[:th]CrCF Logo[:]

เปิดคำสั่งศาลคดีไต่สวนการตายกรณีตากใบ ผู้ตายทั้ง 78 คนขาดอากาศหายใจ ในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงาน

Share

เปิดคำสั่งศาลคดีไต่สวนการตาย กรณีตากใบ ผู้ตายทั้งเจ็ดสิบแปดขาดอากาศหายใจ ในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่

วันนี้ (วันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2552) ศาลจังหวัดสงขลาอ่านคำสั่งคดี ช. 16/2548 ได้ความสรุปจากคำสั่ง รวม 16 หน้า ได้ใจความสำคัญโดยย่อดังนี้

“พยานผู้ร้องทั้งแปดได้ร่วมกันทำการชันสูตรพลิกศพผู้ตายทั้งเจ็บสิบแปดที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร (ระบุว่าแพทย์ท่านใด ชันสูตรพลิกศพใด) พบว่า ผู้ตายทั้ง 78 ถึงแก่ความตาย เนื่องจากขาดอากาศหายใจ

โดยมีพนักงานสอบสวนเบิกความยืนยันสนับสนุน เห็นว่า พยานผู้ร้องทั้งสิบห้าต่างได้เบิกความถึงเหตุการณ์ที่พบเห็นในวันเกิดเหตุทั้งก่อน ขณะและเกิดเหตุได้อย่างสอดคล้องต่อเนื่องเชื่อมโยงกัน แม้ผู้ร้องซักถามได้นำสืบในทำนองว่าผู้ที่ถูกควบคุมตัวบางคนเป็นผู้ที่เข้าไปดูการชุมนุม การสลายการชุมนุม และการควบคุมผู้ร่วมชุมนุมเดินทางเคลื่อนย้ายไปที่ค่ายอิงคยุทธฯ ไม่ถูกต้องตามขั้นตอน และวิธีการในการสลายการชุมนุม

การเคลื่อนย้ายผู้ร่วมชุมนุมไปค่ายอิงคยุทธบริหาร ใช้เวลาในการเดินทางนานกว่าปกติ แต่เมื่อได้พิจารณาถึงสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างฉุกละหุกปัจจุบันทันด่วนในวันเกิดเหตุ กลุ่มผู้ร่วมชุมนุมที่มีจำนวนมากกว่าหนึ่งพันคนซึ่งร่วมชุมนุมกันในบริเวณหน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบอันมีพื้นที่จำกัด และบริเวณที่เกิดเหตุอยู่ใกล้พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์

ประกอบกับการสลายการชุมนุมเสร็จสิ้นลงในเวลาค่ำ รถยนต์บรรทุกที่ใช้เคลื่อนย้ายผู้ร่วมชุมนุมไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร ที่ทางราชการสามารถจัดหาได้ในท้องที่เกิดเหตุในขณะนั้น ระยะทางจากหน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบไปยังค่ายอิงคยุทธฯ ห่างไกลกัน สภาพภูมิอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเดินทางกับปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นขัดขวางต่อการเดินทาง

ดังนี้ หากมิได้ควบคุมเคลื่อนย้ายผู้ร่วมชุมนมออกจากบริเวณที่เกิดเหตุโดยเร็ว อาจจะเกิดเหตุการณ์ลุกลามบานปลายซึ่งไม่อาจคาดหมายได้ขึ้นอีก จึงเป็นการจำเป็นที่จะต้องรีบดำเนินการดังกล่าวในทันทีอย่างต่อเนื่อง พยานหลักฐานของผู้ร้องซักถามจึงไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของผู้ร้องข้อเท็จจริงฟังได้ว่า

“ในวันเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าพนักงานตำรวจ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดำเนินการเข้าสลายการชุมนุม และควบคุมผู้ที่ร่วมชุมนุมนำตัวไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ตามความจำเป็นแห่งสภาพการณ์เท่าที่เอื้ออำนวยให้ได้ในขณะนั้น อันเป็นการปฎิบัติการตามหน้าที่

แม้ปรากฎตามภาพเหตุการณ์ที่ได้จากแผ่นบันทึกภาพ (VCD) ว่าบุคคลที่แต่งกายคล้ายเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าดำเนินการสลายการชุมนุมบางคนทำร้ายผู้ร่วมชุมนุมขณะที่เข้าสลายการชุมนุมก็ตาม เชื่อว่าเป็นการกระทำของบุคคลดังกล่าวในทันทีทันใดโดยพลการ

เมื่อไม่ปรากฎว่าหลังจากที่ผู้ตายทั้งเจ็บสิบแปด และผู้ร่วมชุมนุมที่ถูกควบคุมตัวขึ้นรถยนต์บรรทุกนำส่งค่ายอิงคยุทธบริหารจนแล้วเสร็จ ได้มีการกระทำต่อผู้ตายเจ็ดสิบแปดหรือผู้ร่วมชุมนุมที่ถูกควบคุมตัว หรือเกิดเหตุร้ายอย่างอื่นกับผู้ตายทั้งเจ็ดสิบแปดหรือผู้ร่วมชุมนุมที่ถูกควบคุมตัวอีก

การที่ผู้ตายทั้งเจ็ดสิบแปดถึงแก่ความตายในระหว่างการควบคุมเคลื่อนย้ายเพื่อนำส่งค่ายอิงคยุทธฯ จึงถึงได้ว่าผู้ตายทั้งเจ็ดสิบแปดถึงแก่ความตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่ อาศัยเหตุผลดังวินิจฉัยมาจึงมีคำสั่งว่า ผู้ตาย (ระบุชื่อ 78 รายชื่อ) ทั้งเจ็บสิบแปดตายที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร ตำบลบ่อทอง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2547 เหตุ และพฤติการณ์ที่ตายคือ ผู้ตายทั้งเจ็ดสิบแปดขาดอากาศหายใจ ในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่

นายยิ่งยศ ตันอรชร, นางสาวจุฑารัตน์ สันติเสวี
ผู้พิพากษา

บันทึก โดย โครงการเข้าถึงความยุติธรรมและการคุ้มครองทางกฎหมาย
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม Tel. 02-6934939[:]