[:th]CrCF Logo[:]

กรณีเรือประภาสนาวี แรงงานต่างด้าวผิดกฏหมายก็ได้รับการคุ้มครองตามกฏหมาย โดย สุรพงษ์ กองจันทึก

Share

กรณีเรือประภาสนาวี แรงงานต่างด้าวผิดกฏหมายก็ได้รับการคุ้มครองตามกฏหมาย โดย สุรพงษ์ กองจันทึก ตีพิมพ์ในวารสาร “ทนายความคิด” ของสภาทนายความ ฉบับเดือนตุลาคม พ.ศ. 2551

กิจการประมงของไทยเป็นกิจการขนาดใหญ่นำรายได้เข้าสู่ประเทศจำนวนมาก แต่ขณะเดียวกันก็มีการใช้แรงงานต่างด้าวอย่างผิดกฎหมายจำนวนมากเช่นกัน กลุ่มเรือประภาสนาวีนำลูกเรือจำนวนมากไปจับปลานอกน่านน้ำประเทศไทยเป็นเวลาหลายปี และทำให้ลูกเรือเสียชีวิตถึง ๓๙ คน เป็นเหตุการณ์สำคัญที่ได้รับความสนใจจากทั่วโลก

ลูกเรือที่รอดชีวิตได้ยื่นฟ้องนายจ้างเจ้าของเรือประภาสนาวีทั้งหกลำ รวม ๕ คนเป็นจำเลย ต่อศาลแรงงานกลาง(สมุทรสาคร) เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๐ โดยมีลูกเรือชาวไทย ๑๘ คน และลูกเรือชาวพม่า ๔๔ คน รวม ๖๒ คนเป็นโจทก์ ในความผิดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ และละเมิด เรียกค่าจ้างค้างจ่าย เงินโบนัสพิเศษหรือเปอร์เซ็นต์จากการขาย ค่าทำงานในวันหยุด สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และค่าเสียหายแก่โจทก์ รวมเป็นเงินกว่า ๑๖ ล้านบาท และให้จำเลยทั้งห้าออกหนังสือรับรองการทำงานที่ถูกต้องชอบด้วยกฎหมายและส่งคืนหนังสือคนประจำเรือ (seaman book) แก่โจทก์ทั้งหกสิบสองคน

เมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๕๑ ศาลแรงงานกลาง (สมุทรสาคร) มีคำพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าซึ่งเป็นเจ้าของกิจการเรือประมงประภาสนาวีร่วมรับผิดชำระค่าจ้างค้างจ่าย ค่าชดเชยการเลิกจ้าง และค่าบอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้า ให้แก่โจทย์ ๓๘ คน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๓,๘๗๑,๐๐๐ บาท โดยมีรายละเอียดในคำพิพากษาดังนี้

“โจทก์ทั้งหกสิบสองสำนวนฟ้องเป็นใจความเป็นทำนองเดียวกันว่า จำเลยทั้งห้าเป็นเจ้าของและผู้ครอบครองเรือประมงประภาสนาวีลำที่ ๑ ถึงที่ ๖ และตกลงว่าจ้างโจทก์ทั้งหกสิบสอง เป็นลูกเรือประจำเรือดังกล่าว ในการออกหาปลาที่น่านน้ำประเทศอินโดนีเซียโดยไม่มีกำหนดระยะเวลา ต่อมาจำเลยทั้งห้าเลิกจ้างโจทก์ทั้งหกสิบสอง โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าและไม่เป็นธรรม

ทั้งขณะเรืออยู่ในน่านน้ำดังกล่าว ใบอนุญาตหาปลาของจำเลยทั้งห้าสิ้นสุดอายุลง จำเลยทั้งห้าไม่ได้สั่งการให้นำเรือกลับทันที แต่กลับสั่งการให้จอดเรือไว้ในน่านน้ำดังกล่าวอยู่นาน โดยไม่จัดส่งอาหารไปให้อย่างเพียงพอ ทำให้โจทก์ทั้งหกสิบสองได้รับความเสียหายทางด้านร่างกาย จิตใจและอนามัย

ขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันหรือแทนกันจ่ายค่าจ้างค้างจ่าย เงินโบนัสพิเศษหรือเปอร์เซ็นต์จากการขาย ค่าทำงานในวันหยุด สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งหกสิบสอง และให้จำเลยทั้งห้าออกหนังสือรับรองการทำงานที่ถูกต้องชอบด้วยกฎหมายและส่งคืนหนังสือคนประจำเรือ (seaman book) แก่โจทก์ทั้งหกสิบสอง”

“ระหว่างพิจารณาคดี ในส่วนโจทก์ที่ ๒ และที่ ๖ ตกลงกันได้ ศาลให้แยกสำนวนในส่วนโจทก์ดังกล่าวออกไป คดีในส่วนโจทก์ที่ ๑ ที่ ๓ ที่ ๗ ถึงที่ ๑๓ ที่ ๑๕ ที่ ๑๗ ที่ ๑๙ และที่ ๖๒ มีการถอนฟ้อง ศาลอนุญาตและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ และคดีในส่วนโจทก์ที่ ๕๗ ศาลเพิกถอนคำสั่งรับฟ้องเป็นไม่รับฟ้อง เนื่องจากโจทก์ที่ ๕๗ ถึงแก่ความตายไปก่อนฟ้องแล้ว”

เป็นที่น่าสังเกตว่า โจทก์ที่ ๒ และที่ ๖ เป็นลูกเรือชาวลาวที่อ้างตนว่าเป็นคนไทย และจำเลยที่ถอนฟ้องทั้งหมดเนื่องจากยอมรับเงินจากจำเลย เป็นลูกเรือชาวไทย ๑๔ คน มีเพียงโจทก์ที่ ๕ ที่เป็นลูกเรือชาวไทยกับพวกซึ่งเป็นลูกเรือชาวพม่าอีก ๔๓ คน ยืนยัน ดำเนินคดีต่อไป

ศาลกำหนดประเด็นข้อพิพาทและมีคำวินิจฉัย ดังนี้

๑.โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยหรือไม่

“ในส่วนโจทก์ที่ ๑๘ ที่ ๒๒ ที่ ๒๓ ที่ ๓๖ ที่ ๔๖ ที่ ๔๘ และที่ ๕๙ นั้น ฝ่ายจำเลยยืนยันไม่ได้เป็นลูกจ้างเนื่องจากไม่ปรากฏหลักฐานการเป็นลูกจ้างบนเรือประภาสนาวีทั้งหกลำ โจทก์ที่ ๑๘ ที่ ๒๒ ที่ ๒๓ ที่ ๓๖ ที่ ๔๖ และที่ ๕๙ ไม่ได้มาเป็นพยานเบิกความยืนยัน ไต๋เรือผู้รับสมัครเข้าเป็นลูกจ้างก็ไม่ได้มาเป็นพยานเบิกความยืนยัน คงมีแต่โจทก์ที่ ๕ ที่ ๒๐ ที่ ๔๐ และที่ ๖๒ เป็นพยานเบิกความกล่าวถึงทั้งตามหลักฐานการจ่ายเงินให้คนทำงานบนเรือประภาสนาวีทั้งหกลำที่ไต๋เรือทำไว้ ซึ่งได้ถูกอ้างเป็นพยาน ก็ไม่ปรากฏชื่อของโจทก์ที่ ๑๘ ที่ ๒๒ ที่ ๒๓ ที่ ๓๖ ที่ ๔๖ และที่ ๕๙ เป็นลูกเรือแต่อย่างใด กรณีมีเหตุให้เชื่อฟังได้ว่า โจทก์ที่ ๑๘ ที่ ๒๒ ที่ ๒๓ ที่ ๓๖ ที่ ๔๖ และที่ ๕๙ ไม่ได้เป็นลูกจ้างของจำเลยทั้งห้า

ในส่วนโจทก์ที่ ๕ ที่ ๑๔ ที่ ๑๖ ที่ ๒๐ ที่ ๒๑ ที่ ๒๔ ถึงที่ ๓๕ ที่ ๓๗ ถึงที่ ๔๕ ที่ ๔๗ ที่ ๔๙ ถึงที่ ๕๖ ที่ ๕๘ ที่ ๖๐ และที่ ๖๑ นั้น ฝ่ายจำเลยยอมรับว่าเป็นลูกจ้างในเรือประภาสนาวีลำที่จำเลยแต่ละคนเป็นเจ้าของ แต่เรือประภาสนาวีทั้งหกลำมีจำเลยที่ ๕ เป็นผู้บริหารจัดการเพื่อใช้ทำการประมงระหว่างประเทศ โดยได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ โดยจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ ช่วยจำเลยที่ ๕ ดูแลในบางเรื่องเกี่ยวกับการทำประมง จำเลยที่ ๕ เป็นผู้รับสมัครเฉพาะไต๋เรือแต่ละลำ แล้วให้ไต๋เรือไปจัดหาลูกเรือมาทำงานในตำแหน่งอื่นๆของเรือแต่ละลำ

พฤติกรรมของจำเลยทั้งห้าเข้าลักษณะจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ มอบหมายให้จำเลยที่ ๕ ทำการแทน และจำเลยที่ ๕ ทั้งในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้รับมอบหมายจากจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ มอบหมายให้ไต๋เรือทำการแทนจำเลยทั้งห้า เป็นนายจ้างของลูกเรือที่ไต๋เรือไปจัดหามาทำงานบนเรือประภาสนาวีทั้งหกลำ โจทก์ที่ ๕ ที่ ๑๔ ที่ ๑๖ ที่ ๒๐ ที่ ๒๑ ที่ ๒๔ ถึงที่ ๓๕ ที่ ๓๗ ถึงที่ ๔๕ ที่ ๔๗ ที่ ๔๙ ถึงที่ ๕๖ ที่ ๕๘ ที่ ๖๐ และที่ ๖๑ จึงเป็นลูกจ้างของจำเลยทั้งห้า”

๒.จำเลยทั้งห้าเลิกจ้างโจทก์หรือไม่

“เมื่อเรือประภาสนาวีทั้งหกลำเดินทางกลับถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๔๙ แล้วก็ไม่ได้ถูกนำออกไปทำการประมงอีก แสดงว่ามีการไม่ให้ลูกเรือทำงานบนเรือต่อไป และไม่จ่ายค่าจ้างให้ กรณีจึงมีเหตุให้ฟังได้ว่า จำเลยทั้งห้าเลิกจ้างโจทก์ที่ ๕ ที่ ๑๔ ที่ ๑๖ ที่ ๒๐ ที่ ๒๑ ที่ ๒๔ ถึงที่ ๓๕ ที่ ๓๗ ถึงที่ ๔๕ ที่ ๔๗ ที่ ๔๙ ถึงที่ ๕๖ ที่ ๕๘ ที่ ๖๐ และที่ ๖๑ ตั้งแต่เรือประภาสนาวีทั้งหกลำเดินทางกลับถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๔๙”

๓.เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่

“จากคำเบิกความของพยานโจทก์และพยานจำเลยก็ได้ความว่า การทำประมงโดยเรือประภาสนาวีทั้งหกลำได้ปลาลดน้อยลงเรื่อย ตอนเดินทางกลับก็เป็นเรือเปล่าแล่นกลับมา และเรือบางลำไม่มีเครื่องยนต์เพราะเสียและถูกถอดออกไปซ่อม ขณะอยู่ในน่านน้ำประเทศอินโดนีเซียมีปัญหาลูกเรือหยุดงานเพื่อประท้วง มีปัญหาถูกเจ้าหน้าที่บนเรือของประเทศอินโดนีเซียรบกวน และมีปัญหาลูกเรือเจ็บป่วยและตายเป็นจำนวนมาก เมื่อเรือประภาสนาวีทั้งหกลำเดินทางกลับถึงประเทศไทยแล้ว ไต๋เรือแต่ละลำก็แยกย้ายจากไป และไม่มีการนำเรือออกไปทำการประมงอีกเลย พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่จำเลยทั้งห้าเลิกจ้างโจทก์ดังกล่าวข้างต้น เพราะมีเหตุอันจำเป็นที่สมควรเลิกจ้างได้ จึงเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม”

๔.จำเลยทั้งห้าต้องร่วมกันรับผิด ชำระค่าจ้าง เงินโบนัสหรือเปอร์เซ็นต์จากการขาย และค่าทำงานในวันหยุด แก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด

“เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราค่าจ้างในคำฟ้องของโจทก์อื่นดังกล่าว แต่ละคนซึ่งทำงานซึ่งทำงานในตำแหน่งเดียวกันแล้วเห็นว่า มีอัตราค่าจ้างเท่ากันบ้างไม่เท่ากันบ้าง แต่ก็ใกล้เคียงกัน ซึ่งเป็นไปได้ตามคำเบิกความของนายเฉลิมที่ว่า อัตราค่าจ้างแล้วแต่ขนาดของเรือและความสามารถของลูกเรือแต่ละคน อัตราค่าจ้างในคำฟ้องของโจทก์อื่นดังกล่าว จึงน่าเป็นไปได้ว่าตรงความจริง และในคำฟ้องของโจทก์อื่นดังกล่าวแต่ละรายมียอดจำนวนได้รับค่าจ้างจากนายจ้างแล้วบางส่วน ซึ่งมีจำนวนมากว่าที่ปรากฏเป็นเอกสารตัวจริงมีรายชื่อและรายมือชื่อของโจทก์อื่นดังกล่าวบางคนในเอกสารหมายเลข ล.๒๐ ที่จำเลยที่ ๕ เบิกความกล่าวอ้างถึง

จำเลยทั้งห้าจึงต้องร่วมกันรับผิดชำระค่าจ้างค้างจ่ายให้แก่โจทก์อื่นดังกล่าว คือ โจทก์ที่ ๕ เป็นเงิน ๑๗๘,๕๐๐ บาท โจทก์ที่ ๑๔ เป็นเงิน ๑๕๓,๐๐๐ บาท โจทก์ที่ ๑๖ เป็นเงิน ๖๕,๐๐๐ บาท ………. และโจทก์ที่ ๖๑ เป็นเงิน ๗๔,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้องตามที่ขอในฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระหนี้เสร็จสิ้น

สำหรับเงินโบนัสหรือเปอร์เซ็นต์จากการขายปลา ค่าทำงานในวันหยุด รวมถึงเงินเพิ่มกรณีไม่จ่ายค่าจ้าง ซึ่งเรียกร้องมาด้วยนั้น เห็นว่า ตามคำเบิกความของจำเลยที่ ๕ โจทก์ที่ ๖๒ โจทก์ที่ ๔๐ โจทก์ที่ ๒๐ และโจทก์ที่ ๕ นั้น ไม่ปรากฏการทำประมงโดยเรือประภาสนาวีทั้งหกลำมีกำไรจากการขายปลาที่จับได้หรือไม่ เพียงใด ไม่ปรากฏนายจ้างหรือไต๋เรือซึ่งเป็นตัวแทนนายจ้างให้ลูกเรือซึ่งเป็นลูกจ้างต้องทำงานในวันหยุดด้วย และไม่ปรากฏนายจ้างพร้อมจะจ่ายค่าจ้างแล้วจงใจไม่จ่ายค่าจ้างแก่ลูกเรือซึ่งเป็นลูกจ้างแต่อย่างใด

จำเลยทั้งห้าจึงไม่ต้องร่วมกันรับผิดชำระเงินโบนัสหรือเปอร์เซ็นต์จากการขายปลา ค่าทำงานในวันหยุด และเงินเพิ่มจากการไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์อื่นดังกล่าว”

๕.จำเลยทั้งห้าต้องร่วมกันรับผิด ชำระสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และค่าเสียหาย แก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด

“โจทก์อื่นซึ่งเป็นลูกจ้างที่ไม่กำหนดระยะเวลาการจ้างแน่นอน และถูกจำเลยทั้งห้าซึ่งเป็นนายจ้างเลิกจ้างโดยไม่ใช่การเลิกจ้างตามมาตรา ๑๑๙ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ และมาตรา ๕๘๓ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และโดยไม่มีการบอกกล่าวล่วงหน้า

จำเลยทั้งห้าจึงต้องร่วมกันรับผิดชำระสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าชดเชยให้แก่โจทก์อื่นดังกล่าว โดยกำหนดจ่ายค่าจ้างที่จะใช้คำนวณสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ให้ถือเอาวันสิ้นเดือนเพราะไม่ปรากฏมีการตกลงจ่ายค่าจ้างกันวันใดในเดือนหนึ่ง ส่วนวันเลิกจ้างคือวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๔๙ ตามวินิจฉัยแล้วข้างต้น

สินจ้างแทนการบอกกล่างล่วงหน้าต้องชำระให้โจทก์ที่ ๕ เป็นเงิน ๘,๐๐๐ บาท โจทก์ที่ ๑๔ เป็นเงิน ๘,๐๐๐ บาท โจทก์ที่ ๑๖ เป็นเงิน ๕,๐๐๐ บาท ……………….และโจทก์ที่ ๖๑ เป็นเงิน ๔,๕๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยกรณีผิดนัดอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้องอันถือเป็นวันผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จสิ้น

ส่วนค่าชดเชยต้องชำระให้โจทก์ที่ ๕ เป็นเงิน ๒๔,๐๐๐ บาท โจทก์ที่ ๑๔ เป็นเงิน ๒๔,๐๐๐ บาท โจทก์ที่ ๑๖ เป็นเงิน ๑๕,๐๐๐ บาท …………. และโจทก์ที่ ๑๖ เป็นเงิน ๑๓,๕๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้องตามที่ขอในฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จสิ้น

สำหรับค่าเสียหายจากการเลิกจ้างนั้น เมื่อได้วินิจฉัยไปข้างต้นแล้วว่า เป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม จำเลยทั้งห้าจึงไม่ต้องร่วมกันรับผิดชำระค่าเสียหายในส่วนนี้

และสำหรับค่าเสียหายกรณีเจ็บป่วยเนื่องจากนายจ้างไม่จัดส่งอาหารไปให้อย่างเพียงพอทำให้ลูกเรือเป็นโรคขาดสารอาหารตามฟ้องนั้นเห็นว่า แม้จำเลยทั้งห้าโดยจำเลยที่ ๕ มีหน้าที่จัดส่งอาหารไปให้คนทำงานบนเรือประภาสนาวีทั้งหกลำ และได้ความว่าช่วงเดินทางกลับประเทศไทยมีลูกเรือจำนวนมากเจ็บป่วยจากการได้รับอาหารไม่เพียงพอ แต่จากคำเบิกความของจำเลยที่ ๕ โจทก์ที่ ๖๒ โจทก์ที่ ๔๐ โจทก์ที่ ๒๐ และโจทก์ที่ ๕ นั้น ปรากฏเมื่อเดินทางกลับถึงประเทศไทยแล้ว ลูกเรือที่เจ็บป่วยได้รับการรักษาพยาบาลแล้วก็มีอาการหายจากเจ็บป่วย โดยไม่มีสภาพร่างกายเสียหายอย่างใดอีก ทั้งฝ่ายนายจ้างก็เป็นผู้จ่ายค่ารักษาพยาบาลให้แล้ว ส่วนที่ลูกเรือบางคนอ้างว่าได้รับรักษาพยาบาลน้อยกว่าที่ต้องจ่ายจริง ก็ไม่ปรากฏมีหลักฐานการจ่ายจริงสำหรับการรักษาดังกล่าวมาแสดง จำเลยทั้งห้าจึงไม่ต้องร่วมกันรับผิดชำระค่าเสียหายในส่วนนี้อีกเช่นเดียวกัน

อนึ่ง สำหรับคำขอให้ส่งคืนหนังสือคนประจำเรือ (seaman book) ตามฟ้องนั้น เมื่อได้ความว่าจำเลยทั้งห้าไม่ได้เป็นผู้เก็บไว้ จำเลยทั้งห้าจึงไม้ต้องเป็นผู้ส่งคืนให้แต่อย่างใด

ส่วนคำขอให้ออกหนังสือรับรองการทำงานตามฟ้องนั้นเห็นว่า มีมาตรา ๕๘๕ แห่งประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติไว้ว่า เมื่อการจ้างงานสิ้นสุดลงแล้ว ลูกจ้างชอบที่จะได้รับใบสำคัญแสดงว่าลูกจ้างนั้นได้ทำงานมานานเท่าไรและงานที่ทำนั้นเป็นงานอย่างไร จำเลยทั้งห้าจึงต้องออกใบสำคัญแสดงการทำงานให้แก่ลูกเรือที่ถูกเลิกจ้าง”

จากคำพิพากษากรณีประภาสนาวี แสดงถึงกฎหมายไทยมีผลบังคับใช้ในอาณาเขตของราชอาณาจักรไทย ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นคนมีสถานะอย่างไร ย่อมได้รับการคุ้มครองดูแลอย่างเสมอภาค

แต่อย่างไรก็ตามสำหรับการดำเนินการในความผิดอาญาโดยพนักงานสืบสวนสอบสวน สถานีตำรวจ

อำเภอเมืองสมุทรสาครนั้นยังไม่มีความคืบหน้า โดยพนักงานสอบสวนได้ออกหมายจับไต้ก๋งเรือ 4 คนคือ นายชัยเล็ก นายชัยใหญ่ นายเปี๊ยก และนายสัก เมื่อเดือนสิงหาคม 2550 แต่ปัจจุบันยังไม่สามารถจับตัวผู้ต้องหาทั้งสี่ได้