เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2551 เจ้าหน้าที่กองกำลังผสมระหว่างทหาร ตำรวจและฝ่ายปกครองเข้าปิดล้อม ตรวจค้นและจับกุมบุคคลในหมู่บ้านกอตอ อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส รวมทั้งสิ้น 6 คน รวมทั้งนายยาผา กาเซ็งและญาติ โดยเจ้าหน้าที่นำผู้ต้องสงสัยไปควบคุมตัวที่หน่วยเฉพาะกิจ 39 วัดสวนธรรม อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส
ต่อมา เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2551 นายยะผา กาเซ็ง ได้ถึงแก่ความตายในขณะที่ถูกควบคุมตัวร่วมกับญาติของนายยะผา ถูกควบคุมตัวในรถขนาดใหญ่สีดำ ด้านข้างมีช่องกระจกเล็กๆ และลูกกรงกั้นไว้ ที่หน่วยเฉพาะกิจ 39 วัดสวนธรรม อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส โดยแพทย์ระบุสาเหตุการตายในหนังสือรับรองการตายว่า ร่างกายกระแทกกับของแข็งอย่างแรงทำให้ซี่โครงหัก และลมรั่วในช่องทรวงอกด้านขวา
การเสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัวของผู้ต้องสงสัยตามกฎหมายพิเศษเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งข้อกล่าวหาว่ามีการซ้อมทรมาน อย่างไรก็ดี คดีไต่สวนการตายมักจะมีความล่าช้านับเป็นเวลาหนึ่งหรือสองปี กว่าที่จะมีการเริ่มพิจารณาคดี
คดีการเสียชีวิตของนายยาผาได้รับความสนใจจากประชาชน สื่อมวลชน องค์กรสิทธิมนุษยชน ญาติและครอบครัวมักได้รับการติดต่อให้รับข้อเสนอต่าง ๆ เพื่อยุติการเรียกร้องความเป็นธรรมและการติอต่อกับสื่อมวลชนและองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน นับเป็นความก้าวหน้าในการอำนวยความยุติธรรมของศาลจังหวัดนราธิวาสที่ ได้นัดให้มีการไต่สวนเพียง 3 เดือนหลังจากการเสียชีวิต ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการแก้ไขเยียวยาสถานการณ์ความไม่สงบโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนำคนผิดมาลงโทษตามกระบวนการตามกฎหมาย
ขณะนี้ผู้สงสัยที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของนายาผาและการซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัยอีก 5 คน กำลังอยู่ในระหว่างการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ. รือเสาะ จังหวัดนราธิวาส และได้ทำสอบปากคำพยาน และทำสำนวนส่งให้กับสำนักงานป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ไปแล้วเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2551
และหน่วยงานทางทหารก็ได้สั่งย้ายผู้ถูกกล่าวหาออกนอกหน่วยฯ แต่ยังคงปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ ในวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ศาลนราธิวาสได้มีคำสั่งในคดีชันสูตรพลิกศพ