[:th]CrCF Logo[:]
3 ปีเหตุการณ์ไอปาแย

3 ปีเหตุการณ์ไอปาแย…ไม่มีใครเหลียวแล

Share

40 วันไอปาแย…ชาวบ้านยังถูกกระทำซ้ำซาก วันจันทร์ที่ 27 กรกฎาคม 2009 22:37 น. สุเมธ ปานเพชร / อับดุลเลาะ หวังนิ โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา

ความสงบเงียบในหมู่บ้านไอปาแย ต.จวบ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ซึ่งชาวบ้านต่างดำเนินชีวิตกันอย่างปกติสุข ทำให้เกือบลืมไปว่า หมู่บ้านแห่งนี้เพิ่งเคยเกิดโศกนาฏกรรมสะเทือนขวัญ มีคนร้ายเข้าไปกราดยิงชาวบ้านขณะทำละหมาดถึงในมัสยิดจนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก เมื่อค่ำคืนของวันที่ 8 มิ.ย. ที่ผ่านมานี้เอง

“ทีมข่าวอิศรา” เพิ่งเดินทางเข้าไปเยือนหมู่บ้านไอปาแยอีกครั้งเมื่อวันที่ 18 ก.ค. ซึ่งครอบครัวของนายรอยะ อาแว หนึ่งในผู้เสียชีวิต จัดงานทำบุญครบรอบ 40 วันให้กับนายรอยะ ที่บ้านชั้นเดียวเลขที่ 268/2 ริมถนนสายกลางที่ผ่านหมู่บ้านไอปาแย ห่างจากมัสยิดจุดเกิดเหตุประมาณ 500 เมตรเท่านั้น

อาแว วอวะฮะ ลูกเขยของนายรอยะ เล่าว่า ครอบครัวได้จัดงานทำบุญ 40 วันให้กับพ่อตา เป็นการทำบุญใหญ่ให้กับคนที่เสียชีวิตเหมือนทั่วๆ ไป โดยได้เชิญเพื่อนบ้านในหมู่บ้านร่วมอ่านอัลกุรอาน และจัดเลี้ยงอาหารให้กับเพื่อนบ้านที่มาร่วมงานทุกคน

“การทำบุญของผู้เสียชีวิตแต่ละครอบครัว อยู่ที่ทางครอบครัวจะมีความพร้อมแค่ไหน เท่าที่ทราบผู้เสียชีวิตทั้งหมดในหมู่บ้านยังเหลือเพียง 2 ครอบครัวที่ไม่ได้ทำบุญใหญ่อุทิศให้ผู้เสียชีวิต” อาแว กล่าว

ทั้งนี้ ในวันที่ครอบครัวของนายรอยะจัดทำบุญใหญ่นั้น เป็นวันเดียวกับที่องค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ร่วมกันจัดงาน “ระลึก 40 วันเหยื่อความรุนแรงที่มัสยิดอัลฟุรกอน ไอปาแย” ที่ห้องประชุมคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส โดยมีผู้คนไปร่วมงานจำนวนมาก แต่ อาแว บอกว่า เขาไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับงานระลึก 40 วันที่จัดขึ้นเลยแม้แต่น้อย
“ผมไม่รู้เรื่อง และไม่ได้ไปร่วมงาน เพราะครอบครัวจัดทำบุญใหญ่ให้พ่อตา ผมคิดว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ในหมู่บ้านก็คงไม่รู้เรื่อง เพราะหลายคนก็มาร่วมงานทำบุญที่บ้านของผม” อาแว บอก และว่า

“ผมไม่รู้ว่างานอะไร แต่รู้ว่าเกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้นที่ไอปาแย ก็รู้สึกงงๆ เหมือนกันว่าทำไมไม่มาจัดที่หมู่บ้าน ในเมื่อมันเป็นเรื่องเกี่ยวกับไอปาแย ช่วงนี้มีชาวบ้านที่ขับรถผ่านไปผ่านมาในหมู่บ้านแวะมาถามเหมือนกันว่า จัดงานระลึก 40 วันที่หมู่บ้านตรงไหน ผมก็ได้แต่บอกไปว่าไม่มี จะมีก็เพียงแต่งานทำบุญใหญ่ของครอบครัวผมเท่านั้น”

ขณะที่ อุสมาน มะเซ็ง วัย 37 ปี ชาวบ้านไอปาแยที่มาร่วมงานของครอบครัวนายรอยะ บอกว่า เขาเป็นหนึ่งในครอบครัวผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ยิงในมัสยิด โดย มะสะแลแม มะเซ็ง พ่อของเขาต้องสังเวยชีวิต แต่ทางครอบครัวได้ทำบุญใหญ่ให้พ่อไปแล้ว วันนี้จึงมาร่วมงานทำบุญของครอบครัวเพื่อนบ้าน

อุสมาน บอกอีกว่า ถึงวันนี้ครอบครัวผู้สูญเสียหลายๆ ครอบครัวเริ่มทำใจกับเหตุร้ายที่เกิดขึ้นได้แล้ว เพราะเวลาผ่านมาค่อนข้างนาน อีกทั้งตามหลักคำสอนของอิสลามก็ระบุว่าคนที่เสียชีวิตเหมือนกับถูกกำหนดมาแล้วโดยพระเจ้า เราไม่อาจห้ามได้ แม้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันจะเลวร้ายมากก็ตาม

“ผมไม่อยากรื้อฟื้นสิ่งที่มันผ่านไปแล้ว เพราะมันยิ่งทำให้ไม่สบายใจอีก คนที่สูญเสียคนที่รักในครอบครัวรู้ดีถึงความรู้สึกนี้ และผมเชื่อว่าการทำงานของเจ้าหน้าที่เพื่อหาตัวคนร้ายที่ฆ่าคนในหมู่บ้านต้องมีความคืบหน้าอย่างแน่นอน เพียงแต่ต้องให้เวลาเจ้าหน้าที่ในการทำงาน และสุดท้ายจะต้องมีคำตอบให้กับชาวบ้าน”

อุสมาน ยังกล่าวถึงกรณีที่มีหลายฝ่ายออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับชาวไอปาแย ว่า ส่วนใหญ่ครอบครัวผู้เสียชีวิตไม่ได้รู้เรื่องหรือไปเกี่ยวข้องกับการจัดงานต่างๆ เลย จึงไม่อยากให้สังคมภายนอกมองชาวไอปาแยว่าเป็นพวกมีปัญหา ขอยืนยันว่าทุกคนไม่รู้เรื่องจริงๆ

“เราเสียใจมามากพอแล้วจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในมัสยิด ผมต้องมาเสียพ่อไป ความรู้สึกในวันนี้เริ่มดีขึ้น เริ่มทำใจได้แล้ว แต่มารู้สึกไม่สบายใจอีกเมื่อมีการนำเรื่องไอปาแยออกมาพูดกัน ที่ผ่านมาคนในไอปาแยรู้สึกแย่พอแล้ว และไม่อยากพูดถึงมันอีก”

“ผมอยากให้หยุดพูดเรื่องไอปาแย และหยุดนำเรื่องนี้มาเป็นประเด็นเสียที หากหวังดีและอยากจะช่วยเหลือชาวบ้านหรือครอบครัวผู้สูญเสีย จริงๆ แล้วยังมีทางอื่นอีกเยอะที่จะช่วยเหลือ ผมไม่ต้องการเรียกร้องอะไรกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อย่ามาซ้ำเติมกันอีกเลย”

ด้าน นายสมาน ปะเงาะห์ ผู้ใหญ่บ้านไอปาแย หนึ่งในผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์กราดยิงในมัสยิด กล่าวทำนองเดียวกันว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ชาวบ้านในหมู่บ้านทุกคนรู้สึกแย่มากพอแล้ว อยากให้เรื่องราวร้ายๆ ผ่านพ้นไป และอยากให้ความสงบสุขหวนกลับมาสู่หมู่บ้านโดยเร็ว ชาวบ้านจะได้อยู่กันอย่างปกติสุขเหมือนเดิม

“เหตุการณ์ที่ผ่านมาชาวบ้านรู้สึกถึงความห่วงใยและน้ำใจจากทุกคนที่เข้ามาเยี่ยมเยียน รวมถึงการให้ความช่วยเหลือครอบครัวผู้ที่เสียชีวิตด้วย ชาวบ้านรู้สึกขอบคุณมาก ที่ผ่านมามีทั้งคนในพื้นที่และคนจากมาเลเซียมาช่วยเหลือเป็นจำนวนมาก รวมไปถึงภาครัฐเองก็ดูแลอย่างเต็มที่ แต่สิ่งที่ชาวบ้านทุกคนกังวลมากในวันนี้ก็คือ เรื่องการออกมาเรียกร้องแทนผู้สูญเสีย โดยหากการเรียกร้องทำไปด้วยความหวังดี ชาวบ้านทุกคนขอขอบคุณ แต่อยากบอกว่าคนในไอปาแยไม่ต้องการให้เกิดขึ้น เพราะทุกวันนี้ปัญหาต่างๆ ในหมู่บ้านกำลังคลี่คลายไปด้วยดีแล้ว เราอยากอยู่อย่างสงบมากกว่า”

ผู้ใหญ่ฯสมาน ยังกล่าวถึงการจัดงาน “ระลึก 40 วัน เหยื่อความรุนแรงที่มัสยิดอัลฟุรกอน ไอปาแย” ขององค์กรภาคประชาสังคมว่า ชาวบ้านในไอปาแย ไม่รู้เรื่อง และไม่มีชาวบ้านในไอปาแยเข้าไปร่วมกิจกรรมแต่อย่างใด ที่สำคัญเราไม่รู้ว่าจัดงานครั้งนี้ขึ้นเพื่ออะไร เพราะชาวบ้านไม่อยากรื้อฟื้นถึงสิ่งที่เกิดขึ้นอีกแล้ว

“ชาวบ้านในหมู่บ้านอาจเรียกได้ว่าเกือบทั้งหมด ไม่มีใครรู้เรื่องงานระลึก 40 วันเลย และไม่ได้มีใครไปร่วมงานด้วย ทั้งที่งานแบบนี้น่าจะเป็นการจัดขึ้นโดยชาวบ้านในหมู่บ้านไอปาแยเองมากกว่า การจัดงานระลึกถึงผู้เสียชีวิต เราได้บทเรียนมาครั้งหนึ่งแล้วช่วงที่มีการทำบุญครบ 7 วันหลังเหตุการณ์ ตอนนั้นมีกลุ่มนักศึกษาเดินทางมาเยี่ยม และจะตั้งเวทีเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับผู้เสียชีวิต แต่ชาวบ้านไม่ยอมให้ตั้ง เพราะเราต้องการอยู่อย่างสงบ”

ผู้ใหญ่ฯสมาน ยังยกตัวอย่างพฤติกรรมของคนบางกลุ่มที่อ้างความสูญเสียของชาวบ้านไอปาแย แต่สุดท้ายกลับเป็นการหาประโยชน์เข้าตัวเอง ซึ่งเหมือนเป็นการซ้ำเติมชาวบ้าน
“พวกเราได้ทราบข่าวร้ายที่เป็นเหมือนการซ้ำเติมพวกเรา คือมีกลุ่มคนบางกลุ่มที่อยู่ในประเทศมาเลเซียแอบอ้างการเสียชีวิตของคนในหมู่บ้านไอปาแย เพื่อขอบริจาคเงินช่วยเหลือ แต่เงินที่บริจาคนั้นไม่ได้มาถึงชาวไอปาแยเลย ผมได้ทราบข่าวนี้จากชาวบ้านในหมู่ที่มีญาติอยู่ในมาเลเซีย และชาวมาเลเซียที่เดินทางเข้ามาเยี่ยมชาวไอปาแยในหมู่บ้านบอกว่า มีการเรี่ยไรเงินบริจาคช่วยเหลือกันมากในช่วงแรกๆ ที่เกิดเหตุการณ์ขึ้น แต่เงินที่ว่าไม่เคยมาถึงหมู่บ้านเลยแม้แต่บาทเดียว จะมีก็จากคนที่อยู่ในมาเลเซียจริงๆ ที่เข้ามาเยี่ยมและมอบเงินให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิตด้วยตัวเองเท่านั้น” ผู้ใหญ่ฯสมาน กล่าว

“สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเหมือนการซ้ำเติมความรู้สึกของชาวบ้าน เพราะเราต้องสูญเสียสมาชิกในหมู่บ้าน สูญเสียพ่อ สูญเสียลูก สูญเสียคนในครอบครัว นับเป็นเรื่องที่เลวร้ายมากอยู่แล้ว แต่ยังต้องมาเจอกับการแอบอ้างเอาความโหดร้ายที่ชาวบ้านเผชิญไปหาผลประโยชน์อีก” ผู้ใหญ่บ้านไอปาแย ย้ำเสียงเครียด และว่า หากหวังดีกับชาวบ้านจริง ก็อย่ามาซ้ำเติมกันอีกเลย

สำหรับงาน “ระลึก 40 วันเหยื่อความรุนแรงที่มัสยิดอัลฟุรกอน ไอปาแย” ที่ชาวบ้านพูดถึงนั้น จัดขึ้นเมื่อวันที่ 18 ก.ค. ที่ห้องประชุมสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส โดยความร่วมมือขององค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่กว่า 20 องค์กร มี พล.ต.ต.จำรูญ เด่นอุดม ประธานมูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้ เป็นผู้ประสานงาน

ทั้งนี้ ภายในงานมีการอภิปรายหลายหัวข้อจากผู้ทรงคุณวุฒิสาขาต่างๆ เพื่อระดมสมองเสนอภาครัฐเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาไม่ให้เหตุการณ์ร้ายๆ ลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก ขณะเดียวกันก็มีการรวบรวมเงินบริจาคเพื่อช่วยเหลือครอบครัวผู้เสียชีวิต และสมทบกองทุนประชาชนเข้าถึงความยุติธรรมด้วย โดยบรรยากาศในวันนั้นก็คึกคักพอสมควร แต่ก็มีรายงานจากสื่อมวลชนหลายแขนงในลักษณะตั้งข้อสังเกตเช่นกันว่า ไม่มีชาวบ้านจากไอปาแยไปร่วมงานแม้แต่คนเดียว

พล.ต.ต. จำรูญ กล่าวเรื่องนี้ว่า การจัดงาน 40 วันไอปาแยที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส เป็นปัญหาเพราะความเข้าใจผิดของรัฐ คือรัฐไม่เข้าใจเจตนารมณ์ของการจัดงานในครั้งนี้ จึงทำให้คิดไปเองว่าการที่องค์กรภาคประชาสังคมจัดงานแล้วเรียกชาวบ้านจากสามจังหวัดมารวมตัวกัน เพราะหวังจะมีการเรียกร้องหรือชุมนุมประท้วง จึงมีการสร้างกระแสว่าถ้าใครไปร่วมงานจะไม่รับรองความปลอดภัย และจะมีการจับตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อีกด้วย เรื่องนี้ชาวบ้านรู้ดีและมีคำตอบที่ดีกว่าคนจัดงานด้วยซ้ำ

“งาน 40 วันไอปาแยจบไปแล้ว รัฐพึงรับรู้ด้วยว่าตนเองเข้าใจผิดพลาด เราเพียงต้องการให้รัฐได้มีโอกาสเข้ามาชี้แจงบ้าง ไม่ใช่ให้ชาวบ้านฟังจากสื่อเท่านั้น ขณะเดียวกันก็เพื่อเปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้สอบถามรัฐโดยตรง รัฐจะได้พูดกับชาวบ้านเอง แต่รัฐกลับเข้าใจผิด และไปกดดันชาวบ้านไม่ให้มาร่วมงาน”

ขณะที่ พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้ประสานงานโครงการเข้าถึงความยุติธรรมและการคุ้มครองทางกฎหมาย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม หนึ่งในองค์กรภาคประชาสังคมที่ร่วมจัดงาน กล่าวว่า เท่าที่ทราบกลุ่มญาติผู้สูญเสียก็ให้ความร่วมมือดี และมีการร้องเรียนผ่านมาว่า วันศุกร์ก่อนวันงานมีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เข้าไปที่มัสยิด และไปพูดหลังละหมาดวันศุกร์ว่าไม่ให้ไปร่วมงาน ชาวบ้านจึงไม่กล้าออกมา

“เราทราบเรื่อง แต่ก็ไม่ได้ดึงดันอะไร เราให้ชาวบ้านตัดสินใจเองว่าจะออกมาร่วมงานหรือไม่” พรเพ็ญ ระบุ

พรเพ็ญ ยังเผยด้วยว่า การจัดงานดังกล่าวมีผู้บริจาคเงินรวมทั้งสิ้น 82,600 บาท หักค่าใช้จ่ายในการจัดงานประมาณ 25,110 บาท เหลือเงินทั้งส้น 57,490 บาท มอบให้ครอบครัวผู้สูญเสีย 36,300 บาท ที่เหลือ 21,190 บาท นำเข้ากองทุนประชาชนเข้าถึงความยุติธรรม ทั้งนี้ ตัวแทนจากศูนย์ทนายความมุสลิม ได้นำเงินไปมอบให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิตที่หมู่บ้านไอปาแยแล้ว…

โดยมีคอเต็บประจำมัสยิดเป็นผู้แทนรับมอบ และมีครอบครัวผู้เสียชีวิตบางส่วนมาร่วมเป็นสักขีพยาน!

เหตุการณ์ 3 ปีเหตุการณ์ไอปาแย อ่านรายงานบันทึกเก่าได้ที่

Loader Loading…
EAD Logo Taking too long?

Reload Reload document
| Open Open in new tab

Download [1.39 MB]

RELATED ARTICLES