“548 ชีวิต”ผู้ต้องขังแดนใต้ มิติมั่นคงสวนทางความเป็นธรรม? วันอาทิตย์ที่ 4 ตุลาคม 2009 13:46 น. ปรัชญา โต๊ะอิแต, ปกรณ์ พึ่งเนตร, โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยืดเยื้อยาวนานมาเกือบ 6 ปี และมีความถี่ของเหตุรุนแรงขนาดใหญ่ลดลงพอสมควรในระยะหลัง ประกอบกับวิกฤติการเมืองในส่วนกลางที่ยังมองไม่เห็นทางออก ทำให้ปัญหาในดินแดนด้ามขวานได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนและสังคมลดน้อยลงเป็นลำดับ
ทั้งที่ความจริงในพื้นที่ยังมีเหตุร้ายเกิดขึ้นแทบทุกวัน…
ที่สำคัญความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากฝ่ายผู้ไม่หวังดี และการบังคับใช้ “กฎหมายพิเศษ” เพื่อควบคุมสถานการณ์ของฝ่ายความมั่นคง ได้สร้างรอยแผลบาดลึกให้กับสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นรอยแผลที่ตอกย้ำความรู้สึก “ไม่เป็นธรรม” ของผู้คนในพื้นที่
และเป็นรอยแผลที่มีน้อยคนนักจะให้ความสนใจ…
เปิดสถิติจับกุม-คุมขัง
ปัจจุบัน… สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และสี่อำเภอของ จ.สงขลา ประกาศใช้กฎหมายพิเศษ 2 ฉบับเพื่อยับยั้งสถานการณ์ความรุนแรงควบคู่ไปกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) ที่บังคับใช้ทั่วประเทศอยู่แล้ว นั่นคือพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือที่รู้จักกันดีในนาม “พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ”
แม้ฝ่ายความมั่นคงจะยืนยันถึงความสำเร็จในการบังคับใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ เพราะในรายงานของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ที่นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อเดือน ก.ค. 2552 เพื่อขออนุมัติการต่ออายุการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในพื้นที่ต่อไปอีก 3 เดือน ระบุว่า ผลของการบังคับใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ทำให้ฝ่ายความมั่นคงสามารถพิสูจน์ทราบเครือข่ายแนวร่วมผู้ก่อความไม่สงบได้แล้วถึง 7,825 คน แบ่งเป็นระดับแกนนำ 1,541 คน ระดับปฏิบัติการ 2,461 คน ระดับแนวร่วม 3,823 คน และอยู่ระหว่างการตรวจสอบอีก 3,030 คน
นอกจากนี้ยังมีข้อมูลล่าสุดจากศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) ระบุว่า ตั้งแต่ต้นปี 2547 ถึงสิ้นเดือน ก.ค. 2552 มีคดีความมั่นคงเกิดขึ้นทั้งสิ้น 6,683 คดี รู้ตัวผู้กระทำผิด 1,531 คดี ออกหมายจับไปแล้ว 7,001 หมาย แยกเป็นหมาย ป.วิอาญา 3,293 หมาย และ หมาย พ.ร.ก จำนวน 3,708 หมาย ติดตามจับกุมผู้กระทำผิดได้รวม 4,076 หมาย แยกเป็นหมาย ป.วิอาญา 1,399 หมาย และหมาย พ.ร.ก. 2,677 หมาย
ทั้งหมดคือการการันตีผลสัมฤทธิ์ของการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กระทั่งนำมาสู่การต่ออายุแล้วถึง 16 ครั้ง ระยะเวลา 4 ปี 3 เดือน!
ผู้ต้องขังมุสลิมแน่นคุก
แต่ข้อมูลที่ฝ่ายความมั่นคงไม่ได้รายงานรัฐบาลและสังคมก็คือ ผลของการใช้ “กฎหมายพิเศษ” และช่องโหว่บางประการในกระบวนการยุติธรรม ทำให้ปัจจุบันผู้ต้องขังในคดีความมั่นคงถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และเรือนจำจังหวัดสงขลามากถึง 548 คน
แยกเป็นเรือนจำจังหวัดนราธิวาส 202 คน เรือนจำจังหวัดยะลา 143 คน เรือนจำจังหวัดปัตตานี 83 คน และเรือนจำจังหวัดสงขลา 120 คน
ที่น่าตกใจก็คือแทบทั้งหมดเป็น “ผู้ต้องขัง” ไม่ใช่ “นักโทษ” ซึ่งหมายถึงเป็นการถูกคุมขังเนื่องจากไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างต่อสู้คดี ทั้งๆ ที่ศาลยังไม่ได้พิพากษาจนถึงที่สุดว่าพวกเขากระทำความผิดจริง
และทั้งหมดเป็นพี่น้องมุสลิมร่วมชาติ
ปัจจุบันเรามีคดีความมั่นคงอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นศาล 518 คดี พิพากษาแล้ว 175 คดี จำเลย 284 คน ศาลชั้นต้นตัดสินลงโทษ 114 คดี จำเลย 184 คน (คิดเป็นร้อยละ 65) ตัดสินยกฟ้อง 61 คดี จำเลย 100 คน (คิดเป็นร้อยละ 35) ในจำนวนนี้มีบางส่วนที่ถูกคุมขังระหว่างอุทธรณ์และฎีกา
ประเด็นที่น่าพิจารณาก็คือ ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ดำเนินมาแล้วเกือบ 6 ปี แต่มีคดีที่เดินทางถึงศาลเพียง 518 คดี คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 10% ของคดีความมั่นคงที่เกิดขึ้นทั้งหมด 6,683 คดี หรือแค่ 12.7% หากเทียบกับคดีที่ตำรวจอ้างว่าจับกุมผู้กระทำผิดได้แล้ว (4,076 หมาย)
คำถามคือพวกเขาจะต้องสิ้นอิสรภาพและอยู่กันอย่างแออัดในห้องขังอีกนานเท่าไรจึงจะได้พิสูจน์ความถูกผิด?
บ้านแตก-ลูกโจร
ปัญหาดังกล่าวก่อผลกระทบทางสังคมอย่างลึกซึ้ง เพราะครอบครัวมุสลิมโดยปกติจะเป็นครอบครัวใหญ่ มีลูกหลายคน และผู้ชายมักเป็น “เสาหลัก” ในการหารายได้เลี้ยงครอบครัว
เหตุนี้เมื่อผู้นำครอบครัวถูกจับ ย่อมมี “คนข้างหลัง” ซึ่งหมายบุตร ภรรยา ได้รับผลกระทบตามไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงมิได้
เคยมีการประเมินจากองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานช่วยเหลือผู้ต้องขังและครอบครัวว่า โดยเฉลี่ยผู้ต้องขัง 1 คน จะมีครอบครัวที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างน้อย 4-5 คนกระจายไปทุกช่วงวัย
ข้อมูลที่ได้จากการเยี่ยมเยียนครอบครัวของผู้ต้องขังพบว่า ผู้ต้องขังเกินกว่าครึ่งมาจากครอบครัวที่มีเด็กๆ อยู่ในครอบครัว ส่วนที่เหลือเป็นผู้ต้องขังที่สมรสแล้วแต่ยังไม่มีบุตรหรือยังไม่ได้สมรส แต่ก็มีพ่อแม่ที่อายุมากหรือเจ็บป่วยต้องได้รับการดูแลเช่นกัน
นับเฉพาะเด็กในครอบครัวเหล่านี้ (ข้อมูลเมื่อปีที่แล้ว) มีเด็กที่อายุไม่เกิน 18 ปีอยู่ถึง 367 คน แยกเป็น “เด็กเล็ก” ที่อายุไม่ถึงขวบหรืออยู่ในวัยเรียนระดับอนุบาล 151 คน เด็กในวัยเรียน 122 คน ที่เหลืออยู่นอกระบบโรงเรียน เด็กๆ หลายคนต้องหยุดเรียนกลางคันหลังจากพ่อถูกจับเนื่องจากไม่มีเงินไปโรงเรียน
กรณีตัวอย่างที่กลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง ก็คือสกู๊ปข่าวของ “ทีมข่าวอิศรา” ที่เล่าเรื่องครอบครัว “หะยีเตะ” ซึ่งพี่น้องผู้ชายในครอบครัวนี้ถูกจับถึง 5 คน ทำให้ “คนข้างหลัง” มากถึง 24 ชีวิต ประกอบด้วยภรรยา 5 คน และลูกๆ อีก 19 คนต้องเดือดร้อนและอยู่กันอย่างสิ้นหวัง
ทั้งหมดยังไม่นับรวมการจับกุมตามกฎอัยการศึก และเชิญตัวโดยอาศัยอำนาจพิเศษของฝ่ายความมั่นคงอีกมากมายที่เกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน จนทำให้วลี “พ่อถูกจับ” ระบาดไปทั่วในหมู่เด็กและเยาวชนที่มีบิดาตกเป็นผู้ต้องหาหรือผู้ถูกเชิญตัว
และคำว่า “ลูกโจร” ก็ดังแว่วตามมาซ้ำเติมสภาพจิตใจของเด็กๆ เหล่านี้มากขึ้นไปอีก
ก้นบึ้งหัวใจไร้อิสรภาพ
จากสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น จะเห็นว่าการฟื้นฟูเยียวยาทั้งในมิติทางเศรษฐกิจและสภาพจิตใจเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นเร่งด่วนมาก แต่ตลอดมาภาครัฐโดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคงแทบไม่เคยพูดถึงคนกลุ่มนี้เลย ด้วยเหตุที่ปักใจในเบื้องต้นว่าพวกเขาเหล่านั้นคือ “แนวร่วม” หรืออย่างน้อยก็เกี่ยวข้องกับกลุ่มขบวนการผู้ก่อความไม่สงบ
การขับเคลื่อนช่วยเหลือจึงกลายเป็นบทบาทขององค์กรภาคประชาสังคม อาทิ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม, ศูนย์ทนายความมุสลิม, กลุ่มบ้านอาสาเพื่อเด็กและเยาวชน กลุ่มผู้หญิงกับสันติภาพ เป็นต้น มีการจัดกิจกรรมเยี่ยมผู้ต้องขังในเรือนจำ และติดตามช่วยเหลือให้กำลังใจครอบครัวผู้ต้องขังในพื้นที่ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
เมื่อเร็วๆ นี้ก็เพิ่งมีกิจกรรม “พบปะครอบครัวสัมพันธ์” ของผู้ต้องขังกว่าร้อยชีวิตที่เรือนจำจังหวัดนราธิวาส
ผู้ต้องขังรายหนึ่งซึ่งถูกจับกุมจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เผยว่า รู้สึกดีใจมาก โดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้ครอบครัวเข้ามากินข้าวร่วมกันในเรือนจำ ทำให้รู้สึกอบอุ่น ยิ่งได้เจอลูกๆ ยิ่งดีใจ คนที่ได้มีโอกาสอยู่กับครอบครัวถือว่าได้รับความเมตตาอันยิ่งใหญ่จากอัลเลาะห์ ฉะนั้นต้องรักษาสิ่งนี้ไว้ให้ดี สำหรับตัวเขาเองก็ต้องยอมรับกับบททดสอบของอัลเลาะห์
“ถ้ามีโอกาสได้กลับไปใช้ชีวิตข้างนอกอีก ก็คงไม่คาดหวังอะไรมากแล้ว คงกลับไปทำสวนทำไร่เหมือนเดิม แต่ถ้าไม่ได้ออก เราก็ต้องคิดตามหลักอิสลาม คืออยู่ที่ไหนก็เหมือนกัน ขอให้ใจอยู่กับพระเจ้าก็พอ ส่วนเรื่องความยุติธรรม ส่วนตัวผมคิดว่าไม่มีความยุติธรรมที่แท้จริงในที่ไหนๆ นอกจากความยุติธรรมจากอิสลาม”
กิจกรรมในวันนั้น ทางเรือนจำได้จัดให้มีการบรรยายทางศาสนาด้วย ทำให้ผู้ต้องขังรายนี้ รู้สึกดียิ่งขึ้น
“การได้ร่วมกิจกรรมรับฟังคำบรรยายทางศาสนาเป็นสิ่งที่ดีมาก ทำให้เราได้กำลังใจ มีข้อคิดหลายประการ และทำให้เรากลับมาคิดถึงศาสนามากขึ้น เพราะบททดสอบของอัลเลาะห์มีได้ทุกเมื่อ”
ด้านภรรยาของผู้ต้องขัง บอกว่า เป็นครั้งแรกในรอบปีที่มีโอกาสได้เจอและกินข้าวร่วมกันพร้อมหน้าพร้อมตา รู้สึกดีใจ แต่ขณะเดียวกันก็อดสงสารสามีไม่ได้
“ฉันเข้ามาในเรือนจำแค่วันเดียวยังรู้สึกหดหู่ มันดูเศร้ามาก แต่สามีต้องอยู่เป็นปี ทำอะไรก็ไม่ได้มาก ต้องอยู่แต่ในห้องสี่เหลี่ยม และมีกฎระเบียบบังคับมากมาย ฉันอยากให้เขาได้ออกมาเร็วๆ”
พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการโครงการเข้าถึงความยุติธรรมและคุ้มครองทางกฎหมาย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า สิ่งที่ผู้ต้องขังและครอบครัวต้องการมากที่สุด คือการกลับคืนสู่ครอบครัว อย่างน้อยก็คือการได้รับประกันตัว แต่กระบวนการยุติธรรมขณะนี้ยังไม่สามารถพิจารณาคดีให้รวดเร็วและเป็นธรรมได้
“สิ่งที่ทำได้ในปัจจุบันคือจัดกิจกรรมเพื่อเปิดพื้นที่ให้พวกเขาได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันบ้าง ผู้ต้องขังหลายคนที่เป็นพ่อยืนอุ้มลูกอย่างดีใจ เพราะเพิ่งได้เจอหน้ากันเป็นครั้งแรก เนื่องจากตอนถูกจับลูกยังอยู่ในท้องแม่ ภาพที่เห็นคือพ่อจะไม่ยอมปล่อยให้ลูกไปไหนเลย จะอุ้มไว้ตลอดเวลา”
“นี่คือความเอื้ออาทรและห่วงใยในฐานะที่เราเป็นเพื่อนมนุษย์ร่วมสังคมเดียวกัน กิจกรรมแบบนี้จะทำให้เขาทราบว่าสังคมยังมีความเกื้อกูลกันอยู่ และครอบครัวก็ไม่ได้ทอดทิ้ง น่าจะทำให้ผู้ต้องขังมีกำลังใจสู้ชีวิตต่อไป”
ช่องโหว่กระบวนการยุติธรรม
ในมิติของกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม พรเพ็ญ มองว่า บุคคลที่ถูกจับด้วยกฎหมายพิเศษ จะรู้สึกว่าตนเองถูกดำเนินคดีได้ง่ายเหลือเกิน ขั้นตอนการตรวจสอบถ่วงดุลในกระบวนการยุติธรรมก็ยังไม่มากพอ ส่งผลให้มีจำนวนผู้ต้องขังคดีความมั่นคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เรือนจำเองก็แออัด
ทั้งนี้ ภาคประชาสังคมคงไม่ประสงค์ให้มีการขยายเรือนจำเพื่อการจับกุมเพิ่มเติม แต่น่าจะมีการจัดกระบวนการยุติธรรมให้มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว หรืออย่างน้อยก็มีกรอบเวลาที่ชัดเจน เพื่อให้ผู้ต้องขังได้รับรู้อนาคตตัวเอง ไม่ใช่อยู่ไปเรื่อยๆ อย่างสิ้นหวัง
“เราเคยผลักดันให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องออกหนังสืออธิบายเส้นทางของกระบวนการยุติธรรมและผู้ต้องขังคดีความมั่นคง แต่ไม่มีพลังมากพอที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง เท่าที่ติดตามวิธีคิดของหลายๆ ส่วนมองว่าปัญหาภาคใต้เหมือนการต่อสู้ เหมือนเราอยู่ในเกมหมากรุก ส่วนผู้ต้องขังก็เหมือนกับเบี้ยที่ถูกหยิบออกจากกระดาน แต่อย่าลืมว่าเขามีชีวิต มีครอบครัว การที่ฝ่ายบังคับใช้กฎหมายจะเอาเบี้ยทุกตัวมาโยนใส่กรมราชทัณฑ์แล้วตัวเองก็หันหลังกลับไปปฏิบัติหน้าที่ต่อ ไม่น่าจะเป็นแนวทางที่ถูกต้อง” พรเพ็ญ ระบุ และว่า
“หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมที่ปฏิบัติหน้าที่ได้น่าชื่นชมมากคือเรือนจำและเจ้าหน้าที่เรือนจำในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะพวกเขาปฏิบัติงานอย่างมืออาชีพจริงๆ ทุกคนทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ มีความเป็นประชาธิปไตยเล็กๆ อยู่ในเรือนจำ ให้อิสระในการปฏิบัติศาสนกิจ และอนุญาตให้เข้าเยี่ยมตามสมควร ทั้งยังให้ความร่วมมือกับภาคประชาสังคมให้การจัดกิจกรรมต่างๆ ซึ่งดิฉันอยากให้หน่วยงานราชการอื่นๆ ในกระบวนการยุติธรรมมีความเป็นมืออาชีพอย่างนี้บ้าง”
มุมมองของภาคประชาสังคมอย่างพรเพ็ญ ไม่ต่างจากผู้รับผิดชอบในภาครัฐสักเท่าไหร่…
ชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ว่าที่อธิบดีกรมคุมประพฤติ ซึ่งรับผิดชอบปัญหากระบวนการยุติธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้มานานหลายปี วิเคราะห์ว่า กระบวนการยุติธรรมในพื้นที่ยังไม่มี “นิตินโยบาย” ที่ชัดเจน เมื่อกลุ่มผู้ไม่หวังดีใช้ความรุนแรงเป็นยุทธวิธี จึงทำให้กระบวนการยุติธรรมที่บกพร่องอยู่แล้วต้องทำงานแข่งกับเวลา และมีแรงกดดันสูงมาก
“แนวปฏิบัติที่ผ่านมา ระบบการพิสูจน์ความผิดในกระบวนการยุติธรรมไทยขึ้นกับพยานบุคคลเป็นหลัก แต่ในพื้นที่มีความหวาดระแวงสูง ความร่วมมือของพยานบุคคลจึงไม่เคยมี ตรงนี้คือปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข”
แนวทางที่กระทรวงยุติธรรมนับหนึ่งแล้ว ก็คือการคลอดแผนยุทธศาสตร์การพัฒนากระบวนการยุติธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2553-2557 ซึ่งมี 5 ยุทธศาสตร์หลัก อยู่ภายใต้คณะกรรมการพัฒนานโยบายกระบวนการยุติธรรมแห่งชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เชื่อว่าจะทำให้การกำหนดนโยบายมีความชัดเจนและเป็นเอกภาพมากขึ้น
ทั้งนี้ใน 5 ยุทธศาสตร์หลัก จะมีโครงการที่เริ่มต้นทำทันที คือการพัฒนาและฟื้นฟูผู้กระทำผิด ตลอดจนการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบโดยไม่เลือกฝ่าย ซึ่งน่าจะช่วยอุดช่องโหว่ที่เป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ได้พอสมควร
พ.ร.บ. ความมั่นคงคือคำตอบ?
แม้ผลกระทบและความรู้สึกไม่เป็นธรรมที่แพร่กระจายไปทั่วพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนใหญ่จะมาจากการบังคับใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ แต่ดูเหมือนฝ่ายความมั่นคงจะไม่ยอมยกเลิกการใช้กฎหมายฉบับนี้ง่ายๆ แม้หลายฝ่ายรวมถึง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเอง จะเสนอให้นำพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 หรือ “พ.ร.บ. ความมั่นคง” มาบังคับใช้แทนก็ตาม
ในรายงานของ สมช. และ กอ.รมน. ที่นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ชี้ชัดว่าฝ่ายความมั่นคงยังยืนยันถึงความจำเป็นในการบังคับใช้กฎหมายพิเศษทุกฉบับต่อไป ทั้งกฎอัยการศึก พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ. ความมั่นคงที่อาจประกาศเพิ่มเติมอีกในเร็ววันนี้ โดยอ้างว่าเป็นการใช้แบบผสมผสานเพื่อลดจุดอ่อนของกฎหมายแต่ละฉบับ
ถือเป็นการแสดงท่าที “เดินหน้า” ทั้งที่ยังมีปัญหาข้อกฎหมายซึ่งต้องตีความว่า หากยังต้องการใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ อยู่ จะประกาศใช้ พ.ร.บ. ความมั่นคง ซ้อนลงไปอีกได้หรือไม่ เพราะใน พ.ร.บ. ความมั่นคง เขียนไว้ชัดว่า เครื่องมือตามกฎหมายนี้มีไว้สำหรับควบคุมสถานการณ์ที่ยังไม่ร้ายแรงถึงขั้นต้องประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ เท่านั้น
ชาญเชาวน์ กล่าวประเด็นนี้ว่า ในมิติของกระบวนการยุติธรรม สนับสนุนให้ใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง เพราะมีมาตรการฟื้นฟูผู้กระทำผิด และมีกระบวนการนำความขัดแย้งมาวางบนโต๊ะ แล้วใช้กลไกของรัฐเข้าไปจัดการ (มาตรา 21)
แต่ทั้งหมดทั้งสิ้นย่อมขึ้นกับ “นิตินโยบาย” ของรัฐบาล ซึ่งถึงวันนี้ยังไม่รู้จะเอาอย่างไร…
ผู้ต้องขังในเรือนจำและครอบครัวนอกเรือนจำอีกหลายพันชีวิตจึงต้องอดทนรอต่อไป โดยที่ไม่รู้ว่าวันไหนคือจุดสิ้นสุด!
หมายเหตุ: บางส่วนของสกู๊ปชิ้นนี้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ หน้า 2 ฉบับวันอาทิตย์ที่ 4 ต.ค. 2552