๆ ในบ้าน

“เราต้องอยู่อย่างประหยัดที่สุด แต่ละเดือนรายได้ที่แม่ได้จากการกรีดยางในสวนของตัวเองก็มีประมาณ 6,000 บาทเท่านั้น แต่รายจ่ายในบ้านอยู่ที่เกือบ 2 หมื่น ไม่ใช่ว่าเราสุรุ่ยสุร่าย แต่มันเป็รายจ่ายที่จำเป็นทั้งนั้น หากเป็นไปได้หนูอยากมีทุนสักก้อนหนึ่งเพื่อเปิดร้านขายของชำที่บ้านเป็นรายได้เสริม เพราะแถวบ้านไม่ค่อยมีร้านค้า ถ้าเราเปิดก็น่าจะขายได้”

“ส่วนเรื่องการศึกษา ยอมรับว่าเครียดมาก หนูมีพี่น้องทั้งหมด 9 คน หนูเป็นคนที่สอง พี่คนโตมีครอบครัวแล้ว มีน้องอีก 7 คนที่ต้องดูแล น้อง 2 คนจะถึงวัยต้องเข้าโรงเรียนในปีหน้า ส่วนน้องอีก 2 คนอยู่ชั้นมัธยมต้องออกกลางคันเพราะไม่มีเงินไปโรงเรียน ตัวหนูเองก่อนหน้านี้เรียนอยู่ที่ปอเนาะอาสินสถาน ที่บ้านอาสิน ต.ยะหา อ.ยะหา จ.ยะลา ควบคู่ไปกับเรียนการศึกษานอกโรงเรียน พอเรียนจบก็ตั้งใจจะเรียนในระดับที่สูงขึ้นต่อไป แต่ก็มาเกิดเรื่องที่บ้านเสียก่อนจึงต้องหยุดเรียน”

สุไรดา บอกว่า เรื่องการศึกษาเป็นความใฝ่ฝันของเธอและน้องๆ แต่เมื่อมีความจำเป็นเช่นนี้ คงต้องหยุดความฝันเอาไว้ก่อน

“ตอนนี้ก็ร่วมปีแล้วที่ไม่ได้เรียน หากมีโอกาสก็อยากจะเรียนต่อ แต่คงเป็นไปได้ยาก เพราะทุกคนต้องทำงาน หนูต้องดูแลน้องๆ อีกอย่างจะเรียนต่อ มันมีค่าใช้จ่ายเยอะ ลำพังแค่กินแค่ใช้ในแต่ละเดือนก็ไม่พอแล้ว จะเอาเงินที่ไหนไปเรียน ไหนจะต้องผ่อนรถที่ต้องใช้ในครอบครัว ไหนจะหนี้ ธกส.อีก (ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร) รวมหนี้สินตอนนี้ทั้งหมดก็เป็นแสน”

“ถ้าเป็นไปได้อยากให้โอกาสน้องๆ ก่อน เพราะน้องๆ เรียนยังไม่ถึงครึ่งทาง ยังไม่จบมัธยมกันด้วยซ้ำ แต่ต้องออกกลางคัน แม้จะเคยขอทุนจากโรงเรียนแต่ก็ไม่ได้ และยังมีน้องแฝดที่จะเข้าเรียนปีหน้าอีก ไม่รู้จะหาเงินจากที่ไหนเหมือนกัน” สุไรดา กล่าว

อย่างไรก็ดี สถานการณ์ของครอบครัวกาซอ ก็ยังไม่เลวร้ายมากจนเกินไปนัก เมื่อกลุ่มบ้านอาสา และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ ได้พยายามให้ความช่วยเหลือ และยังประสานกับ พล.ท.กสิกร คีรีศรี ผู้บัญชาการกองบัญชาการผสมพลเรือนตำรวจทหาร (ผบ.พตท.) ให้ยื่นมือเข้ามาดูแลในเบื้องต้นด้วย

พล.ท.กสิกร กล่าวว่า ขณะนี้ได้รับเรื่องที่องค์กรภาคประชาสังคมประสานมาแล้ว ปัญหาที่เร่งด่วนที่สุดคือเรื่องการศึกษาของเด็กๆ

“ผมคิดว่าเด็กๆ ทุกคนจะต้องได้รับการศึกษา จะไม่มีใครต้องเสียสละให้ใครได้เรียนก่อน เด็กๆ ควรได้เรียน เพราะเขาตั้งใจอยากจะเรียน พวกเขาควรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เราไม่สนใจว่าพ่อของเด็กจะผิดหรือไม่ผิด เพราะนั่นขึ้นอยู่กับกระบวนการยุติธรรม แต่เรื่องการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ฉะนั้นสิ่งแรกที่เราจะช่วยคือเรื่องการศึกษาของเด็กๆ ก่อน จากนั้นจะพยายามหาอาชีพเสริมให้ครอบครัว ส่วนเรื่องการประกันตัวคงต้องปฏิบัติตามขั้นตอน” ผบ.พตท.กล่าว

ขณะที่ พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ จากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า เป็นเรื่องดีที่ผู้ใหญ่ของฝ่ายความมั่นคงไม่ได้มองว่าครอบครัวของผู้ต้องหาหรือผู้ต้องสงสัยเป็นคนผิดทั้งหมด และไม่ปฏิเสธที่จะให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

“ข้อมูลที่เราและกลุ่มบ้านอาสาสำรวจมา พบว่ายังมีอีกหลายครอบครัวที่ตกอยู่ในสภาพนี้ ภายหลังจากผู้นำครอบครัวถูกจับ ลูกๆ บางคนสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ แต่ก็ต้องสละสิทธิ์เพื่อกลับมาประคับประคองครอบครัว ถึงแม้เราจะพยายามขอทุนการศึกษาให้ แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับเท่าที่ควร อาจเป็นเพราะไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะได้ทุน ดังนั้นคิดว่าระดับนโยบายจะต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์และปัญหาที่เกิดขึ้นขณะนี้ด้วย”

“อยากให้ทุกฝ่ายมองว่า เด็กๆ จากครอบครัวเหล่านี้เป็นกลุ่มเสี่ยงกลุ่มหนึ่งที่โดนตัดโอกาสจากสังคม พวกเขาไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนทางการศึกษา ฉะนั้นเราควรป้องกันไม่ให้พวกเขาสุ่มเสี่ยงต่อการถูกชักจูงหรือกดดัน เราควรให้พวกเขาได้รับโอกาส และตอนนี้ทางมูลนิธิฯกับกลุ่มบ้านอาสาก็กำลังทำโครงการรับบริจาค ชื่อโครงการ ‘จักรยานแด่น้อง’ เพื่อซื้อจักรยานให้ลูกผู้ต้องขังที่อยู่ห่างไกลจากสถานศึกษา เพราะหลังจากพ่อถูกจับก็ไม่มีคนไปรับไปส่งเหมือนเคย”

“สำหรับผู้สนใจที่อยากให้ความช่วยเหลือ สามารถติดต่อได้ที่กลุ่มบ้านอาสา โทร.086-4911870 หรือโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาย่อย ม.อ.ปัตตานี หมายเลขบัญชี 704-242947-4 ชื่อบัญชี กองทุนกำลังใจแด่น้องชายแดนใต้” พรเพ็ญ กล่าว

นับเป็นอีกหนึ่งพลังที่จะช่วยรังสรรค์สิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้นในดินแดนแห่งนี้…ไม่ให้มีการแบ่งเขา-แบ่งเราอีกต่อไป

อ่านประกอบ:
เมื่อปฏิบัติการทางทหารถึงทางตัน จับตา “นครปัตตานี-ม.21” ดับไฟใต้
“548 ชีวิต”ผู้ต้องขังแดนใต้ มิติมั่นคงสวนทางความเป็นธรรม
เมื่อ 5 พี่น้อง”หะยีเตะ”ตกเป็นผู้ต้องขัง กับ 24 ชีวิต”คนข้างหลัง”ที่จำต้องรับกรรม

Source: http://www.isranews.org/isranews/index.php?option=com_content&view=article&id=158:2010-01-31-06-30-07&catid=11:2009-11-15-11-15-13&Itemid=3