สถานการณ์การซ้อมทรมาน 1 ปี หลังไทยลงนามในอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน

Share

แถลงการณ์ สถานการณ์การซ้อมทรมาน และการปฎิบัติอย่างไร้มนุษยธรรม 1 ปี หลังประเทศไทยลงนามในอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน ประสบการณ์จริงภายใต้กฎอัยการศึก และ พรก. ฉุกเฉินในสามจังหวัดภาคใต้

ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และในวันนี้จะครบรอบ 1 ปีที่อนุสัญญานี้มีผลใช้บังคับต่อประเทศไทย ในระยะเวลาหนึ่งปี สถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัยว่ากระทำความผิด รวมทั้งการลงโทษอย่างโหดร้ายหรือไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี ยังคงมีสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษชน

โดยเฉพาะในเรื่องการซ้อมทรมานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้กฎหมายพิเศษได้แก่ พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก และ พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่ให้ทหารและตำรวจมีอำนาจมากมายในการจำกัดสิทธิ และเสรีภาพของประชาชน ทั้งนี้โดยอ้างเหตุผลด้านความมั่นคง และเพื่อการสร้างความสงบด้วยการปราบปรามผู้ต้องสงสัยก่อเหตุร้ายอย่างต่อเนื่อง

จากรายงานล่าสุดของศูนย์ทนายความมุสลิม ในช่วงเดือนมกราคม พ.ศ. 2551- เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2551 มีเรื่องร้องเรียนจำนวนกว่า 50 กรณีที่เกี่ยวกับข้อกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่มีส่วนร่วมในการทำร้ายร่างกาย และซ้อมทรมานหรือปฎิบัติอย่างไร้มนุษยธรรม เพื่อให้ได้มาซึ่งคำสารภาพ ซัดทอด หรือให้ข้อมูล ทั้งเพื่อใช้ในการขยายผลการจับกุม และการใช้ในการกล่าวโทษเพื่อตั้งข้อหาดำเนินคดีกับผู้ถูกควบคุมตัวดังกล่าว

แม้คำสารภาพ และพยานกล่าวอ้างที่ได้มาจากผู้ถูกควบตัวโดยการซ้อมทรมานนั้นจะไม่สามารถนำมาใช้ในการพิจารณคดีในชั้นศาลได้ แต่วิธีการดังกล่าวยังถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางโดยขาดระบบตรวจสอบ การสอบสวน เพื่อให้เกิดการลงโทษผู้กระทำผิด อีกทั้งเมื่อมีการร้องเรียนเรื่องการกระทำโดยมิชอบดังกล่าวก็ไม่มีการเยียวยาผู้เสียหายอย่างเป็นธรรม

รูปแบบของการซ้อมทรมานหรือการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรม มีหลายรูปแบบ และในหลายสถานการณ์ การทำร้ายร่างกายระหว่างการจับกุม และการซักถามในระหว่างการควบคุมตัว ในบางกรณีมีเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ร่วมอยู่ด้วยในระหว่างการทำร้ายร่างกาย โดยผู้ถูกควบคุมตัวยังมีร่องรอยการถูกทำร้ายตามเนื้อตัวร่างกาย เช่น รอยเข็มฉีดยาเจาะเล็บขวา และนิ้วกลาง และบริเวณแขน เป็นต้น

พบว่ามีผู้เสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัวหนึ่งคนเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2551 และเสียชีวิตเนื่องจากการเสียเลือด และไม่ได้รับการส่งตัวเข้ารักษาพยาบาล ภายหลังถูกกระสุนจากอาวุธปืนของเจ้าพนักงานหนึ่งราย เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2551 ปรากฎในข้อมูลเป็นข้อร้องเรียน และตรวจสอบแล้วมีข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้ว่า ว่ามีการใช้ห้องเล็กๆ ที่ปรับอากาศไว้จนเย็นในการควบคุมตัวทำให้ผู้ถูกควบคุม มีร่างกายอ่อนแอ

ตัวมือไม้สั่น หน้าซีด แต่ไม่ปรากฎมีบาดแผล มีการปลุกผู้ถูกควบคุมตัวขึ้นมาสอบสวนหรือซักถามในเวลากลางดึก หรือเจ้าหน้าที่ให้ผู้ถูกควบคุมตัวรายอื่นๆ มาทุบตีกันเอง มีการปิดตา ผูกมัดข้อมือ และทำการซ้อมเพื่อให้รับสารภาพ บางรายมีอาการสาหัส การบังคับให้ผู้ถูกควบคุมตัวทำร้ายร่างกายกันเองหรือการบังคับให้ขุดดินฝังตนเอง เป็นต้น

โครงการเข้าถึงความยุติธรรม และการคุ้มครองทางกฎหมาย และศูนย์ทนายความมุสลิม จึงขอเรียกร้องให้หน่วยงานความมั่นคงในสามจังหวัดชายแดนใต้ ได้นำมาตรการห้ามการซ้อมทรมานโดยเด็ดขาดที่กำหนดไว้ในมาตรฐานสากลที่ประเทศไทยได้รับรองไว้มาปรับใช้อย่างเคร่งครัด โดยการกำกับดูแลของหน่วยงานระดับสูงทั้งตำรวจ ทหาร และเจ้าพนักงานรัฐให้ไม่สนับสนุน ปกปิด ส่งเสริมให้เกิดการซ้อมทรมาน และลงโทษเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดโดยไม่ละเว้น

ทั้งนี้เพื่อยุติเงื่อนไขการสร้างความไม่เป็นธรรมในสถานการณ์ภาคใต้ และเพื่อให้เกิดการตรวจสอบและการสอบสวนข้อกล่าวหาเรื่องการซ้อมทรมานโดยให้ความสำคัญกับสิทธิของเหยื่อที่ถูกทรมาน และมาตรการที่เหยื่อผู้ได้รับผลกระทบจะได้รับความเป็นธรรมและการชดเชยเยียวยาอย่างเหมาะสม 

การซ้อมทรมานที่กระทำโดยเจ้าพนักงานของรัฐหรือโดยบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชา เพื่อให้ได้ซึ่งคำสารภาพคำซัดทอด หรือข้อมูล ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ไม่อาจกระทำได้แม้ในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือในสถานการณ์การปราบปรามการก่อความไม่สงบ

แถลงการณ์ ลงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2551
โครงการเข้าถึงความยุติธรรมและการคุ้มครองทางกฎหมาย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ศูนย์ทนายความมุสลิม

ติดต่อ พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม 02-6934939

เพิ่มเติม

เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2550 ประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment- CAT) หรือโดยย่ออนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2550 ประเทศไทยได้ยื่นภาคยานุวัติสารของอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน ต่อองค์การสหประชาชาติแล้ว และได้ระบุว่า

“อนุสัญญาฉบับนี้ถือเป็นอนุสัญญาหลักด้านสิทธิมนุษยชนฉบับที่ 6 ซึ่งไทยได้เข้าเป็นภาคี ซึ่งจะมีผลให้บังคับกับไทยตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 เป็นต้นไป และจะทำให้ไทยมีพันธกรณีในการจัดทำรายงานประเทศเสนอต่อคณะกรรมการประจำอนุสัญญาฯ ตามที่ระบุอยู่ในข้อ 19 ของอนุสัญญาฯ ที่กำหนดให้รัฐภาคีจัดทำรายงานประเทศฉบับแรก เกี่ยวกับมาตรการทั้งปวงที่ตนได้ดำเนินการไปแล้ว เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการประจำอนุสัญญาฯ ภายในเวลาหนึ่งปี หลังจากวันที่อนุสัญญาฯ นี้มีผลบังคับ”

Discover more from มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading

Discover more from มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading