ร้อยเอก Kyle B. Teamey หน่วย USAR เป็นที่ปรึกษาของหน่วยงานโครงการวิจัยด้านกลาโหมขั้นสูง (Defense Advanced Research Projects Agency) เขาเคยปฏิบัติหน้าที่ในกองพลน้อยที่หนึ่ง กองพลทหารราบที่หนึ่ง ที่เมืองอาร์ รามาดี ประเทศอิรักระหว่างเดือนสิงหาคม 2546 – กันยายน 2547 และเป็นผู้ร่วมเขียนเนื้อหาในส่วนของคู่มือการปฏิบัติในสนาม (Field Manual) หน้า 3–24 ของหนังสือ Counterinsurgency แปลโดย พิภพ อุดมอิทธิพงศ์
“แม้ในสภาพดีสุด ปฏิบัติการของตำรวจ (เพื่อจับกุมบุคคล) ก็ยังอาจส่งผลกระทบด้านลบต่อความรู้สึกทั้งของตัวประชาชนในท้องถิ่นและตัวเจ้าหน้าที่ผู้กระทำเอง…ด้วยเหตุดังกล่าว ปฏิบัติการใด ๆ จึงเป็นสิ่งที่ต้องกระทำอย่างเป็นมืออาชีพ”
David Galula, Counterinsurgency Warfare: Theory and Practice 1David Galula, Counterinsurgency Warfare: Theory and Practice (New York: Praeger, 1964), 124
เป้าหมายหลักอย่างหนึ่งของการปราบปรามการก่อความไม่สงบคือ การฟื้นฟูความมั่นคงและหลักนิติธรรม การมีระบบการจับกุมและควบคุมตัวอย่างมีประสิทธิภาพ จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญยิ่งของความพยายามปราบปรามการก่อความไม่สงบที่ประสบความสำเร็จ เป็นวิธีจำแนกผู้ก่อความไม่สงบออกจากประชาชนทั่วไปโดยไม่ต้องพึ่งพาการใช้อาวุธ ทำให้เกิดความปลอดภัยสำหรับประชาชน การจับกุมผู้ก่อความไม่สงบและการยึดอุปกรณ์ต่าง ๆ ของพวกเขา ช่วยให้เจ้าหน้าที่ผู้ปราบปรามการก่อความไม่สงบได้รับข้อมูลสนเทศที่เป็นประโยชน์ และเปิดโอกาสให้มีการส่งเสริมให้ผู้ก่อความไม่สงบกลับตัวกลับใจ และสามารถกลับเข้าสู่สังคมได้ ความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ผู้ปราบปรามการก่อความไม่สงบในการจับกุมหรือควบคุมตัวบุคคล อาจถูกกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบนำมาใช้ประโยชน์เพื่อโฆษณาชวนเชื่อ และอาจส่งผลลบต่อความพยายามปราบปรามการก่อความไม่สงบโดยรวม พูดง่าย ๆ ระบบการจับกุมผู้ก่อความไม่สงบที่ดีจะมีประโยชน์อย่างมากต่อความพยายามปราบปรามการก่อความไม่สงบ ส่วนระบบที่ไม่ดีก็จะส่งผลให้เกิดความล่าช้าของปฏิบัติการ
นโยบายด้านการจับกุมและควบคุมตัวผู้ก่อความไม่สงบควรมีส่วนช่วยยุติปัญหาการก่อความไม่สงบ ในขณะเดียวกันก็ลดหรือปิดโอกาสที่จะเกิดความเสียหายทางการเมืองต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นโยบายเหล่านี้ควรจัดทำและนำมาปฏิบัติโดยคำนึงถึงความรู้สึกของคนในประเทศ ผู้สังเกตการณ์ระหว่างประเทศ และประชาชนในสหรัฐอเมริกา การทำให้เกิดความสมดุลระหว่างความจำเป็นที่จะต้องรักษาความปลอดภัยกับความจำเป็นที่จะต้องรักษาความชอบธรรมในการปฏิบัติเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เมื่อเผชิญกับปัญหาด้านความมั่นคงที่ยุ่งยาก หน่วยงานต่าง ๆ มีแนวโน้มจะใช้เทคนิคการจับกุมและควบคุมตัวโดยไม่บันยะบันยัง หรือไม่ใส่ใจต่อความคาดหวังด้านการเมืองหรือวัฒนธรรมที่เกิดขึ้น เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงและรัฐบาลมักดำเนินงานอย่างผิดพลาดในการจับกุมและควบคุมตัว ความผิดพลาดทั่วไปห้าประการที่มักเกิดขึ้นได้แก่ การจับกุมผู้บริสุทธิ์ การปล่อยตัวผู้ก่อความไม่สงบซึ่งยังคงเป็นภัยคุกคามต่อความพยายามปราบปรามการก่อความไม่สงบ การปฏิบัติโดยมิชอบต่อผู้ถูกจับกุม การไม่คำนึงถึงผลกระทบจากการจับกุมและควบคุมตัวที่มีต่อการรณรงค์ด้านข้อมูล และการปล่อยให้ที่คุมขังกลายเป็นที่ฝึกอบรมผู้ก่อความไม่สงบ
- 1David Galula, Counterinsurgency Warfare: Theory and Practice (New York: Praeger, 1964), 124