[:th]CrCF Logo[:]
[:th]มหาวิทยาลัย วลัยลักษณ์[:]

ทนายขอศาลไต่ส่วนกรณีอัยการฟ้อง น.ศ. ม.วลัยลักษณ์ ข้อหาฆ่า-พยายามฆ่า 5 คดี

Share

ทนายความขอให้ศาลไต่ส่วนมูลฟ้องกรณีอัยการยื่นฟ้อง น.ศ. ม.วลัยลักษณ์ ข้อหาฆ่าและพยายามฆ่า 5 คดี อ้างถูกฟ้องคดีอย่างไม่เป็นธรรม

นายมะลูซี มะตีเย๊าะ อายุ 23 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สำนักวิชาการจัดการ การท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ได้ขอความช่วยเหลือด้านกฎหมายจากโครงการเข้าถึงความยุติธรรม และการคุ้มครองทางกฎหมาย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และศูนย์ทนายความมุสลิมว่าตนถูกตั้งข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และพยายามฆ่ารวม 5 คดีอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งอาจจะส่งผลให้ตนเองต้องถูกควบคุมตัวในเรือนจำระหว่างการพิจารณาคดีเป็นระยะเวลายาวนานเพื่อรอพิสูจน์ความบริสุทธิ์ ตนซึ่งเป็นนักศึกษาปีที่ 4 จะต้องสูญเสียอิสรภาพ และหมดโอกาสในการศึกษา ทั้งๆ ที่เรียนใกล้จะจบแล้ว

คณะทนายความของโครงการฯ ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า มีช่องทางทางกฎหมายที่จะขอความเป็นธรรมจากศาลให้แก่นายมะลูซี มะตีเย๊าะ ก่อนที่ศาลจะดำเนินกระบวนพิจารณาในชั้นสืบพยาน ซึ่งต้องใช้เวลาอีกยาวนาน โดยจะยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนมูลฟ้องของอัยการ เพื่อมีคำสั่งไม่รับฟ้องคดีทั้ง 5 เนื่องจากข้อเท็จจริงกรณีนายมะลูซี มะตีเย๊าะ ที่ทนายความได้รับมีอยู่ว่า

เมื่อประมาณเดือนมิถุนายน 2551 นายมะลูซี ได้ถูกจับ และต่อมาได้ถูกส่งฟ้องดำเนินคดีโดยพนักงานอัยการในข้อหาหนักรวม 5 คดี ในข้อหาความผิดเดิมที่นายมะลูซีเคยถูกจับมาแล้วเมื่อเดือนกรกฎาคม 2550 ซึ่งในการถูกจับ และดำเนินคดีครั้งนั้น พนักงานสอบสวนได้สอบสวนแล้วเสนอความเห็นควรสั่งไม่ฟ้อง โดยได้ส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมความเห็นไปให้พนักงานอัยการแล้ว เนื่องจากผู้ต้องหาได้แสดงพยานหลักฐานที่ชัดแจ้ง สามารถหักล้างพยานหลักฐานของพนักงานสอบสวนจนเป็นที่พอใจ จนเป็นที่เชื่อได้ว่าผู้ต้องหาในคดีนี้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดทั้ง 5 คดีดังกล่าว

พนักงานสอบสวนจึงได้มีความเห็นควรสั่งไม่ฟ้อง และมีคำสั่งปล่อยตัวนายมะลูซี ไปเมื่อวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2550 แต่เมื่อเวลาผ่านไปเกือบปี พนักงานอัยการกลับมีคำสั่งฟ้องนาย มะลูซี ทั้ง 5 คดี เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2551 วันที่ 8 กรกฎาคม 2551 และวันที่ 12 กันยายน ปี พ.ศ. 2551 ตามลำดับ

ที่ผ่านมาในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ศาลจะประทับรับฟ้องโดยไม่ไต่สวนมูลฟ้อง ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 162 (2) ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ศาลไม่จำเป็นต้องไต่สวนมูลฟ้อง แต่ถ้าเห็นสมควรศาลจะสั่งให้ไต่สวนมูลฟ้องก่อนก็ได้

จากสถิติของทางราชการ ปรากฎว่าในช่วงปี ระหว่างปี พ.ศ. 2547 ถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2551 ในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีคดีความมั่นคงที่อัยการยื่นฟ้อง (โดยไม่มีการไต่สวนมูลฟ้อง) ก่อน จำนวน 325 คดี คดีที่ศาลมีคำพิพากษาหลังจากสืบพยานโจทก์และจำเลย ซึ่งแต่ละคดีต้องใช้เวลานานนับปีแล้ว ทั้งสิ้น 125 คดี โดยศาลมีคำพิพากษายกคำฟ้องของพนักงานอัยการถึง 40 คดี คิดเป็นอัตรา 32 % ซึ่งนับว่าเป็นสถิติคดีที่ศาลยกฟ้องสูงมากเมื่อเทียบกับกระบวนการยุติธรรมของประเทศที่พัฒนาแล้ว

สำหรับคดีนายมะลูซี มะตีเย๊าะ ทนายความจะยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดนาทวี ในวันจันทร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2551 เพื่อขอให้ศาลไต่สวนมูลฟ้อง กรณีที่พนักงานอัยการส่งฟ้องนายมะลูซี มะตีเย๊าะ ในข้อหาหนักทั้ง 5 คดี ดังกล่าว

ขณะนี้นายมะลูซี อยู่ในระหว่างการสอบกลางภาคเรียน อีกทั้งครอบครัวนายมะลูซีไม่มีหลักทรัพย์เพียงพอที่จะขอให้ศาลปล่อยตัวชั่วคราวเนื่องจากคดีทั้ง 5 คดีเป็นคดีที่มีบทลงโทษหนัก ทำให้ต้องใช้หลักทรัพย์ในการขอประกันตัวหลักล้านบาท การถูกดำเนินคดีในลักษณะดังกล่าวอาจทำให้นายมะลูซีอาจสูญเสียอนาคตในการศึกษาและการประกอบอาชีพ ถ้าจะต้องใช้ชีวิตในเรือนจำระหว่างรอการพิจารณาคดีนานนับปี การยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนมูลฟ้องเพื่อขอความเป็นธรรมจากศาลในครั้งนี้ เพื่อสร้างบรรทัดฐานให้แก่เจ้าหน้าที่ในการดำเนินคดีด้วยความเป็นธรรม โดยเฉพาะการตั้งข้อหาและดำเนินคดีบุคคล ในการสถานการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกกล่าวหาทุกคน

ติดต่อ นายสมชาย หอมลออ
ที่ปรึกษา โครงการเข้าถึงความยุติธรรมและการคุ้มครองทางกฎหมาย
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม 02-2753954 หรือ 02-6934939 Crcf.justice@gmail.com