ครอบครัวอิหม่ามยะผา ยื่นฟ้องทหาร และตำรวจ ทำร้ายร่างกายโดยทรมาน จนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย ที่ศาลนราธิวาส

Share

ภรรยาของอิหม่ามยะผา กาเซ็ง ยื่นฟ้องดำเนินคดีอาญากับเจ้าพนักงานทหารและตำรวจ ในความผิด ร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขัง ข่มขืนใจให้รับสารภาพ ทำร้ายร่างกาย โดยทรมานทารุณโหดร้าย จนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย

วันพฤหัสบดีที่ 20 สิงหาคม 2552 เวลาโดยเมื่อเวลาประมาณ 15.00 น. ศาลจังหวัดนราธิวาสมีคำสั่งรับฟ้องเป็นคดีหมายเลขดำที่ 1611/2552 และนัดไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2552 ที่ศาลจังหวัดนราธิวาส ตามที่นางนิม๊ะ กาเซ็ง ภรรยาของนายยะผา กาเซ็ง (ผู้ตาย) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องพันตรีหนึ่งนาย ร้อยตรีหนึ่งนาย จ่าสิบเอกหนึ่งนาย สิบเอกสองนาย และพันตำรวจเอกหนึ่งนาย เป็นจำเลยที่ 1-6 ตามลำดับ กับพวกที่ยังไม่ทราบชื่ออีกหลายคน ในคดีอาญา ข้อหาร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดหรือไม่กระทำการใดหรือจำยอมต่อสิ่งใด, กักขังหน่วงเหนี่ยว, เจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต, ร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตายโดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 290, 295, 297, 309, 310 ประกอบมาตรา 81, 91 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 26, 32, 39 และอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and Other Cruel Inhuman or Degrading Treatment or Punishment : CAT) ซึ่งประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคี และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2550

โจทก์บรรยายฟ้องในคดีนี้ความว่า เหตุเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2551 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง เจ้าหน้าที่ทหารจากหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 39 สนธิกำลังร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสถานีตำรวจภูธรรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส เข้าปิดล้อม ตรวจค้น ควบคุม กักตัวและนำตัวนายยะผา กาเซ็ง นายอามิง กาเซ็ง นายอนันต์ กาเซ็ง ซึ่งเป็นบุตรของนายยะผา กาเซ็ง นายมาสะกรี ลายี นายรายู ดอคอ และนายซูกรินัย โละมะ จากภูมิลำเนาที่ตำบลรือเสาะ อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส ไปทำการแถลงข่าวที่สถานีตำรวจภูธรเมืองนราธิวาส โดยมีผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนราธิวาสร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจอื่นๆ และจำเลยที่ 6

แถลงข่าวว่านายยะผา กาเซ็ง กับพวกรวมหกคน เป็นผู้กระทำการอันเป็นการก่อการร้าย พร้อมแสดงพยานหลักฐานยืนยันประกอบการแถลงข่าว จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรรือเสาะได้นำตัวนายยะผา กาเซ็ง กับพวกดังกล่าว ส่งมอบให้เจ้าหน้าที่ทหารหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 39 ซึ่งตั้งฐานปฏิบัติการอยู่ที่วัดสวนธรรม ตำบลรือเสาะออก อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส โดยจำเลยที่ 6 ได้ให้รถยนต์บรรทุกหกล้อที่ใช้สำหรับการควบคุม และเคลื่อนย้ายผู้ต้องหาของสถานีตำรวจภูธรรือเสาะ แก่เจ้าหน้าที่ทหารหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 39 เพื่อใช้ในการกักตัวบุคคลทั้งหกไว้ในฐานปฏิบัติการดังกล่าว เป็นการทรมาน

เนื่องจากรถบรรทุกหกล้อดังกล่าวไม่ใช่สถานที่กักตัว และไม่เหมาะสมที่จะใช้ในการกักตัวนายยะผา กาเซ็ง กับพวก ไม่เหมาะสมสำหรับการพักผ่อนหลับนอน ไม่มีห้องสุขาและไม่เหมาะสมสำหรับการปฏิบัติศาสนกิจ (บุคคลที่ถูกกักตัวทั้งหกคนนับถือศาสนาอิสลาม) จึงถือว่าจำเลยทั้งหกได้กระทำการทรมานตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ และตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 32 วรรคสอง อีกทั้งเป็นความผิดฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังโดยมิชอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา โดยนายยะผา กาเซ็ง กับพวกปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ไม่ได้ยินยอมและอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้

ต่อมาระหว่างวันที่ 20 มีนาคม 2551 เวลากลางคืนหลังเที่ยง ถึงวันที่ 21 มีนาคม 2551 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง ต่อเนื่องกัน จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 กับพวกที่ยังไม่ทราบชื่อ ได้บังอาจร่วมกันทำร้ายร่างกายนายยะผา กาเซ็ง โดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้าย ใช้กำลังข่มขืนใจให้นายยะผา กาเซ็ง รับสารภาพว่าเป็นแนวร่วมผู้ก่อการร้ายในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ใช้กำลังประทุษร้ายร่างกายนายยะผา กาเซ็ง โดยเตะ ชกต่อย ตบ ถีบตามร่างกาย เป็นเวลาติดต่อกันประมาณหนึ่งชั่วโมง

เป็นเหตุให้นายยะผา กาเซ็ง ได้รับอันตรายมีบาดแผลฟกช้ำบริเวณใบหน้าและร่างกายหลายแห่ง แล้วนำตัวนายยะผา กาเซ็ง ไปกักไว้ในรถยนต์ดังเดิม ต่อมาจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 กับพวกที่ยังไม่ทราบชื่อ ยังได้ใช้กำลังถีบร่างของนายยะผา กาเซ็ง ลงจากรถเนื่องจากมีอาการบาดเจ็บสาหัสจากการถูกทำร้ายร่างกายครั้งก่อนไม่สามารถลุกขึ้นเดินได้ แล้วลากขาออกไปแล้วร่วมกันทำร้ายร่างกายนายยะผา กาเซ็ง โดยใช้ของแข็งตี และใช้กำลังเตะ ชกต่อย เท้ากระทืบตามร่างกาย สลับกับการข่มขืนใจให้รับสารภาพ ซ้ำแล้วซ้ำอีก

เป็นเหตุให้นายยะผา กาเซ็ง ได้รับอันตรายบาดเจ็บสาหัส คิ้วมีรอยแตกรอบๆ ริมฝีปากฟกช้ำ ตามลำตัวและแผ่นหลังมีรอยฟกช้ำ กระดูกซี่โครงหักหลายซี่ แล้วนำตัวกลับมาไว้บนรถยนต์ แม้ผู้ถูกกักตัวคนอื่นๆ ได้ร้องขอให้จำเลยนำตัวนายยะผา กาเซ็ง ส่งโรงพยาบาล แต่จำเลยกลับเพิกเฉย เป็นเหตุให้นายยะผา กาเซ็ง ถึงแก่ความตายในที่สุด

ซึ่งจากการชันสูตรของแพทย์พบบาดแผลถลอก ฟกช้ำตามร่างกาย กระดูกซี่โครงขวาด้านหน้าและด้านหลังหัก กระดูกซี่โครงซ้ายด้านหน้าและด้านหลังหัก สาเหตุการตายเกิดจากร่างกายกระแทกกับของแข็งอย่างแรง ทำให้กระดูกซี่โครงหัก ลมรั่วในช่องอกด้านขวา และโจทก์ได้กล่าวในฟ้องว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 กับพวกที่ยังไม่ทราบชื่ออีกหลายคน

นอกจากเป็นความผิดตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ยังเป็นความผิดฐานเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่นายยะผา กาเซ็ง และครอบครัว หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต่อมาศาลจังหวัดนราธิวาสได้ทำการไต่สวนการตายของนายยะผา กาเซ็ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ อช.9/2551 และคดีหมายเลขแดงที่ อช.19/2551 โดยศาลมีคำสั่งเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2551 ว่า

“ผู้ตายคือนายยะผา กาเซ็ง ตายที่ฐานปฏิบัติการหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 39 ตั้งอยู่ที่วัดสวนธรรม หมู่ที่ 2 ตำบลรือเสาะออก อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2551 เนื่องจากผู้ตายถูกเจ้าหน้าที่ทหารทำร้ายร่างกาย ทำให้กระดูกซี่โครงหัก ลมรั่วในช่องอกด้านขวา ระหว่างที่อยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติราชการตามหน้าที่”

จากเหตุการณ์เดียวกันนี้ นอกจากที่โจทก์ฟ้องเป็นคดีอาญานี้แล้ว ยังมีคดีอื่นอีกที่ได้มีการยื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง (กรุงเทพฯ) เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2552 และศาลได้รับฟ้องเพื่อพิจารณาพิพากษาต่อไปไว้แล้ว ได้แก่ 1. คดีหมายเลขดำที่ 1084/2552 โดยนางนิม๊ะ กาเซ็ง ภรรยาของนายยะผา กาเซ็ง และบุตรผู้เยาว์อีก 3 คน เป็นโจทก์ฟ้องกระทรวงกลาโหม กองทัพบก และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ตามลำดับ ข้อหาละเมิด เรียกค่าเสียหาย ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

ศาลแพ่งกำหนดนัดชี้สองสถานหรือกำหนดแนวทางในการดำเนินคดีในวันที่ 28 กันยายน 2552 เวลา 13.30 น. 2. คดีหมายเลขดำที่ 1086/2552 นายรายู ดอคอ(ผู้เยาว์) โดยนางสาวสาลีมะ หะมะ มารดา ผู้แทนโดยชอบธรรม เป็นโจทก์ ฟ้องกระทรวงกลาโหม กองทัพบก และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ตามลำดับ ข้อหาละเมิด เรียกค่าเสียหาย ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ศาลแพ่งกำหนดนัดชี้สองสถานหรือกำหนดแนวทางในการดำเนินคดีในวันที่ 31 สิงหาคม 2552 เวลา 9.00 น.

ติดต่อ ข้อมูลเพิ่มเติม โครงการเข้าถึงความยุติธรรมและการคุ้มครองทางกฎหมาย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม 02-6934939, 086-7093000 และทีมทนายความ 081-4394938, 081-6283402

Discover more from มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading

Discover more from มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading