ศาลนาทวียกคำร้อง ไม่ไต่สวนมูลฟ้อง คดีนายมะลูซี มะตีเย๊าะ

Share

เมื่อวานนี้วันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2551 ศาลจังหวัดนาทวี มีคำสั่งยกคำร้อง ไม่ไต่สวนมูลฟ้องตามคำร้องขอของทนายความโดยระบุว่าคำร้องของทนายความของนายมะซูลี นั้น “ไม่มีเหตุผลเพียงพอให้ไต่สวนมูลฟ้อง ให้ยกคำร้อง” ส่งผลให้นายมะลูซี มะตีเย๊าะ ถูกส่งตัวไปฝากขังตามหมายศาลตั้งแต่เย็นวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2551 ที่เรือนจำจังหวัดสงขลา

นายมะลูซี มะตีเย๊าะ อายุ 23 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สำนักวิชาการจัดการการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อ. ท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช พื้นเพอยู่ อ.สะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ซึ่งขณะนี้ อยู่ในระหว่างการสอบกลางภาคเรียน และเหลืออีกจำนวน 8 รายวิชา ก็จะจบการศึกษาปริญญาตรี ได้ ถูกพนักงานอัยการฟ้องดำเนินคดี โดยส่งฟ้องศาลจังหวัดนาทวีในข้อหา ฆ่า และพยายามฆ่า รวม 5 คดี และได้ให้ทนายความยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ศาลไต่สวนมูลฟ้องก่อนที่จะประทับรับฟ้อง เนื่องจากเห็นว่าตนป็นผู้บริสุทธิ

การดำเนินคดี และสั่งฟ้องโดยพนักงานอัยการไม่มีเหตุผล เนื่องจากเหตุอันเป็นมูลคดีที่นำมาฟ้องตนนั้น เจ้าหน้าที่ได้จับตัวคนร้ายได้หมดแล้ว และคนร้ายได้ถูกศาลตัดสินลงโทษไปเรียบร้อยแล้ว

หลังจากที่ศาลนาทวีมีคำสั่ง ไม่ไต่สวนมูลฟ้อง ทำให้สถานภาพนายมะลูซีกลายเป็นจำเลย และถูกควบคุมตัวให้ห้องขังของศาล และในขณะที่เพื่อรอฟังคำสั่งเรื่องการประกันตัวชั่วคราว ขณะนั้นมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และชาวบ้านที่เป็นเพื่อนบ้านจำนวน 10 คน ร่วมกันใช้ตำแหน่งทางราชการ และฐานะประชาชน ขอประกันตัว แต่ศาลปฎิเสธมีคำสั่งไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยได้ให้เหตุผลไว้ในคำสั่งว่าหลักประกันไม่น่าเชื่อถือ

จากการสอบถามจำเลยถึงเหตุที่ไม่นำหลักทรัพย์มายื่นประกันตัวแต่ใช้บุคคลต่างๆ ในหมู่บ้านมาขอประกันแทน เนื่องจากตนได้ถูกฟ้องถึง 5 คดี และได้นำหลักทรัพย์ไปยื่นประกันตัวในคดีแรกๆ จนหมดแล้ว

ทนายความหญิง สอ รัตนมณี พลกล้า ให้ความเห็นว่า “สถานการณ์ในขณะนี้ทำให้เห็นว่าชาวบ้านไม่มีทางออกเลย ชาวบ้าน และชุมชนต้องการแสดงความบริสุทธิ์ใจ และมีความหวังอยู่บ้างต่อกระบวนการยุติธรรม จึงได้สนับสนุนให้นายมะลูซีต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรม แต่ก็ไม่สามารถทำได้

เสียงเรียกร้องขอความเป็นธรรมของนายมะลูซี และชาวบ้าน ยังไม่ได้รับการรับฟังเท่าที่ควร ผู้ถูกกล่าวหาที่มีฐานะยากจน และถูกกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรมอย่างเช่นนาย มะลูซี นี้ ต้องการจะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนตามกระบวนการยุติธรรม แต่ต้องไปรอความยุติธรรมในเรือนจำเป็นเวลายาวนาน แม้ว่าทางรัฐ จะมีค่าชดเชยเยียวยาให้ภายหลังถ้าพิสูจน์แล้วว่าเป็นผู้บริสุทธิ์แต่ก็ไม่อาจทดแทนความสูญเสียอิสระภาพและโอกาสได้

มีตัวอย่างเช่นคดีของนายมะลูซี มะตีเย๊าะ และอีกหลายๆ คน ต้องเสียโอกาสทางการศึกษา และโอกาสในอนาคต เพราะต้องระงับการเรียนชั่วคราว หรือขั้นที่ต้องยุติการเรียน และหมดอนาคต “

นายสมชาย หอมลออ ที่ปรึกษาโครงการเข้าถึงความยุติธรรมคุ้มครองประชาชนทางกฎหมาย มูลนิธิผสานวัฒนธรรมเปิดเผยว่า “จากสถิติของทางราชการพบว่า คดีความมั่นคงจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นเจ้าหน้าที่จับกุมคนร้ายได้เพียง 14% เท่านั้น กระบวนการยุติธรรมที่ไม่น่าเชื่อถือ และล่าช้า อาจเป็นสาหตุหนึ่งของการหลบหนี”

“ยิ่งไปกว่านั้น คดีความมั่นคงที่พนักงานอัยการส่งฟ้องศาล นั้น หลังจากศาลพิจาณาคดี ซึ่งแต่ละคดีใช้เวลานานนับปี แล้วมีคดีที่ศาลให้ความเป็นธรรมโดยมีคำพิพากษายกฟ้องสูงถึง 32% แสดงว่า จำเลยในคดีความมั่นคงจำนวน 10 คน อาจถูกขังโดยที่ไม่ได้มีความผิดนับปีระหว่างรอการพิจาณาคดีการตัดสินของศาล ถึง 3 คน นี่เป็นเหตุผลหนึ่งว่าทำไมทางโครงการฯ จึงเห็นว่าในคดีความมั่นคงศาลควรไต่สวนมูลฟ้องคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ก่อนที่จะประทับรับฟ้องด้วย เนื่องจากการทำงานของพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการไม่น่าเชื่อถือ” นายสมชาย หอมลออ กล่าวอ

นายมะลูซี เปิดเผยว่า “ก่อนหน้านี้ มีหลายคนเสนอว่าให้ หลบหนี เพราะครอบครัวไม่มีทางหาหลักทรัพย์มาประกันตัวได้ แต่ผมต้องการยืนยันความบริสุทธิ์ของตนเอง และใช้ช่องทางทางกฎหมายในการเรียนร้องความเป็นธรรม” 

ทางทนายความจะขออุทธรณ์คำสั่งศาล เพื่อขอความเป็นธรรมจากศาลอุทธรณ์ และจะดำเนินการเพื่อขอให้หน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้นายมะลูซี สามารถได้รับสิทธิในการประกันตัวเพื่อสู้คดีต่อไป

กรุณาอ่าน: ใบแจ้งข่าว ฉบับเผยแพร่วันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2551

หมายเลขคดีวันที่ฟ้องรายละเอียดคดีวันเกิดเหตุ
1. คดีดำ 877/ 25519 มิย. 2551คดีพยายามฆ่า นายโนรี ทองสายแก้ว และนายชาญ พุ่งแก้ว (พูลแก้ว)3 กค. 2550
2. คดีดำ 1029/25519 กค. 2551คดีพยายามฆ่า นายธีรยุทธ์ รอยขวัญ13 กค. 2550
3. คดี 1462/255112 กย. 2551คดีพยายามฆ่า นายฉัตรชัย ทองกอบสม4 พย. 2549
4. คดี 1463/255112 กย. 2551คดีพยายามฆ่า นายแวสะมะแอ หะยี และนาย มาฮมูด หะยีและ18 กค. 2550
5. คดีดำ 1464/255112 กย. 2551คดีพยายามฆ่า นายบุญมา ขุนจันทร์29 มค. 2550

หมายเหตุ: รายละเอียดคดีที่นายมะลูซี มะตีเย๊าะถูกกล่าวหาทั้ง 5 คดีนี้ มีข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า เมื่อประมาณเดือนมิถุนายน 2551 นายมะลูซี ได้ถูกจับ และต่อมาได้ถูกส่งฟ้องดำเนินคดีโดยพนักงานอัยการในข้อหาหนักรวม 5 คดี ในข้อหาความผิดเดิมที่นายมะลูซีเคยถูกจับมาแล้วเมื่อเดือนกรกฎาคม 2550

ซึ่งในการถูกจับ และดำเนินคดีครั้งนั้น พนักงานสอบสวนได้สอบสวนแล้วเสนอความเห็นควรสั่งไม่ฟ้อง โดยได้ส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมความเห็นไปให้พนักงานอัยการแล้ว เนื่องจากผู้ต้องหาได้แสดงพยานหลักฐานที่ชัดแจ้ง สามารถหักล้างพยานหลักฐานของพนักงานสอบสวนจนเป็นที่พอใจ จนเป็นที่เชื่อได้ว่าผู้ต้องหาในคดีนี้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดทั้ง 5 คดีดังกล่าว

พนักงานสอบสวนจึงได้มีความเห็นควรสั่งไม่ฟ้อง และมีคำสั่งปล่อยตัวนายมะลูซี ไปเมื่อวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2550 แต่เมื่อเวลาผ่านไปเกือบปี พนักงานอัยการกลับมีคำสั่งฟ้องนาย มะลูซี ทั้ง 5 คดี เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2551 วันที่ 8 กรกฎาคม 2551 และวันที่ 12 กันยายน ปีพ.ศ. 2551 ตามลำดับ

Discover more from มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading

Discover more from มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading