เมื่อความยุติธรรมเดินช้า…ญาติ “อิหม่ามยะผา” ยื่นฟ้องถูกซ้อมตาย วันเสาร์ที่ 22 สิงหาคม 2009 00:19 น. ทีมข่าวอิศรา โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
คดีการเสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่รัฐในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถูกนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอีกหนึ่งคดีแล้ว คือคดีของ นายยะผา กาเซ็ง อิหม่ามประจำมัสยิดบ้านกอตอ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส
แต่ที่น่าเสียดายก็คือ เป็นการนำคดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดยญาติของผู้เสียชีวิตเอง หาใช่เป็นการดำเนินการโดยฝ่ายรัฐอย่างรวดเร็วฉับไว เพื่อแสดงถึงความจริงใจและเยียวยาความรู้สึกของผู้สูญเสียแต่อย่างใดไม่
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 20 ส.ค.2552 ที่ศาลจังหวัดนราธิวาส นางนิม๊ะ กาเซ็ง ภรรยาของนายยะผา เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พ.ต. วิชา ภู่ทอง ร.ต. ศิริเขตต์ วาณิชบำรุง จ.ส.อ. เริงณรงค์ บัวงาม ส.อ. ณรงค์ฤทธิ์ หาญเวช ส.อ. บันฑิต ถิ่นสุข ซึ่งเป็นทหารสังกัดหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 39 และ พ.ต.อ. ทนงศักดิ์ วังสุภา เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ. รือเสาะ จ.นราธิวาส เป็นจำเลยที่ 1-6 ตามลำดับ กับพวกที่ยังไม่ทราบชื่ออีกหลายคน
ในข้อหาร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดหรือไม่กระทำการใดหรือจำยอมต่อสิ่งใด, กักขังหน่วงเหนี่ยว, เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต, ร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตายโดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้าย
ทั้งนี้เป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 290, 295, 297, 309, 310 ประกอบมาตรา 81, 91 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 26, 32, 39 และอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and Other Cruel Inhuman or Degrading Treatment or Punishment : CAT) ซึ่งประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคี และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.2550
ภายหลังยื่นฟ้อง ศาลจังหวัดนราธิวาสได้นัดไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ 19 ต.ค.2552 เวลา 13.30 น. (คดีที่ประชาชนยื่นฟ้องต่อศาลเอง ต้องมีการไต่สวนมูลฟ้อง) โดยการยื่นฟ้องดังกล่าวมีทนายความจากศูนย์ทนายความมุสลิม และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ช่วยเหลือประสานงาน
แหล่งข่าวจากองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ เผยว่า การที่ชาวบ้านยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐเอง เป็นการอาศัยช่องทางตามกฎหมาย และแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่น ไว้วางใจในกระบวนการยุติธรรมของรัฐ จึงอยากให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเคารพการตัดสินใจของประชาชน และอาศัยช่องทางตามกฎหมายในการต่อสู้ด้วยเช่นกัน
ย้อนรอย”อิหม่ามยะผา”ถูกซ้อมเสียชีวิต
อนึ่ง นายยะผา ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 19 มี.ค. 2551 หลังจากเจ้าพนักงานตำรวจและเจ้าหน้าที่ทหารได้นำกำลังไปปิดล้อมตรวจค้นหมู่บ้านกอตอ ต.รือเสาะ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส โดยได้ควบคุมตัว นายยะผา กับพวกรวม 6 คน ในฐานะผู้ต้องสงสัยโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก และนำตัวไปควบคุมไว้ที่ฐานปฏิบัติการหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 39 ตั้งอยู่ภายในวัดสวนธรรม หมู่ 2 ต.รือเสาะออก อ.รือเสาะ โดยใช้รถยนต์บรรทุก 6 ล้อ ซึ่งเป็นรถยนต์ควบคุมตัวผู้ต้องหาของ สภ. รือเสาะ เป็นที่ควบคุมตัวนายยะผากับผู้ต้องสงสัยรวม 7 คน
ระหว่างที่ นายยะผา ถูกควบคุมตัวในวันที่ 20 มี.ค.2551 เวลากลางคืน ถึงวันที่ 21 มี.ค. 2551 เจ้าหน้าที่ทหารได้นำตัว นายยะผา ไปซักถามหลายครั้ง ต่อมาในวันที่ 21 มี.ค. 2551 เวลาประมาณ 06.30 น. นายยะผาถึงแก่ความตายในห้องควบคุมดังกล่าว
การเสียชีวิตของนายยะผา ถือว่าเป็นการตายระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าได้ปฏิบัติราชการตามหน้าที่ พนักงานอัยการจึงยื่นคำร้องในคดีชันสูตรพลิกศพ ขอให้ศาลทำการไต่สวน และทำคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150
กระทั่งวันที่ 25 ธ.ค.2551 ศาลจึงมีคำสั่งว่า ผู้ตาย คือ นายยะผา กาเซ็ง ตายที่ฐานปฏิบัติการหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 39 ซึ่งตั้งอยู่ที่วัดสวนธรรม หมู่ 2 ต.รือเสาะออก อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 21 มี.ค.2551 เวลา 06.30 น. เหตุที่ตายเนื่องจากถูกเจ้าหน้าที่ทหารทำร้ายร่างกาย ทำให้กระดูกซี่โครงหัก ลมรั่วในช่องอกด้านขวา ระหว่างที่อยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติราชการตามหน้าที่
กระบวนการยุติธรรมยังเดินช้า
แม้ศาลจะมีคำสั่งในคดีไต่สวนการตายว่า นายยะผา ถูกทำร้ายร่างกายจนเสียชีวิตระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งตามปกติหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมต้องดำเนินการต่อไปตามขั้นตอน แต่ปรากฏว่าความคืบหน้าของคดีเป็นไปอย่างล่าช้า
ขณะเดียวกัน ญาติของผู้เสียหายได้แจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ทหารทั้งหมดไปแล้วตั้งแต่หลังเกิดเหตุการณ์ คือเดือน มี.ค. 2551 ซึ่งทางพนักงานสอบสวน สภ. รือเสาะ ได้สรุปสำนวนคดีในเบื้องต้นส่งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไต่สวนต่อตามขั้นตอน เนื่องจากผู้ถูกกล่าวหาล้วนเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่คดีก็ยังไม่ปรากฏความคืบหน้าชัดเจนเช่นกัน กระทั่งญาติผู้ตายต้องนำคดีขึ้นฟ้องต่อศาลเองดังกล่าว
สำหรับคดีอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับนายยะผานั้นยังมีอีก 2 คดี โดยเป็นคดีที่ญาติผู้ตายยื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง เมื่อวันที่ 19 มี.ค. 2552 และศาลได้รับคำฟ้องไว้พิจารณาพิพากษาต่อไปแล้ว ได้แก่
1. คดีหมายเลขดำที่ 1084/2552 โดย นางนิม๊ะ กาเซ็ง ภรรยาของนายยะผา และบุตรผู้เยาว์อีก 3 คน เป็นโจทก์ฟ้องกระทรวงกลาโหม กองทัพบก และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นจำเลยที่ 1-3 ตามลำดับ ในข้อหาละเมิด เรียกค่าเสียหายตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ศาลแพ่งกำหนดนัดชี้สองสถานหรือกำหนดแนวทางในการดำเนินคดีในวันที่ 28 ก.ย. 2552 เวลา 13.30 น.
2. คดีหมายเลขดำที่ 1086/2552 นายรายู ดอคอ (ผู้เยาว์) โดย น.ส. สาลีมะ หะมะ มารดาผู้แทนโดยชอบธรรม เป็นโจทก์ฟ้องกระทรวงกลาโหม กองทัพบก และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นจำเลยที่ 1-3 ตามลำดับ ในข้อหาละเมิด เรียกค่าเสียหาย ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ศาลแพ่งกำหนดนัดชี้สองสถานหรือกำหนดแนวทางในการดำเนินคดีในวันที่ 31 ส.ค. 2552 เวลา 09.00 น.
กอ.รมน. ไม่ติดใจญาติ ”อิหม่ามยะผา” ยื่นฟ้องเอง
ด้านบทบาทของฝ่ายความมั่นคง หลังเกิดกรณีของอิหม่ามยะผา ปรากฏว่า พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ได้ออกมายอมรับว่า เหตุดังกล่าวเป็นการกระทำของทหารที่ไม่ดี และได้สั่งย้ายกำลังพลในหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 39 ออกจากพื้นที่ยกหน่วยไปแล้ว พร้อมประกาศให้กระบวนการยุติธรรมจัดการโดยจะไม่ปกป้องกำลังพลที่กระทำความผิด
ขณะที่ พ.อ. ปริญญา ฉายดิลก โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน. ภาค 4 สน.) กล่าวว่า คดีนี้อยู่ในกระบวนการของศาลยุติธรรมอยู่แล้ว การกระทำผิดที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องตัวบุคคล ซึ่งกองทัพเองก็ยอมรับ และเมื่อเกิดเหตุ ทุกอย่างก็เป็นไปตามนโยบายของผู้บังคับบัญชา คือผู้ใดกระทำผิดก็ต้องรับโทษไปตามนั้น ส่วนการยื่นฟ้องของภรรยานายยะผา ก็ถือเป็นสิทธิที่สามารถกระทำได้ และกองทัพจะปล่อยให้ทุกอย่างดำเนินไปตามกระบวนการยุติธรรม โดยจะไม่ปกป้องหรือปกปิดใดๆ ทั้งสิ้น
เมื่อกระบวนการยุติธรรมยังถูกตั้งคำถาม
แม้คดี อิหม่ามยะผา จะเป็นคดีหนึ่งที่ศาลมีคำสั่งไต่สวนการตายอย่างรวดเร็ว คือใช้เวลาไม่ถึงปี ซึ่งสาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะมีผู้เสียหายเพียงคนเดียว ผิดกับคดีตากใบ หรือกรือเซะ (เหตุการณ์เสียชีวิตของประชาชน 85 คนจากการสลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส และเหตุการณ์ยิงถล่มมัสยิดกรือเซะ จนมีผู้ต้องสงสัยเป็นผู้ก่อความไม่สงบเสียชีวิต 32 ราย)
ซึ่งมีผู้เสียหายจำนวนมาก แต่การมีคำสั่งไต่สวนการตายก็ยังเป็นเพียงการพิสูจน์ความยุติธรรมในขั้นต้นเท่านั้น เพราะเป็นกระบวนการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 150 ที่ให้อำนาจศาลไต่สวนการตายที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าได้ปฏิบัติราชการตามหน้าที่ หรือการตายระหว่างการควบคุมของเจ้าพนักงานที่อ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ในลักษณะถ่วงดุลไม่ให้ฝ่ายความมั่นคงหรือตำรวจทำสำนวนกันเอง
แต่ประเด็นก็คือ นี่คือความยุติธรรมขั้นต้นซึ่งยังไม่ได้ลงลึกไปในเนื้อหาสาระแห่งคดีเพื่อหาตัวผู้กระทำผิดและลงโทษตามกฎหมายเลยด้วยซ้ำ
คำถามก็คือ กระบวนการลักษณะนี้เพียงพอและเหมาะสมแล้วหรือสำหรับพื้นที่พิเศษที่มีความอ่อนไหวเช่นนี้
หากย้อนกลับไปดูคดีตากใบ จะพบว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2547 แต่ศาลมีคำสั่งไต่สวนการตายเมื่อวันที่ 29 พ.ค. 2552 หรือเกือบ 5 ปีหลังเกิดเหตุ ถ้าชาวบ้านผู้เสียหายเลือกฟ้องต่อเอง ต้องใช้เวลาอีกนานเท่าไหร่ความยุติธรรมถึงจะปรากฏ
และนี่เองคือจุดเริ่มต้นของการที่กระทรวงยุติธรรมต้องไปจัดทำ “แผนยุทธศาสตร์กระบวนการยุติธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้” ซึ่งเป็นแผนยุทธศาสตร์เกี่ยวกับความยุติธรรมเฉพาะพื้นที่แผนแรกของประเทศไทย และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง นำมาแย้มพรายในการให้สัมภาษณ์ระหว่างลงพื้นที่ครั้งล่าสุดว่า จะหยิบมานำร่องใช้ในพื้นที่เล็กๆ ต้นเดือน ต.ค. นี้ ซึ่ง “ทีมข่าวอิศรา” ได้เก็บรวบรวมข้อมูลรายละเอียดต่างๆ มาพร้อมแล้ว และจะนำเสนอเป็นสกู๊ปข่าวบนเว็บไซต์ต่อไป
เพราะความยุติธรรมนั้นแค่ทำอย่างเดียวไม่พอ ต้องให้เห็นและรู้สึกว่ายุติธรรมด้วย หรือที่ภาษาอังกฤษบอกว่า justice must be seen to be done…
ฉะนั้นโปรดติดตาม!